ไม่จบแค่ “โลกร้อน” ระวัง ” น้ำทะเลสูงขึ้น ” จะทำให้เรา-โลก อยู่ในอันตราย

ไม่จบแค่ “โลกร้อน” ระวัง ” น้ำทะเลสูงขึ้น ” จะทำให้เรา-โลก อยู่ในอันตราย

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ ภาวะโลกร้อน เรากำลังพูดถึงผลกระทบของมันในแบบผิด ๆ รึเปล่า นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า การมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขอุณหภูมิ ทำให้สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างระดับ น้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนกว่า ถูกมองข้ามไป และนั่นทำให้ผู้คนหลายล้านคน รวมถึงจังหวัดตามชายฝั่งของประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่ถูกเพิกเฉย

น้ำทะเลสูงขึ้น – เป็นเวลานับทศวรรษแล้วที่ผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้รัฐบาล บริษัทองค์กร และบุคคลต่าง ๆ เร่งดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อจำกัดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยพยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
.
ในเวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศบางคนกำลังสนับสนุนเป้าหมายที่แตกต่างออกไปจากเดิม นั่นคือ พวกเขาต้องการให้มีการสร้างขีดจำกัดสำหรับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแทน โดยกำหนดขีดสูงสุดไว้ที่ประมาณ 0.7 เมตร (2 ฟุต) หรือสูงกว่าเล็กน้อยขึ้นอยู่กับสถานที่
.
โดยในปัจจุบันรายงานต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการของประเทศไทยได้กล่าวเอาไว้ว่า ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครปีละ 4 มิลลิเมตร ขณะเดียวกันแผ่นดินที่เมืองกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ก็มีการทรุดราว 1.5 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งเท่ากับว่า กทม. กำลังจมลงเรื่อย ๆ 5.5 มิลลิเมตรทุกปี หากมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า เมืองหลวงของประเทศไทยมีสิทธิ์จมน้ำอย่างถาวร
.
“การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้น เป็นผลกระทบที่เข้าใจได้ง่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพออากาศ เนื่องจากมันเกิดขึ้นโดยตรง มองเห็นได้ และเติบโตได้” ราเฟ โพเมแรนซ์ (Rafe Pomerance) อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กล่าว เขาต้องการกระตุ้นให้ผู้คนทั่วไปและผู้กำหนดนโยบายตระหนักถึงความอันตรายนี้ โดยเฉพาะกับพื้นที่ตามชายฝั่ง ซึ่งเสี่ยงเป็นพิเศษ

เหตุใดระดับ น้ำทะเลสูงขึ้น จึงเป็นอันตราย?

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลก ได้ขยายปริมาณของมหาสมุทรและละลายธารน้ำแข็งทั่วโลก ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับท้องถิ่นที่อยู่ตามชายฝั่ง และมัน “หมายถึงชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยตรง” โพเมแรนซ์ กล่าว
.
ทาง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ปัจจุบันโลกเรามีพื้นที่ทะเลคิดเป็น 2 ใน 3 ของทั้งหมด ดังนั้นถ้าทะเลร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้น และ “กรุงเทพฯ ที่อยู่ในระดับไม่ต่างจากน้ำทะเลมากนักก็จะยิ่งเสี่ยงเจอน้ำท่วม” รศ.ดร.เสรี กล่าว
.
สิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากมีผู้คนหลายพันล้านคนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง สหประชาชาติได้ระบุเอาไว้ว่า ประเทศที่อยู่ในที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลยิ่งมีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งเช่น บังกลาเทศ และเนเธอร์แลนด์อาจต้องเผชิญกับ ‘โทษประหารชีวิต’ เนื่องจากน้ำทะเลจะแทรกซึ่งเข้าไปในพื้นที่กว้างใหญ่ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคาร์บอนในปัจจุบัน
.
เป้าหมายการห้ามไม่ให้โลกอุ่นขึ้น 1.5°C นั้นไม่มีความหมายสำหรับคนทั่วไป ทาง แอนโทนี ไลเซอโรวิทซ์ (Anthony Leiserowitz) ผู้อำนวยการโครงการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยเยล เห็นด้วย เพราะผู้คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
.
และที่สำคัญ บุคคลทั่วไปไม่ได้รับรู้ค่าอุณหภูมิเฉลี่ยซึ่งมากขึ้นในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา แม้อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยอาจ “นำไปสู่การรุ่งเรืองและการล่มสลายของอารยธรรมได้” แต่ ไลเซอโรวิทซ์ กล่าวว่ายังคงมีความสับสนอยู่เรื่อยมา
.
ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นหนึ่งในผลกระทบชัดเจนที่สุดที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อลิซ ซี. ฮิลล์ (Alice C. Hill) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมจากสภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร กล่าวว่า ระดับน้ำทะเลตามชายฝั่งที่สูงขึ้น ไม่ได้แค่เพียงสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนที่อยู่ใกล้มหาสมุทรเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนต่าง ๆ แม้จะอยู่ในแผ่นดินเข้าไปหลายกิโลเมตรก็ตาม

