โลกเดือด! ธารน้ำแข็ง หมื่นปี กำลัง “ล่มสลาย” ในยุคเรา

โลกเดือด! ธารน้ำแข็ง หมื่นปี กำลัง “ล่มสลาย” ในยุคเรา

นักท่องเที่ยวที่ไปชมทุ่งน้ำแข็งในชิลีพบว่า ความเงียบสงบอันน่าเกรงขามของ ธารน้ำแข็ง กำลังพ่ายแพ้แก่เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นของการสูญเสีย

“ผมเป็นผู้พิทักษ์ ธารน้ำแข็ง ครับ”

แอนเดรีย การ์เร็ตตา บอก เขาไม่ได้ตั้งใจจะอวด เพียงแต่บอกกล่าวถึงหน้าที่มากกว่า เจ้าหน้าที่อุทยานวัย 46 ปี ผู้นี้ค่อยๆ ย่อตัวคุกเข่าลงข้างหนึ่ง เขาอธิษฐานต่อธารน้ำแข็งอย่างเงียบๆ เพื่อขออนุญาตพาเราเข้าสู่แดนน้ำแข็ง อันโดดเดี่ยวแห่งนี้

เราอยู่ตรงทางเข้าธารน้ำแข็งอิกซ์โปลราโดเรส ในอุทยานแห่งชาติลากูนาซานราฟาเอล ทางตอนใต้ของประเทศชิลี ช่วงต้นเดือนกันยายนอย่างนี้ ฝนตกไม่ชุกนักและนักท่องเที่ยวก็น้อย เมื่อพ้นเขตป่าทึบออกมา เราผูกสายรัดรองเท้าตะปูเข้ากับรองเท้าปีนเขา แล้วย่ำฝ่าผืนดินที่เป็นตะกอนธารน้ำแข็งเกลี้ยงๆ ซึ่งจู่ๆ ก็ทอดตัวลดหลั่นลงสู่มวลน้ำแข็งขนาดมหึมาสีฟ้าจางและสายธารน้ำแข็งสีเขียวมินต์กว้างไกลสุดสายตา พลังอำนาจอันเก่าแก่โบราณของอิกซ์โปลราโดเรส ต้องได้รับความเคารพ แม้แต่คนอย่างการ์เร็ตตา ผู้เดินเท้ามาธารน้ำแข็งแห่งนี้ทุกวัน

ธารน้ำแข็ง, ปาตาโกเนีย, ชิลี
ธารน้ำแข็งลีโอเนสในภูมิภาคปาตาโกเนียของชิลีเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ทะเลสาบที่กำลังขยายตัว และการแตกตัวของน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นหลักฐานว่าธารน้ำแข็งกำลังเหือดหายไปในอัตราที่เร็วขึ้น
ธารน้ำแข็ง, ปาตาโกเนีย, ชิลี
เรือยางติดเครื่องยนต์พานักท่องเที่ยวล่องในลากูนที่มี “เบอร์กีบิต” และ “โกรวเลอร์” หรือเศษน้ำแข็งที่เล็กกว่าภูเขาน้ำแข็งเพื่อชมธารน้ำแข็งซานราฟาเอลในระยะใกล้

“ธารน้ำแข็งกำลังจะตายครับ” การ์เร็ตตา บอก ถ้อยคำนี้เป็นทั้งความกังวลและข้อเท็จจริง ย้อนหลังไปเมื่อปี 2016 การ์เร็ตตาผู้เกิดในแถบเทือกเขาแอลป์ของอิตาลี และเป็นนักปีนเขาผู้ช่ำชองจอมดื้อรั้น พบสวรรค์ของเขาในภูมิภาค ปาตาโกเนีย เขาย้ายมาชิลีพร้อมภรรยากับลูกชายซึ่งทำใจยอมรับว่า สามีและผู้เป็นพ่อปันใจไปรักธารน้ำแข็งด้วย “ผมรู้ว่าธารน้ำแข็งแห่งนี้รักผมครับ” เขาบอก

