ธารน้ำแข็งกำลังได้รับความเสียหายทั้งภายในและภายนอก จากการขยายตัวของถ้ำน้ำแข็ง จนอาจจะทำให้หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในหุบเขาด้านล่างมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมฉับพลันครั้งรุนแรง
เจสัน กัลเลย์ (Jason Gulley) ใช้เวลากว่า 19 ปีในการสำรวจภายในโพรงใต้ ธารน้ำแข็ง จากรัฐอะแลสกาในสหรัฐอเมริกาไปจนถึงเนปาล โพรงถ้ำบางแห่งซึ่งเกิดจากน้ำที่ไหลผ่านธารน้ำแข็งมีขนาดใหญ่พอที่รถบรรทุกจะขับเข้าไปข้างในได้ ในขณะที่บางแห่งแคบจนกัลเลย์ต้องคลานต่ำไปตามพื้นลื่น ๆ ของถ้ำ และถ้าหากเขาหยุดเคลื่อนตัว เสื้อผ้าของเขาจะแข็งจนติดกับพื้นน้ำแข็ง
กัลเลย์เป็นนักธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา เขาเริ่มอาชีพด้วยการศึกษาถ้ำหินปูน จากนั้นจึงมีโอกาสได้สำรวจถ้ำใต้ธารน้ำแข็งโดยบังเอิญ การสำรวจถ้ำน้ำแข็งครั้งแรกของกัลเลย์เกิดขึ้นที่ ธารน้ำแข็ง โลตเซ (Lhotse Glacier) ซึ่งอยู่ในแถบเทือกเขาเอเวอเรสต์ และการสำรวจในครั้งก็กลายเป็นประสบการณ์ที่บาดลึกลงไปในจิตใจของเขา
กัลเลย์และเพื่อนร่วมทางยืนมองหินขนาดเท่าลูกบาสเกตบอลร่วงลงมาเป็นสาย จากผาน้ำแข็งที่ดูไม่ค่อยมั่นคงซึ่งอยู่เหนือพวกเขา ขณะที่ยืนอยู่นอกทางเข้าถ้ำ เมื่อรวบรวมสติได้แล้ว เขาก็รีบวิ่งเข้าไปในตัวถ้ำ โดยมีดักลาส เบนน์ (Douglas Benn) นักธารน้ำแข็งวิทยาผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านเทือกเขาหิมาลัย จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ในสกอตแลนด์ วิ่งตามไป
ทว่าหลังเข้าไปได้ไม่กี่นาที พวกเขากลับทำให้ถ้ำบางส่วนพังทลายลงโดยไม่ได้ตั้งใจ บริเวณเพดานถ้ำที่เปราะถล่มลงจนเศษน้ำแข็งแหลมคมจำนวนมากร่วงหล่นลงพื้น “นั่นเป็นตอนที่ทำให้เราเริ่มรับรู้ได้ถึงอันตราย เราไม่รู้จริง ๆ ครับว่าการวิ่งเข้าไปในถ้ำน้ำแข็งจะทำให้เราพบเจอเรื่องที่อันตรายต่อชีวิตขนาดนั้น” กัลเลย์กล่าว
หลายปีหลังเหตุการณ์นั้น กัลเลย์ เบนน์ และนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนก็ประสบความสำเร็จในการสำรวจถ้ำน้ำแข็งหลายแห่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก การทำงานของพวกเขาเผยให้ทราบถึงรายละเอียดและลักษณะทางธรรมชาติของธารน้ำแข็งที่ยังไม่ค่อยมีใครศึกษา รวมไปถึงสาเหตุที่ทำให้ธารน้ำแข็งเหล่านั้นละลายลงอย่างรวดเร็ว
ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยกำลังบางลงถึงปีละ 2.7 เมตร และถ้ำน้ำแข็งมากมายที่ซ่อนอยู่ในสายธารเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ภายในธารน้ำแข็งเป็นโพรงและพังถล่มลง “มันเป็นเหมือนกับมะเร็งที่กัดกินชั้นน้ำแข็งในธาร” กัลเลย์เสริม
เมื่อโลกอุ่นขึ้น บริเวณส่วนปลายของธารน้ำแข็งจะละลายจนเกิดเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณหุบเขาด้านล่าง
