พื้นที่ชุ่มน้ำ อาจเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องแม่น้ำโขง

พื้นที่ชุ่มน้ำ อาจเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องแม่น้ำโขง

พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มแม่น้ำโขงมักถูกละเลยจนขาดการอนุรักษ์และฟื้นฟู ทว่างานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า พื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญต่อทั้งระบบนิเวศและเศรษฐกิจท้องถิ่น

ณ ป่าฝนน้ำหลากใกล้กับแม่น้ำโขงในจังหวัดสตึงแตรง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา มีต้นอะเคเซียยักษ์มากมายยืนต้นตายจนกลายเป็นสีเทาอยู่ใต้น้ำ แม้ว่าพื้นที่นี้จะมีสภาพราวกับถูกพายุไซโคลนพัดถล่ม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ตายนั้นร้ายแรงกว่าพายุมาก

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศผู้ควบคุมเขื่อนต้นน้ำซึ่งสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขึ้นโดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจ ได้ทำการปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำโขงมากเกินไปในช่วงฤดูแล้ง ระดับน้ำที่เพิ่มสูงกว่าปกติจึงทำให้พื้นดินรวมไปถึงรากของต้นไม้ในป่าที่ควรจะแห้งในฤดูแล้งจมอยู่ในน้ำ ด้วยเหตุนี้ ต้นอะเคเซียยักษ์และต้นไม้ชนิดอื่น ๆ จึงอ่อนแอลงจนตายในที่สุด

การที่พื้นที่ป่าฝนน้ำหลาก ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมจากจังหวัดสตึงแตรงของกัมพูชาไปจนถึงประเทศลาวค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่น่าหวาดหวั่น เพราะป่าแถบนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยาและสุขภาพของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีผลผลิตทางการประมงจากปลาและสัตว์น้ำที่สูงที่สุดในโลก “ป่าฝนน้ำหลากเป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญที่สุดของปลาในแม่น้ำโขงครับ” เสร็ย โซมุยเช็ต (Srey Somuichet) ผู้อำนวยการสำนักงานการประมงจังหวัดสตึงแตรกล่าว

ป่าฝนน้ำหลากทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชาใกล้กับลำน้ำโขงที่ทอดยาวกว่า 4,350 กิโลเมตรผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไม่ใช่พื้นที่ชุ่มน้ำเพียงแห่งเดียวที่กำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่า 181,299  ตารางกิโลเมตร ทางตอนล่างของลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา ก็กำลังเผชิญกับภัยคุกคาม ทำให้พื้นที่ลดน้อยลงเช่นกัน

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา เราสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มแม่น้ำโขงไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์จากการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ความเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และภัยคุกคามอื่น ๆ 

เขื่อนเสี่ยววานซึ่งสูงถึง 292 เมตรนั้นมีความสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก เขื่อนต้นน้ำแห่งนี้ทำหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังชายฝั่งทางใต้ของจีน อย่างไรก็ดี เขื่อนเสี่ยววานอาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้งจนชาวประมงทางตอนเหนือของกัมพูชาสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชุ่มน้ำในแถบนั้นได้ ภาพโดย DAVID GUTTENFELDER/AP

แม้จะเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงให้ความสนใจกับการอนุรักษ์แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเป็นหลัก แต่เพราะมีผู้คนหลาย 10 ล้านคนที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรและการประมง บรรดานักวิจัยจึงเริ่มเห็นว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศซึ่งเอื้อต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ นอกจากนั้น โครงการพัฒนาใหม่ ๆ เช่น โครงการขุดคลองฟูนันเตโชของกัมพูชาซึ่งตกเป็นประเด็นถกเถียง ยังทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น

“หากน้ำในแม่น้ำโขงเปรียบเสมือนเลือด พื้นที่ชุ่มน้ำก็เปรียบเป็นหัวใจที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายครับ” เจค บรันเนอร์ (Jake Brunner) หัวหน้าโครงการ Mekong WET หรือโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) กล่าว องค์กร IUCN จะทำหน้าที่เป็นผู้นำโครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีมูลค่าราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

