ปะการังฟอกขาว สัญญาณอันตรายของท้องทะเลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด

ปะการังฟอกขาว สัญญาณอันตรายของท้องทะเลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด

ปะการังฟอกขาว สัญญาณอันตรายของท้องทะเลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด

ปะการังฟอกขาว มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ และความเค็มลดลงเนื่องจากอิทธิพลของน้ำจืด ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเป็นผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกเดือด

ปะการังฟอกขาว คืออะไร?

ปะการังฟอกขาว คือ ปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย อาทิ อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด

ทั้งนี้ ตามปกติเนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงามจากรงควัตถุ (Pigment) เป็นเพียงเนื้อเยื่อใส ๆ เท่านั้น ส่วนที่เห็นเป็นสีสันจากปะการังไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือสีน้ำตาลนั้นมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลีทั้งสิ้น ซึ่งสาหร่ายจะทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง ให้ธาตุอาหารแก่ปะการังใช้ในการดำรงชีวิตและช่วยในการเจริญเติบโต ปะการังจะเป็นที่อยู่อาศัยและให้สาหร่ายนำของเสียจากปะการัง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนเตรท ฟอสเฟตมาใช้ในการสร้างสารอาหาร วงจรชีวิตของปะการังและสาหร่ายซูแซนเทลลี เป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกัน

ดังนั้น หากแยกกันอยู่จะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเล ทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีจะถูกขับออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง ส่งผลให้ปะการังสูญเสียสีสัน ขาดอาหาร และตายในที่สุด

สาเหตุของปะการังฟอกขาว

ปะการังฟอกขาว เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งมลพิษทางทะเลจากสารเคมีจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น น้ำเสียจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม สารเคมีจากครีมกันแดดที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเล และอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นผิดปกติ เนื่องจากปะการังมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็จะส่งผลต่อการมีอยู่ของสาหร่ายซูแซนเทลลี

จากสำรวจของนักวิจัยพบว่า ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้น โอกาสที่ปะการังจะฟอกขาวยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบริเวณน้ำตื้นและแนวชายฝั่งจึงสามารถพบปะการังฟอกขาวได้มากกว่า เนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับแสงแดดและความร้อนโดยตรง ซึ่งปัจจุบันทั่วทั้งโลกเกิดปะการังฟอกขาวอยู่ที่ร้อยละ 54 ของทั้งโลก โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 ต่อสัปดาห์ และหากโลกยังร้อนขึ้นไปต่อเนื่องแบบนี้ที่ 2 องศาเซลเซียส คาดว่าในปี 2050 ปะการังจะฟอกขาวและตายถึงร้อยละ 99 ของทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ปะการังเท่านั้น ดอกไม้ทะเลก็สามารถฟอกขาวได้ ทว่าดอกไม้ทะเลมีความอดทนมากกว่าปะการัง เนื่องจากดอกไม้ทะเลหาอาหารจากการจับเหยื่อด้วยเข็มพิษได้ด้วย แต่ปะการังได้พลังงานเกือบทั้งหมดจากสาหร่ายซูแซนเทลลี เมื่อไม่มีสาหร่ายปะการังฟอกขาวจึงตายง่ายกว่าดอกไม้ทะเลฟอกขาว

การแก้ปัญหาปะการังฟอกขาว

ปะการังที่เกิดการฟอกขาวสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ เมื่อสาหร่ายซูแซนเทลลีเหล่านั้นกลับเข้าสู่ตัวปะการังอีกครั้ง โดยเกิดขึ้นได้เมื่อปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปกลับคืนสู่ภาวะปกติ ปะการังจะสามารถดำรงชีวิตโดยปราศจากสาหร่ายซูแซนเทลลีได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถ้ามีเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและระยะเวลายาวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การฟื้นตัวของปะการังโดยธรรมชาติมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำ หรือไม่มีเลย และถ้าสาหร่ายซูแซนเทลลีไม่กลับเข้าสู่ปะการังในช่วงเวลาดังกล่าวปะการังเหล่านั้นก็จะตายในที่สุด

เมื่อทราบถึงความสำคัญของปะการังและสาเหตุที่ทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ซึ่งส่วนสำคัญในการทำลายแนวปะการังนั้นก็มาจากน้ำมือของมนุษย์เองไม่ว่าจะเป็นการสร้างมลภาวะต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ หรือการสร้างมลพิษให้กับทะเลโดยตรง

ดังนั้น มนุษย์สามารถช่วยกันดูแลรักษาและอนุรักษ์แนวปะการังได้ เริ่มจากการลดการสร้างมลภาวะของสิ่งแวดล้อม อาทิ ลดการใช้รถโดยไม่จำเป็น ลดการเผาสิ่งปฏิกูล หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการทำลายแนวปะการัง ด้วยการทำระบบบำบัดน้ำเสีย  ระมัดระวังการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพราะเมื่อถูกชะล้างลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสาหร่ายในแนวปะการัง และ ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเลเป็นต้น

วิกฤตปะการังฟอกขาว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก โลกร้อน สู่ โลกเดือด ส่งผลให้เกิดวิกฤตปะการังฟอกขาวกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยในทะเลภาคใต้ประเทศไทย ช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลขึ้นสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้ประมาณไว้ว่า ณ อุณหภูมิตั้งแต่ 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นจุดวิกฤตที่กระตุ้นให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ทั้งนี้ขึ้นกับองค์ประกอบอื่นด้วยที่เป็นตัวกระตุ้นร่วม โดยเฉพาะความเข้มของแสงแดด

สำหรับเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน 2567 องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ โนอา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ซึ่งหน่วยเฝ้าระวังแนวปะการัง (Coral Reef Watch: CRW) ได้เปิดเผยผลการสำรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรและแนวปะการังทั่วโลกช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2567

พบว่าเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวแผ่ขยายเป็นวงกว้างในทะเลและมหาสมุทรทั่วทั้งเขตร้อน ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงทะเลแคริบเบียน ทะแลแดง อ่าวเปอร์เซีย อ่าวเอเดน ไม่เว้นแม้แต่แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Great Barrier Reef ของออสเตรเลีย โดยครั้งนี้นับเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ที่หน่วยเฝ้าระวังแนวปะการังของโนอาได้สำรวจและบันทึกไว้ และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

แผนที่แสดงผลการสำรวจติดตามการเกิดปะการังฟอกขาวระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 – 10 เมษายน 2567 ของหน่วยเฝ้าระวังแนวปะการัง โนอา แสดงให้เห็นภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเครียดจากความร้อนในทะเลในระดับสูง (การแจ้งเตือนการฟอกขาวระดับ 2 -5) ที่สามารถทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการังทั่วทั้งแนวปะการังและอาจทำให้ปะการังตายได้

อนึ่ง การที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแสดงว่าโลกของเราอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมาก อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส มนุษย์อาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบมากนัก แต่สำหรับปะการังแล้ว อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเพียงองศาเดียวหมายถึงความเป็นความตายของปะการัง จึงเป็นสัญญาณอันตรายอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในอนาคต หากชาติทั่วโลกยังไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาภาวะโลกเดือด

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก HUW THOMAS, ALAMY 

ข้อมูลอ้างอิง

seub.or.th

sciplanet.org

nstda.or.th

อ่านเพิ่มเติม : ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เหตุให้ระบบนิเวศในมหาสมุทรเสียสมดุล

Recommend