การสร้างเขื่อนมากขึ้นช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้ง จริงหรือไม่?

การสร้างเขื่อนมากขึ้นช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้ง จริงหรือไม่?

ในขณะที่แม่น้ำทั้งหลายไหลกรรโชกโหมกระหน่ำ หรือไม่ก็ค่อย ๆ แห้งเหือดไปเนื่องจากสภาพอากาศสุดขั้วในภาวะโลกรวน ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่าการ สร้างเขื่อน ควรจะมีบทบาทหรือไม่ ในการจัดการแม่น้ำ

การ สร้างเขื่อน :ดูเหมือนว่าแม่น้ำสายต่าง ๆ ทั่วโลก จะไหลเชี่ยวขึ้นหรือแห้งเหือดลงไป

ในขณะที่อุทกภัยครั้งใหญ่ในบริเวณแม่น้ำประเทศปากีสถานทำให้หนึ่งในสามของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ คนกว่าสิบล้านคนต้องไร้บ้าน แต่ในทวีปยุโรปกลับต้องเผชิญภัยแล้งที่มองไม่เห็นมากว่า 500 ปี ทางน้ำสายสำคัญหลายสายในทวีปต่างแห้งเหือดไปเกือบหมด ในสหรัฐอเมริกา แม่น้ำเคนตักกี้เผชิญน้ำท่วมรุนแรงในฤดูร้อนที่ผ่านมาแต่แม่น้ำโคโลราโดกลับลดระดับลงมากจนหลาย ๆ รัฐต้องเตรียมมาตรการรับมือ

อย่างไรก็ตาม มีการเห็นต่างเล็กน้อยกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นระยะเวลาหลายปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้ปริมาณน้ำฝนและภัยแล้งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของแม่น้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ จะจัดการทางน้ำที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะคำถามที่ว่า เขื่อนควรจะมีบทบาทในการช่วยบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เราเพิ่งเผชิญและต้องเผชิญนี้หรือไม่

ความคิดเห็นของแต่ละคนที่มีต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไป ผู้สนับสนุนกล่าวว่าเขื่อนกักเก็บน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับกระแสน้ำอันรุนแรงและภาวะโลกรวน เนื่องจากเขื่อนจะช่วยกักเก็บน้ำเอาไว้ในช่วงน้ำท่วมและปล่อยน้ำออกมาในช่วงแห้งแล้ง

เขื่อน, สร้างเขื่อน, การสร้างเขื่อน, น้ำท่วม, ภัยแล้ง,
น้ำไหลลงมาผ่านเขื่อนเซา (Sau dam) ในเมืองวิลาโนวา เดอ เซา ประเทศสเปน ท่ามกลางความร้อนระอุทั่วทั้งยุโรปในฤดูร้อนที่ผ่านมา แม่น้ำสายต่าง ๆ ในทวีปต่างก็แห้งเหือดกันไป ภาพถ่ายโดย แองเจล การ์เซีย, BLOOMBERG, GETTY IMAGES

“เขื่อนและไฟฟ้าพลังน้ำ (hydropower) ไม่ใช่ยารักษาสารพัดโรค แต่เป็นยาพื้นฐานที่ช่วยบรรเทาและปรับเปลี่ยนภูมิอากาศ” ริชาร์ด เทย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าพลังน้ำระดับแนวหน้า ผู้เป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาในสหราชอาณาจักรชื่อว่า RMT Renewables กล่าว

ไม่เป็นเช่นนั้นหรอก เหล่านักวิจารณ์แย้งว่าเขื่อนส่งผลเสียมากกว่าผลดี แม้ว่าที่ผ่านมาข้อโต้แย้งของนักวิจารณ์พุ่งเป้าไปที่ผลกระทบเชิงลบของเขื่อนที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของแม่น้ำ แต่ในปัจจุบันกลับมีหลาย ๆ กรณีทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วเขื่อนทำให้ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งแย่ลง นักวิจารณ์ยังหยิบยกงานวิจัยขึ้นมากล่าวด้วยว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นในเขื่อนมักจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตรายออกมามากกว่าที่เข้าใจกันก่อนหน้านี้ด้วย

“เขื่อนเป็นวิธีแก้ปัญหาทางสภาพอากาศที่ผิด” อิซาเบลลา วิงค์เลอร์ ผู้นำร่วมขององค์กร International Rivers องค์กรรณรงค์ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา “เขื่อนถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งพลังงานสีเขียว ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น”

