“ในแต่ละปี ประเทศไทยผลิตขยะมูลฝอยมากกว่า 27 ล้านตัน
และเกินกว่าครึ่งในนั้นเป็น ‘ขยะอาหาร’ ที่หลายคนมองว่าไร้ค่า
และเลือกที่จะทิ้งลงถังอย่างไม่ใยดี”
แต่คุณทวีศักดิ์ อ่องเอี่ยม เกษตรกรจากบางกะเจ้าฟาร์ม ไม่คิดอย่างนั้น เขาหยิบเอาความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่มีอยู่ มาประยุกต์ใช้แปรเปลี่ยนขยะอาหารในฟาร์มให้กลายเป็นปุ๋ย ด้วยการประดิษฐ์เครื่องย่อยขยะอาหารขึ้นมาจากศูนย์
แม้จะต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง แต่สุดท้ายเขาก็สามารถพัฒนาเครื่องย่อยขยะอาหารให้กลายเป็น ‘ชูชก’—เครื่องหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้งานง่าย ประหยัดพลังงาน ไม่ปล่อยก๊าซมีเทน และที่สำคัญคือสามารถย่นระยะเวลาการย่อยขยะอาหารจากหลายเดือนเหลือเพียงหนึ่งวัน
National Geographic ภาษาไทย ได้พูดคุยกับคุณทวีศักดิ์ถึงเบื้องหลังของเครื่องหมักปุ๋ยนี้ และพบว่าสิ่งที่น่าสนใจ ไม่ได้มีแค่เรื่องเทคนิคหรือกลไกการทำงาน แต่ยังรวมถึงจุดเริ่มต้น ความเชื่อ และความพยายามของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่พยายามเปลี่ยนสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้าม ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง
จุดเริ่มต้นที่บางกะเจ้าฟาร์ม
ก่อนจะเล่าว่าผมมาทำเครื่องหมักปุ๋ยอินทรีย์ขายได้ยังไง ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้เป็นนักประดิษฐ์หรือทำเกษตรมาตั้งแต่แรกนะ (หลายคนชอบเข้าใจว่าอย่างนั้น) ผมเคยเป็นพนักงานออฟฟิศนี่แหละ ผมจบบัญชีมา แต่ต้องลาออกมาเพื่อดูแลครอบครัว โชคดีที่บ้านเป็นบ้านสวน ก็เลยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำเกษตร ซึ่งต้ั้งใจแล้วว่า เกษตรที่เราจะทำเพื่อเลี้ยงชีพต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น”
พอตั้งใจว่าปลูกผักอินทรีย์ขาย เราก็ต้องทำฟาร์มเราให้ผ่านมาตรฐานออแกนิคไทยให้ได้ก่อน ซึ่งการจะผ่านให้ได้นั้น มันมีข้อกำหนดอยู่ข้อนึงว่า เราต้องหมักปุ๋ยอินทีย์ใช้เอง ผมก็เลยลองทำดูตามสูตรที่เขาบอกกันมา เอาขี้วัวมาหมักมาผสมกับใบไม้แห้ง ทำปุ๋ยแบบพลิก-กลับ-กอง แต่มันใช้เวลานาน 3-6 เดือนกว่าจะเป็นปุ๋ย ซึ่งผมรอนานขนาดนั้นไม่ได้
ประกอบกับตอนนั้นบางกะเจ้าฟาร์มเราเริ่มเปิดให้เด็ก ๆ ได้เข้ามาทำกิจกรรมแล้ว ก็เริ่มมีขยะอาหารเกิดขึ้นวันละ 1-2 กิโลกรัม ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ก็อยากหาทางกำจัดมัน เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เทศบาลมาเก็บ ต้องรอถึง 7 วัน ผมเลยนึกได้ว่าเราเคยประสบความสำเร็จจากการเอา Waste ที่เป็นก้อนเชื้อเห็ดที่ไม่ใช้แล้วมาเลี้ยงไส้เดือนได้ ครั้งนี้ผมก็น่าจะทำได้เหมือนกัน

พอคิดได้แบบนั้น ผมก็ลงมือทำเลย ทำแบบบ้าน ๆ นี่แหละครับ เอาเศษอาหารไปผังกลบใต้ต้นไม้ ผลที่ได้คือขยะที่เราใส่ลงไป มันไม่กลายเป็นปุ๋ยสักที แถมกลิ่นเหม็นยังเชื้อเชิญทั้งสุนัข และตัวเงินตัวทอง มาขุดขยะจนเลอะเทอะไปหมด