ทุกวันนี้ เขาใช้เซ็นเซอร์วัดการถอยร่นอย่างต่อเนื่องของธารน้ำแข็งในอัตราประมาณปีละเกือบหนึ่งเมตร การ์เร็ตตาเห็นเองกับตา บริเวณที่เคยเป็นน้ำแข็งตอนนี้กลับกลายเป็นหนองน้ำ นี่ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร การละลายของธารน้ำแข็ง ในปาตาโกเนียสอดคล้องกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ธารน้ำแข็ง, ปาตาโกเนีย, ชิลี
ธารน้ำแข็งเกรย์ไหลลงสู่ปลายใต้สุดของทะเลสาบเกรย์ เหล่านักปีนเขาเดินป่าสู่ธารน้ำแข็งโดยใช้เส้นทางต่างๆ เช่น เส้นทางดับเบิลยูยอดนิยม หรือเส้นทางโอ หรือสวมรองเท้าตะปูเดินไปบนธารน้ำแข็ง
ธารน้ำแข็ง, ปาตาโกเนีย, ชิลี
อุปกรณ์บอกทางสีน้ำเงินนำทางนักปีนเขาบนธารน้ำแข็งอิกซ์โปลราโดเรสที่ยาว 18 กิโลเมตรในอุทยานแห่งชาติลากูนา ซานราฟาเอล ในทุ่งน้ำแข็งปาตาโกเนียเหนือของชิลีที่มีผู้มาเที่ยวชมน้อยกว่า

แม้จะโด่งดังในระดับโลกอย่างที่ภูมิภาคปาตาโกเนียของชิลีเป็นอยู่ (อีกส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศอาร์เจนตินา) ความงดงามอลังการของมันอยู่ที่ความไร้การปรุงแต่ง ที่นี่ ธรรมชาติอันเงียบสงบและน่ายำเกรง คือความหรูหรา เกินพอแล้ว เส้นทางการ์เรเตราออสตรัลที่ทอดตัวจากเหนือลงใต้เป็นระยะทาง 1,250 กิโลเมตร ลดเลี้ยวผ่านเทือกเขา แอนดีสที่ห่มคลุมด้วยหิมะและทุ่งเลี้ยงสัตว์ จะถูกขัดจังหวะบ้างก็ด้วยหลักฐานอันคลุมเครือสุดกู่ว่าเป็นถิ่นฐานของมนุษย์ เช่น คาวบอยแปลกหน้าที่ขี่ม้าท่องไปโดยมีฝูงสุนัขเลี้ยงปศุสัตว์ขนาบข้าง นอกจากเขตเมืองใหญ่อย่างคอยเอคแล้ว เมืองน้อยใหญ่ต่างๆ ในปาตาโกเนียของชิลียังไม่เปลี่ยนไปจากวิถีอันดิบเถื่อนของดินแดนแถบนี้ ผู้คนใช้ชีวิตสอดประสานกับผืนแผ่นดินแทนที่จะไล่ตามความเจริญ ที่นี่มีภาษิตว่า “ในปาตาโกเนีย ผู้ใดเร่งรีบ ผู้นั้นเสียเวลา”

ธารน้ำแข็งราว 17,300 แห่งในปาตาโกเนีย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุ่งน้ำแข็งใต้และทุ่งน้ำแข็งเหนือในอาร์เจนตินาและชิลี เป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคนี้มากกว่าสิ่งอื่นใด ทุ่งน้ำแข็งซึ่งหลงเหลือจากพืดน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อประมาณ 28,000 ปีก่อน กอปรกันขึ้นเป็นภูมิประเทศอันโดดเด่นที่ดูเหมือนไม่เคยแปรเปลี่ยนแปลงของภูมิภาค และเช่นเดียวกับ ส่วนที่เหลือของปาตาโกเนีย ธารน้ำแข็งเหล่านี้มีคุณค่าให้มาเที่ยวชม ประติมากรรมน้ำแข็งรูประลอกคลื่นแต่ละแห่งมีรูปลักษณ์แตกต่างกันไป แต่ก็เช่นเดียวกับธารน้ำแข็งทุกที่ การเพิ่มขึ้นหรือการลดลงของธารน้ำแข็งขึ้นอยู่กับปริมาณหิมะที่ตกลงมา และอุณหภูมิ ซึ่งถ้าไม่ทำให้น้ำแข็งยังคงแข็งต่อไป ก็เร่งให้เกิดการละลายและแตกตัว

อิกซ์โปลราโดเรสทอดตัวลงจากเมานต์ซานบาเลนตีน ยอดเขาสูงที่สุดในภูมิภาคปาตาโกเนียของชิลีที่ระดับ 4,058 เมตร ขณะเคลื่อนตัว ธารน้ำแข็งจะพาเศษหินดินทรายมาสะสมเป็นกองตะกอนธารน้ำแข็ง (moraine)
อูเบอร์ลินดา ฟูเอนเตส และเอเฟรน อวยเลต อาศัยอยู่ที่ตีนธารน้ำแข็งสเตฟเฟนมานานกว่า 50 ปี บ้านของพวกเขาเสี่ยงต่อน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง

กุญแจสำคัญในการชื่นชมลักษณะเฉพาะของธารน้ำแข็ง คือการตระหนักถึงความเปราะบางของพวกมัน “ธารน้ำแข็งเป็นเหมือนปรอทวัดไข้ของธรรมชาติครับ” ฆอร์เฆ โอคีต์ตอนส์ บีเยนา นักธารน้ำแข็งวิทยาคนสำคัญของรัฐบาลชิลี กล่าว “เมื่อคุณเห็นมันถอยร่น คุณรู้ว่าชีวิตของมนุษย์ที่อาศัยอยู่แถบนั้นกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง” โอคีต์ตอนส์กำลังพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำแข็งที่กำลังละลายอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง (glacial lake outburst flood: GLOF) ซึ่งสามารถกลืนกินชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้อย่างฉับพลัน กรณีที่น่าตกตะลึงของภัยพิบัตินี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1977 ที่บาเอียมูร์ตา เมืองชนบทบนชายฝั่งทะเลสาบเฆเนรัลการ์เรรา ซึ่งถูกน้ำจากธารน้ำแข็งไหลบ่าเข้าท่วมอย่างฉับพลัน

“หลายคนไม่ทันตั้งตัวเลยค่ะ เพราะวันนั้นแดดจัด ฝนก็ไม่ตก” โคลทิลดา ยาเนซ อาวีเยส เท้าความหลัง ครอบครัวของเธอย้ายไปพร้อมกับชาวเมืองคนอื่นๆ ก่อนแล้ว หลังจากนักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่า ระดับน้ำในแม่น้ำสองสายรอบ บาเอียมูร์ตาสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตราย “บางคนไม่อยากทิ้งบ้านไป สุดท้ายก็ต้องส่งเรือเข้าไปช่วยเหลือ”

ผมถามโอคีต์ตอนส์ว่า น้ำท่วมทะลักที่ทำลายบาเอียมูร์ตาครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ชนิดที่เกิดครั้งเดียวในชีวิตไหม “ไม่ครับ นั่นเป็นเหตุการณ์สุดขั้วครั้งหนึ่ง” เขาตอบและเสริมว่า “สิ่งเหล่านั้นจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในปาตาโกเนียและรุนแรงมากขึ้นด้วย”

เมื่อมองออกนอกหน้าต่างบ้านของอูเบอร์ลินดา ฟูเอนเตส และเอเฟรน อวยเลต จะเห็นทิวทัศน์ทะเลสาบสเตฟเฟน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็งที่เกิดจากน้ำแข็งละลายจะเกิดบ่อยขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตในหมู่บ้านริมทะเลสาบไม่ปลอดภัย
ธารน้ำแข็ง, ปาตาโกเนีย, ชิลี
ที่สถานีวิทยาธารน้ำแข็งบนซานราฟาเอล ฆอร์เฆ โอคีต์ตอนส์ บีเยนา ตรวจดูอุปกรณ์ที่เก็บและส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ทั้งด้านสภาพอากาศ อุณหภูมิอากาศ ความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ และปริมาณแสงแดด เพื่อระบุระดับน้ำแข็ง

เช้าตรู่วันหนึ่ง เราขับรถจากเมืองปวยต์โตรีโอทรานกีโลอันเสื่อมโทรมลงไปทางใต้ บ่ายหน้าไปบนถนนลูกรังขรุขระเลียบแม่น้ำลีโอเนส แล้วแล่นผ่านป่าเอกชนไปจนถึงบริเวณที่จอดรถซึ่งไม่ได้ราดยาง

