เกาะกลางทะเลน้อยกับแนวทางแก้ปัญหาอุทกภัยและทะเลน้อยตื้นเขิน ด้วยการดูดเลนกลางสร้างเป็นเกาะกลางห่างจากฝั่ง 1 กิโลเมตร เพื่อการท่องเที่ยวทะเลน้อย โครงการนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?
เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน่วยงานท้องถิ่นได้นำเสนอโครงการปรับปรุงทะเลน้อยเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและทะเลน้อยตื้นเขิน ด้วยการดูดเลนกลางทะเล สร้างเป็นเกาะกลางห่างจากฝั่ง 1 กิโลเมตร รวมถึงหวังว่าจะช่วยดึงดูดเรื่องการท่องเที่ยวให้กับทะเลน้อยได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ โครงการเกาะกลางทะเลน้อย ได้ถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ภาคใต้ โดยหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งที่ยังไม่ได้มีการปรึกษากับประชาชนในพื้นที่ และยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเลย จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ จะมีการแสดงความคิดเห็นต่อต้านเป็นจำนวนมาก ทั้งห่วงความเสียหายของพื้นที่แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites) สำคัญอย่างทะเลน้อย การตั้งข้อสงสัยเรื่องปัญหาอุทกภัยที่ไม่ได้หนักหนาเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ การไม่ได้เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อมที่เสียไปอาจไม่คุ้มกัน รวมถึงอาจส่งกระทบกับประชาชนโดยรอบในระยะยาว และ หากไม่มีการพิจารณาให้ดีอาจเสียเงินภาษีโดยเปล่าประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาการสร้างสิ่งก่อสร้างแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศที่มีการดำเนินการโดยหน่วยงานท้องถิ่น ก็มีการทุจริตคอรัปชั่นจำนวนมาก จนสุดท้ายสิ่งก่อสร้างหลายแห่งก็ถูกทิ้งร้าง เป็นต้น
แหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลกกำลังเดินหน้าสู่หายนะ
รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ อดีตอาจารย์ประจำสาขาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมพืชบนสันดอนทรายชายหาดในภาคใต้ของประเทศไทยแสดงความเห็นถึงการขุดเกาะกลางทะเลน้อยว่า จะสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศของทะเลน้อย เพราะแต่เดิมทะเลน้อยคือพื้นที่รองรับตะกอนแห่งสำคัญของภาคใต้ มีความละเอียดอ่อน การจะสร้างหรือทำอะไรในพื้นที่ต้องมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่งเห็นได้ว่าผู้นำเสนอโครงการนี้ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
สำหรับปัญหาของทะเลน้อยที่ผ่านมาคือเรื่องของการบุกรุกของเอเลียนสปีชีส์ทั้งพืชและสัตว์ ทำให้พืชพื้นถิ่นและสัตว์พื้นถิ่นหลายชนิดอยู่ไม่ได้ โดยเกิดจากการที่ตะกอนดินถูกขุดทำให้นํ้าขุ่นขึ้น ค่าความเป็นกรดเป็นด่างเปลี่ยนแปลง พืชนํ้าที่ตายทับถม และแสงแดดที่ส่องไม่ถึงพื้นดิน ล้วนส่งผลให้ระบบนิเวศของทะเลน้อยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม การอ้างถึงข้อมูลเรื่องทะเลน้อยตื้นเขินเป็นความเข้าใจที่ผิด ทะเลน้อยมีนํ้าตื้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นพื้นที่ทะเลสาบนํ้าจืดขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งแต่เดิมเคยมีแต่นํ้าจืด ทว่าตอนนี้มีนํ้าเค็มรุกลํ้าเข้ามา จึงเกิดจากการขุดลอกคลองที่ตรง กว้าง ลึก ที่ทำลายไม้ป่าริมน้ำ ทำให้สูญเสียน้ำจากป่าพรุ เมื่อระบบไหลเวียนของนํ้าเปลี่ยนไปย่อมส่งผลกระทบความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลน้อยโดยตรง
ส่วนเรื่องอุทกภัยก็ไม่ใช่ปัญหาของทะเลน้อย มีบางพื้นที่มีนํ้าท่วมขัง แต่ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ควายนํ้าตาย นั่นเพราะควายนํ้าตายจากการขาดอาหาร ซึ่งก็มาจากคุณภาพนํ้าที่แย่ลง ทำให้อาหารของควายน้อยลง จากพื้นที่บลูคาร์บอนโบราณ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชนํ้าหายากหลากหลายสายพันธุ์ น่าเสียดายปัจจุบันทะเลน้อยเต็มไปด้วยเอเลียนสปีชีส์ โดยเฉพาะ บัวแดง ผักตบชวา จอกหูหนู กระจูด ฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ทะเลน้อย กำลังเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ และอาจเดินหน้าสู่หายนะอย่างแท้จริง หากมีการสร้างเกาะลอยจากการดูดเลนกลางทะเล ก็จะยิ่งเป็นการซํ้าเติมปัญหานํ้ากับดินในทะเลน้อย สิ่งเหล่านี้จึงมีแต่จะสร้างความเสื่อมสลายให้กับแหล่งนํ้าธรรมชาติที่มีคุณค่าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แรมซาร์ไซต์ที่อ่อนไหว ควรค่าแก่การอนุรักษ์
