สิงห์อาสา ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มข. สร้างแหล่งน้ำชุมชนภาคอีสาน โมเดลบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งยั่งยืน

สิงห์อาสา ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มข. สร้างแหล่งน้ำชุมชนภาคอีสาน โมเดลบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งยั่งยืน

แม้จะเข้าสู่ปี 2565 แล้ว แต่ประเทศไทยเรายังเผชิญปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด

ภาพพื้นดินแตกระแหง เกษตรกรรอคอยฟ้าฝนในการทำนา ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เพราะแม้ประเทศไทยจะมีการเริ่มพัฒนาระบบชลประทานมาตั้งแต่เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ. 2504 แต่การพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และการขยายพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อรองรับการผลิตทางการเกษตรเพื่อมุ่งเน้นการบริโภคเชิงพาณิชย์ที่กำลังเติบโต รวมถึงตอบสนองการผลิตจำนวนมากเพื่อส่งออก ทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ[1] รวมไปถึงนโยบายการขาดการจัดการน้ำที่ดีอย่างต่อเนื่อง [2]เราจึงเห็นหลายพื้นที่ในประเทศไทยยังต้องทำการเกษตรแบบพึ่งฟ้าพึ่งฝน และได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรมเมื่อเกิดภัยแล้งหรืออุทกภัยและยังต้องอาศัยการทำเกษตรอย่างพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก

สาเหตุภัยแล้งยังเกิดสภาพภูมิอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงผันผวน  อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกรวน (Climate Change) อีกด้วย ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศโลกผันผวน[3] จนอาจทำให้เกิดการเกิดลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (climate extreme)[4] ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่อาจบรรเทาได้โดยง่าย ซ้ำเติมให้ภัยแล้งในไทยมีโอกาสรุนแรงขึ้นอีก

นอกจากนี้ มนุษย์ก็มีส่วนให้เกิดภัยแล้งด้วยเช่นกัน การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง การขุดน้ำใต้ดิน หรือน้ำมาใช้มากเกินไป การทำอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อแหล่งน้ำ หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศดังที่ได้กล่าวไป รุนแรงขึ้นกว่าเดิม[5]

ข้อมูลในปี 2563 รายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศ 8,509 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 5,736 ล้านลูกบาศก์เมตร ในทุกภาค ของประเทศ อันเป็นเป็นระดับน้้าที่ต่ำกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง (ระดับน้้ำที่  17,271 ล้าน ลบ.ม.) และภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อแม้จะเข้าช่วงหน้าฝนก็ตาม[6]

ในครั้งนี้  National Geographic Thailand ได้มีโอกาสมาออกทริป ทำกิจกรรมอาสา ร่วมกับสิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สิงห์อาสาเป็นเครือข่ายอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งได้ทำกิจกรรมดูแลสังคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศนับตั้งแต่มีการก่อตั้งหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554  พวกเขาเห็นถึงปัญหาของประเทศไทยที่ยังประสบภัยธรรมชาติที่ยากจะรับมือ โดยสิงห์อาสามีทีมเครือข่ายสิงห์อาสา ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงที เนื่องจากมีภัยตามฤดูกาลเกิดตลอดทั้งปี ได้แก่ ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยหนาว

หลังจากปัญหาไฟป่าภาคเหนือในช่วงต้นปีเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น ถัดมาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเข้าสู่ภาวะภัยแล้งซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หากไม่มีน้ำฝนเข้ามาเติมในบ่อน้ำ หนองน้ำ และพื้นที่กักเก็บน้ำตามชุมชน  ชาวบ้านก็จะเริ่มขาดแคลนน้ำ ทั้งในส่วนของการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการเกษตร โดยเกษตรในหลายๆพื้นที่ไม่มีทางเลือกนอกจากปล่อยพื้นที่ทำการเกษตรทิ้งร้าง เพราะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำการเกษตร

