“31 มีนาคม 2568 ขณะที่สถานการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานครเริ่มดีขึ้น”
แต่ในเวลาเดียวกันนั้นทางภาคเหนือของประเทศไทยกลับยังคงเผชิญกับไฟป่าที่โหมกระหน่ำมาตั้งแต่ต้นเดือน และสถานการณ์ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน
ไฟป่ารุนแรงตั้งแต่ต้นเดือน จุดความร้อนพุ่งไม่หยุด
ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2568 เปลวไฟได้เริ่มลุกลามตามแนวเขาและผืนป่าของภาคเหนืออย่างเงียบงัน ในหลายจังหวัดกลุ่มควันบาง ๆ เริ่มลอยขึ้นจากแนวสันเขากลายเป็นสีขาวขุ่นวางตัวแขวนตัวอยู่เหนือแนวไม้แห้ง ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นหมอกควันปกคลุมทั้งหุบเขา
ข้อมูลจากดาวเทียมของ GISTDA ระบุชัดว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจุดใดจุดหนึ่ง แต่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันในแทบทุกจังหวัดของภาคเหนือ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมเพียงวันเดียว มีการตรวจพบจุดความร้อนรวม 1,368 จุดครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดโดยจังหวัดลำปางมีมากที่สุดถึง 350 จุด รองลงมาคือลำพูน 185 จุด และพะเยา 161 จุดตามลำดับ
ในช่วงนี้ มีการรายงานว่า ไฟบางส่วนได้ลุกลามเข้าไปในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ชุมชนใกล้ชายแดนหลายแห่ง โดยเฉพาะใน อำเภออมก๋อย และ อำเภอฮอด ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคาดการณ์กันว่าต้นเพลิงมาจากการเผาไร่ข้าวโพดและการลักลอบเผาป่า และด้วยสภาพภูมิประเทศบริเวณนั้นที่เป็นภูเขาสูง ชัน และแห้งแล้ง ทำให้ควบคุมไฟได้ยาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิธีเดินเท้าเข้าไปดับไฟ และทำแนวกันไฟอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน
พอเข้าสู่ช่วงปลายเดือน สถานการณ์กลับยิ่งตึงเครียดมากขึ้น วันที่ 27 มีนาคม GISTDA ได้รายงานข้อมูลจากดาวเทียมอีกครั้งว่า จุดความร้อนทั่วประเทศพุ่งขึ้นถึง 2,950 จุดภายในวันเดียวและในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือที่มีสภาพแห้งแล้งสุดขีด

หากมองภาพรวมทั้งเดือนระหว่างวันที่ 2-30 มีนาคม ประเทศไทยมีจุดความร้อนสะสมแล้วมากกว่า 38,151 จุดโดย 5 จังหวัดที่ถูกระบุว่าหนักที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน และเชียงใหม่
เฉพาะแม่ฮ่องสอนจังหวัดเดียว ก็พบจุดไฟป่าสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 29 มีนาคม 2568 ไปแล้วกว่า 4,064 จุด เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2567 ที่มีพบจุดไฟป่า 8,382 จุด สะท้อนว่าแม้ปีนี้จะมีความพยายามในการควบคุม แต่ไฟป่าก็ยังคงรุนแรงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าทางจังหวัดจะตั้งเป้าลดจุดความร้อนลงให้ได้ถึง 50% ก็ตาม
ความเสียหายที่เกิดขึ้น
ไฟป่าขนาดใหญ่หลายจุดได้สร้างความเสียหายแก่ผืนป่าและส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคเหนือ ตัวอย่างเช่น ไฟป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อำเภองาว จังหวัดลำปาง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 100 ไร่
ขณะเดียวกันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดไฟป่าบริเวณบ้านห้วยเดื่อ อำเภอเมือง ใกล้พื้นที่ชุมชนและบ่อขยะของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ทำให้ป่าบริเวณนั้นเสียหายไปราว 80 ไร่ นอกจากนี้ตลอดเดือนมีนาคม พื้นที่ป่าหลายพันไร่ในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคเหนือต่างได้รับผลกระทบจากไฟป่าทั้งสิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานต้องระดมกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำแนวกันไฟ การระดมเฮลิคอปเตอร์โปรยน้ำ รวมถึงการทำฝนหลวงในบางพื้นที่ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของไฟป่าและลดปริมาณหมอกควัน
นอกจากต้นไม้และพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายแล้ว ไฟป่ายังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ป่า ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งได้รายงานการพบซากสัตว์เล็ก เช่น กระต่ายป่าและสัตว์เลื้อยคลาน ที่ไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ได้ทัน ขณะเดียวกันสัตว์ขนาดใหญ่ อย่างเก้ง หรือหมูป่า ก็มีแนวโน้มหลัดหลงออกมาจากแนวป่าและถูกรถชนบนถนนที่อยู่ติดกับแนวไฟ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในฤดูไฟป่าของภาคเหนือทุกปี และครั้งนี้มันก็กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
หนึ่งในเหตุการณ์อันน่าเศร้าของปีนี้ ถูกถ่ายทอดลงบน Fan Page Facebook ของอุทยานแห่งชาติดอยจง เป็นภาพของแม่นกยูงกำลังพยายามปกป้องไข่จากเปลวเพลิง พร้อมข้อความว่า