สิ่งที่สูญไปพร้อมพื้นที่ชุ่มน้ำ

พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นระบบนิเวศที่มีน้ำท่วมขังอยู่ถาวรหรือชั่วคราว เช่น ที่ราบน้ำท่วมถึง ที่ลุ่มชื้นแฉะ และป่าชายเลน เป็นผู้พิทักษ์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศทั่วโลก พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งทำหน้าที่คอยกรองน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ รูปแบบการไหลของแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ในช่วงฤดูฝน น้ำที่ท่วมอย่างรุนแรงจะพัดพาตะกอนและสารอาหารตามธรรมชาติเข้าสู่ที่ราบน้ำท่วมถึงอันกว้างขวาง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำตามธรรมชาติในแต่ละฤดูกาลเช่นนี้เรียกว่า พลวัตน้ำหลาก (flood pulse) ซึ่งเป็นกระบวนสำคัญที่จำเป็นต่อทั้งปลาและการเกษตร

ถึงกระนั้นที่ราบน้ำท่วมถึงกลับไม่ได้รับความสนใจจากบรรดานักวิจัยมากนัก แม้ว่าบริเวณแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของกัมพูชาจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) แล้ว แต่ก็ยังมีงานวิจัยจำนวนไม่มากที่ทำการศึกษาและประเมินความเสียหายทางนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นกับป่าฝนน้ำหลากภายในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณนั้น “เรามีแต่ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้คนครับ” เอียน แบร์ด (Ian Baird) นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการทำประมงข้ามพรมแดนประเทศลาวมานานหลาย 10 ปีกล่าว

เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา แบร์ดได้รายงานว่า ชาวประมงกัมพูชาหลายคนเล่าว่าระดับน้ำของแม่น้ำโขงในฤดูแล้งเพิ่มสูงกว่าปกติถึง 2 เมตร เขาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีส่วนมาจากการสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำในประเทศจีนและลาวในช่วงทศวรรษ 1990 เพราะเขื่อนเหล่านั้นจะกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนและค่อย ๆ ปล่อยน้ำออกในช่วงฤดูแล้งเพื่อผลิตพลังงาน

แบร์ดพบว่า มีต้นไม้ใหญ่ 2 สายพันธุ์ลดจำนวนลงเกือบครึ่งหนึ่ง และมีพืชพรรณบางชนิดลดจำนวนลงจนเกือบจะสูญพันธุ์ ปลาบางสายพันธุ์ดำรงชีวิตโดยอาศัยพืชเหล่านั้นเป็นแหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ และแหล่งอนุบาลลูกปลา ดังนั้นการลดจำนวนลงของพืชจึงส่งผลกระทบทางลบต่อจำนวนประชากรปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาบึกที่มีความสำคัญทางการค้า

พ่อค้าขายแตงโมอยู่ที่ตลาดน้ำแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ภาพโดย DAVID GUTTENFELDER/AP

การสูญเสียพืชพรรณส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพของแม่น้ำ นอกจากต้นไม้ใหญ่และพืชชนิดต่าง ๆ จะทำหน้าที่ช่วยชะลอความแรงของกระแสน้ำในแม่น้ำแล้ว พืชพรรณเหล่านั้นยังมีส่วนทำให้สันทรายก่อตัวขึ้น เมื่อจำนวนต้นไม้ลดลง จำนวนของสันทรายซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น นก ก็จะลดลงเช่นกัน “เรารู้ว่าเราจะต้องสูญเสียอะไรอีกเยอะ โดยที่ไม่ต้องสงสัยอะไรเลยครับ”  แบร์ดกล่าว

น้ำมา ปลามาก

ในทางนิเวศวิทยา พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญที่สุดในลุ่มน้ำโขงคือ โตนเลสาบ ทะเลสาบในกัมพูชาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำโขงผ่านแม่น้ำโตนเลสาบ ทะเลสาบแห่งนี้ล้อมรอบไปด้วยป่าที่จะถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำโขงที่หลากเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบทำให้โตนเลสาบขยายตัวขึ้นจากขนาดปกติหลายเท่า และยังทำให้เกิดแหล่งอาหารรวมไปถึงแหล่งอนุบาลปลาที่สำคัญสำหรับปลาหลายร้อยสายพันธุ์ขึ้น

