นักวิทยาศาสตร์คาดว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อาจสูงขึ้นถึงหนึ่งฟุตภายในปี 2050 แม้ว่าการปลดปล่อยคาร์บอนทั่วโลกจะลดลงก็ตาม ทำไมปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้น และเราจะปรับตัวอย่างไร
ในขณะที่ มนุษย์กำลังสร้างกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง มหาสมุทรของโลกก็ช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ โดยการดูดซับความร้อนที่เกิดขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 90 และเกิดเป็นผลลัพธ์เชิงลบต่อมหาสมุทรเองด้วย ในปี 2021 ที่ผ่านมา พบว่า มหาสมุทรมีอุณภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยประสบมาก่อน รวมทั้งส่งผลต่อ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นหนึ่งในผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1880 พบว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยสูงขึ้นกว่า 23 เซนติเมตร โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 นิ้วในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าทุกๆ ปีต่อจากนี้ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.13 นิ้ว
งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 แสดงให้เห็นว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะสูงขึ้นถึงหนึ่งฟุตภายในปี 2050
ตัวเลขจากงานวิจัยที่ยกมากำลังหมายถึงระดับน้ำทะเลในอีก 30 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ผ่านมา ตามการรายงานของริก สปินแรด ผู้ดูแลระบบ องค์กรภูมิอากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NOAA กล่าวว่า “การค้นพบครั้งนี้ ‘เป็นประวัติศาสตร์’ และเตือนว่า การคาดคะเนจะยั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม่ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะลดลงก็ตาม”
ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มประชากรที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล คือพื้นที่ทางฝั่งตะวันออก และชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นอ่าว นักวิทยาศาตร์คาดว่า ในปี 2050 จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น 10 เท่า และถี่ขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน อ้างอิงตามรายงานที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน ปี 2023 ที่ระบุว่า อัตราเร่งของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นตามแนวชายฝั่งเหล่านี้ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ‘อย่างน้อย’ ในรอบ 120 ปี”
นี่คือข้อเท็จจริงที่เราควรรู้ถึงสาเหตุและผลที่ตามมาของระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
สาเหตุที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น (ที่อ้างอิงจากงานวิจัย)
การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลเกี่ยวข้องกับสามปัจจัยหลัก ซึ่งทั้งหมดเหนี่ยวนำโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1. การขยายตัวเนื่องจากความร้อน
เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น มวลของน้ำจะขยายตัว ดังนั้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นกว่าครึ่งหนึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เกิดจากมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงทำให้มวลน้ำแผ่ขยายปกคลุมพื้นดินมากขึ้นตามไปด้วย
2. การละลายของธารน้ำแข็งทั่วโลก
ตามธรรมชาติ การเกิดก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ อย่างภูเขาน้ำแข็ง จะเกิดกระบวนการละลายเพียงเล็กน้อยในช่วงฤดูร้อน และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวที่มีหิมะตก ปริมาณหยาดน้ำฟ้าจากการระเหยของทะเลจะช่วยเพิ่มมวลน้ำแข็งกลับเข้าไปบนภูเขาน้ำแข็งเหล่านั้น ทำให้เกิดสมดุลระหว่างการละลายและการเกิดน้ำแข็ง
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ อัตราการละลายของธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น บวกกับปริมาณหิมะที่ลดลงในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา จึงก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างการละลายของน้ำแข็ง และการระเหยของน้ำทะเลในมหาสมุทร จึงเป็นผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
3. แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกา ละลายเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับกรณีของภูเขาน้ำแข็ง อุณภูมิที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ปกคลุมประเทศกรีนแลนด์ และทวีปแอนตาร์กติกา ละลายอย่างรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การละลายของน้ำได้ไหลลงสู่ฐานล่างของหิ้งน้ำแข็ง และทำให้น้ำแข็งเหล่านั้นไหลลงทะเลได้ง่ายขึ้น
ในขณะเดียวกัน การละลายในแอนตาร์กติกาตะวันตกได้ดึงดูดความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหิ้งน้ำแข็ง Larsen C แตกออกจากกันในปี 2017 ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาตะวันออกก็เริ่มแสดงสัญญาณของความไม่เสถียร
ผลที่ตามมา
เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเป็นการเพิ่มระดับเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ชายฝั่งได้อย่างมหาศาล
