ความร้อนและภัยแล้งกำลังสังหารป่าของเรา
แต่เราอาจจำกัดความเสียหายได้ ถ้าเรากลับตัวกันตอนนี้
เราสังเกตเห็นสีสันเป็นอย่างแรกในป่าที่มีรอยแผลจากเพลิงผลาญแห่งนี้ ไม่นานก่อนหน้านี้ ผืนดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทางใต้ของอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนมีแต่สีขาวดำของเถ้าถ่านและหมู่สนที่ถูกเผา แต่ฤดูร้อนที่ผ่านมาเหล่าต้นอ่อนที่สูงถึงแข้งกับหน่อต้นแอสเพนแต่งแต้มพื้นดินด้วยสีเขียวสว่าง ดอกไฟร์วีดสีม่วงและผลโซปแบร์รี สีแดงสดแข่งกันชูช่อรอบขอนไม้สีดำเป็นตอตะโก ห้าปีหลังไฟป่าแบร์รีที่กลืนกินพื้นที่ 84 ตารางกิโลเมตรในรัฐไวโอมิง เมื่อปี 2016 ป่าไหม้เกรียมผืนนี้ก็ตอบสนองต่อไฟป่าเฉกเช่นที่ป่าทั้งหลายในเทือกเขาร็อกกีปฏิบัติมาตลอดหลายพันปี นั่นคือการเข้าสู่ฤดูแห่งการเกิดใหม่
มอนิกา เทอร์เนอร์ กำลังบันทึกการฟื้นคืนที่ว่านั้นอยู่ วันที่อากาศร้อนอบอ้าววันหนึ่งของเดือนกรกฎาคม เทอร์เนอร์ อาจารย์ด้านนิเวศวิทยา เดินตามสายวัดยาว 50 เมตรที่พาดไปตามพื้นป่า เธอกับนักศึกษาปริญญาโทอีกคนกำลังนับต้นอ่อนสนลอดจ์โพลทุกต้นในระยะหนึ่งเมตรทั้งสองด้าน ต้นอ่อนขนาดจิ๋วมากมายขึ้นเบียดเสียดกันแน่นอยู่แทบเท้านักวิจัย จนทั้งคู่ใช้เวลาเกือบชั่วโมงในการเดินระยะทางที่ปกติคงใช้เวลาไม่กี่วินาที สุดท้ายพวกเขานับต้นอ่อนได้ 2,286 ต้น ที่ตรงนี้กำลังผลิตต้นสน 172,000 ต้นต่อพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร (6.25 ไร่) “สนลอดจ์โพล ก็เป็นแบบนี้ล่ะค่ะ” เทอร์เนอร์บอก “ฟื้นตัวเก่งสุดๆ”
แต่วันก่อนหน้า ในป่าที่ถูกเผาแปลงติดกัน เทอร์เนอร์บันทึกข้อมูลที่ชวนให้กังวลใจ แทนที่จะมีสนต้นอ่อนงอกงามเป็นสายน้ำ ผืนดินกลับเต็มไปด้วยดอกไม้สารพัดชนิด และหญ้าต่างๆ ขึ้นปะปนบนดินแห้งระแหง บนเส้นทางระยะ 50 เมตรช่วงหนึ่ง เทอร์เนอร์นับสนต้นอ่อนได้เพียง 16 ต้น ส่วนอีกเส้นหนึ่งนับได้เพียงเก้าต้น

ป่าสองแปลงเหมือนกันแทบทุกประการ ก่อนเกิดไฟป่าแบร์รี ทั้งสองแปลงถูกไฟไหม้มาแล้วในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกัน (ราวปี 1861-1865) แต่ความแตกต่างสำคัญประการหนึ่งทำให้ทั้งสองแปลงต่างกัน กล่าวคือแปลงที่มีสนต้นอ่อนน้อยกว่าเคยเกิดไฟไหม้ซ้ำไปเมื่อปี 2000 ด้วย ต้นไม้ที่งอกใหม่หลังไฟไหม้ปีนั้นยังไม่โตพอจะผลิตเมล็ดได้มากพอ ก่อนถูกไฟไหม้อีกครั้งเมื่อปี 2016 แทนที่จะมีป่าสนงอกใหม่ ภูมิทัศน์ของป่าแห่งนี้จึงถูกไฟป่าแบร์รีเปลี่ยนโฉมไป ซึ่งอาจเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายร้อยหรือกระทั่งหลายพันปี
เยลโลว์สโตนเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไฟป่าต่างมีขนาดใหญ่ขึ้น ร้อนแรงขึ้น และเกิดถี่ขึ้น เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ไฟป่าในออสเตรเลียเมื่อปี 2019 และ 2020 ผลาญพื้นที่ป่าขนาดพอๆ กับรัฐฟลอริดา แต่สิ่งที่มักถูกมองข้ามท่ามกลางเหตุการณ์ตายหมู่ในตอนแรก คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังต้นไม้เหล่านั้นตายลงนั่นคือตอนนี้ป่าหลายแห่งดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวกลับมา เรื่องเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ที่เยลโลว์สโตนเท่านั้น และไม่ได้เกิดจากไฟเสมอไป หากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างหาก
ในหลายพื้นที่ ป่าไม่อาจฟื้นตัวได้เองอีกแล้ว และป่าสำคัญที่สุดบางแห่งของโลกก็กลายสภาพไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏ ขณะที่บางแห่งอาจไม่หวนกลับคืนมาอีกเลย