ถ้ำน้ำแข็งที่ถูกสำรวจเพียงน้อยนิด
ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยนั้นต่างจากสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่จินตนาการภาพไว้ หากยืนมองจากปลายที่อยู่ต่ำลงไปของธารน้ำแข็งโงจุมปา (Ngozumpa Glacier) ซึ่งไหลมาจากภูเขาโช โอยู (Cho Oyu) หรือภูเขาที่สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ที่มีความสูงกว่า 8,188 เมตร คุณจะเห็นภาพของเศษหินที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วหุบเขา
เช่นเดียวกับธารน้ำแข็งสายอื่น ๆ ในเทือกเขาหิมาลัย ธารน้ำแข็งโงจุมปาเองก็เกิดจากหิมะที่ถล่มลงมาจากที่สูงและทับถมแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็ง โดยมีเศษหินเล็กใหญ่ซึ่งถูกพัดพามาพร้อมกับหิมะปกคลุมอยู่ตามพื้นผิว
เมื่อธารน้ำแข็งเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณที่อุณหภูมิอุ่นขึ้น พื้นผิวของธารน้ำแข็งจะเริ่มละลายจนน้ำแข็งชั้นบนหายไป เศษหินต่าง ๆ ที่ทับถมอยู่ตามบริเวณนั้นจึงโผล่ขึ้นมา และสะสมจนกลายเป็นชั้นหินที่หนาถึง 1.2 เมตร ซึ่งปกคลุมธารน้ำแข็งส่วนที่เหลือเอาไว้
ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยหลายสายมีชั้นเศษหินปกคลุมเช่นเดียวกับที่โงจุมปา บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า ชั้นหินจะป้องกันธารน้ำแข็งจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นได้ ทว่า เทอิจิ วาตานาเบะ (Teiji Watanabe) นักธรณีสัณฐานวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ซึ่งเคยไปเยือนเทือกเขาเอเวอเรสต์อยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 กลับกล่าวว่า “มันไม่ได้ทำหน้าที่แบบนั้นครับ”
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นผิวของธารน้ำแข็งโงจุมปาและธารน้ำแข็งสายอื่น ๆ ที่มีชั้นเศษหินปกคลุมนั้นเต็มไปด้วยหลุมยุบซึ่งลึกได้มากกว่า 30 เมตร โดยแอ่งหลุมเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยน้ำจากชั้นน้ำแข็งที่ละลาย “พื้นที่โดยรวมของหลุมยุบบนธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าใน 30 ปีความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นน่าทึ่งมากจริง ๆ ครับ” วาตานาเบะเสริม
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ทำให้ธารน้ำแข็งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นยังเป็นปริศนา แต่ในช่วงค.ศ. 2000 เบนน์ นักธารน้ำแข็งวิทยา ชาวสกอตแลนด์ กลับสังเกตเห็นเบาะแสบางอย่าง เบนน์พบว่า แอ่งน้ำบนธารน้ำแข็งโงจุมปาและธารน้ำแข็งสายอื่นที่มีชั้นหินปกคลุมมักจะหายไปในชั่วข้ามคืน นอกจากนั้น เขายังพบว่าที่ก้นของแอ่งหลุม มีโพรงถ้ำใต้ชั้นน้ำแข็งซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางระบายน้ำออกจากแอ่ง