เสี่ยงภัยที่สุด

เป็นเวลากว่าพันปีแล้วที่ มนุษย์ สร้างเขื่อน กั้นแม่น้ำและลำธารเพื่อทดน้ำเข้าสู่ฟาร์ม เป็นแหล่งน้ำดื่มและป้องกันน้ำท่วม ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปประมาณช่วงปลายคริสตทศวรรษที่ 1800 มีการ สร้างเขื่อน เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า และช่วงต้นคริสตทศวรรษที่ 1900 เป็นยุคของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งในแถบอเมริกาเหนือหรือยุโรป โดยที่แม่น้ำส่วนใหญ่นั้นมีน้ำอยู่ล้นเอ่อเรียบร้อยแล้ว ในส่วนอื่น ๆ ของโลก การพัฒนาไฟฟ้าพลังงานน้ำมีมากขึ้น กระทั่งในปี ค.ศ. 2013 การพัฒนาในด้านนี้พุ่งไปจนถึงสูงสุดผ่านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ (megadam) ในประเทศจีนและบราซิล ปัจจุบัน ไฟฟ้าพลังน้ำมีส่วนในการผลิตไฟฟ้าในโลกถึงร้อยละ 17 มากเป็นอันดับสามรองจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ประเทศต่าง ๆ เช่น ปารากวัย, เนปาล, นอร์เวย์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำในการผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมด สำหรับประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ระดับน้ำทะเลหรือต่ำกว่า เช่น เนเธอร์แลนด์ ยังคงใช้โครงสร้างควบคุมน้ำท่วมอยู่เพราะความจำเป็น เขื่อนก็เช่นกัน

เขื่อน, สร้างเขื่อน, การสร้างเขื่อน, น้ำท่วม, ภัยแล้ง,
สภาพอากาศร้อนจัดในฤดูร้อนและฝนที่ไม่ตกส่งผลกระทบต่อระดับน้ำของแม่น้ำแยงซี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในทวีปเอเชียนี้ยาวประมาณ 6,276 กิโลเมตร ไหลผ่านประเทศจีนและหล่อเลี้ยงไร่นาในจีนซึ่งผลิตอาหารกว่าครั้งหนึ่งของประเทศ และเป็นพลังงานให้สถานีไฟฟ้าพลังน้ำหลายพันแห่ง รวมถึงเขื่อนสามหุบเขา (เขื่อนซานเสียต้าป้า – Three Gorges Dam) ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ภาพถ่ายโดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าแม่น้ำหลายสายที่ได้รับความเสี่ยงจากภาวะโลกรวนไหลผ่านประเทศที่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ สื่อกลางทางการเงิน และความรู้ในการจัดการกับเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง บางคนหยิบยกปากีสถานขึ้นมาเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อภัยเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ในภูมิภาคที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากฝนที่ตกหนักขึ้นและภัยแล้งในขณะที่ภาวะโลกรวนยังคงดำเนินไป

น้ำท่วมครั้งใหญ่ในฤดูร้อนที่ผ่านมาคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 1,500 คน เป็นผลมาจากฝนมรสุมตกกระหน่ำลงมาหนักกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึงสี่เท่า ตามด้วยคลื่นความร้อนที่รุนแรงผิดปกติช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ

เขื่อน, สร้างเขื่อน, การสร้างเขื่อน, น้ำท่วม, ภัยแล้ง,
ภาพถ่ายทางอากาศนี้ถ่ายจากปากีสถานเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2022 ทำให้เห็นพื้นที่อยู่อาศัยที่โดนน้ำท่วมหลังจากที่โดนฝนมรสุมรุนแรงในแคว้นบาลูจิสถานพัดพาเอาบ้านเรือน ธุรกิจ ถนนและสะพานต่าง ๆ หายไปกับน้ำ เกือบหนึ่งในสามของประเทศปากีสถานจมอยู่ใต้น้ำหลังจากเผชิญฝนมรสุมตกหนักเป็นประวัติการณ์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,300 คนในเหตุการณ์นี้ ภาพถ่ายโดย ฟิดา ฮุสเซน, AFP, GETTY IMAGES