“เมื่อสัตว์ป่ากลายเป็นเหยื่อจากไฟป่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยจง กำลังปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่าอยู่นั้น ก็ได้พบกับคุณแม่ตัวหนึ่ง เป็นนกยูงเพศเมียที่กำลังกกไข่ พยายามปกป้องลูกน้อยให้พ้นอันตรายจากเปลวเพลิงที่กำลังโหมเข้าใส่ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงได้ช่วยกันควบคุมไฟ และช่วยเหลือแม่นกยูงตัวนี้และลูก ๆ ให้รอดพ้นจากความตายในครั้งนี้ได้”
โดยผลกระทบจากไฟป่านี้ทำให้แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย ในบางกรณีที่เกิดควันไฟมาก ๆ อาจทำให้สัตว์ป่าเกิดความสับสน สายตาพร่ามัว หายใจลำบาก ยิ่งในสัตว์บางตัวที่โดนไฟไหม้หรือโดนไฟคลอก ทำให้เกิดบาดแผลรุนแรง จนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าหรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในนั้น ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา ที่แทบทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นมาจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะการจุดไฟเผาเศษวัชพืชในพื้นที่ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับแนวป่า แล้วไฟลุกลามเข้าไปในเขตป่าธรรมชาติจนควบคุมไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ชาวบ้านบางส่วนลักลอบเข้าไปจุดไฟในป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถพบเห็นได้ทุกปีในบางพื้นที่ แม้จะมีคำสั่งห้ามและบทลงโทษที่ชัดเจนแล้วก็ตาม
ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม ระบุว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดฐานเผาป่าไปแล้ว 63 คดีจับกุมผู้ต้องหาได้ 21 รายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เกิดไฟไหม้เสียหายรวมประมาณ 2,772 ไร่ ขณะที่กรมป่าไม้ได้ดำเนินคดีเพิ่มเติมในเขตป่าสงวนแห่งชาติอีก 94 คดี (พื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 6,044 ไร่) เพื่อเป็นการลงโทษและปรามไม่ให้มีการเผาป่าเพิ่มขึ้น (โดยผู้กระทำผิดอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปีและปรับสูงสุดถึง 2 ล้านบาท ตามกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน)
หมอกควันและPM 2.5 : ผลกระทบที่ตามมา
ผลที่ตามมาอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ จากไฟป่าที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ คือระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่พุ่งสูงจนอยู่ในเกณฑ์อันตรายต่อสุขภาพ ในช่วงเช้าวันที่ 31 มีนาคม 2568 ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CCDC) รายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ที่วัดได้เวลา 8:00 น. ว่ามีหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐาน โดยสถานีอนามัยบ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว วัดค่า PM 2.5 ได้สูงถึง 625 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ IQAir ที่จัดอันดับคุณภาพอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลก ได้จัดอันดับให้เชียงใหม่เป็นอันดับ 4 ของเมืองที่มีคุณภาพแย่ที่สุดในโลก และยังมีเมืองอื่นของประเทศไทยติดอันดับโลกอีกถึง 6 เมือง ในเช้าวันเดียวกัน
10 อันดับแรก ค่าฝุ่น พื้นที่ภาคเหนือ รุนแรงระดับสีแดง-ม่วง
- อันดับ 1 เวียงเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 242
- อันดับ 2 แม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 227
- อันดับ 3 ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 193
- อันดับ 4 แม่ริม จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 182
- อันดับ 5 เชียงราย ค่าฝุ่น 180
- อันดับ 6 สันทราย จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 170
- อันดับ 7 ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 169
- อันดับ 8 เทศบาลนครเชียงใหม่ ค่าฝุ่น 166
- อันดับ 9 อำเภอเมืองพะเยา ค่าฝุ่น 166
- อันดับ 10 หางดง ค่าฝุ่น 163
ค่าฝุ่นระดับนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากที่เราจะเห็นจากข่าวอยู่บ่อยครั้ง ว่าโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือหลายแห่ง รายงานว่ามีผู้ป่วยเข้ารับรักษาอาการหอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง และเจ็บคอ เพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่องขณะที่บางชุมชนที่อยู่ใกล้แนวป่าชาวบ้านต้องอพยพชั่วคราว หรือไม่ก็ต้องลงทุนติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ หรือหาหน้ากาก n95 มาใช้เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
อ้างอิง
https://www.chiangmainews.co.th