ไม่มีใครทราบว่าโพรงถ้ำเหล่านั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน และตั้งอยู่จุดใดของธารน้ำแข็ง จนกระทั่งในปี 2004 เบนน์ได้พบกับกัลเลย์ ซึ่งเป็นนักสำรวจถ้ำที่ประสบความสำเร็จผ่านเพื่อนที่รู้จัก ภาพช่องโพรงถ้ำและธารน้ำแข็งที่เป็นหลุมเป็นบ่อของเบนน์ทำให้กัลเลย์นึกถึงภูมิประเทศที่เป็นหินปูนในแคริบเบียน หรือบริเวณที่มีหลุมยุบนับพันที่เกิดจากการถล่มของเพดานถ้ำใต้ดิน หนึ่งปีให้หลัง พวกเขาสำรวจถ้ำใต้ธารน้ำแข็งในแถบเทือกเขาเอเวอเรสต์สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 2005 ได้ด้วยความเชี่ยวชาญด้านถ้ำของกัลเลย์
ถ้ำน้ำแข็งที่ละลายลงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่เบนน์และกัลเลย์เดินเข้าไปในถ้ำอันมืดมิด แสงจากไฟฉายคาดหัวของพวกเขาก็ส่องสว่างจนเห็น ไอควันจากลมหายใจ “มีชั้นฝุ่นบาง ๆ ที่ละเอียดพอ ๆ กับผงแป้งปกคลุมอยู่ตามพื้นผิวของถ้ำ เหมือนกับว่าถ้ำแห่งนี้เป็นร้านค้าที่เลิกกิจการไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วเลยครับ” กัลเลย์กล่าว อย่างไรก็ดี พวกเขาทั้งสองต้องรีบออกจากถ้ำแห่งแรกหลักเพดานของมันถล่มลง
การเข้าสำรวจถ้ำน้ำแข็งครั้งที่ 2 ของพวกเขาที่เกิดขึ้นในอีกหลายวันให้หลังก็ไม่ได้ดีไปกว่าครั้งแรกนัก ขณะที่ทั้งสองเดินลงไปตามทาง หนามกันลื่นจากรองเท้าของพวกเขาทำให้แผ่นน้ำแข็งร้าวจนกัลเลย์ตกลงไปในโพรงใต้แผ่นน้ำแข็งทันทีหลังพื้นน้ำแข็งที่เขาเหยียบอยู่แตก
หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นไป ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองก็ตระหนักได้ว่าที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้เดินอยู่บนพื้นจริงของถ้ำน้ำแข็ง แต่เดินอยู่บนแผ่นน้ำแข็งบาง ๆ ที่หนาเพียงประมาณ 2 เซนติเมตร ซึ่งก่อตัวขึ้นจากน้ำที่ขังอยู่ในแอ่งหลุม ในเวลาต่อมา น้ำที่ขังอยู่จะถูกระบายออกทางช่องด้านล่าง และเหลือไว้เพียงช่องว่างลึกประมาณ 1.5 เมตรที่กัลเลย์ร่วงลงไป
เบนน์และกัลเลย์ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะหลบเลี่ยงบริเวณอันตรายเช่นนั้น หลังจากที่ทั้งสองใช้เวลาปีแล้วปีเล่าไปกับการสำรวจธารน้ำแข็งโงจุมปา กัลเลย์ก็รู้สึกประหลาดใจที่ถ้ำน้ำแข็งอันคดเคี้ยวสายนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับถ้ำหินปูน เว้นเสียแต่ว่าลวดลายโค้งเว้าคล้ายเปลือกหอยตามผนังและเพดาน ร่องน้ำแข็ง รวมไปถึงน้ำแข็งที่งอกและย้อยตามบริเวณต่าง ๆ ใต้ธารน้ำแข็งใช้เวลาก่อตัวขึ้นเพียงไม่กี่เดือน แทนที่จะใช้เวลาหลายพันปี
