สัญญาณเตือนหายนะโลก! ” ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ครั้งที่ 4″

สัญญาณเตือนหายนะโลก! ” ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ครั้งที่ 4″

ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ทั่วโลก และอาจเป็นครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นักวิทยาศาสตร์ยืนยัน ความร้อนในมหาสมุทรกำลังผลักดันสิ่งมีชีวิตไปสู่ขอบเหวแห่งการสูญพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงยิ่งต่อมนุษย์

ในรายงานอย่างเป็นทางการจากองค์การบริหารมหาสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ที่ร่วมมือกับโครงการอนุรักษ์แนวปะการังนานาชาติ (ICRI) ซึ่งมีมากกว่า 101 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงประเทศไทย ได้ยืนยันว่าทั่วโลกกำลังพบเจอกับปรากฏการณ์ ‘ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่’ เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี ชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้กำลังเกิดบ่อยขึ้นอย่างน่ากังวล

“ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 ถึงเดือนเมษายน 2024 มีการบันทึกไว้ว่า ปะการังเกิดการฟอกขาวอย่างมีนัยสำคัญทั้งในซีกโลกเหนือและใต้ของแอ่งมหาสมุทรหลักแต่ละแห่ง” เดเร็ก แมนเซลโล ผู้ประสานงานองค์กร ‘Coral Reef Watch (CRW)’ ของ NOAA กล่าว

จนถึงขณะนี้ มีการยืนยันปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่แล้วใน 53 ประเทศทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพื้นที่ปะการังฟอกขาวกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณร้อยละ 1 ต่อสัปดาห์ นับเป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งที่ 4 ของโลก และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น

รายงานระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ตัวเลขนี้ได้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21.07 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อปรากฎการณ์เอลนีโญ แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ สัญญาณของเอลนีโญจะค่อย ๆ อ่อนลงแล้ว แต่การฟอกขาวของปะการังยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คลื่นความร้อนที่ยังหลงเหลือในมหาสมุทรทำให้สิ่งมีชีวิตนี้เผชิญกับความเครียดตลอดเวลา จนในที่สุด เมื่อพวกมันไม่อาจดิ้นรนได้อีกต่อไป ปะการังจะคายสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมา ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้ให้ทั้งสีและพลังงานที่สำคัญแก่ปะการัง เมื่อมันหลุดออกไป ปะการังจะสีซีดจางจนกลายเป็นที่มาของชื่อปรากฏการณ์ ‘ปะการังฟอกขาว’

เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นสีขาวนี้ ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปได้เลยว่า “ปะการังกำลังตาย”

“เราเคยเห็นสภาวะเอลนีโญมาก่อน ดังนั้นเราจึงคาดว่าอุณหภูมิพื้นผิวจะสูงขึ้นเนื่องจากมหาสุทรแปซิฟิกปล่อยความร้อนออกมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2023 นั้นไม่มีอะไรใกล้เคียงกับปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์” ศาสตราจารย์ โจฮาน ร็อคสตร็อม (Johan Rockström) ผู้อำนวยการสถาบันโพสต์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ กล่าวในการสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Earth.org

“เพราะมันเกินกว่าที่เราคาดไว้ และไม่มีแบบจำลองสภาพภูมิอากาศใดที่สามารถจำลองสิ่งที่เกิดขึ้นได้” เขาเสริม “จากนั้นในปี 2024 ก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับอากาศที่อุ่นขึ้นอีก เรายังไม่สามารถอธิบาย (แนวโน้ม) เหล่านี้ได้ และมันทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับความสามารถในการฟื้นตัวของโลกแบบผมกังวลมาก”

ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมากลายเป็นช่วงเวลาที่ ‘อบอุ่น’ ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยมีอุณหภูมิมหาสมุทรพุ่งขึ้นสูงเกินจากบันทึก ตามข้อมูลจากองค์การบริการด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโคเปอร์นิคัสของคณะกรรมมาธิการยุโรประบุว่า เดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

จนทำให้นักวิทยาศาสตร์จากโครงการเฝ้าระวังแนวปะการังของ NOAA ต้องเพิ่มระดับการแจ้งเตือนใหม่ 3 ระดับลงในแผนที่แจ้งเตือนการฟอกขาว เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบใต้น้ำของภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้น นับตั้งแต่หลายประเทศทั่วแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และบางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกของอินโดนีเซีย ไปจนถึงแนวปะการังนอกแอฟริกาตะวันออก

ความหมายที่เลวร้ายและผลกระทบต่อมนุษยชาติ

แนวปะการังนั้นเป็นระบบนิเวศที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตในมหาสมุทร ซึ่งเป็นส่วนที่คอยค้ำจุนให้กับความอุดมสมบูรณ์กว่า 100 ประเทศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ไว้ได้ โดยสิ่งมีชีวิตในทะเลกว่าร้อยละ 25 พึ่งพาแนวปะการังเหล่านั้น รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามแนวชายฝั่งและบริโภคอาหารทะเลทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้ง ปะการังก็ถูกเรียกว่า ‘ปาฝนแห่งท้องทะเล’ เนื่องจากความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากา อันนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ดังนั้นหากปะการังเกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วโลก สิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาแนวปะการังก็จะค่อย ๆ ล้มตาย