ผมไปเห็นถังหมักปุ๋ยแบบต่างประเทศ ก็นึกอยากได้นะ แต่ราคาแพงมาก ถังขนาด 25 กิโลกรัม ราคา 7-8 แสนบาท บอกตรง ๆ ว่าผมจ่ายไม่ไหว ช่วงนั้นหน่วยงานรัฐชอบเอาปุ๋ยที่หมักได้จากเครื่องหมักของต่างประเทศมาแจก แต่พอได้ลองใช้แล้ว ปุ๋ยพวกนั้นก็ใช้งานไม่ได้จริง มันทั้งร้อนและมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ซึ่งน่าจะเกิดจากปุ๋ยมีความชื้่นมากเกินไป
ผมเลยตัดสินใจทำถังหมักเองใช้เอง โดยพัฒนาจากถังหมักเศษอาหารที่มีขายกันตามท้องตลอด ที่เขาเรียก ถังมือหมุน ถังกลมกลิ้ง แต่มีข้อจำกัดคือ ผลิตปุ๋ยได้ปริมาณน้อย เหมาะกับครัวเรือนที่มีขยะวันนะนิดละหน่อย ไม่เหมาะกับการใช้งานของเราที่ต้องใช้ปุ๋ยจำนวนมากเพื่อปลูกผักขาย
ถังหมักที่เปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยได้ภายใน 24 ชั่วโมง
พอร่างแบบเสร็จ ผมก็ไปที่วัดจากแดงที่เขาทำเรื่องขยะรีไซเคิล ไปขอถัง 250 ลิตรจากพระท่านมาลองประดิษฐ์ดู โดยมีโจทย์คือ อยากทำเครื่องหมักปุ๋ยที่หมักได้ภายใน 24 ชั่วโมงเหมือนของต่างประเทศ แต่ปุ๋ยที่ได้ต้องใช้งานได้จริง ๆ
ผมลองผิดลองถูกอยู่นาน จนได้ตัวต้นแบบที่มีไม้กวน (ได้ไอเดียมาจากกังหันน้ำชัยพัฒนา) และติดมอเตอร์ ให้ไม้กวนปุ๋ยเองได้อัตโนมัติ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจน ไม่ให้เกิดก๊าซมีเทน ส่วนเรื่องความชื้นผมก็แก้ปัญหาด้วยการใช้มะพร้าวสับ ที่ชาวสวนบ้าน ๆ อย่างเราใช้กันอยู่แล้ว และเพิ่มการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ไทย ที่ไม่ผ่านการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม (GMO) ที่ใช้ในการผลิตน้ำหมัก EM สรุปว่ามันใช้ได้ ปุ๋ยที่ได้มีความร้อนเล็กน้อยและแทบไม่มีกลิ่นเลย

ผมแจกจ่ายปุ๋ยให้พี่น้องเกษตรในกลุ่มไปทดสอบด้วยการปลูกพริก ผลที่ได้คือต้นพริกที่ปลูกด้วยดินปลูกที่ผสมปุ๋ยของเรา โตดีกว่าต้นพริกที่ปลูกด้วยดิน 6 ถุงร้อย(ดินที่ขายทั่วไป) ถึง 2-3 เท่า แต่เพื่อความมั่นใจผมก็นำเอาปุ๋ยไปทดสอบองค์ประกอบทางเคมีต่อ ที่กรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานอื่น ๆ ปรากฏว่าปุ๋ยของเราผ่านมาตรฐานปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ คือมีทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองที่ต้นไม้ต้องการอย่างครบถ้วน
พอตัวปุ๋ยผ่านการทดสอบแล้ว ผมก็สงสัยต่อว่าตัวเครื่องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน มีก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ เกิดขึ้นในจากกระบวนการผลิตปุ๋ยหรือไม่ ผมเลยขอให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาช่วยตรวจสอบ ผลที่ได้คือ เครื่องหมักปุ๋ยอินทรีย์ของเราไม่มีการผลิตก๊าซมีเทนเลย ส่วนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากค่าไฟ 3 หน่วย (24 ชม.) ก็น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับการผลิตปุ๋ยหมักแบบพลิก-กลับ-กอง ที่ทุกคนทราบรู้กันดีว่าปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์จำนวนมหาศาลแค่ไหน
