ลอนดอน “เมืองอุทยานแห่งชาติ”แห่งแรกของโลกที่ผู้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้

ลอนดอน “เมืองอุทยานแห่งชาติ”แห่งแรกของโลกที่ผู้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้

เมืองอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลก เปลี่ยนเมืองพาผู้คนกลับคืนสู่ธรรมชาติ และกำลังขยายสิ่งนี้ไปสู่เมืองอื่นๆ

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ลอนดอนเริ่มเดินหน้าฟื้นฟูธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวของเมืองอย่างเป็นทางการในฐานะ “เมืองอุทยานแห่งชาติ” (National Park City) แห่งแรกของโลก มีการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองกลางแจ้งถึง 8 วัน พร้อมกันกับการลงนามของนายกเทศมนตรีลอนดอน องค์กรต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปในกฎบัตรเมืองอุทยานแห่งชาติลอนดอน

‘เมืองอุทยานแห่งชาติ’ คืออะไร

เมืองอุทยานแห่งชาติ คือการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วไปในการรณรงค์ให้ชาวเมืองหันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ด้วยการลงมือปฏิบัติคนละเล็กละน้อย เช่น การทำสวน การปลูกต้นไม้ในระเบียงบ้าน ภายใต้แนวคิดที่จะทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นและทำให้ชาวเมืองมีสุขภาพดีขึ้น 

จุดเริ่มต้นมาจากคำถามของแดเนียล เรเวน-เอลลิสัน (Daniel Raven-Ellison) นักภูมิศาสตร์ และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในปี 2013 ว่า “ถ้าเราทำให้เมืองลอนดอนกลายเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติจะเป็นอย่างไร” จากข้อสงสัยของเรเวน-เอลลิสันว่าทำไมภูมิทัศน์เมืองถึงไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นอุทยานแห่งชาติได้ 

แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในงานอีเวนท์ใหญ่ที่เซาท์แบงค์เซ็นเตอร์ ปี 2015 มีจำนวนผู้เข้าร่วม 600 คน ผลสำรวจจากโพลอิสระพบว่าชาวเมืองลอนดอน 9 ใน 10 เห็นด้วยกับการทำให้ลอนดอนเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ

หลังจากนั้นจึงมีการระดมทุนและร่างข้อเสนอจัดตั้งโครงการร่วมกันระหว่างประชาชนทั่วไปและองค์กรต่าง ๆ ทำให้มีการหารือเพิ่มเติมตามมา การเคลื่อนไหวนี้เติบโตขึ้นจนนำไปสู่การเรียกร้องของประชาชนทั่วทั้งลอนดอนให้นักการเมืองท้องถิ่นสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว

นักรณรงค์ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาการสนับสนุนที่ได้รับเอาไว้ ทั้งเขียนอีเมล จัดงานอีเว้นท์ต่าง ๆ และปราศัย ที่สำคัญคือการจัดประชุมแบบเปิดเป็นสาธารณะ ณ ใจกลางกรุงลอนดอนเป็นประจำ เพื่อให้แคมเปญยิ่งกว้างขวางออกไป จนกระทั่งท้ายปี 2017 นักการเมืองกว่า 1,000 คนจากพรรคการเมืองหลักแต่ละพรรคก็ให้การสนับสนุนแคมเปญนี้

จากเมืองคอนกรีต สู่เมืองอุทยานแห่งชาติ

หัวใจสำคัญของการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ คือการฟื้นฟูและขยายพื้นที่สีเขียวภายในเมือง เพราะพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของมนุษย์เราเอง อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พืชและสัตว์ต่าง ๆ ในพื้นที่ไปในตัวด้วย ดังที่เนฟดีป เดออล (Navdeep Deol) ประธานกรรมการมูลนิธิเมืองอุทยานแห่งชาติ (National Park City Foundation) กล่าวว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ “จำเป็นต้องมี” ไม่ใช่แค่ “ถ้ามีก็ดี” 

เป้าหมายสำคัญของลอนดอนคือการทำให้พื้นที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเมืองเป็นพื้นที่สีเขียวภายในปี 2050 ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่สีเทา ซึ่งหมายถึงสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ  ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ปัจจุบัน ลอนดอนมีจำนวนต้นไม้พอ ๆ กับจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเอง พื้นที่ 47 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบครึ่งของเมืองก็เป็นพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สีฟ้า ซึ่งหมายถึงแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ ทำให้ลอนดอนจัดว่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก 1 ใน 3 เป็นพื้นที่เปิด ส่วนอีก 14 เปอร์เซ็นต์มาจากพื้นที่สวนในบ้านของผู้คนในเมืองเอง