ปากีสถานมิได้มีการลงทุนใหญ่ ๆ ในระบบการควบคุมอุทกภัยหลังเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีค.ศ. 2010 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเขื่อนที่มีเพิ่มขึ้นบริเวณแม่น้ำสินธุ แม่น้ำสายหลักของประเทศที่มีเขื่อนอยู่แล้วนั้นจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ “น้ำท่วมทางตอนใต้ของปากีสถานบางส่วนเกิดจากฝนตกมากเกินไปในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น เขื่อนคงไม่ได้ช่วยอะไรมากที่นั่น” โมเอทาซิม แอชฟาค (Moetasim Ashfaq) นักวิทยาศาสตร์ด้านการคำนวณสภาพอากาศที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอคริดจ์ (Oakridge National Laboratory) รัฐเทนเนสซี กล่าว

แต่แอชฟาคยังกล่าวอีกว่า ความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดจากฝนตกหนักนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กบริเวณแควน้ำบางแห่ง “อ่างเก็บขนาดเล็กนี้มีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำท่วมฉับพลันได้” เขากล่าว นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นระยะเวลาที่กระแสน้ำไหลเข้ามาจากแควน้ำด้วยว่า ระบบควบคุมโดยมนุษย์สามารถควบคุมกระแสน้ำได้ ทำให้กระแสน้ำที่ไหลเข้ามาจากแควเข้าสู่แม่น้ำสายหลักนี้เบี่ยงเบนไปได้ และป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้

ลมกรดที่อ่อนแรงลง

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าเขื่อนที่มีอยู่หลายแห่งที่สร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะลดอุทกภัยนั้น ใช้หลักการดำเนินงานที่ล้าสมัยโดยอิงตามสภาพอากาศเก่า เขื่อนบางแห่งอาจถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีทางระบายน้ำที่เพียงพอจะรับมือกับอุทกภัยรุนแรง ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าเขื่อนใหม่จะต้องสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงระดับน้ำฝนในอนาคตที่เพิ่มขึ้นด้วย

“เราต้องออกแบบเผื่อไว้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด”ออรูป แกงกูลี่ (Auroop Ganguly) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น บอสตันกล่าว แต่ความคาดการณ์ไม่ได้ว่าสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้นทำให้ยากที่จะรู้ว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดที่กล่าวไปนั้นเป็นเช่นไร

เขื่อน, สร้างเขื่อน, การสร้างเขื่อน, น้ำท่วม, ภัยแล้ง, สวิตเซอร์แลนด์
สวิตเซอร์แลนด์มีโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำหลายร้อยแห่งกระจายตัวไปตามเทือกขาแอลป์ นี่คือภาพถ่ายทางอากาศของโรงไฟฟ้าพลังน้ำสองแห่ง ได้แก่ เขื่อนเวยอซ์-เอมสซง (Vieux-Emosson dam) และเขื่อนเอมสซง (Emosson dam) ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนกล่าวว่า เขื่อนนี้เป็นทางเลือกสีเขียวสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่ฝังตรงข้ามกล่าวว่า เขื่อนนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก ภาพถ่ายโดย ฟาบริซ คอฟรินิ, AFP, GETTY IMAGES

เมื่อต้นปีนี้ งานวิจัยในวารสาร Nature Communications ชิ้นหนึ่งพบว่าเขื่อนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออุทกภัยได้ในบางกรณี จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของแอ่งก้นแม่น้ำที่ปลายน้ำ ความเชื่อเดิมบอกไว้ว่าน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนจะช่วยขยายทางน้ำท่วมที่ปลายน้ำ จึงช่วยลดความเสี่ยงน้ำท่วม แต่การศึกษางานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนจะทำให้ตะกอนเล็ก ๆ ที่แอ่งก้นแม่น้ำหายไป ทำให้ก้นแม่น้ำหยาบขึ้นและขัดขวางการไหลของแม่น้ำ เป็นผลให้น้ำท่วมหนักกว่าเดิม

ภัยแล้งที่ยืดเยื้อในทวีปยุโรป ดังที่เห็นได้จากแม่น้ำลัวร์ ในฝรั่งเศส แม่น้ำไรน์ ในเยอรมนี และแม่น้ำโป ในอิตาลี ว่าปริมาณน้ำลดลงไปอย่างมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงในด้านการขนส่งทางเรือและกิจกรรมทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยุโรปจัดได้ว่าเป็นทวีปที่เสียหายที่สุดในโลก จากที่ภาวะโลกรวนทำให้ลมกรดซึ่งนำความชื้นจากมหาสมุทรแอตแลนติกมาสู่ยุโรปอ่อนแรงลง ผู้เชี่ยวชาญจึงคาดการณ์ว่าภัยแล้งจะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในทวีปยุโรป

เพื่อตอบโต้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศยุโรปบางประเทศรวมไปถึงสหราชอาณาจักร มีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำเอาไว้สะสมน้ำในระหว่างปีเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในช่วงแห้งแล้ง แต่จากการศึกษาพบว่าการทำแบบนั้นสามารถนำไปสู่วัฏจักรอุปสงค์-อุปทานที่ขยายขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะยิ่งอุปทานที่มีต่อน้ำเพิ่มมากขึ้น อุปสงค์ของน้ำก็จะยิ่งมากขึ้นตาม ทำให้ผลประโยชน์ที่จะได้จากการสร้างอ่างเก็บน้ำถูกกลบไปอย่างรวดเร็ว

“นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า วงจรอุปสงค์-อุปทาน หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ผลสะท้อนกลับ’ นี้อาจทำให้ผลกระทบของภัยแล้งและความขาดแคลนน้ำแย่ลง” กล่าวโดยจิวลิอาโน ดิ บัลดัสซาเร่ (Giuliano Di Baldassarre) ศาสตราจารย์ด้านอุทกวิทยาน้ำผิวดินและการวิเคราะห์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยอุปป์ซอลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน

การอ้างสิทธิ์สีเขียว

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำก็ถูกคุกคามจากภาวะโลกรวนเช่นเดียวกัน งานวิจัยจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่าภายในปีค.ศ. 2050 เกือบสองในสามของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่วางแผนจะสร้างขึ้นทั่วโลกตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูงหรือสูงมากต่อภัยแล้งและอุทกภัยหรือทั้งคู่

การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลดลงอย่างมากในหลายภูมิภาคเป็นผลพวงมาจากระดับน้ำในแม่น้ำที่ลดลงเรื่อย ๆ สำหรับบางประเทศ เช่น แซมเบีย ที่การผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้มาจากไฟฟ้าพลังน้ำ การสูญเสียไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นจำนวนมากอาจนำไปสู่การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาจากภัยแล้งที่ยาวนานกว่าทศวรรษ ทำให้ผลผลิตลดลงไปกว่าร้อยละ 40

“การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปได้ของค่าใช้จ่ายและผลกำไรต่าง ๆ ที่ตั้งเอาไว้อาจทำให้เขื่อนมีการแข่งขันกันน้อยกว่า ตัวเลือกการผลิต ‘ไฟฟ้า’ หรือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าในสถานที่ที่เสี่ยงกว่า” เจฟฟ์ ออปเปอร์แมน (Jeff Opperman) นักวิทยาศาสตร์แนวหน้าเรื่องน้ำจืดทั่วโลกจาก WWF และผู้เขียนรายงานของ WWF กล่าว

แม้เทคโนโลยีพลังงานสุริยะและพลังงานลมกลายเป็นตัวเลือกพลังงานทดแทนที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในราคาที่เอื้อมถึง การเติบโตของไฟฟ้าพลังงานน้ำกลับคาดว่าจะลดลงกว่าร้อยละ 20 ภายในปีค.ศ. 2030 แต่ในหลาย ๆ พื้นที่ เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำยังคงขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ดีและไม่ได้สนใจค่าตอบแทนทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำก็จะสูญเสียเรื่องการประมงไป เป็นต้น

เขื่อน, สร้างเขื่อน, การสร้างเขื่อน, น้ำท่วม, ภัยแล้ง, แม่น้ำ, ป่า, อินโดนีเซีย
โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก่อสร้างเลียบไปตามฝั่งแม่น้ำคายัน (Kayan River) ในกาลิมันตันเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย ภาพถ่ายโดย อันโตน ราฮาร์โย, ANADOLU AGENCY, GETTY IMAGES