ถ้ำน้ำแข็งก่อตัวขึ้นจากแอ่งหลุมซึ่งเกิดจากการละลายตัวของพื้นธารน้ำแข็งที่มีเศษหินปกคลุม น้ำจากชั้นน้ำแข็งที่ละลายจะไหลไปรวมกัน และกัดเซาะแอ่งหลุมเหล่านั้นจนเกิดเป็นโพรงถ้ำขึ้น ลักษณะของโพรงมักจะเป็นช่องว่างทรงกลมที่มีร่องลึกตัดลงไปในพื้นถ้ำ รูปร่างของโพรงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการกัดเซาะของน้ำที่ไหลพุ่งลงมามาจากแอ่ง ส่วนร่องลึกชี้ให้เห็นว่าน้ำที่ไหลลงมาอย่างแรงนั้นจะค่อย ๆ ไหลช้าลงจนกลายเป็นกระแสน้ำ อย่างไรก็ตาม ถ้ำใต้ธารน้ำแข็งแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ขณะที่กัลเลย์และเบนน์เดินทางไปสำรวจธารน้ำแข็งโงจุมปาครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาก็พบว่า เมื่อเปรียบเทียบสภาพของถ้ำน้ำแข็งที่สำรวจในปีแรกกับปีต่อ ๆ ไปแล้ว โพรงถ้ำหลายแห่งมักจะเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ เหมือนดินน้ำมันที่ถูกบีบ เนื่องจากน้ำแข็งละลายอยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ำยังมีโอกาสจะถูกปิดตายจากน้ำที่ไหลลงมาแล้วแข็งตัวจนกลายเป็นชั้นน้ำแข็งหนา อย่างไรก็ดี ถ้ำเหล่านั้นจะเปิดอีกครั้งเมื่อมีน้ำจากการละลายของธารน้ำแข็งไหลพุ่งลงมาในโพรง
ข้อสังเกตเหล่านี้นำเบนน์และกัลเลย์ไปสู่การตีพิมพ์ทฤษฎีที่อธิบายว่า ถ้ำน้ำแข็งกัดเซาะธารน้ำแข็งที่ถูกปกคลุมด้วยชั้นเศษหินได้อย่างไร ในปี 2017 “ในขณะที่ถ้ำน้ำแข็งขยายตัวและถล่มลง ถ้ำเหล่านั้นก็ได้สร้างหลุมยุบหลุมใหม่ ทะเลสาบแห่งใหม่ และถ้ำแห่งใหม่ขึ้นครับ” กัลเลย์กล่าวอธิบายเสริม
ขณะที่น้ำแข็งยังคงละลายอย่างต่อเนื่อง หลุมยุบจะขยายกว้างและลึกกว่าเดิม จนทำให้ธารน้ำแข็งที่เป็นหน้าผาชันละลายลงอย่างรวดเร็ว จากอุณหภูมิโลกที่อบอุ่นขึ้น น้ำอุ่น ๆ ในแอ่งหลุมจะทำให้ธารน้ำแข็งอันสูงชันเว้าแหว่งและแตกออกจากกัน จนเผยชั้นน้ำแข็งที่อยู่ลึกเข้าไป
ไรอัน สตริกแลนด์ (Ryan Strickland) นักศึกษาปริญญาเอกที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับถ้ำ จากมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ กล่าวว่า “ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป หลุมยุบจะยิ่งขยายขนาดใหญ่ขึ้น และกัดเซาะธารน้ำแข็งได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ”
สตริกแลนด์ใช้โดรนในการบินเพื่อวัดขนาดแอ่งหลุมกว่า 3,000 หลุมบนธารน้ำแข็งโงจุมปา ผลการวิเคราะห์ซึ่งถูกตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม ปี 2023 ของเขาชี้ให้เห็นว่า หลุมบนธารน้ำแข็งที่ขยายขนาดเพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้ธารน้ำแข็งถูกกัดเซาะมากขึ้นจริง ๆ ซึ่งผลการวิเคราะห์นี้สอดคล้องกับทฤษฎีของกัลเลย์ที่มีข้อสันนิษฐานว่า ถ้ำน้ำแข็งส่งผลต่อการละลายของธารน้ำแข็ง
“มันเป็นสิ่งที่หยุดยั้งได้ เราจะหาหลักฐานมาสนับสนุนทฤษฎีได้อย่างแน่นอน เพราะเรามีข้อมูลเกี่ยวกับธารน้ำแข็งที่ไรอันอธิบายไว้ในการวิเคราะห์ครับ” โอเวน คิง นักธารน้ำแข็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเทือกเขาที่ทำงานอยู่ในแถบธารน้ำแข็งโงจุมปา จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในประเทศอังกฤษ กล่าว