เบญจวรรณ เพ็งหนู ผู้ประสานงานสมาคมรักษ์ทะเลไทย พื้นที่ทะเลสาบสงขลา กล่าวถึงโครงการสร้างเกาะลอยบริเวณทะเลน้อยว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวอย่างยิ่ง เนื่องจากทะเลน้อยคือแรมซาร์ไซต์สำคัญของภูมิภาคที่เป็นพื้นที่อ่อนไหว ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งโครงการนี้ทราบว่าถูกส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีโดยหน่วยงานท้องถิ่นที่คิดกันขึ้นมาเอง
ขณะเดียวกันตนเชื่อว่าโครงการนี้เกิดขึ้นได้อย่าง เพราะคนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้เรื่องนี้เลย อีกทั้งยังไม่มีการศึกษา-การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างการทำ EIA และ EHIA เลย ซึ่งการศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
นอกจากนี้ ยังต้องมีการสอบถามความเห็นของชาวบ้านในบริเวณรอบๆ และชาวประมงในพื้นที่ก่อน พวกเขาคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ การจะมองแต่ประโยชน์เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวจึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในทะเลน้อยก็อาจเชื่อมโยงไปถึงทะเลสาบสงขลาได้ในอนาคต
ทะเลน้อยไม่ได้ต้องการแลนด์มาร์ค เสน่ห์คือการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ
นายฉิ้น บัวบาน ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการทรัพยากรทรงทะเลและชายฝั่งจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า หากโครงการสร้างเกาะลอยในทะเลน้อยเกิดขึ้นจะมีประชาชนในพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เนื่องจากตะกอนจากการขุดและการสร้างเกาะขึ้นมาขวางกระแสนํ้าอาจสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ดังนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเกาะลอยเพื่อการท่องเที่ยว ส่วตัวมองว่าคนคิดโครงการนี้ มีความคิดที่ดี แต่วิสัยทัศน์แย่ ขาดความรับผิดชอบ เกาะลอยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานํ้าท่วม เพราะทะเลน้อยเป็นพื้นที่รับนํ้าเป็นปกติทุกปี ก่อนที่นํ้าจะไหลไปสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งในอดีตพื้นที่ชุ่มนํ้าแห่งนี้เคยเป็นทะเลสาบที่มีความสวยงาม ไร้วัชพืช มีหาดทรายละเอียด ส่วนพรุควนขี้เสียนพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกของประเทศไทยในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ในเขตอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ก็เคยเป็นทั้งแหล่งอาหารของท้องถิ่นและที่อยู่อาศัยของนกอพยพหลายสายพันธุ์ แต่ทุกวันนี้มีปัญหากระแสนํ้าเค็มเข้ามาและมีปัญหาคุณภาพดิน ทรายกลายเป็นดินเลนจากการทับถมกันของเศษซากพืชจำนวนมาก พืชกับสัตว์ท้องถิ่นก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ สวนทางกับเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เพิ่มมากขึ้น โชคดีที่ยังไม่พบปลาหมอคางดำในทะเลน้อย

อนึ่ง ทะเลน้อย ยังมีปัญหาได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์อีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น การปล่อยนํ้าเสียของครัวเรือนโดยรอบ การเปลี่ยนทางนํ้าเพื่อทำนา การปลูกต้นยูคาลิปตัสในบริเวณใกล้เคียง และการทำประมงของชาวบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาจัดการ ทะเลน้อยจึงไม่ได้ต้องการแลนด์มาร์ค และโครงการเพื่อการท่องเที่ยวที่ถูกเสนอมาครั้งนี้อาจเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับทะเลน้อยและคนในพื้นที่
สิ่งที่ตนอยากให้เกิดขึ้นในพื้นที่คือ มีหน่วยงานเข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศในทะเลน้อยอย่างจริงจัง เพื่อให้ในพื้นที่มีพืชนํ้าที่เหมาะสมและมีปริมาณที่พอดี รวมทั้งควรมีการจัดโซนต่างๆ ในทะเลน้อยให้เป็นระเบียบทั้ง การเข้มงวดด้านกฎหมายในพื้นที่อนุรักษ์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ควบคุมอุปกรณ์ในการทำประมงท้องถิ่น ทั้งหมดนี้ต้องการหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนของแรมซาร์ไซต์แห่งนี้
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์