ผลที่เกิดขึ้นอาจเป็นไปได้ทั้ง การกัดเซาะชายฝั่ง เกิดอุทกภัยในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง เกิดภาวะดินเค็ม และการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นหนึ่งกลไกที่ส่งผลให้พายุเฮอริเคนและไต้ฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก ระดับน้ำทะเลมีผลต่อการเคลื่อนตัวของพายุ และปริมาณน้ำในพายุ เมื่อพายุทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงทำให้มีประสิทธิภาพการทำลายสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้นดินได้มากขึ้น
การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า ระหว่างปี 1963 ถึงปี 2012 จำนวนประชากรกว่าครึ่งหนึ่งที่เสียชีวิตจากพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก มีสาเหตุมาจากคลื่นพายุซัดฝั่ง
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง คลื่นพายุซัดฝั่ง
ปัจจุบัน ภาวะน้ำทะเลท่วมพื้นที่ชายฝั่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ประชากรต้องอพยพขึ้นไปยังที่สูง และผู้คนอีกนับล้านต้องเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบอื่นๆ
นอกจากนี้ การเกิดอุทกภัยยังมีโอกาสสร้างความเสี่ยงต่อการเข้าถึงบริการพื้นฐาน อย่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารส่วนใหญ่อยู่ในแนวที่น้ำทะเลกำลังจะท่วมถึง
มนุษย์ควรปรับตัวอย่างไร
จากความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น เมืองที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งหลายแห่งกำลังวางแผนและมาตรการในการปรับตัวเพื่อรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
แน่นอนว่า การวางมาตรการต่างๆ ต้องใช้งบประมาณที่มีมูลค่าสูง เช่น การสร้างกำแพงกันน้ำ การทำถนนใหม่ การปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้นเพื่อชะลอความแรงของน้ำ เป็นต้น
เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอแลนด์ / ภาพถ่าย Daniel Agudelo
ยกตัวอย่างเช่น เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โครงการที่เกี่ยวกับการรับมือจากระดับน้ำทะเลมีการลงทุนไปกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างกำแพงที่มีความสูง 80 ฟุต เพื่อป้องกันน้ำทะเล
เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นที่ตั้งของ Global Center on Adaptation ได้เสนอรูปแบบการรับมือให้กับเมืองต่างๆ ทั่วโลก เพื่อสร้างแผนการรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุน และการสูญเสียที่ดิน โดยเมืองต้นแบบของเนเธอร์แลนด์ได้สร้างกำแพงกันน้ำ วางระบบการระบายน้ำ และออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การสร้างจัตุรัสกลางน้ำ ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพื้่นที่รองรับน้ำชั่วคราวได้
ในขณะที่ ชุมชนที่เสี่ยงต่อน้ำทะเลหนุนสูงอาจทำได้เพียงแค่การชะลอกระแสน้ำเท่านั้น อย่างหมู่เกาะมาร์แชลล์ ที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนท่วมพื้นที่อาศัยของประชาชน ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะย้ายการตั้งถิ่นฐาน หรือสร้างแผ่นดินไปในทะเลเพิ่มขึ้น โดยถ้าเลือกการสร้างแผ่นดินเพิ่ม รัฐบาลอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ระดับน้ำทะเลจะสูงแค่ไหน
การคาดาการณ์ด้วยแบบจำลองส่วนใหญ่เป็นไปในทำนองที่ว่า ภาวะโลกร้อนจะยังคงดำเนินต่อไป และมีแนวโน้มที่จะมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า เมืองตามแนวชายฝั่งหลายร้อยเมืองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ว่า น้ำทะเลจะสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด และเร็วเพียงใด ยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการวิจัยเพิ่มเติม
รายงานพิเศษจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ปัจจุบัน เราสามารถคาดการณ์ได้ว่ามหาสมุทรจะเพิ่มระดับขึ้นระหว่าง 10 ถึง 30 นิ้ว ภายในปี 2100 และมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และนั่นก็เพียงพอที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเมืองตามชายฝั่งทั่วโลก
นอกจากนี้ การวิเคราะห์จากหน่วยงานทางด้านสภาพภูมิอากาศ อย่างนาซา และหลายองค์กรในยุโรป นำเสนอข้อมูลที่เลวร้ายกว่านั้น โดยคาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 26 นิ้ว ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากภาวะโลกรวนยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะนี้
นอกจากนี้ยังมีการจำลองว่า หากน้ำแข็งทั้งหมดที่อยู่ในธารน้ำแข็งบนโลก และแผ่นน้ำแข็งละลาย จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 216 ฟุต นั่นอาจทำให้ทั้งรัฐและแม้แต่บางประเทศจมหายไปใต้เกลียวคลื่น ตั้งแต่ฟลอริดาไปจนถึงบังกลาเทศ
แต่นั่นไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นไปได้ในความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เตือนว่า ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชากรโลกหลายสิบล้านคน
ปัจจุบัน ทีมนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้ช่วยกันศึกษาวิจัยในพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อสร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล พวกเขายังได้นำเสนอ แบบจำลองผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศหามาตรการยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://climate.nasa.gov/vital-signs/sea-level/#:~:text=Global%20sea%20levels%20are%20rising,of%20seawater%20as%20it%20warms.
https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate/climate-change-global-sea-level
https://oceanservice.noaa.gov/facts/sealevel.html
https://sealevelrise.org/causes/
https://www.weforum.org/agenda/2022/09/rising-sea-levels-global-threat/