AI ทำนายว่าโลกจะร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วและอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 3 องศา ภายในปี 2060

AI ทำนายว่าโลกจะร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วและอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 3 องศา ภายในปี 2060

“AI ชี้โลกจะร้อนขึ้น 3°C ในปี 2060”

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Environmental Research Letters โดย IOP Publishing หรือ Institute of Physics Publishing ซึ่งเป็นสถาบันเผยแพร่บทความทางวิทยาศาสตร์เผยว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกกำหนดโดย ‘คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ’ (IPCC) นั้นมีแนวโน้มที่จะเกินเกณฑ์วิกฤตที่ 1.5°C ภายในปี 2040 หรือเร็วกว่านั้น 

และยังคาดการณ์อีกว่าภูมิภาคหลายแห่งที่เหลือก็มีแนวโน้มที่จะเกินเกณฑ์ 3.0°C ภายในปี 2060 ซึ่งเร็วกว่าที่ใคร ๆ คาดไว้มากโดยเฉพาะพื้นที่อย่าง เอเชียใต้ เมดิเตอร์เรเนียน ยุโรปกลาง และบางส่วนของทวีปแอฟริกา(บริเวณทางใต้ของทะเลทรายซะฮารา) ที่จะทำให้คนหลายล้านคนเสี่ยงชีวิตมากขึ้น ผลลัพธ์ทั้งหมดนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI 

“การวิจัยของเราเน้นย้ำถึงความสำคัญในการใช้เทคนิคด้าน AI เชิงนวัตกรรมเช่น การเรียนรู้แบบถ่ายโอนเพื่อไปใช้กับการสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อปรับปรุงและจำกัดการคาดการณ์ในระดับภูมิภาค และมอบข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ต่อได้สำหรับผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนทั่วโลก” เอลิซาเบธ บาร์นส์ (Elizabeth Barnes) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโดและหัวหน้าผู้จัดทำกล่าว 

ตัวเลขดังกล่าวเกิดจากการที่นักวิจัยได้ฝึกเครือข่ายระบบประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน ( convolutional neural network) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากระบบประสาทในสมองของมนุษย์ โดยมีจุดเด่นตรงที่สามารถรักษาความสัมพันธ์เชิงพื้นที่และเวลาในข้อมูลไว้ได้ ซึ่งทำให้มีความเก่งในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับกับการจดจำภาพการเปลี่ยนแปลง

ทีมวิจัยได้นำระบบดังกล่าวเรียนรู้ข้อมูลในภูมิภาคทั้งหมด 43 แห่งที่ถูกกำหนดโดย IPCC ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นต่างมีแบบจำลองสภาพอากาศที่ได้รับการฝึกฝนมาให้ทำนายการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในอนาคตโดยอิงตามภูมิภาคแทนการมองภาพรวมระดับโลก ทำให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในเฉพาะจุดมากขึ้น

โดยข้อมูลทั้งหมดในแต่ละภูมิภาคจะถูกคาดการณ์โดยครือข่ายระบบประสาทเทียมแบบคอนโวลูชันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเสริมด้วยข้อมูลจากการสังเกต และข้อมูลด้านอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมา พร้อมกับได้ทำนายอุณหภูมิไว้หลายระดับตั้งแต่ 1.5°C ถึง 3.0°C 

แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ จากทั้งหมด 43 ภูมิภาคจะมี 34 ภูมิภาคที่มีแนวโน้มว่าจะเกิน 1.5°C ภายในปี 2040 หรืออีกเพียง 16 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่ ‘ผลร้าย’ ยังไม่หยุด ทีมวิจัยยังพบอีกว่า 31 ใน 34 ภูมิภาคดังกล่าวมีเกณฑ์ที่จะเกิน 2.0°C ภายในปี 2040 เช่นเดียวกัน และอีก 26 ภูมิภาคในนั้นจะเกิน 3.0°C ภายในปี 2060

“สิ่งสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นไม่ใช่แค่เพียงการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ท้องถิ่นและภูมิภาคด้วย” โนอา ดิฟเฟินบอว์ (Diffenaugh) นักวิจัยด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และผู้เขียนงานวิจัยร่วม กล่าว “การจำกัดว่าแต่ละภูมิภาคจะถึงเกณฑ์ความร้อนเมื่อใดนั้น จะทำให้เราสามารถคาดการณ์เวลาของผลกระทบเฉพาะที่จะเกิดต่อสังคมและระบบนิเวศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” 

พร้อมเสริมว่า “ความท้าทายก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคอาจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากระบบสภาพอากาศมีการรบกวนในระดับพื้นที่เล็กมากกว่า และเนื่องจากกระบวนการต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และพื้นผิวโลกต่างก็สามารถสร้างความไม่แน่นอนได้ ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าภูมิภาคจะตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนในระดับโลกนี้อย่างไรกันแน่” 

การศึกษาเหล่านี้เน้นย้ำถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและแจ้งเตือนให้มีการรับมืออย่างเร่งด่วน โดยเน้นย้ำว่าแม้มนุษยชาติจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเป็น ‘ศูนย์’ ทั้งหมด ผลกระทบก็ยังคงจะเกิดขึ้นเนื่องจากยังมีก๊าซเรือนกระจกอยู่ในชั้นบรรยากาศจำนวนมาก 

หากโลกร้อนขึ้นไปถึงระดับ 3.0°C แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? 

อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างเช่น พายุหมุน เฮอริเคน ฝนตกหนัก อากาศแห้งแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม ระดับน้ำทะเล และอื่น ๆ รุนแรงขึ้นอย่างมาก โดยภาวะโลกร้อนได้กระตุ้นให้สิ่งเหล่านี้ทรงพลังและเกิดบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น 

ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนนับหลักพันล้านคนทั่วโลก พายุและเฮอริเคนจะทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของเรา ในขณะที่น้ำท่วมจะส่งผลต่อสุขภาพและคุกคามแหล่งน้ำดื่มให้เกิดการปนเปื้อน ส่วนภัยแล้งเองก็ทำให้อาหารของเราขาดแคลนโดยในปัจจุบันกาแฟและโกโก้เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว 

“เมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อนร่วมงานและผมได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่อระดับอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น” ไนเจล อาร์เนลล์ (Nigel Arnell) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ผู้อำนวยการสถาบันวอล์กเกอร์ มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าว

“เราพบว่า ตัวอย่างเช่นโอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ทั่วโลกเฉลี่ยต่อปี เพิ่มขึ้นจากประมาณ 5% ในช่วงปี 1981-2010 เป็นประมาณ 30% ที่อุณหภูมิ 1.5°C” แต่ที่น่าตกใจคือ “แต่ที่อุณหภูมิ 3.0°C จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 80%” ศาสตราจารย์อาร์เนลล์ ระบุ

ไม่เพียงเท่านั้นรายงานยังระบุอีกว่าการที่โลกร้อนเกิน 3.0°C ยังคาดว่าจะเกิดน้ำท่วมเพิ่มเกือบ 3 เท่าจากค่าเฉลี่ยทั่วโลก แม้จะยังมีความไม่แน่นอนของตัวเลขอยู่บ้างเนื่องจากสภาพอากาศเป็นระบบที่ซับซ้อนและมีตัวแปรมากมาย แต่ผลลัพธ์ทั้งหมดต่างให้ไปในทางเดียวกัน นั่นคือสิ่งเหล่านี้จะเกิดรุนแรงและบ่อยขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผลกระทบต่อตัวเราเอง 

ภาวะโลกร้อนทำให้เราทุกคนนอนหลับได้น้อยลงอย่างน้อย ๆ 44 ชั่วโมงต่อปีตามรายงานในปี 2024 จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮแกนในเดนมาร์ก ซึ่งประเทศที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากไม่มีเงินมากพอจะซื้อเครื่องปรับอากาศ 

อากาศร้อนดังกล่าวจะทำให้สุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจทุกข์ทรมาน และการนอนได้น้อยลงก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านความดัน หัวใจ รวมถึงสมองด้วยเช่นกัน ตามงานวิจัยในปี 2024 จากมหาวิทยาลัยคอนเลจลอนดอน เผยให้เห็นว่า เมื่อโลกร้อนขึ้นก็ทำให้สมองทำงานได้ย่ำแย่ลงอย่างมาก

“เรามีหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของสภาพอากาศบางอย่างต่อสมอง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองกับการติดเชื้อของระบบประสาท” สันเจย์ สิโสทิยา (Sanjay Sisodiya) ศาสตราจารย์ผู้เขียนรายงานกล่าว 

“อุณหภูมิตอนกลางคืนยิ่งอาจมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นตลอดทั้งคืน อาจรบกวนการนอนหลับได้ และการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพก็รู้กันดีว่าทำให้สุขภาพหลายอย่างของสมองแย่ลง” เธอเสริม 

ทั้งภัยแล้ง สิ่งแวดล้อมย่ำแย่ พายุพัดถล่ม คลื่นความร้อน น้ำท่วม และปัญหาสุขภาพ ทั้งหมดนี้ต่างเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระบบใหญ่ของโลกไปถึงระบบเล็กในร่างกายของเราอย่างคาดไม่ถึง เหตุการณ์โควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงสิ่งเล็ก ๆ ที่สามารถส่งผลกระทบไปยังภาพใหญ่ได้อย่างร้ายแรง และโลกของ 3.0°C จะกลายเป็นสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคยอีกต่อไป

“หากการที่ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบทางกายภาพเช่น ธารน้ำแข็งละลายหรือสภาพอากาศเลวร้าย มักจะไม่เป็นเส้นตรง ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบต่อสังคม ผู้คน กับเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะไม่เป็นเส้นตรงอย่างมาก” ศาสตราจารย์อาร์เนลล์ กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://iopscience.iop.org

https://sustainability.stanford.edu

https://www.eurekalert.org

https://www.thelancet.com

https://www.cell.com

https://theconversation.com

https://www.sciencedaily.com


อ่านเพิ่มเติม : รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ : การค้นพบกะท่างน้ำชนิดใหม่

ที่อาจหายไปเพราะภาวะโลกร้อน

Recommend