โลกสูญเสียป่าหนึ่งหนึ่งในสามไปแล้วในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นเกิดหลังปี 1900 เราตัดไม้มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เราโค่นป่าเพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงปศุสัตว์ สร้างบ้านเรือนและถนนหนทางการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980 แล้วก็จริง แต่แนวโน้มต่างกันไปตามภูมิภาคในอินโดนีเซียซึ่งเคยแผ้วถางป่าไปมหาศาลเพื่อทำสวนปาล์มน้ำมัน การสูญเสียป่าดั้งเดิมลดลงตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่แอมะซอนในบราซิลสูญเสียป่าฝน 13,000 ตารางกิโลเมตรระหว่างเดือนสิงหาคม ปี 2020 ถึงกรกฎาคม ปี 2021 หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 22 นับตั้งแต่ปี 1990 เราตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกไปมากกว่าพื้นที่ป่าที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ตอนนี้การปล่อยก๊าซจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ป่าทั้งหลายเปลี่ยนแปลงในอีกหลายแง่มุม เป็นต้นว่า ขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ทำให้โลกร้อนขึ้น ต้นไม้บางส่วนจากที่คาดว่ามีอยู่ราว 73,000 ชนิดก็พากันขยับไปทางขั้วโลกทั้งสองและเคลื่อนสู่ที่สูงขึ้นไป นำพาให้ชีวิตอื่นๆ ต้องขยับตามไปด้วย ต้นแอลเดอร์ หลิว และเบิร์ชแคระ แพร่กระจายไปทั่วอาร์กติก จากสแกนดิเนเวียถึงแคนาดา ต้นไม้โตเร็วขึ้นเมื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสังเคราะห์แสง จนถึงขณะนี้ “ความเขียวขึ้น” ที่ว่าของโลกช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเข่นฆ่าต้นไม้ด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านป่าไม้กังวลมากขึ้นเรื่อยๆ คือจังหวะที่เร็วขึ้นของเหตุการณ์สุดขั้ว ทั้งไฟป่า พายุที่รุนแรงขึ้น การถูกแมลงศัตรูพืชเจาะทำลายและที่หนักหนาสาหัสที่สุด คือภัยแล้งและความร้อนรุนแรง ซึ่งทำให้ผลกระทบที่เกิดจากสาเหตุเหตุอื่นๆ เลวร้ายลงไปอีก ลำพังเหตุการณ์สุดขั้วที่เกิดถี่อย่างไม่เคยมีมาก่อนแค่กรณีเดียวก็ทำให้ต้นไม้ตายหมู่อย่างรวดเร็วแล้ว ส่งผลให้ป่าต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเข้าสู่สภาวะใหม่โดยสิ้นเชิง

“เรามีกลไกใหม่เอี่ยมทั้งชุดที่ผลักดันให้ป่าของโลกเติบโตมากกว่าเดิมและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้นครับ” วิลเลียม แอนเดอเรกก์ นักชีววิทยา บอก แต่กลไกเหล่านั้น “โดยพื้นฐานแล้วขัดแย้งกับกลไกต่างๆ ที่กำลังดึงป่าของโลกไปสู่ปากเหว โดยทำให้ต้นไม้ตายมากขึ้นและปล่อยคาร์บอนมากขึ้น”
ป่าที่ถูกฉุดรั้งจนลงเหวไปแล้วนั้นคิดเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของต้นไม้สามล้านล้านต้นและป่า 40 ล้าน ตารางกิโลเมตรบนโลกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคุกคามป่าน้อยกว่าการตัดไม้และแผ้วถางป่า แต่ภัยคุกคามนี้กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว “เศษเสี้ยวเล็กๆ ที่ว่านั้นจะใหญ่ขึ้นแค่ไหนเมื่อเวลาผ่านไป และจะล้ำหน้าภัยคุกคามอื่นเมื่อไรครับ” แมตต์ แฮนเซน ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์ป่าไม้ด้วยดาวเทียมตั้งคำถาม
ปัญหาก็คือเรายังไม่สามารถวัดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกในเชิงปริมาณได้ อันที่จริง ข้อมูลจากดาวเทียมชี้ว่า พื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมในโลกขยายตัวร้อยละเจ็ดระหว่างปี 1982 ถึง 2016 หรือคิดเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศเม็กซิโก แต่ข้อมูลนี้ไม่ได้แยกป่าธรรมชาติกับป่าปลูกเพื่ออุตสาหกรรม เช่น ปาล์ม ยูคาลิปตัส และสนหลายล้านต้นที่ปลูกเพื่อเก็บเกี่ยว ขณะที่ป่าฝนถูกแผ้วถาง ข้อมูลยังบอกไม่ได้ด้วยว่า ป่าใดบ้าง ที่หายไปใต้คมเลื่อยไฟฟ้าและป่าใดบ้างสูญไปเพราะหายนะที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