ตั้งชื่อว่า ‘ชูชก’ ให้คนสะดุดคิด
หลังจากประสบความสำเร็จกับเครื่องต้นแบบ ผมก็เริ่มผลิตแจกจ่ายให้เกษตรกรในกลุ่มได้นำไปใช้ ระหว่างนั้นผมได้รู้จักกับคุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ที่เคลื่อนไหวเรื่องปุ๋ยอินทรีย์อยู่เหมือนกัน เลยได้ร่วมหุ้นตั้งเป็นบริษัท เพื่อทำเครื่องหมักปุ๋ยอินทรีย์นี้จำหน่ายในชื่อ ‘ชูชก’
ที่เลือกชื่อนี้เพราะว่า ‘ชูชก’ เป็นตัวละครที่กินเก่ง กินไม่เลือก ผมอยากจะสื่อว่า “เศษอาหารของคุณเนี่ย เอามาให้ฉันเถอะนะ ฉันจะกินให้ท้องแตกตายเลย (หัวเราะ)”
แต่ความจริงเครื่องชูชกก็ไม่สามารถกินได้ทุกอย่างขนาดนั้น ขยะอาหารชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ลูกมะพร้าว กระดูกขาหมู ผมไม่แนะนำให้ใส่นะ เพราะมันจะเข้าไปติดในเครื่อง แต่พวกกระดูกไก่ เกล็ด ก้างปลา เปลือกกุ้ง ปู พวกนี้ ชูกชกซัดได้เรียบ

ขยะอาหารในงานแฟร์ไม่ใช่ปัญหา ถ้าจัดการให้ถูกทาง
นอกจากผลิตขายให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจแล้ว ล่าสุดผมได้นำชูชกเข้าไปช่วยจัดการกับขยะอาหารในงานแฟร์ หลัก ๆ ที่งานบ้านและสวน
จุดเริ่มต้นมาจาก กลางปี 2567 ผมและคุณอรุษพาชูชูกไปออกรายการ Win Win War และเจอคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Amarin Media & Event Business (AME) ที่นั้น คุณเจรมัยบอกกับผม เขาว่าชอบสิ่งที่ผมทำมาก เพราะที่ผ่านมาเขาเห็นแต่เครื่องหมักปุ๋ยที่ใช้ลมร้อน เขาเลยอยากให้ผมไปออกบูธและทดลองจัดการกับขยะอาหารในงาน SX 2024 ที่เขากำลังทำอยู่ และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ผมกับคุณเจรมัยได้ร่วมงานกัน และก็เป็นครั้งแรกของผมด้วยที่ได้นำชูชกมาใช้ในงานแฟร์
เดือนพฤศจิกายน 2567 มีงานบ้านและสวน Living Festival 2024 คุณเจรมัยก็ติอต่อมาอีกครั้งว่า อยากได้ชูชกช่วยเข้าไปจัดการกับขยะอาหารเหมือนเคย โดยคุณเจรมัยในฐานะผู้จัดงานจะจัดเตรียมสถานที่และจุดคัดแยกขยะไว้ให้ ส่วนผมและทีมก็เขาไปจัดการเรื่องนำไปทำเป็นปุ๋ย งานครั้งนั้นเราได้ขยะอาหารที่ผู้ร่วมงานนำมาให้เราที่จุดคัดแยกประมาณ 400 กิโลกรัม แล้วคุณเจรมัยก็ช่วยนำปุ๋ยส่วนหนึ่งที่ผลิตได้ในใส่ถุงแป้งมันสำปะหลังแจกจ่ายให้คนในงาน ผมชอบไอเดียนี้มาก เพราะอย่างน้อยคนในงานก็ได้ทราบว่าปลายทางของอาหารที่พวกเขากินเหลือ แล้วช่วยกันแยกก่อนทิ้ง มันไปอยู่ที่ไหน
ขยะอาหาร 8 วัน 691 กิโลกรัม
ตอนแรกผมประเมินว่าขยะอาหารในงานบ้านและสวนแฟร์ Select 2025 ทั้งหมดน่าจะมีน้ำหนักราว ๆ ถึง 1 ตัน แต่มาถึงเราจริง ๆ น่าจะเหลือแค่ 700 กิโลกรัม เพราะจุดคัดแยกขยะมันอยู่ด้านในสุดของโซนขายอาหาร ลูกค้าบางคนคงไม่สะดวกเดินมา เขาก็เลือกทิ้งลงถังขยะที่ใกล้มือที่สุด แต่สุดท้ายเราก็ได้ขยะอาหารในงาน 691 กิโลกรัม นำไปผลิตเป็นปุ๋ยได้ 926 กิโลกรัมครับ