“ในขณะที่มหาสมุทรของโลกยังคงอุ่นขึ้น ปะการังฟอกขาวก็ยิ่งถี่และรุนแรงมากขึ้น” แมนเซลโล กล่าว “เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้รุนแรงหรือยืดเยื้อเพียงพอ ก็อาจทำให้ปะการังตายได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสินค้าและบริการตามแนวปะการังที่ผู้คนต้องพึ่งพาในการดำรงชีวิต”

เราอาจเห็นปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังปลาหรือสัตว์ทะเลที่เป็นนักล่าให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ไปแล้วก็อาจน้อยลงไปอีกเพราะเหยื่อของมันน้อยลง มนุษย์ที่ทำการประมงกับปลา ปู กั้ง หรืออื่น ๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะจับได้น้อยลง

บางคนอาจถึงขั้นสูญเสียอาชีพของพวกเขา เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่พึ่งพาความสวยงามของปะการัง ส่งให้มีเงินหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจน้อยลง และท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะชีวิตในมหาสมุทรหรือบนพื้นดินก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้

ในอนาคตทะเลที่สวยงามอาจไม่มีเหลือไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไปของเราได้ชื่นชมอีกแล้ว หลงเหลือไว้เพียงแค่ความตายทั่วมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปเตะระดับที่ 2°C ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2050 นี้ ปะการังกว่าร้อยละ 99 บนโลกจะตายไป

ลานีญา จะช่วยบรรเทาสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?

ตรงข้ามกับเอลนีโญ ลานีญาทำให้มหาสมุทรเย็นกว่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจมาถึงในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ (2024) และนั่นทำให้หลายคนมีความหวัง รวมถึงแนวปะการังด้วยเช่นกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากมนุษย์ยังคงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เช่นนี้ อนาคตที่เลวร้ายคงอยู่ไม่ไกล และลานีญาก็จะช่วยอะไรไม่ได้มาก

“นั่นคือสาเหตุว่าทำไมโลกจึงต้องทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน” เซลินา สตีด (Selina Stead) ผู้อำนวยการของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (AIMS) กล่าว “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อแนวปะการังทั่วโลก และการยืนยันทั่วโลกนีั้ก็แสดงให้เห็นว่าผลกระทบดังกล่าวครอบคลุมกว้างขวางเพียงใดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา”

ทางแมนเซลโลได้เสริมว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่เคยมีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์หลายคนเมื่อหลายสิบปีก่อน และดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากกว่าที่คิดไว้ เนื่องจากโลกไม่มีท่าทีที่จะลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้ทะเลร้อนขึ้นบ่อยครั้งและทำให้เกิดปะการังฟอกขาวบ่อยขึ้นจนพวกมันไม่มีเวลาฟื้นตัว

“ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อแนวปะการังเผชิญกับเหตุการณ์ฟอกขาวบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น เวลาที่พวกมันจะใช้ในการฟื้นตัวก็จะสั้นลงเรื่อย ๆ” แมนเซลโลบอก “แบบจำลองสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าแนวปะการังทุกแห่งบนโลกจะต้องเผชิญกับการฟอกขาวอย่างรุนแรงเป็นประจำทุกปีในช่วงระหว่างปี 2040 ถึง 2050”

โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติเตือนว่า หากโลกล้มเหลวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิของโลกอาจพุ่งขึ้นไปถึง 3°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมได้ รายงานระบุว่านี่ควรเป็นสัญญาณเตือนไปถึงทุกประเทศทั้งใกล้และไกลให้เร่งดำเนินการด้านภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็ว
“สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้แก่บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล และรัฐบาลที่สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้” เดวิด ริตเตอร์ (David Ritter) ผู้อำนวยการกรีนพีซออสเตรเลีย กล่าว “เรากำลังหมดเวลาในการหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่แก้ไขไม่ได้ และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในทันที”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
https://www.noaa.gov/news-release/noaa-confirms-4th-global-coral-bleaching-event
https://www.iflscience.com/worlds-4th-global-coral-bleaching-event-confirmed-and-it-could-be-the-worst-yet-73828
https://www.sciencealert.com/record-breaking-ocean-heat-triggers-4th-global-coral-bleaching-event
https://www.theguardian.com/environment/2024/apr/15/great-barrier-reef-coral-bleaching-global-heating
https://earth.org/scientists-confirm-fourth-global-coral-bleaching-event-across-53-countries/
https://edition.cnn.com/2024/04/15/climate/global-coral-reef-mass-bleaching-climate-hnk-intl/index.html


อ่านเพิ่มเติม ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching)

Recommend