แผนที่โลกใหม่ เมื่อสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังประสบกับวิกฤตสภาพอากาศในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะร้อน แห้งแล้ง ฝนตกหนัก หนาวเย็น หรือหิมะตก
สิ่งเหล่านี้เป็นการจำแนกเขตภูมิอากาศแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า ‘เคิปเปน-ไกเกอร์’ (Köppen–Geiger) ซึ่งถูกคิดค้นโดยนักภูมิอากาศวิทยาชาวเยอรมัน-รัสเซียที่ชื่อว่า วลาดิมีร์ เคิปเปน (Wladimir Köppen) เมื่อปี 1884
แผนที่การจัดประเภทภูมิอากาศเคิปเปน-ไกเกอร์มีการปรับปรุงหลายครั้งตั้งแต่นั้นมา และใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อจำลองการกระจายและการเจริญเติบโตของชนิดพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งแบ่งเขตอากาศหลักออกเป็น 5 แบบ ได้แก่ เขตร้อน แห้ง อบอุ่น แผ่นดินใหญ่ และขั้วโลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายความแตกต่างได้ดีขึ้นอย่างที่มันเป็นมา
แต่ปัจจุบันสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น และยังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่าบางภูมิภาคของโลกอาจมีสภาพอากาศแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
หากโลกยังมีแนวโน้มร้อนขึ้นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน งานวิจัยใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าระหว่าง 38% ถึง 48% ของพื้นที่บนโลกทั้งหมดจะถูกผลักดันให้เข้าสู่เขตภูมิอากาศแบบใหม่ที่แตกต่างออกไปภายในปี 2100 นี้ หรืออีกเพียง 77 ปีข้างหน้าเท่านั้น
ผลลัพธ์การวิจัยนี้สร้างความกังวลให้กับทุก ๆ สปีชีส์ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตจะมีเวลาน้อยลงในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศใหม่ รวมถึงการเกษตรกรรมของมนุษย์ที่อาจต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมดภายใต้ความเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะเมื่อพืชไม่อาจปลูกได้เหมือนเดิม จะมีผลกระทบนับพันล้านคน
แบบจำลองสภาพอากาศในงานวิจัยได้คาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เขตร้อนและแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่ขั้วโลกจะลดลงอย่างมากเนื่องจากน้ำแข็งจะหายไป พื้นที่เขตอบอุ่นและแผ่นดินใหญ่จะลดลงเล็กน้อย แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้กระจายไปทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียม
“พื้นที่ดินถึงครึ่งหนึ่งของโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปใช้เขตภูมิอากาศอื่นภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยพื้นที่ที่จะเจอการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดคาดว่าจะเกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาเหนือ” พอล ไดร์เมเยอร์ (Pual Dirmeyer) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ผู้นำการวิจัยกล่าว
หมายความว่าบางภูมิภาคจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่อื่น ๆ ตามที่นักวิจัยกล่าวพื้นที่กว่า 80% ถึง 90% ของพื้นที่ทั้งหมดในยุโรปอาจอยู่ในสภาพอากาศที่แตกต่างไปจากเดิม ถึงกระนั้นการเปลี่ยนแปลงจะยังคงเกิดขึ้นทุกที่ โดยเอเชียจะอยู่ที่ 50%, อเมริกาใต้ที่ 35%, โอเชียเนียที่ 20% และแอฟริกา 20%
แม้จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้างและเป็นอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่มันก็ได้ย้ำเตือนเราว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่หายไปเอง หากเราไม่ทำอะไรกับสิ่งที่เป็นอยู่ ผลลัพธ์ที่เลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1029/2022EF002972
https://www.indy100.com/science-tech/climate-change-map-study-earth-2660218606
https://www.iflscience.com/up-to-half-of-the-world-could-be-in-a-different-climate-zone-by-the-centurys-end-68840
https://www.sciencealert.com/almost-half-the-planet-predicted-to-enter-new-climate-zones-by-2100