“ทำฟาร์มวัวด้วยสาหร่ายทะเลช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้เกือบ 40%”
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหลายคนให้ความสำคัญกับลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญในปรากฏการณ์นี้ อย่างไรก็ตามยังมีอีกก๊าซหนึ่งที่มีความรุนแรงมากกว่าคาร์บอนฯ และมักไม่ค่อยมีใครสนใจมากนักนั่นคือ ‘มีเทน’
มีเทน (methane) เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกับคาร์บอนไดออกไซด์ ทว่ากลับมีประสิทธิภาพมากกว่าถึง 28 เท่าและยังถูกปล่อยมากเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เพียงเท่านั้นสัดส่วนการปล่อยมีเทนทั่วโลกนั้นมาจากอาหารของเราเอง
การเรอ (ปล่อยมีเทน 97%) และการผายลมของปศุสัตว์โดยเฉพาะวัวนั้นก่อให้เกิดก๊าซมีเทนมากกว่าที่คนทั่วไปคิดมากโดยราวร้อยละ 14.5 ทั่วโลกมากจากสาเหตุนี้ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีมาตรการควบคุมก๊าซมีเทนดังกล่าวแล้ว เช่นในเดนมาร์กที่เป็นประเทศแรกที่เก็บภาษีจากวัว โดยเจ้าของฟาร์มต้องจ่ายประมาณ 1,460 บาทต่อก๊าซมีเทน 1 ตันที่ถูกปล่อยออกมาจากปศุสัตว์รวมทั้งหมูและวัว
ขณะเดียวกัน การที่วัวกินหญ้าเป็นอาหารปกตินั้นยังมีแนวโน้มที่จะสร้างก๊าซมีเทนมากกว่าวัวที่เลี้ยงในโรงเรือน เนื่องจากวัวเหล่านั้นได้รับไฟเบอร์จากหญ้ามากกว่า ซึ่งอาหารเหล่านี้ทำให้วัวมีแก๊สในท้องมากกว่าปกติ แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไข้ได้ งานวิจัยก่อนหน้าเผยให้เห็นว่าการใช้สาหร่ายทะเลเลี้ยงวัวจะช่วยลดมีเทนได้มาถึง 82 เปอร์เซ็น
และการนำไปให้วัวนมกินก็ช่วยลดได้มากถึงร้อยละ 50 เช่นเดียวกัน งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร PNAS ก็ได้ยืนยันผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การใช้สาหร่ายทะเลเป็นอาหารให้กับ ‘วัวเนื้อที่กินหญ้า’ ในสหรัฐอเมริกาที่มีวัวนมมากกว่า 9 ล้านตัวและวัวเนื้ออีกกว่า 64 ล้านตัว
“วัวเนื้อใช้เวลาเพียงประมาณ 3 เดือนในฟาร์ม และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการกินหญ้าในทุ่งหญ้าและผลิตก๊าซมีเทน” เออร์เมียส เคเบรียบ (Ermias Kebreab) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยและนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าว
“เราจำเป็นต้องทำให้สารปรุงแต่งจากสาหร่ายทะเลนี้ หรือสารปรุงแต่งอาหารใด ๆ เข้าถึงวัวที่กินหญ้าได้ง่ายขึ้น เพื่อทำให้การเลี้ยงวัวเนื้อมีความยั่งยืนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการเนื้อสัตว์ทั่วโลกได้
เจ้าวัวที่กินเก่ง
ในการศึกษาใหม่นี้ทีมวิจัยได้ใช้วัวพันธุ์แองกัสและวากิวเป็นกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นวัวตัวผู้ที่ทำหมันแล้ว 24 ตัวที่เลี้ยงไว้เพื่อกินเนื้อเป็นหลักออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับอาหารเสริมสาหร่าย ส่วนอีกกลุ่มเป็นอาหารปกติ โดยมีระยะเวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์
นักวิทยาศาสตร์ปล่อยให้วัวเหล่านี้กินหญ้าตามปกติ แต่กลุ่มทดลองจะได้กินอาหารเสริมจากสาหร่ายเข้าไปด้วย ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ วัวเหล่านั้นปล่อยมีเทนน้อยลงมากกว่าร้อยละ 37.7 เมื่อเทียบกับวัวที่ไม่ได้กินสาหร่ายทะเล
“เมื่อพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมอย่างมากของปศุสัตว์เคี้ยวเอื้องต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก…งานวิจัยนี้เสนอแนวโน้มที่ดีในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รายงานระบ
ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มแต่ละคนมีปัจจัยในการให้อาหารไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่มักให้อาหารแบบเม็ดแก่วัวเพิ่มเติม ซึ่งมีเกลือและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตเสริมเข้าไปด้วย นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าสาหร่ายทะเลสามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในส่วนประกอบได้
“วิธีนี้ช่วยให้สัตว์กินหญ้าสามารถกินสาหร่ายทะเลเป็นอาหารเสริมได้ง่ายขึ้น” เคเบรียบ กล่าว “เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์สามารถนำสาหร่ายทะเลมาให้วัวกินได้”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักวิจัยจำนวนมากพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับการเลี้ยงวัว โดยหวังว่าจะสามารถระบุปริมาณสาหร่ายทะเลในอาหารเสริมที่มีประสิทธิภาพลดก๊าซมีเทนได้มากที่สุดเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น
“เป้าหมายสุดท้ายและสำคัญที่สุดของเราก็คือการคิดค้นกลยุทธ์บางอย่างสำหรับผู้ผลิต” จูเลียนา แรนเชส (Juliana Ranches) นักวิจัยด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน กล่าว “เพื่อบอกว่า ‘เฮ้ นี่คือสาหร่ายทะเล มันได้ผลจริง ๆ คุณต้องให้อาหารมันในปริมาณนี้ นี่คือวิธีที่เราจะแนะนำให้คุณให้อาหารวัว”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.smithsonianmag.com