ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ทำประเทศนามิเบีย เผชิญภัยแล้งและความอดอยาก จนต้องฆ่าสัตว์ป่าเพื่อความอยู่รอด

ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ทำประเทศนามิเบีย เผชิญภัยแล้งและความอดอยาก จนต้องฆ่าสัตว์ป่าเพื่อความอยู่รอด

ประเทศนามิเบียกำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลให้ประชาชนกว่าครึ่งประเทศขาดแคลนอาหาร จนรัฐบาลวางแผนฆ่าสัตว์ป่า 700 ตัว รวมถึงช้าง 83 ตัวและม้าลาย 300 ตัว เพื่อนำมาเป็นอาหารแก้ปัญหาความอดอยาก

ประเทศนามิเบียซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแอฟริกาได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในแอฟริกาใต้ โดยปัจจัยในความแห้งแล้งนี้มาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้ตั้งแต่นามิเบียไปจนถึงโมซัมบิกได้รับปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณปกติ ทำให้เกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่ใช้น้ำฝนเป็นฐานสำคัญเกิดปัญหาอย่างรุนแรง

รัฐบาลนามิเบียคาดว่ามีประชาชนมากกว่า 1.4 ล้านคนหรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการท่องเที่ยวของประเทศได้ประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พวกเขาจำเป็นที่จะต้อง ‘จัดการ’ กับสัตว์บางตัวเพื่อบรรเทาสิ่งที่เกิดขึ้น

“การจัดการที่ดีและยั่งยืนในการเก็บเกี่ยวประชากรสัตว์ป่าที่มีสุขภาพดี สามารถเป็นแหล่งอาหารอันล้ำค่าสำหรับชุมชนได้” โรส มเวบาซา (Rose Mwebaza) ผู้อำนวยการสำนักงานแอฟริกาของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าว

ตามแผน รัฐบาลจะฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร ประกอบด้วยช้าง 83 ตัว ฮิปโป 30 ตัว ควาย 60 ตัว อิมพาลา 50 ตัว บูลวิลเดอบีสต์ 100 ตัวและม้าลาย 300 ตัว ซึ่งทั้งหมดจะถูกฆ่าโดยนักล่ามืออาชีพที่รัฐบาลว่าจ้างมา จากนั้นก็จะถูกแจกจ่ายไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ทางการนามิเบีย มองว่า วิธีนี้ถือเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ และ ‘สอดคล้องกับคำสั่งตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทรัพยาการธรรมชาติของถูกใช้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองนามิเบีย’ พร้อมกันนี้ยังหวังอีกว่าการนำสัตว์จำนวนหนึ่งออกไปบ้างจะช่วยลดแรงกดดันต่อทรัพยากรน้ำ

เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีจำนวนสัตว์ป่าในพื้นที่มากเกินไปและก็มีน้ำน้อยเกินกว่าจะไหลไปได้ กระทรวงฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพวกเขาจัดการกับสัตว์ป่ามากกว่า 150 ตัวแล้ว ซึ่งทำให้ได้ปริมาณเนื้อมากกว่า 56,000 กิโลกรัม

“เรายินดีที่จะสามารถช่วยเหลือประเทศได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ในเวลาที่จำเป็นจริง ๆ” กระทรวงฯ ระบุ

แรงหนุนและต่อต้าน

อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์บางคนให้ความเห็นที่แตกต่างออกไป เคท ลินเซย์ (Keith Lindsay) นักชีววิทยาการอนุรักษ์และที่ปรึกษาทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดบรรทัดฐานที่อันตรายของการพึ่งพาประชากรสัตว์ป่าเพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์

การพึ่งพาเนื้อสัตว์ป่าเพื่อบรรเทาการขาดแคลนอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น “มีแนวโน้มสูงมากที่จะนำไปสู่ความต้องการเนื้อสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งจะไม่สามารถดำรงอยู่ใด้อย่างยั่งยืน” เขากล่าวกับสำนักข่าว CNN