จากนั้นมัคคุเทศก์ของเรา ปาสกวัล และอานิตา เดียซ สองสามีภรรยาวัย 50 เศษ พาเราเดินเป็นเวลาสามชั่วโมง ไปยังธารน้ำแข็งลีโอเนส หลังจากลุยธารน้ำหลายช่วง ลัดเลาะผ่านป่าที่เมื่อสองทศวรรษก่อนถูกน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็งซัดจนโปร่งขึ้น ปีนบันไดไม้คลอนแคลนที่ยึดติดกับหน้าผา จากนั้นเดินไปบนสะพานไม้ที่ง่อนแง่น ยิ่งกว่า จนในที่สุดเราก็ข้ามที่ราบก้อนหินระเกะระกะซึ่งค่อยๆ กลืนกลายเป็นแนวชายฝั่งกองตะกอนของทะเลสาบ ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ เรือของเดียซลอยลำอยู่โดดเดี่ยวโดยผูกกับก้อนหินมนขนาดใหญ่ เราล่องเรือข้ามผิวน้ำนิ่ง ของทะเลสาบลีโอเนสตลอดความยาว 10 กิโลเมตร จนมาสุดทางตรงตีนธารน้ำแข็งที่ชายขอบด้านตะวันออกของทุ่งน้ำแข็งปาตาโกเนียเหนือ

ธารน้ำแข็ง, ปาตาโกเนีย, ชิลี
น้ำยังคงไหลลงมาจากยอดของสิ่งที่ช่างภาพทามารา เมอริโน ประเมินว่าเป็นเบอร์กีบิตที่สูงประมาณหนึ่งถึงสองเมตรซึ่งแตกตัวจากธารน้ำแข็งซานราฟาเอลเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากลาดเขามีความชัน ซานราฟาเอลจึงมีน้ำแข็งแตกตัวออกมากที่สุดในทุ่งน้ำแข็งเหนือ
ธารน้ำแข็ง, ปาตาโกเนีย, ชิลี
การ์เร็ตตา กำลังปีนขึ้นไปบนถ้ำน้ำแข็งบน Exploradores ในเขตทุ่งน้ำแข็งปาตาโกเนียน ทางเหนือของชิลี ชิลีเป็นที่ตั้งของธารน้ำแข็งมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้

เพราะความห่างไกลของธารน้ำแข็งลีโอเนส ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพียงไม่กี่ร้อยคน คิดเป็นเพียง เศษเสี้ยวหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่ไปอิกซ์โปลราโดเรส ลีโอเนสมีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนตาแก่ที่ถูกหิมะกัด กระเซอะกระเซิง แผลเป็นเต็มตัว และกร้านด้วยความลำบากยุ่งยากมาทั้งชีวิต ผมพินิจพิจารณามันอยู่หนึ่งชั่วโมงเต็ม หลังจากลอยเรือในทะเลสาบที่ไม่มีใครอื่นอีก แล้วปิกนิกต่อบนผืนแผ่นหินของธารน้ำแข็งเอง ผมรู้สึกถึงความวิเวกสันโดษขึ้นมา ไม่มีสิ่งมีชีวิต ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกจากแสงอาทิตย์ที่โรยรา ซึ่งเมื่อถึงบ่ายแก่ก็สาดแสงเรืองรองอาบไล้ภูมิประเทศแห่งนี้ ทุก10 นาทีหรือราวๆ นั้น ความเงียบอันล้ำลึกต้องหลีกทางให้เสียงคล้ายเสียงปืนลั่น นั่นคือเสียงน้ำแข็งที่กำลังแตกตัว เป็นแรงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ขณะที่เศษซากอันหนักหน่วงของธารน้ำแข็งตกกระแทก ผืนน้ำ แล้วความเงียบก็กลับคืนมาในทันใด

ปาสกวัล เดียซ บอกว่า นี่เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน เขาเสริมว่า สิ่งที่ทำให้เขาตกใจคือ การถอยร่น อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่องของธารน้ำแข็งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มเร่งเร็วขึ้น

“ในช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้” เขาบอก “ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เลยครับ” เดียซชี้ให้ดูกองตะกอนธารน้ำแข็ง สีน้ำตาลทางอีกฝั่งของทะเลสาบว่าเป็นทั้งหมดที่เหลืออยู่ของพื้นผิวธารน้ำแข็งจากเมื่อเพียงสองสามปีก่อน เดียซมอง ลีโอเนสด้วยความสิ้นหวัง ไม่ต่างจากแอนเดรีย การ์เร็ตตา ที่อิกซ์โปลราโดเรส

“สิ่งเดียวที่ผมทำได้ คือการทำให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นครับ” เขาโอดครวญ

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์

ภาพถ่าย ทามารา เมอริโน

แปล ปณต ไกรโรจนานันท์


อ่านเพิ่มเติม เฝ้าจับตาการละลายบนเทือกเขาแอนดีส

Recommend