ในแต่ละปี กัมพูชาจะมีผลผลิตประมงน้ำจืดที่ได้จากโตนเลสาบมากถึง 400,000 ตัน ทว่าตัวเลขของจำนวนปลาที่แท้จริงนั้นยังคงมีความไม่แน่นอน หากนำมาเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ปลาที่จับได้ตามแม่น้ำ ทะเลสาบ และอ่างเก็บน้ำแห่งต่าง ๆ โดยเฉลี่ยในแต่ละปีของอเมริกานั้นรวมกันได้เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของปลาที่จับได้ในโตนเลสาบ

อย่างไรก็ดี จำนวนปลาที่จับได้ในโตนเลสาบลดลงอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการทำประมงเกินขนาดและความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในทะเลสาบ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา พื้นที่ของป่าฝนน้ำหลากเองก็ลดลงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขยายพื้นที่ทางการเกษตรและไฟป่า ยิ่งไปกว่านั้น ภัยแล้งในปี 2019 และ 2020 ผนวกกับการกักเก็บน้ำของเขื่อนต้นน้ำยังส่งผลให้พลวัตน้ำหลาก ซึ่งพัดพาตะกอนสารอาหารเข้าสู่โตนเลสาบชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชากรปลา

“ขอบเขตการเกิดพลวัตน้ำหลากเกี่ยวข้องโดยตรงกับจำนวนปลาในโตนเลสาบครับ” เซ็บ โฮแกน นักชีววิทยาปลาจากมหาวิทยาลัยเนวาดา วิทยาเขตรีโน ผู้นำโครงการวิจัย Wonders of the Mekong ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development: USAID) กล่าว พร้อมเสริมว่า “ทั้งปลาและป่าต่างก็ปรับตัวเข้ากับการขึ้น-ลงของระดับน้ำตามฤดูกาลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพลวัตน้ำหลากครับ” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น้ำจากแม่น้ำโขงไหลเข้าสู่โตนเลสาบมากขึ้นจนระดับน้ำกลับสู่สภาวะปกติ ประจวบกับในขณะเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาได้ทำการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายและจำกัดการขยายพื้นที่ทางการเกษตร ด้วยเหตุนี้จึงมีสัญญาณแห่งความหวังที่บ่งชี้ว่า ทรัพยากรประมงในทะเลสาบแห่งนี้เริ่มฟื้นคืนสู่สภาพปกติแล้ว ยกตัวอย่างเช่น มีรายงานจากการทำการประมงรอบโตนเลสาบในพื้นที่ป่าฝนน้ำหลากใกล้กับเมืองเสียมราฐซึ่งควบคุมดูแลโดยทีมวิจัยของโฮแกนว่า ปริมาณของปลาที่จับได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

“เห็นได้ชัดว่ายิ่งมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุ่มน้ำมากเท่าไรก็ยิ่งมีประชากรปลามากขึ้นเท่านั้นครับ” โฮแกนซึ่งทำหน้าที่เป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว

แม้แต่ปลาสายพันธุ์ยักษ์ยังถูกพบในพื้นที่ชุ่มน้ำของกัมพูชา การไปเยือนพื้นที่ชุ่มน้ำทางตอนใต้ครั้งล่าสุดของโฮแกนทำให้เขาประหลาดใจหลังพบว่า ชาวประมงจับปลาบึกยักษ์ที่มีน้ำหนักราว 181 กิโลกรัมได้ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังตามฤดูกาล “การที่สัตว์ตัวใหญ่ ๆ อย่างปลาบึกยักษ์สามารถว่ายน้ำไปมาในพื้นที่ที่มีน้ำน้อยเกือบทั้งปีได้นั้นเป็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อมากครับ” เขากล่าว

คุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ

โครงการขุดคลองฟูนันเตโช (Funan Techo Canal) ของกัมพูชาที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนอาจคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำทางตอนใต้ของกัมพูชาและเวียดนาม คลองสายนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อทำทางเชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญและท่าเรือของกัมพูชาที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยไม่ต้องเดินทางผ่านท่าเรือของเวียดนามที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำโขง

กัมปงหลวง หมู่บ้านลอยน้ำซึ่งตั้งอยู่บนโตนเลสาบ เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสําคัญที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขง ภาพโดย LINH PHAM, NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION

คลองฟูนันเตโชมีกำหนดจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2028 โดยโครงการนี้จะเปลี่ยนคลองขนาดเล็กที่มีระดับน้ำต่ำให้เป็นทางน้ำกว้างประมาณ 91 เมตรที่มี 2 เลนและมีตลิ่งสูงชัน ไบรอัน ไอเลอร์ (Brian Eyler) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ศูนย์วิจัยสติมสันเซ็นเตอร์ (Stimson Center) ในสหรัฐฯ ได้เตือนว่า คลองฟูนันเตโชอาจเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำโขงและปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลลงสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเกษตรและเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม 

กัมพูชาไม่เปิดเผยผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ แต่กลับยืนยันว่าคลองฟูนันเตโชจะไม่ดึงน้ำจากแม่น้ำโขงสายหลักไปใช้ การยืนยันเช่นนั้นเป็นการกันไม่ให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ เพราะคณะกรรมาธิการมีอำนาจและความรับผิดชอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงโดยตรงเท่านั้น

ผู้สังเกตการณ์โครงการชี้ให้เห็นว่า การที่คณะกรรมาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะแม่น้ำโขงสายหลัก พื้นที่รอบแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาของลำน้ำโขงนั้น เป็นตัวอย่างที่อธิบายว่า เพราะเหตุใดพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบนิเวศอื่น ๆ จึงมักจะถูกละเลยในระหว่างกระบวนการการตัดสินใจ “นักวางแผนและวิศวกรมองแม่น้ำเป็นเพียงเส้นตรงที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดครับ” ไอเลอร์กล่าว

บรรดานักอนุรักษ์คาดหวังว่า การมีโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น โครงการ Mekong WET หรือโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งนำโดยองค์กร IUCN และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลฝรั่งเศสที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจพื้นที่สำคัญเหล่านี้มากขึ้น Mekong WET มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูและดูแลจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่เปราะบางที่สุดในภูมิภาคอย่างเช่น สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โตนเลสาบ และป่าฝนน้ำหลากทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชาให้มีสภาพที่ดีขึ้น นอกจากนั้น โครงการริเริ่มนี้ยังพยายามเน้นย้ำถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจและประโยชน์ที่พื้นที่ชุ่มน้ำมีต่อสิ่งแวดล้อม

ราฟาเอล ชมิตต์ (Rafael Schmitt) วิศวกรวิจัยและพัฒนาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการมองเห็นคุณค่าของประโยชน์ที่ได้รับจากพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ว่า “หากเราขาดความเข้าใจและการตระหนักถึงคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรวม เราอาจจะประเมินความสำคัญของระบบนิเวศเหล่านี้ต่ำกว่าความเป็นจริง จนนำไปสู่การตัดสินใจบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผลได้ครับ”

ป่าฝนน้ำหลากทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชาเองก็ได้รับสัญญาณแห่งความหวังเล็ก ๆ จากดาวเทียมที่คอยสอดส่อง ข้อมูลชี้ว่าระดับน้ำของป่าในช่วงฤดูแล้งลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้น ระดับน้ำก็ยังถือว่าสูงกว่าปกติอยู่

ฮง ชัมนาน (Hong Chamnan) ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำของกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชาหวังว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่เพิ่มขึ้นจะช่วยปกป้องป่าผืนนี้เอาไว้ได้ “เราต้องให้ความสำคัญกับระบบแม่น้ำทั้งหมดให้มากขึ้นเพื่อปกป้องลำน้ำโขงเอาไว้ และนั่นก็หมายถึงการเริ่มจากพื้นที่ชุ่มน้ำครับ” ฮงกล่าว

เรื่อง สเตฟาน โลฟเกร็น

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม พื้นที่ชุ่มน้ำในชีวิตและความทรงจำ

Recommend