สถานการณ์สัตว์น้ำเอเลี่ยนสปีชีส์ในไทยไปถึงไหน และปัญหาปลาหมอคางดำจะจบลงอย่างไร หลังกรมประมง เตรียมเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมหยุดการแพร่พันธุ์ แก้ปัญหาการระบาดที่ต้นตอ
“ปลาหมอคางดำ” กำลังเป็นความกังวลของคนไทย ในฐานะสัตว์ต่างถิ่น (Alien species) ที่ระบาดในแหล่งน้ำ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและระบบนิเวศ โดยที่ทั้งหมดสังคมไทยต่างตั้งคำถามว่า สถานการณ์นี้จะถูกควบคุมได้เมื่อไร และอย่างไร?
ล่าสุด กรมประมงได้ ชี้แจงว่าได้เตรียม 5 มาตรการป้องกันและการแก้ไขปัญหา โดยเน้นไปที่ 1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด 2.การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นอาหาร 4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และ 5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ ให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งได้ส่งไปยังทุกจังหวัดที่มีการพบปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
อรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงตอนหนึ่งในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า หนึ่งในมาตรการที่กรมประมงเร่งรัด คือการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซมปลาจากสองเอ็นเป็นสี่เอ็น ทำให้โครโมโซมปลาชนิดนี้เปลี่ยน แล้วปล่อยลงทะเลไป เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วก็จะทำให้ปลาเป็นหมัน ซึ่งปลาที่จะปรับเปลี่ยนโครโมโซมจะกระโดดลงน้ำภายในสิ้นปีนี้
“หนึ่งในนั้นที่กรมประมงได้เร่งทำอยู่ก็คือ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ ซึ่งเราเชื่อว่า การทำให้โครโมโซมจาก 2n เปลี่ยนเป็น 4n จะทำให้โครโมโซมในปลาชนิดนี้เปลี่ยน จากนั้นเราก็ปล่อยลงแหล่งน้ำ ทะเล พอมันไปผสมพันธุ์กัน นอกจากตัวมันที่จะเป็นหมันแล้ว ก็จะทำให้เพื่อนของมันเป็นหมันตามไปด้วย นี่คือการทำงานของผู้เชี่ยวชาญของกรมประมง และเราคาดว่า ปลาที่จะผ่านการเหนียวนำชุดโครโมโซมเป็น 4n จะกระโดดลงน้ำครั้งแรกภายในสิ้นปีนี้” อรรถกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุ
เปิดลิสต์สัตว์น้ำต่างถิ่น
ถึงเช่นนั้น ปรากฎการณ์การแพร่พันธุ์ของสัตว์ต่างถิ่น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้กรมประมงได้มีการพิจารณาสัตว์น้ำในทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกันควบคุมและกำจัดของประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี โดยพิจารณาควบคู่กับทะเบียนชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน 100 อันดับโลก (GISD; Global Invasive Species Database, IUCN) เพื่อออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ได้แก่
- ปลาหมอสีคางดำ
- ปลาหมอมายัน
- ปลาหมอบัตเตอร์
- ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
- ปลาเทราท์สายรุ้ง
- ปลาเทราท์สีน้ำตาล
- ปลากะพงปากกว้าง
- ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
- ปลาเก๋าหยก
- ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
- ปูขนจีน
- หอยมุกน้ำจืด
- หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena
ประกาศฉบับดังกล่าวฯ มีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ กรณีที่เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกลุ่มเหล่านี้ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตตามประกาศกรมประมงภายใน 30 วัน หลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้ และเมื่อไม่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่นกลุ่มดังกล่าวแล้วให้รีบนำสัตว์น้ำส่งมอบให้สำนักงานประมงจังหวัด หรือหน่วยงานกรมประมงอื่น ๆ ในพื้นที่โดยด่วน, กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้
เปิดสถานะ ตัวร้ายทำลายระบบนิเวศ
ถึงตรงนี้ ถ้ากล่าวถึงเอเลี่ยนสปีชีส์ในไทย ก่อนหน้านี้ที่น่าถูกจดจำมากที่คือกรณีของ “หอยเชอรี่” ซึ่งเป็นหอยน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เข้าสู่ประเทศไทยโดยตลาดซื้อ-ขายสัตว์เลี้ยง และผู้ประกอบการ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ชื่อของหอยเชอรี่ น่าจะเป็นที่คุ้นหูของใครหลายคน เพราะครั้งหนึ่งหอยเชอรี่กลายเป็นปัญหาให้กับชาวนา เป็นสัตว์ศัตรูข้าวที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังสามารถทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่จนปัจจุบันนี้ข้อมูลจากกรมประมงรายงานว่า มีแผนการจัดการ การแพร่กระจาย ภายในประเทศแล้ว การแพร่ ระบาดมีแนวโน้มคงที่
แนวทางการควบคุมหอยเชอรี่ คือการใช้วิธีควบคุมในหลายรูปแบบ อาทิ การใช้ชีววิธี โดยการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของหอยเชอรี่ เช่น นกปากห่าง นกกระปูด การกำหนดเขตกรรม เช่น การเก็บตัวหอยและไข่หอย
หรือใช้ไม้ปักตามข้างคันนา เพื่อล่อให้หอยมาไข่แล้วเก็บออกไปทำลายหรือใช้ประโยชน์ กระทั่งการเอามาบริโภคเป็นอาหาร โดยการนำหอยเชอรี่ไปใส่ในอาหารประเภทส้มตำ ยำ
อย่างไรก็ดี กรณีของเอเลี่ยนสปีชีส์ ไม่ได้จบด้วยดีแบบนี้ทุกครั้ง เพราะยังมีสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ บางชนิดที่ไม่ได้ถูกนิยมบริโภคเป็นอาหาร และยังต้องเฝ้าระวังการระบาด ยกตัวอย่างเช่น
- ปลาหมอมายัน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง เม็กซิโกถึง นิคารากัว ซึ่งหลุดรอดจาก การเลี้ยง โดยปัจจุบันมีแผนการจัดการ การแพร่กระจาย ภายในประเทศ และการแพร่ระบาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ปลาหมอบัตเตอร์ ถิ่นจากทวีปแอฟริกา หลุดรอดจาก การเลี้ยงและการ ปล่อยลงแหล่งน้ำ มีการแพร่ระบาดมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น และอยู่ระหว่าง ดําเนินการจัดทําแผนการจัดการ การแพร่กระจายภายในประเทศ
- ปลากะพงนกยูง หรือปลาพีคอกแบส จากทวีปแอฟริกา มีการแพร่ระบาดมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น และอยู่ระหว่าง ดําเนินการจัดทําแผนการจัดการ การแพร่กระจายภายในประเทศ
- เต่าแก้มแดงหรือเต่าญี่ปุ่น ทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีแผนการจัดการ การแพร่กระจาย การแพร่ ระบาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทั้งหมดคือสัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง ไม่ต่างกับ “ปลาหมอคางดำ” ที่ต้องรอดูบทสรุปต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร
ภาพโดย ดร. ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านประมงน้ำจืด และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ
อ้างอิง