น้ำจากการละลายตัวของธารน้ำแข็งจะไหลลงสู่ถ้ำน้ำแข็ง และไหลไปรวมกันในทะเลสาบสปิลเวย์ ทะเลสาบขนาดใหญ่ที่มีความยาวกว่า 804 เมตร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณปลายธารน้ำแข็ง แหล่งกักเก็บน้ำแห่งนี้ถูกกั้นด้วยเศษหินขนาดใหญ่ที่ถูกสะสมอยู่ในธารน้ำแข็งมานานหลายพันปี จนก่อตัวขึ้นเป็นสันหิน หากทะเลสาบแห่งนี้ต้องรองรับน้ำในปริมาณที่มากขึ้น สันหินที่กั้นน้ำอาจจะแตกออก และมวลน้ำหลายล้านลูกบาศก์เมตรอาจจะไหลพัดถล่มลงไปตามหุบเขา
ในค.ศ. 1985 เกิดเหตุทะเลสาบธารน้ำแข็งแห่งหนึ่งแตกจนกระแสน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ยาวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโงจุมปาเป็นระยะทางมากกว่า 12 กิโลเมตร และพัดพาสะพานไปทั้งหมด 14 แห่ง บ้านเรือนกว่า 30 หลัง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำหนึ่งแห่งไปตามกระแสน้ำ ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เช่นนี้จะเพิ่มขึ้นสูงหากมีจำนวนธารน้ำแข็งที่ไหลไปยังทะเลสาบมากขึ้น
ถ้ำน้ำแข็งที่ยังหลงเหลืออยู่บนเทือกเขา
เมื่อกัลเลย์กลับไปเยือนโงจุมปาอีกครั้งในปี 2018 และ 2019 เขาก็ต้องตกใจกับภาพธารน้ำแข็งที่เห็น เพราะนอกจากจะมีถ้ำน้ำแข็งเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งแล้ว ธารน้ำแข็งแห่งนี้ยังเคลื่อนตัวลงต่ำ จนถึงระดับของทะเลสาบสปิลเวย์ และน้ำแข็งที่ละลายจากสายธารก็ไม่ได้ไหลลงตามเนินเขาเหมือนในอดีตแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่เกิดถ้ำแห่งใหม่ ๆ ขึ้นในธารน้ำแข็งสายนี้
ทีมสำรวจพบบริเวณบางส่วนของถ้ำที่กัลเลย์ทำแผนที่ไว้เมื่อปี 2005 หากย้อนกลับไปช่วงที่ถ้ำแห่งนั้นเพิ่งถูกค้นพบ ทางเข้าของถ้ำจะอยู่บริเวณก้นหลุมบนธารน้ำแข็ง ทว่า ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ถ้ำแห่งนั้นหลงเหลือไว้ มีเพียงพื้นที่ส่วนเล็ก ๆ ของโพรงที่มีสันเขาน้ำแข็งตัดผ่าน
แม้ว่าถ้ำน้ำแข็งจะอันตรธานไปจากตอนล่างของธารน้ำแข็งโงจุมปา เนื่องจากปลายของสายธารเคลื่อนตัวต่ำลง อย่างไรก็ตาม ทางตอนบนของธารน้ำแข็งที่ยาวกว่า 35 กิโลเมตรสายนี้จะยังมีถ้ำน้ำแข็งก่อตัวขึ้นดังเดิม ทว่าอย่างไรก็ดี การขยายตัวของถ้ำใต้ธารน้ำแข็งจะทำให้น้ำแข็งชั้นในของธารน้ำแข็งละลายตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นทะเลสาบที่อาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งร้ายแรงได้
“นอกจากสภาพของถ้ำเหล่านั้นจะเป็นอาการที่บ่งบอกว่า ธารน้ำแข็งกำลังจะละลายจนหมดแล้ว มันยังเป็นสภาวะที่จะเกิดขึ้นกับธารน้ำแข็งทุกสายในแถบเทือกเขาเอเวอเรสต์ในอีกไม่ช้า” กัลเลย์กล่าว
เรื่อง ดักลาส ฟอกซ์
ภาพ เจสัน กัลเลย์
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