ก๊าซธรรมชาติ : ขุมทรัพย์รัสเซีย

ก๊าซธรรมชาติ : ขุมทรัพย์รัสเซีย

ก๊าซธรรมชาติ : ขุมทรัพย์รัสเซีย

สองสามวันก่อนวันคริสต์มาสปี 2014 ใบหน้าคุ้นๆปรากฏบนจอภาพในห้องประชุมที่บาวาเนียนคาวาบนคาบสมุทรยามัลของไซบีเรีย ห่างจากเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลไปทางเหนือ 400 กิโลเมตร ใบหน้าของวลาดีมีร์ ปูตินดูเบลอๆจากการเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมที่ค่อนข้างช้า อะเล็กซีย์ มิลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ ซีอีโอแห่งก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ยืนนิ่งมองจอภาพและประธานาธิบดีรัสเซีย นอกห้องประชุม หมู่อาคารสำเร็จรูปและท่อส่งน้ำมันแวววาวเปิดไฟสว่างไสวดูราวกับสถานีอวกาศที่ลอยอยู่ท่ามกลางความมืด  บาวาเนียนคาวาคือแหล่ง ก๊าซธรรมชาติ ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มิลเลอร์ร้องขอให้ปูตินอนุมัติการสูบก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใหม่ที่นั่น

“เริ่มได้” ปูตินเอ่ย

ก๊าซธรรมชาติ
ที่เกาะคอลกูยอฟของรัสเซีย คนงานตรวจวัดระดับน้ำมันในแทงก์กักเก็บซึ่งเป็นของบริษัทยูราลส์เอเนอร์จี เลยชายหาดออกไปคือทะเลแบเร็นตส์ แหล่งน้ำมันแห่งนี้ผลิตน้ำมันดิบชนิดเบาคุณภาพสูงมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980

มิลเลอร์ส่งต่อคำสั่ง วิศวกรกดปุ่ม จากนั้น ก๊าซธรรมชาติจากอาร์กติกก็ไหลไปตามท่อความยาวกว่าหนึ่งพันกิโลเมตรเข้าสู่เครือข่ายโยงใยของรัสเซีย  กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้  คาบสมุทรยามาลเป็นที่รู้จักในฐานะดินแดนของชาวเนเนตส์ ซึ่งเป็นชนเร่ร่อนเลี้ยงกวางเรนเดียร์  และที่ตั้งค่ายกักกันหฤโหดสมัยโจเซฟ สตาลิน แต่บริษัทก๊าซพรอมคาดการณ์ว่า พอถึงปี 2030 ภูมิภาคนี้จะป้อนก๊าซธรรมชาติมากกว่าหนึ่งในสามของกำลังการผลิตในรัสเซียและน้ำมันอีกมหาศาล บาวาเนียนคาวาคือหนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมากกว่า 30 แหล่งเท่าที่ทราบบนคาบสมุทรและนอกชายฝั่งคาบสมุทรยามาลภูมิภาคนี้อาจกลายเป็นซาอุดีอาระเบียแห่งอาร์กติกที่ป้อนเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนให้โลกที่กระหายพลังงาน  หรืออย่างน้อยนั่นคือสิ่งที่ปูตินคาดหวัง

ขณะที่ภาวะโลกร้อนทำให้อาร์กติกอุ่นขึ้น รัสเซียก็เป็นหัวหอกนำทีมเข้าไปเพื่อหมายสูบทรัพยากรจากที่นั่น ปลายปี 2013 ก๊าซพรอมเป็นบริษัทแรกที่ผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งอาร์กติกจากแท่นขุดเจาะแห่งหนึ่งในทะเลเปโชราหลังจับกุมและยึดเรือของผู้ประท้วงกรีนพีซ 30 คน ขณะที่ทางตะวันออกของคาบสมุทรยามัลโนวาเท็ก (Novatek) บริษัทร่วมทุนของรัสเซียอีกแห่ง กำลังสร้างสถานีแปรรูปก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่เพื่อส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกและยุโรปโดยอาศัยเรือบรรทุกน้ำมันตัดน้ำแข็ง  แม้ว่ายิ่งนานวัน จะมีน้ำแข็งให้ตัดน้อยลงเรื่อยๆ ก็ตาม