เธอกล่าวว่า ถนน การขนส่งสาธารณะ ระบบสุขาภิบาล โรงบำบัดน้ำเสียและแหล่งผลิตน้ำดื่ม โครงข่ายไฟฟ้า และทุ่งนา ล้วนได้รับความเสียจากปรากฏการณ์นี้ได้ทั้งหมด อีกทั้งยังเพิ่มพลังให้กับพายุที่โหมกระหน่ำให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น
.
การสื่อสารถีงผลกระทบเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแก้ปํญหาด้านสภาพอากาศอย่างจริงจังเช่น พลังงานหมุนเวียนที่ต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โพเมแรนซ์ กล่าวเสริมว่า การมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขอุณหภูมิจึงไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เพียงพออย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมปีที่แล้วจึงเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

ภัยร้ายที่ชาวกรุงอาจคิดไม่ถึง

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ได้ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 3 ชิ้นระบุเอาไว้ตรงกันว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะจมน้ำอย่างแน่นอน 100% อาจเกิดขึ้นในอีกสิบปี ยี่สิบปี หรือสามสิบปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปรากฏการณ์ตัวกระตุ้นต่าง ๆ ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว
.
“ผมเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำงานกับคณะทำงาน IPCC คือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ผมจึงเห็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ 3 งานวิจัยมันชัดมาก ๆ ว่าน้ำทะเลหนุนสูง” รศ.ดร.เสรี บอก
.
“ปี 2030 พบว่าชายฝั่งทะเลทั้งหมดจะหายไป ไม่ใช่เป็นการพูดกันแบบลอย ๆ ผมจึงอยากกระตุ้นให้รัฐบาลได้เตรียมรับมือให้พร้อมที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา” รศ.ดร.เสรี กล่าว
.
พร้อมยังระบุอีกว่า โดยปกติแล้วกลุ่มความเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถจัดได้เป็น 3 ประเภทคือ น้ำท่วมเมือง – ซึ่งเกิดจากฝนตกหนักภายในเมืองมากเกินกว่าที่จะระบายออกไปทันได้, น้ำล้นจากฝั่งแม่น้ำ – เกิดจากฝนตกหนักเกินความจุลำน้ำทำให้ล้นท่วมได้ และอย่างสุดท้ายคือ น้ำท่วมชายฝั่ง – ที่เกิดขึ้นกับชุมชนหรือเมืองที่อยู่ชายฝั่งทะเล
.
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า น้ำท่วมทั้ง 3 ประเภทนี้มีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนสภาพอากาศ หรือสามารถกล่าวได้ง่าย ๆ ว่าปริมาณฝน 100 ปีที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2554 นั้นอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุก 10 ปี
.
ไม่เพียงเท่านั้นทาง IPCC ยังได้ประเมินว่าระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้าจะค่อยสูงขึ้น 0.39 ม.ในปี พ.ศ. 2573, สูงขึ้นไปถึงระดับ 0.73 ม.ในปี พ.ศ. 2593 และสูงขึ้น 1.68 ม.ในปี พ.ศ. 2643 ซึ่งจะทำให้ ‘กรุงเทพฯ และปริมณฑลจมน้ำอย่างถาวร’
.
“พูดเรื่อง กทม.จมบาดาล ต้องย้ายเมืองหลวง ก็จะมีพวกที่มองว่าเราเป็นนักวิชาการเพี้ยน ๆ พวกวิทยาศาสตร์เพี้ยน ๆ ไม่สนใจอยากจะฟัง แต่จริง ๆ ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” รศ.ดร.เสรี ระบุ “เวลานี้เรามีทางเลือกเพียง 2 ทางคือ ถ้าไม่สร้างแนวป้องกัน ก็ต้องย้ายเมือง นี่คือหลักการที่ถูกต้อง แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมไม่ต้องการให้มีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่นแน่นอน”