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นจากงานในครั้งนี้คือ คนเริ่มรู้จักและเข้าใจว่าเราทำอะไรมากขึ้น และเขาก็ยินดีที่จะเดินไกลหน่อยเพื่อเอาขยะอาหารมาให้เรา หลายคนหยุดคุยกับผมเพื่อถามเรื่องปุ๋ย เรื่องการจัดการขยะอาหาร ผมดีใจที่ลูกค้างานบ้านและสวน ตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะมากขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณไปยังผู้จัดงานด้วยที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กับการจัดงาน
แต่บางครั้งผมและทีมงาน เราก็ไม่ได้ดูให้ละเอียด ผมเจอช้อนพลาสติก ฝาขวดน้ำ ในปุ๋ยที่หมักเสร็จแล้วบ่อยมาก ผมอยากฝากกับลูกค้าทุกท่านว่า ช่วยแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากขยะอาหารก่อนนำมาให้เรานะครับ ของเหล่านี้มันกลายเป็นปุ๋ยไม่ได้ (หัวเราะ)

เป้าหมายต่อไปของชขูชก
ตอนนี้เราวางแผนที่จะพัฒนาเครื่องชูชก ให้มีหลายขนาดขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานในบ้าน ร้านอาหาร โรงแรม พร้อม ๆ ไปกับการทำ Social movement ครับ เราไปทำงานกับเรือนจำชั่วคราวจำบางโจ ที่ภูเก็ต ซึ่งมีผู้ต้องขังอยู่ประมาณ 4,000 คน เราก็ไปสอนให้เขาปลูกผัก เพื่อที่เขาจะได้นำความรู้ตรงนี้ไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ โดยใช้ปุ๋ยที่ได้จากโรงแรมหรือร้านอาหารที่เป็นลูกค้าของเรา
จริง ๆ ขยะอาหารมีทุกที่ ไม่ใช่แค่ภูเก็ต แต่ที่เราเลือกพื้นที่นี้เพราะว่า ภูเก็ตตั้งเป้าว่าอยากเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ แล้วเราก็ไปสอนเค้าเรื่องปุ๋ย ช่วยเชื่อมเครือข่าย การขายเครื่องมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราต้องการคือ เราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องขยะอาหารมากกว่า
ที่ผมพยายามผลักดันเรื่องนี้ เพราะผมโตมากับบ้านสวนที่น้ำใส ดินดี แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้น ผมเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมก็เห็นว่า มันก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เราช่วยกันลงมือทำ
หลายคนชอบบอกว่าแยกขยะอาหารแล้วไปไหน สุดท้ายก็เทรวมกัน นั่นเป็นเพราะเขาไม่รู้วิธีการจัดการเอามันไปใช้เกิดประโยชน์ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในจัดการเรื่องนี้ได้ครับ คุณไม่จำเป็นต้องมีเครื่องชูชกก็ได้ คุณอาจเริ่มจากการฝังกลบ Green Cone ถังกลมกลิ้ง หรือวิธีใดก็ตามที่คุณทำได้ที่บ้าน
ในโลกนี้มันมีวิธีสารพัดในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะอาหารคือหนึ่งในนั้น มันอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่คนชอบมองข้าม แต่ผมก็เชื่อว่ามันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนจุดสีเล็ก ๆ ถ้าเรามีจุดสีเยอะ ๆ มารวมกัน สุดท้ายมันก็กลายเป็นภาพใหญ่ที่สวยงามได้
เรื่อง อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ และ นันทิยา บุษบงค์