อินเดีย ประเทศนี้จะตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางที่กำลังโตวันโตคืน พร้อมไปกับการจำกัดการปล่อยคาร์บอนด้วยได้หรือไม่ อนาคตของโลกอาจขึ้นอยู่กับคำตอบในเรื่องนี้
อากาศยามเช้าที่ร้อนชื้นวันหนึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาในรัฐมัธยประเทศทางตอนกลางของอินเดีย เจตัน ซิงห์ โซลันกี ก้าวลงจากรถบัสที่เขาอาศัยอยู่ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา แล้วเดินเข้าไปในหอประชุม ของโรงเรียนมัธยมปลายในเมืองเล็กๆ ชื่อไรเสน ที่นั่นมีนักเรียน ครูอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ มารวมตัวกันราว 200 คนเพื่อรอฟังเขาพูด
โซลันกี เป็นศาสตราจารย์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่สถาบันเทคโนโลยีอินเดียหรือไอไอที (Indian Institute of Technology: IIT) ในนครมุมไบ ช่วงปลายปี 2020 เขาลาพักเพื่อออกขับรถตระเวนทั่วอินเดียเป็นเวลา 11 ปี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยานพาหนะของโซลันกีเป็นอุปกรณ์สาธิตเคลื่อนที่ของการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน นั่นคือแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าได้มากพอจะใช้สำหรับแสงสว่าง พัดลม คอมพิวเตอร์ เตาหุงต้ม และโทรทัศน์ภายในรถ หลังได้รับการต้อนรับบนเวทีแล้ว โซลันกีก็เอ่ยปากร้องขอในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด
“ผมเห็นพัดลมเพดาน 15 ตัวในห้องนี้ แล้วนี่กลางวันแท้ๆ ข้างนอกแดดแจ๋ แต่เราก็ยังเปิดไฟกันไม่รู้กี่ดวงในนี้” เขาว่า “เราจำเป็นต้องใช้พัดลมกับไฟทั้งหมดนี่จริงๆ หรือ ลองปิดบางส่วนไหมครับ แล้วดูสิว่าเราจะอยู่กันไหวไหม”
เมื่อไฟกับพัดลมถูกปิดไปครึ่งหนึ่ง หอประชุมเหมือนจะร้อนขึ้นและมืดลง แต่โซลันกีถามว่า เอาเข้าจริง มันจำเป็นขนาดนั้นเชียวหรือ “เราก็ยังมองเห็นกันได้อยู่นะครับ ซึ่งหมายความว่ามีแสงสว่างเพียงพอในห้องนี้”
สิ่งที่โซลันกีต้องการชี้ให้เห็น เป็นหนึ่งในสองเรื่องที่เขาหวังจะช่วยโน้มน้าวให้ชาวอินเดียมุ่งบรรลุถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “เอเนอจีสวราช” (Energy Swaraj) หรือการพึ่งตนเองทางพลังงาน แนวคิดหนึ่งคือการประหยัดพลังงานทางตรงด้วยการลดการใช้ และทางอ้อมด้วยการบริโภคสิ่งต่างๆ ให้น้อยลง อีกแนวคิดหนึ่งคือการผลิตไฟฟ้าในท้องถิ่นจากทรัพยากรหมุนเวียนอย่างดวงอาทิตย์ เพื่อที่ทุกเมืองจะสามารถพึ่งตัวเองได้ ในทศวรรษหน้านี้ คาดการณ์กันว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินเดียจะพุ่งสูงขึ้น เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวและประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านคนจนแซงหน้าจำนวนประชากรของจีน
การกระตุ้นเตือนให้คนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายของโซลันกีอาจดูน่าแปลกใจในประเทศที่มีอัตราการบริโภคต่อหัวต่ำมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวอินเดียใช้สินค้าและบริการรวมมูลค่าราวหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือแค่หนึ่งในสี่สิบของที่ชาวอเมริกันบริโภค จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศ คาดการณ์กันว่า ชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อล่วงถึงปี 2030 หรือขึ้นไปถึง 800 ล้านคน ตัวเลขนี้จะเป็นหมุดหมายที่น่ายินดีสำหรับอินเดีย แต่ยังหมายถึงคลื่นสึนามิของบรรดาผู้บริโภคหน้าใหม่ ซึ่งจะเพิ่มรอยเท้าคาร์บอนของประเทศอย่างมีนัยสำคัญด้วย
ปัจจุบัน อินเดียกำลังเร่งต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการสร้างสวนโซลาร์หรือโซลาร์ฟาร์มแล้ว 45 แห่ง รวมทั้งมีแผนกำหนดให้ร้อยละ 40 ของรถบัส ร้อยละ 30 ของรถยนต์ส่วนบุคคล และร้อยละ 80 ของรถสองล้อและสามล้อ เป็นยานพาหนะไฟฟ้าภายในปี 2030 ทั้งยังมีพันธกิจที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำโลกในภาคการผลิตไฮโดรเจนเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล
ถึงอย่างนั้น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางในประเทศจะผลักให้เกิดการบริโภคพลังงาน ในช่วงสองทศวรรษข้างหน้าสูงกว่าที่ใดๆ เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว อินเดียน่าจะยังจะต้องพึ่งพาถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ล้นเหลือ เป็นหลักต่อไปอีกหลายปี พร้อมไปกับเพิ่มการนำเข้าปิโตรเลียมด้วย ในหลายแง่มุม อนาคตของโลกจะขึ้นอยู่กับวิธีที่อินเดียเดินไปข้างหน้า
อินเดียเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับที่สี่รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมที ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือเน็ตซีโร (net zero emission) ภายในปี 2070 หรือ 20 ปีหลังเส้นตายของสหรัฐฯ และ 10 ปีหลังของจีน นอกจากนี้ อินเดียยังสัญญาว่าจะลดความเข้มข้นของการปล่อย ซึ่งคือปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่อหนึ่งหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ให้ได้ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ โดยลดลงให้ได้ร้อยละ 45 จากตัวเลขเมื่อปี 2005 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศนี้จะยังไต่สูงขึ้นต่อไปจนถึงราวปี 2045
หนทางยังอีกยาวไกลในการไปให้ถึงเน็ตซีโร แต่เจ้าหน้าที่ทางการอินเดียบอกว่า ประเทศกำลังทำมากกว่าที่ต้องทำแล้วภายใต้ข้อจำกัดของประเทศกำลังพัฒนา กระทั่งเมื่อราว 15 ปีก่อน จุดยืนของอินเดียซึ่งยังพบได้ทั่วไปในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นประเทศที่อัดฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ มาเนิ่นนานก่อนอินเดียจะมีรอยเท้าคาร์บอนเป็นเรื่องเป็นราว
ความเหลื่อมล้ำในการแบ่งความรับผิดชอบต่อปัญหานี้มองเห็นได้ไม่ยาก แค่ลองพิจารณาวิถีชีวิตในโลกตะวันตกที่การครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคล บ้านเรือนที่ติดเครื่องปรับอากาศ และความสะดวกสบายอื่นๆ ที่มาพร้อมกับบริโภคพลังงานเป็นบรรทัดฐาน แล้วเทียบกับวิถีชีวิตของคนอินเดียส่วนใหญ่กระทั่งในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในสภาพเขม็ดแขม่สุดขีด
การเยือนอินเดียหลายครั้งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผมเห็นชนชั้นกลางของประเทศเติบโตขึ้นทั้งในแง่จำนวนและความมั่งคั่ง การเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตพบเห็นได้ไม่เฉพาะแค่ตามเมืองใหญ่ๆ อย่างเดลีและมุมไบ แต่ยังรวมถึงเมืองเล็กเมืองน้อย ที่ซึ่งถนนเล็กแคบเคยมีแต่จักรยานกับรถลาก ทว่าตอนนี้คลาคล่ำไปด้วยรถยนต์และจักรยานยนต์
ผมเริ่มเขียนสารคดีเรื่องนี้โดยการติดรถไปกับเจตัน ซิงห์ โซลันกี ช่วงที่เขาเดินทางทั่วรัฐมัธยประเทศ เมื่อกลับถึงสหรัฐฯ ผมโทรหาโซลันกีเพื่อถามว่า สารของเขาที่ส่งถึงเพื่อนร่วมชาติให้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายนั้น จะไม่เป็นอุดมคติมากไปหรือ และออกจะไม่ยุติธรรม
เขาหัวเราะ “ถ้าเราจะมาเถียงกันว่าใครต้องเป็นคนลดการบริโภคก่อนอยู่อย่างนี้ โลกคงหายนะก่อน ละครับ” เขาบอก “อเมริกาอาจเถียงสวนมาว่า ก็ได้ เราจะบริโภคให้น้อยลง แต่ประเทศคุณมีประชากรล้นเกิน ทำไมไม่ลดจำนวนประชาชนของคุณลงสักหน่อยละ”
ความหวังของเขาก็คืออินเดียจะเป็นผู้นำโดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง “ผมจะกระจายสารนี้ออกไปในอินเดีย ดูซิว่าผู้คนจะรับไหม” เขาบอกผม “จากนั้นผมจะเอาไปเผยแพร่ต่อในประเทศอื่นๆครับ”
เรื่อง ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ
ภาพถ่าย อาร์โก ดอตโต
ติดตามสารคดี อินเดียกับความท้าทายด้านพลังงาน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/553207