สิงห์อาสาได้เล็งเห็นถึงปัญหาขาดแคลนน้ำของหลายพื้นที่ในภาคอีสาน จึงได้ทำโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” สร้างแหล่งน้ำชุมชนต้นแบบ โดยการสร้างบ่อน้ำ ทั้งบ่อขนาดใหญ่ (บ่อเปิด) และบ่อขนาดเล็ก (บ่อปิด) เพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดทั้งปี พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคทั้งในภาวะปกติและในช่วงหน้าแล้ง เริ่มที่แรกที่บ้านนาสีนวน ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

เทพนม มาตมูลตรี ผู้ใหญ่บ้านที่นี่เล่าให้ฟังว่า “ชุมชนแห่งนี้มีอยู่ 280 หลังคาเรือน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม โดยการทำนาปี เมื่อหมดหน้าทำหน้าจะปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย สลับกับการปลูกผักสวนครัว ไม่ได้มีอาชีพหลักอื่น ทำให้เมื่อถึงหน้าแล้ง พวกเขาได้แต่มองพื้นที่แตกระแหง และรอรับความช่วยเหลือ

จนสิงห์อาสาเริ่มเข้ามาที่หมู่บ้าน มาคลุกคลีพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อเก็บข้อมูล คิดว่าทางสิงห์อาสาเองก็รับรู้ปัญหาเรื่องภัยแล้งของชาวอีสานมาตลอด ก็เลยมาร่วมกันสำรวจพื้นที่ มาเริ่มทำโครงการแหล่งน้ำชุมชน จนเกิดเป็นโครงการสร้างบ่อชุมชนในวันนี้ ก็ช่วยเราได้มากเลย อย่างถ้าเดือนนี้ฝนเริ่มมา ก็จะมีน้ำไหลมาจากภูเขา แล้วก็ขึ้นมาจากใต้ดิน ก็จะมีน้ำเต็มบ่อเลย เราก็ได้น้ำไปใช้ทำเกษตร หรือเอาไปใช้ในครัวเรือนรับได้ทั้งปีแน่นอน นอกจากนี้สิงห์อาสายังชักชวนให้ปลูกพืชเสริมบริเวณรอบแหล่งน้ำชุมชน เช่น ไผ่ เพื่อทำเครื่องจักรสาน ให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมอีกด้วย”

เทพนม มาตมลนตรี ผู้ใหญ่บ้านนาสีนวน ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาโครงการนี้ให้กับทีมสิงห์อาสา เล่าให้ฟังว่า “ที่ผ่านมาคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้ศึกษาพื้นที่ภาคอีสานว่ามีลักษณะเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำและระบบโครงข่ายชลประทานที่ไม่สอดคล้องกับขนาดของพื้นที่ มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ทำการเกษตร กระบวนการเติมน้ำใต้ดินจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน”

“เราได้ทำการศึกษาที่บ้านนาสีนวนแล้วว่า พื้นที่นี่เหมาะกับทำกระบวนการเติมน้ำใต้ดินโดยการทำแบบบ่อเปิด นั่นคือการขุดบ่อขนาดใหญ่ เพื่อเติมแหล่งน้ำให้ชุมชน กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง ขนาด กว้าง 30 เมตร ยาว 100 เมตร ลึก 4 เมตร ในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน และระบบบ่อปิด หน้ากว้าง 2×2 ตารางเมตร ที่โรงเรียนบ้านนาสีนวน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาโครงการนี้ให้กับทีมสิงห์อาสา

โดยบ่อเปิดจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี ในขณะที่บ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ เมื่อมีน้ำเพียงพอ ดินมีความชุ่มชื้น ทำให้การปลูกพืชได้ผลผลิตดี นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาขอนแก่นได้ส่งเสริมความรู้โดยการให้เกษตรกรปลูกพืชที่ยึดเกาะดิน ป้องกันน้ำหลากและเป็นพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ต้นยางนา,ไผ่ซางหม่น และแฝกพันธุ์อินเดีย ก็จะได้ประโยชน์กับชาวบ้านในหลายทางค่ะ”