การสื่อสารวิกฤติโลก

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นพ้องกันว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารที่ดีและเห็นภาพได้ชัดเจน
.
“ไม่มีโอกาสดีอะไร” ไลเซอโรวิทซ์ กล่าว เมื่อพูดถึงการทำให้ผู้คนรับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและความเร่งด่วนของปัญหา เนื่องจากคนอื่น ๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินซึ่งไกลจากแนวชายฝั่งหลายร้อยกิโลเมตรไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง และมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
.
“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสาร ความสามารถของ (บุคคล) ในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ตลอดเวลานั้น มีข้อจำกัดอย่างไม่น่าเชื่อ” ไลเซอโรวิทซ์ กล่าวเสริม
.
งานวิจัยล่าสุดที่ยังไม่ได้เผยแพร่โดย มัตโต ไมล์เดนเบอร์เกอร์ (Matto Mildenberger) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์รา และทีมวิจัยได้ยืนยันถึงความท้าทายนี้ การแสดงแผนที่ที่คาดว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2100 ได้ให้ผลลัพธ์ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มคน
.
จริง ๆ แล้วสำหรับครัวเรือนที่มีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมมากที่สุดกลับมีความกังวลลดลง ขณะเดียวกันก็กังวลสูงขึ้นเมื่อผู้คนได้รับแจ้งว่าอาจจะต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าเดิมเนื่องจากถนนได้รับความเสียหายจากระดับน่้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าคนที่จะโดนน้ำท่วมไม่ได้รู้สึกังวลมากเท่าที่ควร
.
อย่างไรก็ตาม ฮิลล์ กล่าวว่าการมุ่งเน้นไปที่ความเสียหายจากระดับน้ำทะเลแทนการสนใจตัวเลขอุณหภูมิก็คุ้มค่า แม้ชาวเมืองจำนวนมากไม่ได้ให้ความสนใจก็ตาม ชุมชนจะมีความเเปลี่ยนแปลงและเกิดความเสียหายอย่างมากมายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินและบริการต่าง ๆ ยิ่งระดับน้ำสูงขึ้นก็ยิ่งสูญเสียมากขึ้น นั่นเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพูดออกไป
.
“การสูญเสียนั้นมากเกินกว่าที่ชุมชนจะยอมรับได้ และอะไรคือสิ่งจำเป็นในการรักษาระดับน้ำทะเลที่กำลังสูงขึ้นให้ต่ำลง” โพเมแรนซ์ กล่าว “คำถามนั้นไม่เคยมีการถามอย่างชัดเจนมาก่อน”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/environment/article/climate-change-temperature-sea-level-rise
https://ngthai.com/environment/25665/risingseatheats300millionpeople/
https://ngthai.com/environment/48740/sealevel/
https://workpointtoday.com/bangkok-flood-urban-hazard-studio/
https://mgronline.com/specialscoop/detail/9650000084200


อ่านเพิ่มเติม คนกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก และไทย กำลังเผชิญภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ระดับน้ำทะเล

Recommend