มลพิษไม่มีประเทศ เข้าใจ ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือและข้อตกลงว่าด้วยหมอกควันข้ามพรมแดน

มลพิษไม่มีประเทศ เข้าใจ ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือและข้อตกลงว่าด้วยหมอกควันข้ามพรมแดน

ไขคำตอบทำไม ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือถึงหนักอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยเสนอรัฐแก้ปัญหาข้อตกลงและกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศป้องกันการเผาข้ามประเทศ

ปัญหาไฟป่าและหมอกควันทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ค่าฝุ่นในพื้นที่จังหวัดภาคเหนืออยู่ในระดับที่สูงมากและเกินมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน

ล่าสุด วันที่ 27 มกราคม 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ในเวลา 07:00 น ว่า ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.อุทัยธานี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.ชัยภูมิ และ จ. อุบลราชธานี

ฝุ่น PM2.5

ทั้งนี้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือสูงสุดที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตรวจวัดได้ 537 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเข้าขั้นเป็นเมืองที่มลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก รองลงมา ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน วัดได้ 302 มคก./ลบ.ม., ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วัดได้ 291 มคก./ลบ.ม., ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน วัดได้ 270 มคก./ลบ.ม.

PM2.5 ในภาคเหนือสูงขึ้นเพราะอะไร?
ปัญหา ค่าฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดภาคเหนือที่สูงขึ้นนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) รายงานการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา

เฟสบุ๊คของ GISTDA ระบุว่า ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 26 มีนาคม 2566 ประเทศไทยพบจุดความร้อนมากที่สุด 5,572 จุด สูงสุดในรอบปี 5 จากการเก็บสถิติที่ผ่านมา ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างพม่ายังครองแชมป์สูงสุงถึง 10,563 จุด ตามด้วย สปป.ลาว 9,652 บาท, กัมพูชา 1,342 จุด, เวียดนาม 870 จุด และ มาเลเชีย 22 จุด

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก

• อากาศร้อนแต่ก็ยังเผา

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์ 2,982 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,785 จุด , พื้นที่เกษตร 376 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 207 จุด , พื้นที่เขต สปก. 202 จุด , และพื้นที่ริมทางหลวง 20 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ #น่าน 638 จุด #แม่ฮ่องสอน 558 จุด และ #อุตรดิตถ์ 430 จุด

ขณะที่กรมอนามัยคาดการณ์ว่าในสัปดาห์นี้ (27 มี.ค.-2 เม.ย.) พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแนวโน้มการสะสมฝุ่น PM2.5 เนื่องจากลมนิ่ง รวมทั้งการเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อนสะสมในเดือนมีนาคมสูงถึง 25,209 จุด ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแนวโน้มการสะสมฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากลมนิ่ง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยระดับค่าฝุ่นละอองดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้มี อาการต่าง ๆ เช่น แสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอกแล้ว ผู้ที่มีโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และหากได้รับในปริมาณมากในระยะยาว ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย เข้าไปทำลายระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอด ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งในระยะยาว

• งานวิจัยแนะรัฐแก้ข้อตกลงและกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

ปัญหาฝุ่นและหมอกควันที่เต็มไปด้วยมลพิษในพื้นที่ภาคเหนือเช่นทุกปี และแม้ปัจจุบันจะมี ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน ที่มีผลต่อการจัดการหมอกควันข้ามพรมแดนในพื้นที่แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ราวกับข้อตกลงที่ว่าไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ

บทความ “ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนที่มีผลต่อการจัดการหมอกควันข้ามพรมแดนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกรณีศึกษาระบบจัดการแบบเบ็ดเสร็จ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิทยานิพนธ์เรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในจังหวัด เชียงราย กรณีศึกษาระบบการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุตอนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาหมอกควันตามข้อตกลงนี้ เมื่อนโยบายลงมาถึงภาคปฏิบัติ ก็สามารถควบคุมได้เฉพาะฝั่งไทย

ทว่าข้อตกลงยังไม่สามารถควบคุมได้จากฝั่งลาวและเมียนมาได้ เพราะแม้ว่าอาเซียนมีแนวทางจัดการหมอกควันต่อประเทศสมาชิก แต่แนวทางดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการไม่ก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยภายใต้หลักการสำคัญของอาเซียน หรือวิถีอาเซียน ส่งผลให้แนวทางการบรรเทาหมอกควันภายในภูมิภาคเป็นไปในลักษณะสร้างมาตรฐานกลางให้แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนและเลือกนำไปปฏิบัติใช้ตามแนวทางการจัดการของตนเอง

ผลข้างต้นทำให้ ทำให้แนวทางปลอดหมอกควันอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2020 และแผนปฏิบัติการเชียงราย ต่อการบรรเทาหมอกควันระดับอาเซียนตอนบน ไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้ในเชิงปฏิบัติรวมถึงความแตกต่างของการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศ ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

ข้อแนะนำจากงานวิจัยนี้ จึงชี้ให้เห็นว่าเมื่อข้อตกลงฯ ไม่เป็นผล รัฐจึงต้องมีการประสานความร่วมมือระดับชายแดน และการดำเนินการที่เข้มแข็งของฝ่ายปกครอง

• สนับสนุนมาตรการทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ ที่จะช่วยแก้ปัญหาผ่านกลไกเศรษฐกิจ เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) โดยการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนมาตรการและเงินทุนกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างตรงจุด ให้การดำเนินธุรกิจต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ปล่อยมลพิษ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมาตรฐานกลาง เป็นมาตรฐานสูงที่แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ไม่เป็น Greenwashing จำแนกธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สีเขียว) ธุรกิจที่อยู่ในระหว่างปรับตัว (สีเหลือง) และธุรกิจไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สีแดง) ธุรกิจสีเขียวจะได้รับประโยชน์ทางภาษีรวมถึงเงินทุน ในขณะที่ธุรกิจสีแดง นอกจากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ควรมีบทลงโทษ ฐานทำลายสิ่งแวดล้อม และนอกจากสร้างมาตรฐานในประเทศเอง ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ควรมีเป้าหมายร่วมกัน สร้างความร่วมมือ และบทลงโทษ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติที่เห็นผล

ทั้งนี้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 และหมอกควันพิษ ไม่สามารถแก้ด้วยมาตรการเชิงรับ แต่ต้องเป็นไปในเชิงรุก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จริงจัง ดังนั้นทั้งประชาชนและรัฐ และกลุ่มประเทศสมาชิกจึงต้องเริ่มลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

อ้างอิง
• GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
กรมอนามัย
• บทความ “ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนที่มีผลต่อการจัดการหมอกควันข้ามพรมแดนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกรณีศึกษาระบบจัดการแบบเบ็ดเสร็จ”

 

อ่านเพิ่มเติม ผลวิจัยพบ มลพิษทางอากาศ มีผลต่อสมองและสุขภาพจิตของมนุษย์

Recommend