“แรงจูงใจสำหรับโครงการเหล่านี้มักจะขับเคลื่อนโดยการเมืองอภิสิทธิ์และการทุจริตที่มาพร้อมกับความต้องการพวกเขื่อนเหล่านี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ไบรอัน เอย์เลอร์ (Brian Eyler) ผู้อำนวยการโครงการในเอเชียตะวันออกอาคเนย์ ณ ศูนย์สติมสัน (Stimson Center) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เขาเป็นผู้ควบคุมดูแลการสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เนื่องจากไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงในระหว่างการปฏิบัติงาน เขื่อนจึงมักถูกมองว่าเป็นการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดและจัดว่าเป็นวิธีการจัดเก็บไฟฟ้าที่อ่อนโยนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้แบตเตอรี่ เพราะแบตเตอรี่ต้องอาศัยการสกัดแร่ธาตุที่รุนแรงในการผลิต แต่นักวิจารณ์กลับบอกว่า การรับรองว่าเขื่อนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการคุยโวเกินไปโดยการชี้ให้เห็นว่าเขื่อนต้องใช้คอนกรีตจำนวนมหาศาลในการสร้าง ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตปรินท์มากมาย อีกทั้งยังมีหลักฐานอีกว่าการสร้างเขื่อนปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากกว่าที่คิดไว้มาก เพราะพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วมย่อยสลายอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำหลังเขื่อนนั้นมักจะผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นจำนวนมาก ก๊าซเรือนกระจกนี้รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

“ไฟฟ้าพลังน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นย้อนแย้งด้วยตัวของมันเอง และเป็นการทำให้เราไขว้เขวออกจากหนทางแก้ปัญหาภาวะโลกรวนอื่นๆ ที่ใช้การได้ดีกว่า” วิงค์เลอร์จาก International Rivers กล่าว

หนทางแก้ไขปัญหาจากธรรมชาติ

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มักจะพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปและทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้พัฒนาเขื่อนจำนวนมากจึงอาจหันไปใช้เทคโนโลยี “กระแสน้ำไหลผ่าน” แทน น้ำจากแม่น้ำจะไหลผ่านสถานีไฟฟ้าพลังน้ำอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอ่างเก็บน้ำมากักเก็บน้ำเอาไว้ โครงการดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วถือได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ก็ไม่ยืดหยุ่นเพราะว่าวิธีนี้ทำให้ไม่สามารถจัดการน้ำตามสภาพอากาศได้

สถาบันไฟฟ้าพลังน้ำผลกระทบต่ำ (Low Impact Hydropower Institute) มีฐานอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการเพิ่มพลังงานน้ำเข้าไปในเขื่อนที่มีอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกาซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 3 ของเขื่อนทั้งหมดที่ผลิตกระแสไฟฟ้า

“เขื่อนเป็นได้ทั้งกุญแจหลักในการสร้างพลังงานและอนุรักษ์ธรรมชาติ” กล่าวโดยแชนนอน เอมส์ (Shannon Ames) ผู้อำนวยการบริหารของสถาบัน “หากดำเนินการอย่างยั่งยืน การเพิ่มพลังงานน้ำเข้าไปในเขื่อนที่มีอยู่แล้วก็จะเป็นการช่วยพัฒนาแม่น้ำรอบ ๆ ด้วย”

แต่ก็ยังมีผู้คนบางส่วนที่กล่าวว่าเราควรอยู่ห่างจากเขื่อนไม่ว่าจะด้วยประการใด และควรจะหาหนทางที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยอาศัยวิธีแก้ปัญหาทางธรรมชาติ นักนิเวศวิทยาหลายคนกล่าวว่า การปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำควรดำเนินการก่อน เนื่องจากระบบนิเวศเหล่านั้นทำหน้าที่เสมือนฟองน้ำธรรมชาติที่คอยรองรับน้ำท่วมภายในบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ

“พวกเราได้เปลี่ยนอ่างเก็บน้ำให้กลายเป็นเพียงเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่บริการผู้คนเท่านั้น ไม่ใช่ธรรมชาติ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม” กล่าวโดยเฮอร์แมน แวนนิงเงน (Herman Wanningen) ผู้ก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนการเอาเขื่อนออกในยุโรป (Dam Removal Europe)

“เราต้องทำงานร่วมกันกับธรรมชาติ ไม่ใช่ต่อต้านธรรมชาติ”

เรื่อง สเตฟาน ลอฟเกร็น

แปล กษิดิศ ธัญกิจจานุกิจ

โครงการสหกิจศึกษา เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม การสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์

เขื่อน
เขื่อน Xiaowan ที่มีความสูงราว 291 เมตร ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2010 เป็นแหล่งพลังงานให้กับบรรดาเมืองและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน การสร้างเขื่อนนี้ทำให้ชาวบ้านกว่า 38,000 คน ต้องอพยพ ภาพถ่ายโดย DAVID GUTTENFELDER, AP/NAT GEO IMAGE COLLECTION

Recommend