ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับออกซิเจนในทะเลสาบทั่วโลกกำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับออกซิเจนในทะเลสาบทั่วโลกกำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

“ระดับออกซิเจนในทะเลสาบทั่วโลกกำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง”

ในการศึกษาใหม่ล่าสุดที่นำโดยศาสตราจารย์ชือ คุน (Shi Kun) และศาสตราจารย์จาง หยุนหลิน (Zhang Yunlin) จากสถาบันภูมิศาสตร์และธรณีวิทยาหนานจิง ประเทศจีน ได้สำรวจผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อทะเลสาบมากกว่า 1,500 แห่งทั่วโลกและพบว่า ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว

“พบการลดลงอย่างกว้างของปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบในเขตอบอุ่น และมหาสมุทร แต่ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อภาวะขาดออกซิเจนในทะเลสาบทั่วโลกนั้นยังคงไม่ชัดเจน” ทีมวิจัยระบุ 

โดยทั่วไปแล้วออกซิเจนในแหล่งน้ำนั้นเป็นที่ต้องการของสิ่งมีชีวิตจำนวนากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นปลา พืช และแม้แต่สัตว์เล็ก ๆ อย่างแพลงก์ตอนเองก็ต้องการออกซิเจน ทำให้ระบบนิเวศเหล่านั้นจำเป็นต้องมีระดับออกซิเจน ‘ขั้นต่ำ’ เพื่อให้ทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์เริ่มสังเกตเห็นว่ามหาสมุทรของโลกกำลังสูญเสียออกซิเจนอย่างน่ากังวล หรือกล่าวอีกอย่างคือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ (dissolved oxygen; DO) นั้นละลายได้น้อยลง ดังนั้นพวกเขาจึงสงสัยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำจืดอื่น ๆ บนโลกด้วยหรือไม่?

ดาวเทียม ความร้อน และออกซิเจน

ทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน จึงได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับข้อมูลทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศเพื่อสร้างสถานการณ์ที่เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ใดบ้างที่จะนำไปสู่การสูญเสียออกซิเจนเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ สิ่งที่พวกเขาพบนั้นมันกำลังเกิดขึ้นแล้ว 

“(เราใช้)ภาพจากดาวเทียมและปัจจัยทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำบนพื้นผิวขึ้นมาใหม่ และวัดปริมาณการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนที่ละลายน้ำในทะเลสาบ 15,535 แห่งตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2023 การวิเคราะห์ของเราบ่งชี้ว่ามีการขาดแคลนออกซิเจนอย่างต่อเนื่องในทะเลสาบที่ศึกษาร้อยละ 83” ทีมวิจัยเขียน

โดยรวมแล้วรายงานระบุว่าทะเลสาบทั่วโลกกำลังสูญเสียออกซิเจนเฉลี่ย −0.049 มิลลิกรัมต่อลิตรต่อทศวรรษ ซึ่งเร็วกว่าที่เกิดขึ้นในแม่น้ำและมหาสมุทรอื่น ๆ  และหากแนวโน้มวิกฤตสภาพอากาศยังคงดำเนินต่อไปเช่นในปัจจุบัน ภายในสิ้นศตวรรษนี้ทีมวิจัยคาดว่าปริมาณ DO ในทะเลสาบทั่วโลกจะลดลง0.41 มิลลิกรัมต่อลิตร และอาจมากถึง 0.86 มิลลิกรัมต่อลิตร

สาเหตุนั้นเนื่องมาจาก ‘ความร้อน’ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทุกพื้นที่ในโลกต่างเผชิญคลื่นความร้อนบ่อยครั้งขึ้น โดย 1.2 วันต่อปีในแอฟริกา 0.7 วันต่อปีในเอเชีย 0.6 วันต่อปีในยุโรป 0.5 วันต่อปีในอเมริกาเหนือ 1.4 วันต่อปีในโอเชียเนีย และ 0.6 วันต่อปีในอเมริกาใต้

พร้อมเสริมว่าปัจจัยด้านความร้อนนี้เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของระดับออกซิเจนในทะเลสาบถึง 55% และหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปอีก ท้ายที่สุดทะเลสาบต่าง ๆ ของโลกอาจมีออกซิเจนน้อยลงถึง 9% ภายในสิ้นศตวรรษนี้

ผลกระทบวงกว้าง

สิ่งแรกที่จะได้รับผลกระทบก็คือสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศดังกล่าว ตั้งแต่การสืบพันธุ์ การหาอาหาร และที่รุนแรงที่สุดก็คือการเสียชีวิต เนื่องจากการขาดออกซิเจนอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ ‘พื้นที่แห่งความตาย’ (Dead Zone) ได้ สิ่งนี้จะทำให้สิ่งมีชีวิตทุกขนาดได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันชุมชนในพื้นที่ที่พึ่งพาทะเลสาบก็จะสัมผัสได้ว่าคุณภาพน้ำลดลงจนอาจถึงขั้นไม่สามารถนำมาอุปโภคหรือบริโภคได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านการประมงและการท่องเที่ยว 

“ระดับออกซิเจนละลายน้ำที่ต่ำจะจะส่งต่อกระบวนการทางชีวภาพโดยลดอัตราการอยู่รอดและการเติบโต พร้อมกับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตแต่ละตัว” ทีมวิจัยระบุ “การได้รับออกซิเจนในปริมาณต่ำซ้ำ ๆ ก็อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ที่อ่อนไหว สิ่งมีชีวิตล้มตาย และการประมงเชิงพาณิชย์ที่ล้มเหลว” 

นักวิจัยเน้นย้ำว่ายังมีความหวังที่จะบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดในระดับเล็กเช่นการห้ามขยะที่ทิ้งตามแม่น้ำ การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมยิ่งขึ้น และการบำบัดน้ำเสีย ไปจนถึงระดับใหญ่เช่นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งเหล่านี้จะช่วยปกป้องแหล่งน้ำของเราทุกคนได้

“ผลการวิจัยของเราได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในอนาคตเพื่อบรรเทาผลกระทบของภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะผลกระทบเชิงลบของคลื่นความร้อนที่รุนแรงต่อภาวะขาดออกซิเจนในทะเลสาบทั่วโลก” ทีมวิจัย กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.science.org

https://www.sciencealert.com

https://www.earth.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทย์ฯ เผยภาวะโลกร้อนสร้างผลกระทบต่อลมบนโลก

Recommend