เมื่อเข้าสู่หน้าฝน ชาวบ้านในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจนึกถึงด้านของการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ที่รออยู่เบื้องหน้า แต่ในอีกด้านหนึ่งของสายฝน อาจนำมาสู่ความเดือดร้อนเมื่อน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร
ฤดูฝนถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เพราะถือเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแห่งการสิ้นสุดหน้าแล้ง สามารถเตรียมลงมือเพาะปลูกผลผลิต แต่ในขณะเดียวกันฤดูฝนก็อาจนำมาสู่ความทุกข์แสนสาหัส เพราะหากเกิดลมมรสุมและพายุที่เข้ามาทำให้ฝนตกหนักมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ได้ ซึ่งในระยะหลังมานี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนฝนตกหนักและยังมีพฤติกรรมของมนุษย์ที่ซ้ำเติมปัญหาน้ำท่วมให้รุนแรงมากขึ้น
หากกล่าวถึงมหาอุทกภัย ปี 2554 คงเป็นอุทกภัยที่หลายคนจำฝังใจ เพราะส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คนและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก
ซึ่งในมหาอุทกภัยในครั้งนั้นได้เป็นจุดกำเนิดของเครือข่ายอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่มีชื่อว่า “สิงห์อาสา” โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้กระจายความช่วยเหลือ ผ่านพนักงานและโรงงานในเครือบุญรอดฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำน้ำดื่มและอาหารไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบมหาอุทกภัย พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้อพยพ และสนันสนุนการทำงานของอาสาสมัครกู้ภัย และเครือข่ายนักศึกษาจิตอาสาทำให้ “สิงห์อาสา” เริ่มเป็นที่รู้จักในขณะนั้น
เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่สิงห์อาสาได้จับมือกับเครือข่ายอาสาสมัครกู้ภัย และเครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศที่ส่งมอบความเป็นจิตอาสาจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เพื่อสืบสานงานอาสาสมัครเพื่อช่วยสังคมอย่างต่อเนื่อง จนเติบโตและครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้ในปัจจุบันหากเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ณ จุดใดของประเทศไทย เครือข่ายสิงห์อาสาจะเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ภายใน 24 ชั่วโมง
โดยในปี 2565 สิงห์อาสาและเครือข่ายฯได้ให้ความสำคัญในเรื่องของ การดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปีด้วยการลงพื้นที่ทางภาคเหนือเพื่อดูแลและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ รวมถึงการแก้ปัญหาไฟป่าร่วมกับอาสาสมัครและคนในพื้นที่ ถัดจากนั้นในช่วงหน้าร้อนกับการสร้างแหล่งน้ำชุมชน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และในครั้งนี้ ทีมงาน National Geographic Thailand ได้มาร่วมกิจกรรม “สิงห์อาสาสู้น้ำท่วม” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยสิงห์อาสาร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคกลาง ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษามากกว่า 20 สถาบัน และเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน ลงพื้นที่ร่วมกันกำจัดผักตบชวาซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญรวมถึงเก็บขยะที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน เพื่อบรรเทาและป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยในทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ราบลุ่มในจังหวัดภาคกลาง อาทิ นครปฐม, อยุธยา, สิงห์บุรี และปทุมธานี ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
งานอาสาแก้น้ำท่วมในครั้งนี้ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ร่วมมือกับ บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือ, เครือข่ายสิงห์อาสา พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ ริมลำน้ำแม่ลา วัดแหลมคาง ต.แม่ลา อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ร่วมกันกำจัดผักตบชวา รวมถึงเก็บขยะที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน โดยลำน้ำแม่ลาถือเป็นลำน้ำที่สำคัญของชาวอ.อินทร์บุรี อ.บางระจัน อ.เมืองสิงห์บุรีและเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ถือเป็นครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรก บริษัท สิงห์เบเวอเรช จำกัด ได้จัดโครงการที่ริมคลองญี่ปุ่นหน้าวัดปทุมวัน ต.หลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
คุณสมเกียรติ ทำดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลา ได้เล่าถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นทีให้กับพวกเราได้ฟังว่า เมื่อถึงหน้าฝน ผักตบชวาจะแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ยากลำบากเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดน้ำท่วม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งกำจัดผักตบชวาในช่วงก่อนเข้าหน้าฝนอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ผักตบชวาที่มีจำนวนมากจะไปแย่งออกซิเจนในน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย และปลาลอยตายบนผิวน้ำจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน เช่น การทำประมง
“สิงห์อาสาเขารู้ปัญหาตรงนี้ ก็เข้าติดต่อในพื้นที่ลำน้ำแม่ลา ว่าจะขอเข้ามาทำงานอาสาตรงนี้ รวมถึงประสานความร่วมมือจากทั้งหลายฝ่ายด้วย เขาก็ติดต่อมาให้ทั้ง เทศบาลตำบลทับยา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ น้องๆ นักเรียน แล้วก็นักศึกษาของสถาบันการศึกษาที่อยู่แถวนี้ ทางเรา อบต. แม่ลา ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางคนในพื้นที่ให้ นอกจากนี้สิงห์อาสาก็มาสนับสนุนทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ที่จำเป็น ทั้งเรือ รถบรรทุก รถแบคโฮ อุปกรณ์เก็บผักตบชวา จนเกิดเป็นงานอาสาดีๆ ได้ในครั้งนี้”