การจะเปลี่ยนลอนดอนทั้งเมืองให้เป็นเมืองอุทยานแห่งชาติได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกทาง  ทั้งรัฐที่ให้ความสำคัญกับแคมเปญเป็นอย่างจริงจัง โดยให้เงินลงทุนเพิ่มพื้นที่ป่า และให้เงินสนับสนุนชุมชนต่าง ๆ ในการปลูกต้นไม้ นอกจากนี้ก็ยังมีองค์กรต่าง ๆ กว่า 250 องค์กรเข้ามามีส่วนร่วมทำให้แคมเปญนี้เกิดขึ้นจริงได้

ผู้คนออกมาชมเส้นขอบฟ้ายามบ่ายที่สวนกรีนิช เมืองลอนดอน เมืองอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลก
ภาพถ่าย โดย DEPABLO/ZURITA/LAIF/REDUX

ที่สำคัญคือชาวลอนดอนเองที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง เริ่มต้นจากในบ้านของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่การเพิ่มต้นไม้ใบหญ้าเพียงแต่ในสวนอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการแทรกสีเขียวเข้าไปในทุกพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การปลูกไม้เลื้อยตามรั้วและกำแพง การปลูกต้นไม้ในระเบียงและบนหลังคา 

นอกจากนี้การแบ่งปันเรื่องราวอันน่าประทับใจของธรรมชาติในเมืองก็เป็นการปลุกสำนึกให้คนอื่น ๆ  หันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวได้อีกทางหนึ่ง อย่างที่รัสเซล กอลต์  (Russell Galt) ผู้อำนวยการขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (the International Union for Conservation of Nature) หรือ IUCN กล่าวไว้ว่า ความกระตือรือร้นและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในเรื่องธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญมาก จากกรณีที่เรเวน-เอลลิสันสามารถทำให้ผู้คนในลอนดอน แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย มีความกระตือรือร้นในการฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นมา

แน่นอนว่าบนเส้นทางการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ ลอนดอนก็ต้องเผชิญกับความท้าทายไม่น้อย อย่างแรกคือในปี 2040 คาดว่าประชากรในลอนดอนจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าเดิมถึง 2 ล้านคน ทำให้ต้องปลูกบ้านเพิ่มกว่าหลายพันหลัง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย แนวทางแก้ไขวิธีหนึ่งคือบริษัทก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติในกระบวนการออกแบบเสมอ เช่น การแบ่งสัดส่วนเนื้อที่ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียวภายในหมู่บ้านจัดสรร

ปัญหาอีกประการก็คือมลพิษทางอากาศ คิงส์คอลเลจลอนดอนระบุว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากปัญหาดังกล่าวกว่า 9,000 คนทุกปี อีกทั้งลอนดอนก็มีระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายสหภาพยุโรปกำหนด แนวทางการแก้ไขปัญหาคือการปลูกพืชแนวดิ่งตามกำแพงหรืออาคารในบริเวณถนนที่มีการจราจรมาก เพื่อให้พืชช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และดูดซับมลพิษ

สารพัดประโยชน์ของพื้นที่สีเขียว 

จะเห็นได้ว่าพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งช่วยลดมลพิษทางอากาศและทางน้ำ ลดอัตราการเกิดน้ำท่วม ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง ทำให้เมืองเย็นลง ซึ่งถือเป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้ทางหนึ่ง

ที่สำคัญพื้นที่สีเขียวก็มีประโยชน์นานัปการต่อสุขภาวะของมนุษย์ทั้งทางกายและทางใจ งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าพื้นที่สีเขียวช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคอ้วน ความเครียด โรคทางจิตเวชต่าง ๆ และลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ประชากรมีอายุที่ยืนยาวขึ้นนั่นเอง