ระหว่างได้พูดคุย เราได้เห็นชาวบ้านนาสีนวนเข้ามามีส่วนร่วมกับทีมอาสาสมัครสิงห์อาสาโดยการปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้รากหยั่งลึกป้องกันการพลังทลายด้วยวิธีทางธรรมชาติ และมองเห็นถึงความหวังในการจะมีน้ำเข้ามาเต็มบ่อแห่งนี้อีกครั้ง

คุณฌานนท์ โปษยะจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่จำกัด บริษัทในเครือบุญรอดฯ  กล่าวว่า “บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด เราเชื่อว่านอกเหนือจากการดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคอีสานแล้ว เป้าหมายสูงสุดคือการได้เห็น “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน”

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงมีนโยบายและโครงการต่างๆ มากมายเพื่อดูแลพี่น้องชาวขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ สำหรับโครงการในครั้งนี้ก็หวังว่าจะช่วยให้พี่น้องชาวขอนแก่นมีแหล่งน้ำชุมชนไว้ใช้อย่างยั่งยืน และสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้จากการใช้แหล่งน้ำนี้ในการประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย”

คุณฌานนท์ โปษยะจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่จำกัด

ด้านคุณคุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งทำหน้าที่คอยขับเคลื่อนงานของสิงห์อาสามาตลอด กล่าวว่า “เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่สิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบันได้ลงพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องภาคอีสานจากภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง

ภารกิจที่ผ่านมาเราได้แจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้านหลายชุมชน ติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแทงก์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะกระจายไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทั่วทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน

โดยในปีนี้ นอกเหนือจากการร่วมกับเครือข่ายนำน้ำไปช่วยเหลือชาวบ้าน สิงห์อาสาได้ร่วมกับเครือข่ายฯที่มีความเชี่ยวชาญอย่างคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน ให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งปีนี้จะทำแหล่งน้ำชุมชนต้นแบบ 2 ที่ คือ จ.ขอนแก่นและจ.มหาสารคาม และจะขยายองค์ความรู้นี้เพื่อช่วยเหลือพื้นที่อื่นในภาคอีสานต่อไป”

คุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

เราเชื่อว่าหลังจากนี้ สิงห์อาสาและเครือข่ายคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ในการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายไปยังชุมชนต่างๆให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างเต็มที่ และพี่น้องภาคอีสานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายฯภาคเหนือ จัดโครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า โดยมีกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องไฟป่าให้กับชาวบ้านในพื้นที่ สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ทำแนวกันไฟ ให้กับคนในชุมชนพื้นที่เสี่ยงไฟป่า 124 ชุมชน จาก 11 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออก และในเดือนพฤษภาคม เราก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมอาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนแล้ว

หลังจากนี้ สิงห์อาสายังมีภารกิจหลักในการช่วยเหลือสังคมไทยในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างอุทกภัย และภัยหนาว รวมไปถึงภัยต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเราจะติดตามไปบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมและชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งเราอยากให้คุณผู้อ่านได้ติดตามกันต่อไปครับ


[1] “ระบบชลประทานกับการเกษตรไทย”. ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Northern/DocLib_Article/ThailandIrrigationAgriSector.pdf
[2] การเมืองเรื่องน้ำ: ปัญหาการจัดการน้ำในเมืองไทย. นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย https://ngthai.com/sustainability/24901/waternpolitics/
[3] “ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis)”. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/climate-crisis/
[4] “ไทยพร้อมรับมือ ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้ว ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกแล้วหรือไม่”. นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย. https://ngthai.com/environment/37635/thaiextremeweather/
[5] “รู้จักภัยจาก ภัยแล้ง (Droughts)” .ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ. http://ndwc.disaster.go.th/cmsdetail.ndwc-9.283/26675/menu_7525/4214.3/รู้จักภัยจาก+ภัยแล้ง+(Droughts)
[6] “วิกฤติภัยแล้ง ปี 63 ส่อ…รุนแรง ยาวนานขึ้น”.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/FB_2020020501.aspx

Recommend