นอกจากนี้ สิงห์อาสาระลึกเสมอว่า งานอาสาของพวกเขาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดกำลังสำคัญที่เป็นเด็กๆ เยาวชนรุ่นใหม่ที่ทำงานกิจกรรมอาสาตามสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยในกิจกรรมครั้งนี้ ทางสิงห์อาสาได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นให้เข้ามาทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ อนันธร จันทร์หอม นักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี และ ชินวัตร ญาติโพธิ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ถึงแรงบันดาลใจในการร่วมมือการทำงานอาสาเก็บผักตบชวาในครั้งนี้ว่า พวกเรา และนักศึกษาในพื้นที่ มารวมตัวกันด้วยกิจกรรมของสิงห์อาสาจากมหาลัยในเครือมารวมตัวช่วยกันในทำกิจกรรมดีๆ ในสังคมอยู่แล้ว พวกเขาได้เห็น “รุ่นพี่” ที่ทำงานอาสาช่วยเหลือสังคมกับสิงห์อาสาจนเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมบ้านเกิดของพวกเขามากมาย จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสานต่อด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมอาสาเก็บผักตบชวาในวันนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการทำกิจกรรมดีๆให้กับบ้านเกิดต่อไป
“พวกผมก็เป็นคนในพื้นที่ที่ได้เห็นพี่ๆ สิงห์อาสาทำงานอาสาเพื่อชุมชนมาตลอด พวกผมเลยมีแรงบันดาลใจว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยชุมชนของเราให้ได้ ในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก กับกิจกรรมการเก็บผักตบชวา รวมถึงขยะในลำน้ำแม่ลา เพราะเป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว ซึ่งการที่มีทีมงานสิงห์อาสามาช่วย ทำให้เกิดความร่วมมือของหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยกัน ร่วมถึงสนับสนุน งบประมาณ อาหาร มาให้เราอีกด้วย จึงทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น กิจกรรมอาสาในครั้งนี้จึงสำเร็จไปได้ด้วยดีครับ” อนันธร และ ชินวัตร กล่าว
คุณรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ถือเป็นโต้โผใหญ่ในการอำนวยการจัดกิจกรรมอาสาในครั้งนี้ กล่าวว่า “พื้นที่ภาคกลาง เป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม เมื่อเข้าหน้าฝน จะมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง หากการระบายน้ำเป็นไปได้ดีก็จะลดปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้ ที่ผ่านมา สิงห์อาสา พร้อมด้วยเครือข่ายฯ ได้ทำกิจกรรมกำจัดผักตบชวาและขยะซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กีดขวางทางน้ำ ผ่านโครงการสิงห์อาสาสู้น้ำท่วม ซึ่งในครั้งนี้ได้ร่วมมือกับเครือข่ายสิงห์อาสาชวนชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่ลา จ.สิงห์บุรี ช่วยกันเก็บผักตบชวา ซึ่งผักตบชวาที่เก็บได้จะนำไปแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป”
โดยเครือข่ายสิงห์อาสา ถือเป็นกำลังสำคัญในการนำความช่วยเหลือไปสู่พี่น้องผู้ประสบภัยในหลากหลายเหตุการณ์ทั่วประเทศ ตลอดจนสิงห์อาสาได้ปลูกจิตสำนึก ให้กับเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ ผ่านกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้เป็นพลังนักศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม มุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่ รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครกู้ภัยสิงห์อาสา ซึ่งเป็นกลุ่มจิตอาสาที่มีความพร้อมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกสถานการณ์ กระจายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในจังหวัดที่ตนดูแลอยู่ ทั้งยังมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ดูแลในพื้นที่นั้นๆ ทำให้ภารกิจของสิงห์อาสามีทั้งการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นภายใน 24 ชั่วโมง ตลอดจนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ พัฒนาสังคม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ด้ยจุดมุ่งหมายในการบรรเทาทุกข์และมอบรอยยิ้มให้แก่พี่น้องคนไทย
คุณบุญเลิศ นาคอุไร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด ซึ่งถือเป็นเจ้าบ้านของเครือข่ายสิงห์อาสาในพื้นที่ เผยว่า “สิงห์บุรี คือ บ้านหลังใหญ่ของบริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด ที่เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้นำศักยภาพที่มีทั้งองค์ความรู้ ทรัพยากร เครือข่าย รวมไปถึงผลผลิตต่างๆ เข้าไปสร้างความสุขและดูแลคุณชีวิตความเป็นอยู่ของคนสิงห์บุรีให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การจัดรถพุ่มพวงบรรทุกผักผลไม้จากแปลงเกษตรปลอดสารพิษที่ปลูกภายในบริษัทฯ ออกไปแบ่งปันคนในชุมชนรอบๆ, การแก้ไขปัญหาและดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับชาวสิงห์บุรีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในทุกๆ ปี เราก็ได้ผนึกกำลังกับเครือข่ายสิงห์อาสาลงพื้นที่กำจัดผักตบชวาและขยะที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เราตั้งใจเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลพี่น้องชาวสิงห์บุรี ตามแนวคิดและวิถีปฎิบัติที่เราได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อ“องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน”
หลังจากนี้ สิงห์อาสายังมีภารกิจหลักในการช่วยเหลือสังคมไทยในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่าง ภัยหนาว รวมไปถึงภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเราจะตามไปบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมและชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมเกิดขึ้นที่ไหน สามารถติดตามกับทีม National Geographic Thailand ได้ในครั้งต่อไป
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ – National Geographic Thailand
ภาพ กันทรากร ขัดมา