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของเดนมาร์กพบว่าการได้สัมผัสกับพื้นที่เขียว รวมถึงพื้นที่สีเขียวในเมืองตั้งแต่วัยเด็ก จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางจิตเวชในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของญี่ปุ่นระบุว่าการใช้เวลาอยู่ในธรรมชาติประมาณ 1-2 ชั่วโมงจะช่วยให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น งานวิจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือพื้นที่สีเขียวสามารถลดความเครียดและอัตราการเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังช่วยเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญาในเด็กด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่สีเขียวก็ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมือง เห็นได้ชัดจากกรณีของลอนดอน การปลูกพืชผักผลไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์พื้นถิ่นไว้ตามบ้านหรือสวนสาธารณะจะช่วยให้สัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างเม่นหรือตัวตุ่นออกมาวิ่งเล่นในเมืองให้คนพบเห็นได้มากขึ้น การปลูกพืชไว้บนหลังคาก็ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศขนาดย่อมให้กับนกและแมลงอีกด้วย ดังนั้น ลอนดอนจึงไม่ใช่แค่เมืองของประชากรกว่า 9 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังเป็นบ้านของทั้งพืชและสัตว์อีกมากมายกว่า 15,000 สายพันธุ์ด้วย การทำให้เมืองเป็นที่ที่ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำให้เกิดขึ้น

ก้าวต่อไป เมืองอุทยานแห่งชาติทั่วโลก

ความสำเร็จของลอนดอนถือว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เมืองอื่น ๆ ทั่วโลกได้ยึดเป็นแบบอย่างในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับภูมิทัศน์เมือง

เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของมูลนิธิเมืองอุทยานแห่งชาติก็คือการตั้งเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 25 เมือง ภายในปี 2025 ทางมูลนิธิเองก็ได้ปรึกษาหารือกับเมืองอื่น ๆ ในอังกฤษ รวมถึงเมืองใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เมืองเหล่านั้นได้เป็นเมืองอุทยานแห่งชาติด้วย

จนกระทั่งในปี 2021 เราก็ได้มีเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 ของโลก นั่นก็คือเมืองแอดิเลด หนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าน่าอยู่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย การที่เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองอุทยานแห่งชาติ” ก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมืองที่เราอยู่เองก็สามารถเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติได้เหมือนกับลอนดอนและแอดิเลด เริ่มต้นจากการหาข้อมูล ทำความรู้จักการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ สร้างแคมเปญเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจได้มาทำงานร่วมกัน และสำรวจความเป็นไปได้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง 

ที่สำคัญคือการสร้างเรื่องเล่าเพื่อดึงดูดให้ภาครัฐและสาธารณชนให้ความสนใจแคมเปญดังกล่าว จากนั้นจึงร่างข้อเสนอในการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ 

การจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเมืองอุทยานแห่งชาติได้ เมืองนั้นจะต้องมีผลงานในเชิงประจักษ์เพื่อยืนยันว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ และต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดเพื่อเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวไปกับเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น ๆ

เมืองอุทยานแห่งชาติลอนดอนในปี 2024

ในช่วงปี 2023 เนฟดีปก็ได้ไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ในลอนดอนที่เขาไม่เคยไป และพบว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เขาต้องทำ ทั้งทำความรู้จักกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมเชิงธรรมชาติรูปแบบอื่น ๆ การจัดกิจกรรมและงานอีเวนท์ต่าง ๆ เพื่อให้การเคลื่อนไหวยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งยังต้องรักษาการสนับสนุนจากองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ เอาไว้ให้มั่นคงอีกด้วย

เนฟดีปกล่าวว่า ปี 2024 เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะมูลนิธิเมืองอุทยานแห่งชาติจะให้การสนับสนุนเมืองต่าง ๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อ ให้ได้เป็นเมืองอุทยานแห่งชาติต่อไป ได้แก่ เบรดา คาร์ดิฟฟ์ ชัททานูกา กลาสโกลว์ ร็อตเตอร์ดัม และเซาท์แฮมตัน ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตามองว่าเราจะได้มีเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งที่สาม ที่สี่  และที่ต่อ ๆ ไปอีกเป็นทึ่ไหน

ระหว่างนั้นเราก็อาจจะต้องหันมามองเมืองในประเทศของเราเอง ว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อีกมากแค่ไหน เพื่อให้ผู้คนและธรรมชาติได้เชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เคยเป็น

เรื่อง เรื่อง สโรชิณีย์ นิสสัยสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

แหล่งอ้างอิง

National Geographic

World Economic Forum

Architecture Design

Londo National Park City

London National Park City

London National Park City


อ่านเพิ่มเติม 1 วันในเกาสง เยือนพื้นที่ชุ่มน้ำ สถาปัตยกรรมสุดล้ำบนพื้นที่สาธารณะเพื่อทุกคน

Recommend