กระนั้น ดร. มเวบาซา โต้แย้งว่าสำหรับนามิเบียแล้วสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้เป็นช่วงเวลาที่เกิดการขาดแคลนอาหารสูงสุด ดังนั้นกระทรวงฯ จึงมี ‘โค้วต้า’ บางส่วนที่อยู่ในรายชื่อสัตว์ที่จำเป็นต้องกำจัดออกไป เช่นม้าลาย วิลเดอบีสต์ และแอนทิโลป

พร้อมเสริมอีกว่าการกินเนื้อสัตว์ป่าเป็นเรื่องปกติทั่วโลก และการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนก็ได้รับอนุญาตภายใต้สัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว

“หากเก็บเกี่ยวสัตว์เหล่านี้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์แล้วและยั่งยืนโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ พร้อมกับสอดคล้องกับพันธกรณีและกฎหมายทั้งในประเทศกับต่างประเทศ ก็ไม่ควรมีเหตุผลใดที่จะต้องกังวล” ดร. มเวบาซา กล่าว

ภัยแล้งที่รุนแรง

ตามรายงานจากโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายนระบุว่า มีผู้คนกว่า 30 ล้านคนในพื้นที่ทางตอนใต้ของแอฟริกาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรุนแรง แม้ภัยแล้งในช่วงนี้และพื้นที่นี้จะเป็นเรื่องปกติในแอฟริกาใต้

ซึ่งเกิดมาแล้วหลายครั้ง ทางนามิเบียเองก็เคยต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภัยแล้งระดับประเทศถึง 3 ครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตั้งปี 2013-2014, 2015-2016 และ 2018-2019 แต่ในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ

“ไม่มีอาหาร” ดร. จูเลียน ไซด์เลอร์ (Juliane Zeidler) ผู้อำนวยการทองทุนสัตว์ป่าโลกประจำประเทศนามิเบีย กล่าว “ไม่มีทั้งอาหารสำหรับมนุษย์และไม่มีอาหารสำหรับสัตว์”

นักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นตรงกันว่าสาเหตุหลักมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งกลับมาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้วทำให้เกิดภัยแล้งทำลายสถิติ จนทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย สัตว์ทั้งในปศุสัตว์และสัตว์ป่าต่างก็เสียชีวิตจากสาเหตุเหล่านี้

ทำให้สัตว์ป่ามีโอกาสเผชิญหน้ากับมนุษย์มากขึ้นเนื่องจากพวกมันพยายามเดินทางหาอาหาร ท้ายที่สุดก็เป็นอันตรายต่อทั้งสองฝ่าย ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่าเมื่อปีที่แล้วมีมนุษย์ถูกช้างฆ่าตายไปอย่างน้อย 50 คน ทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้น การกำจัดสัตว์ป่าบางส่วนจึง ‘อาจ’ ช่วยลดปัญหานี้ตามที่กระทรวงฯ กล่าว

“ด้วยการลดจำนวนสัตว์ป่าในอุทยานบางแห่งและพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ที่เราเชื่อว่ามีประชากรสัตว์เกินทรัพยากรอาหารและน้ำที่มีอยู่ เราก็จะสามารถจัดการแรงกดดันด้านปศุสัตว์และความพร้อมของน้ำในปัจจุบันได้ดีขึ้น” แถลงการณ์ระบุ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : ช้างสะวันนาแอฟริกาเดินเตร่อยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Okavango

CORY RICHARDS, Nat Geo Image Collection

ที่มา

https://www.nytimes.com

https://www.meft.gov.na

https://edition.cnn.com

https://www.cbc.ca


อ่านเพิ่มเติม : อำลาสายลับท้องทะเล “ฮวาลดิเมียร์” วาฬเบลูก้าแห่งรัสเซีย สิ้นใจในน่านน้ำนอร์เวย์

Recommend