บราซิลกำลังสร้างทางหลวงยาว 8 ไมล์ผ่านป่าฝน แอมะซอน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมก่อนการประชุม COP30 ด้านสภาพอากาศ
ป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพภูมิอากาศโลก ถึงเช่นนั้นเมื่อเร็วๆนี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลบราซิลเตรียมจะสร้างทางหลวงสายใหม่ ซึ่งต้องตัดผ่านป่าแอมะซอน เพื่อใช้สำหรับการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 30 หรือ COP30 ที่จะจัดขึ้นในเมืองเบเลง ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 10 – 21 พฤศจิกายน 2025
รายงานข่าวระบุว่า ทางหลวง 4 เลน สายใหม่ ระยะทางประมาณ 8 ไมล์ที่จะเกิดขึ้นนี้ ได้ตัดผ่านป่าฝนแอมะซอนที่ได้รับการคุ้มครองพื้นที่นับหมื่นเอเคอร์ โดยที่เหตุผลของการก่อสร้างนี้คือการบรรเทาปัญหาการจราจรในเมืองซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมที่จะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50,000 คน
แน่นอนว่า เรื่องทั้งหมดได้สร้างความไม่พอใจ โดยเฉพาะคนในพื้นที่และนักอนุรักษ์ได้ส่งเสียงคัดค้านโปรเจคนี้ นั่นเพราะแอมะซอนมีบทบาทสำคัญในการดูดซับคาร์บอนให้โลกและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และหลายคนบอกว่าการตัดไม้ทำลายป่าครั้งนี้ขัดแย้งกับจุดประสงค์ของการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ ถึงเช่นนั้น รัฐบาลก็อ้างถึงความจำเป็นและยืนยันว่าโครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรขาเข้าและขาออกจากเบเลง สถานที่จัดการประชุมได้
แอดเลอร์ ซิลเวรา เลขาธิการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลปกป้องโครงการนี้ว่าเป็น การปรับปรุงการเดินทาง เป็นการแทรกแซงที่สำคัญในด้านการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะมีทางข้ามสัตว์ให้สัตว์ผ่านไปมา ทางจักรยาน และไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่บริเวณใกล้เคียงโรงแรมใหม่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และท่าเรือกำลังได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เรือสำราญสามารถเข้าเทียบท่าได้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า รัฐบาลกลางบราซิลลงทุนมากกว่า 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (62 ล้านปอนด์) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินจาก สวนสาธารณะในเมืองแห่งใหม่ขนาด 500,000 ตารางเมตร การสร้างพื้นที่สีเขียว ร้านอาหาร สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับประชาชนใช้ในภายหลัง และผู้ประกอบการบางรายในตลาดกลางแจ้งขนาดใหญ่ของเมือง เห็นด้วยว่าการพัฒนานี้จะนำโอกาสมาสู่เมือง
อย่างไรก็ดี เคลาดิโอ เวเรเคเต (Claudio Verequete) ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากถนนประมาณ 200 เมตร เขาเคยหารายได้จากการเก็บผลอาซาอิจากต้นไม้ที่เคยปลูกในพื้นที่นี้ แสดงความกังวลว่า การสร้างถนนสายนี้จะทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวสามารถเข้าถึงธุรกิจต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
“ต้นไม้ที่เก็บเกี่ยวอาซาอิได้ถูกตัดลง ทุกอย่างถูกทำลายไปหมด” เขากล่าวพร้อมชี้ไปที่บริเวณโล่ง
“ผลผลิตของเราถูกตัดลงแล้ว เราไม่มีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวอีกต่อไป” เขากล่าว
สำหรับการประชุม COP 30 นั้น คือการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 30 ที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศบราซิล ซึ่งก่อนที่จะมีการประชุมทำให้รัฐบาลได้เตรียมการเพื่อรองรับผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแนวทาง บรรเทาปัญหาการจราจรที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสุดยอด จึงมีการสร้างทางหลวงสี่เลนสายใหม่ที่เรียกว่า Avenida Liberdade ซึ่งโครงการนี้ได้รับคำวิจารณ์จากผู้อยู่อาศัยและนักอนุรักษ์ในบริเวณใกล้เคียงถึงการทำลายป่าฝนแอมะซอน
Photo by Tim Laman, Nat Geo Image Collection
ที่มา
https://economictimes.indiatimes.com