ยังไม่มีแบบจำลองคอมพิวเตอร์ใดที่คาดการณ์ได้ว่า ภูมิอากาศจะเปลี่ยนป่าทั่วโลกไปอย่างไร หรือการเก็บกักคาร์บอนของป่าจะตอบสนองและส่งผลต่อภูมิอากาศเช่นไร “ที่ผ่านมาแบบจำลองระบบโลกคำนวณเรื่องนี้ได้ไม่ดีนักครับ” ชาร์ลี โคเวน นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ซึ่งทำงานกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซีขององค์การสหประชาชาติ บอก มีแบบจำลองเพียงสองใน 11 แบบเท่านั้นที่รวมเอาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ของพืชพรรณและไฟป่าไว้ด้วย
จำนวนต้นไม้ทั่วโลกไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพลิกโฉมป่าไม้ท้องถิ่น แทบจะชั่วข้ามคืน แม้กระทั่งในที่ที่มีนโยบายอนุรักษ์ป่า และเกิดอย่างรวดเร็วจนเราไม่อาจคาดการณ์ผลที่ตามมา ต้นที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด ซึ่งดูดซับคาร์บอนได้มากที่สุด มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและจะฟื้นคืนสภาพได้ยากที่สุด “ไม้ใหญ่มีความสำคัญเกินสัดส่วนและไม่อาจทดแทนได้อย่างรวดเร็ว ถ้าจะทดแทนกันได้นะครับ” เนต สตีเวนสัน นักวิทยาศาสตร์กิตติคุณจากสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา บอก
ถึงเวลายอมรับความเป็นจริงใหม่แล้ว เราไม่อาจยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นกับป่าบางแห่งได้อีกต่อไป โลกจะไม่หยุดร้อนขึ้น จนกว่าเราจะหยุดเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนั่นจะใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจรุนแรงยิ่ง

แต่เรายังพอจะทำให้อะไรๆ ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ได้ ประการแรก เราต้องหยุดทำลายป่าพื้นถิ่น โดยเฉพาะป่าเขตร้อน ป่าไม้เขตหนาวเหนือ และป่าดึกดำบรรพ์ในเขตอบอุ่นต่างๆ ประโยชน์ที่ได้จากป่าเหล่านี้ไม่อาจทดแทนได้ ป่าหลายแห่งยังแข็งแรงดี อย่างน้อยก็ในตอนนี้
ตัวอย่างเช่นป่าฝนในคองโก ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ถูกมนุษย์แผ้วถางน้อยกว่าป่าเขตร้อนในแถบเอเชียหรืออเมริกาใต้มาก แม้ป่าฝนที่นั่นจะมีปริมาณฝนลดลง แต่คองโกหลีกเลี่ยงการตายของต้นไม้เป็นวงกว้างได้ กระทั่งในบราซิลและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผืนป่าเขียวชอุ่มหลายล้านตารางกิโลเมตรก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์
“เราจำเป็นต้องรักษาป่าที่มีอยู่ไว้ค่ะ” โรบิน แชซดัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูป่าบอกและเสริมว่า “นั่นคือสิ่งแรกที่ต้องทำ”
เราจำเป็นต้องจัดการป่าให้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะการรับมือกับไฟป่า ในเดือนที่อากาศเย็นลงและแห้งในออสเตรเลีย ผู้พิทักษ์ป่าที่เป็นชนพื้นเมืองจุดไฟชิงเผาทั้งบนภาคพื้นดินและจากอากาศ จนถึงขณะนี้ วิธีดังกล่าวช่วยควบคุมไฟป่ารุนแรงปลายฤดูร้อนลงได้อย่างมาก
เราจำเป็นต้องฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมด้วย โดยเฉพาะในเขตศูนย์สูตรที่ซึ่งพรรณไม้พื้นถิ่นฟื้นตัวได้อย่างดเร็ว แต่ที่อื่นก็เช่นกัน
และแน่นอน เราจำเป็นต้องเลิกเสพติดเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเร็ว
เรื่อง เครก เวลช์
ติดตามสารคดี อนาคตของป่าทั้งหลาย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/546555