ก๊าซธรรมชาติ
คนงานแท่นขุดเจาะโดยสารเฮลิคอปเตอร์มาทำงานกะละหลายสัปดาห์ที่บ่อน้ำมันเทรบส์และตีตอฟในเขตอาร์กติกของรัสเซียทางตะวันตกของคาบสมุทรยามัล ภูมิภาคซึ่งเป็นถิ่นอาศัยดั้งเดิมของชนพื้นเมืองเลี้ยงกวางเรนเดียร์

ไม่ใช่แค่รัสเซียเท่านั้น  สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯประมาณการเมื่อปี 2008 ว่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้สำรวจกว่าหนึ่งในห้าของโลกอยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล  และภูมิภาคนี้ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุอื่นๆอีกด้วย  เมื่อปีที่แล้ว นอร์เวย์สร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลแบเร็นตส์ ซึ่งอยู่เหนือยิ่งกว่าแท่นขุดเจาะของก๊าซพรอม ส่วนแคนาดาเปิดเหมืองเพชร ทอง และเหล็กในดินแดนนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์และ นูนาวุต และในเมื่อตอนนี้ ชายฝั่งไซบีเรียอยู่ในสภาพปลอดน้ำแข็งปีละหลายเดือน เรือขนส่งสินค้าจึงเริ่มใช้เส้นทางนอร์เทิร์นซีรูต (Northern Sea Route) เดินทางจากยุโรปไปเอเชียตะวันออก ฤดูร้อนปีนี้ เรือสำราญขนาดใหญ่ คริสตัลซีรีนิตี มีกำหนดจะพานักท่องเที่ยวท่องไปตามเส้นทาง(เดินเรือ) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ(Northwest Passage) เส้นทางเดินเรือในตำนานของแคนาดา

การแข่งขันเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในอาร์กติกดูจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้และน่าวิตก ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ที่กำลังละลายปล่อยคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อนขึ้นสู่บรรยากาศอยู่แล้ว ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า ถ้าเราอยากให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในสภาพที่สามารถจัดการได้ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอาร์กติกคือแหล่งไฮโดรคาร์บอนลำดับต้นๆที่เราไม่พึงเข้าไปยุ่งเกี่ยว นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังเกรงด้วยว่า  การพัฒนาจะส่งผลกระทบต่อผืนป่าบริสุทธิ์และส่ำสัตว์น่าทึ่งต่างๆ อีกทั้งผู้คนจำนวนมากในหมู่ชนพื้นเมืองสี่ล้านคนที่อาศัยอยู่รอบอาร์กติกต่างพากันวิตกถึงสิ่งที่จะคุกคามวิถีชีวิตของพวกเขา แม้ว่าหลายคนจะพอใจกับตำแหน่งงานใหม่ๆ และภาษีรายได้ที่การพัฒนาอาจนำพามาให้ก็ตาม

ก๊าซธรรมชาติ
โกเลียต แท่นขุดเจาะแห่งใหม่รอเริ่มงานในฟยอร์ดแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งประเทศนอร์เวย์ ปัจจุบันแท่นแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ 71 องศาเหนือในทะเลแบเร็นตส์ ถือเป็นแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งที่อยู่เหนือสุดของโลก

หากพิจารณาจากคำกล่าวอ้างเกินจริงของทั้งสองฝ่าย  ช่างน่าแปลกใจที่การเร่งรุดสู่อาร์กติกกลับไมหวือหวาอย่างที่คิด  เพราะมีบริษัทเพียงหยิบมือที่เข้าไปชิมลางที่นั่น  ส่วนที่กำไรได้ยิ่งมีน้อยกว่านั้นอีก เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว จู่ๆบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์ก็ล้มเลิกโครงการมูลค่าเจ็ดพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะใช้เวลาหลายปีในการสำรวจน้ำมันในทะเลชุคชี นอกชายฝั่งอะแลสกา  หลังขุดบ่อน้ำมันแห่งหนึ่งและพบว่าไม่คุ้มทุน เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายมหาศาลของปฏิบัติการในภูมิภาคที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานน้อยนิด ระยะทางยาวไกล และสภาพอากาศเลวร้ายไม่แปรเปลี่ยน

เรื่อง โจเอล เค. บอร์น, จูเนียร์

ภาพถ่าย อีฟกีเนีย อาร์บูเกวา

 

อ่านเพิ่มเติม

อัญมณีด้านสิ่งแวดล้อมในรัสเซีย

Recommend