เคยได้ยินชื่อภูเขาน้ำแข็ง A23a ไหม?
ครั้งหนึ่งมันเคยถูกบันทึกว่าเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่ประมาณ 3,900 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครถึงสองเท่า
มันไม่ใช่เพียงภูเขาน้ำแข็งธรรมดา ที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ แต่คือยักษ์ใหญ่แห่งทะเลเวดเดลล์ (Weddell sea) ที่หยุดนิ่งนานนับสิบปี ก่อนจะเริ่มขยับเขยื้อนอย่างช้า ๆ และพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางที่ไม่มีใครคาดเดาได้
กำเนิดยักษ์น้ำแข็ง
ในปี 1986 มวลน้ำแข็งขนาดมหึมาหนักกว่าหนึ่งล้านล้านตัน แยกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งฟิลช์เนอร์–รอนเน (Filchner–Ronne Ice Shelf) บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา กลายเป็นภูเขาน้ำแข็งอิสระ ที่ลอยอยู่กลางทะเลเวดเดลล์ ก่อนจะได้รับชื่อว่า A23a จาก U.S. National Ice Center (NIC) ซึ่งใช้ตัวอักษร A ระบุพื้นที่กำเนิดในทะเลเวดเดลล์ และหมายเลขตามลำดับการค้นพบ
การแยกตัวของมันในครั้งนั้น ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับใคร เพราะในแวดวงวิทยาศาสตร์ เหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติ เมื่อแผ่นน้ำแข็งสะสมแรงดันมานานพอ และไหลไปจนถึงขอบหิ้ง น้ำแข็งส่วนปลายที่เปราะบางก็จะแตกตัวออกมา กลายเป็นภูเขาน้ำแข็งลอยน้ำ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในบริเวณนี้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นต่างหาก ที่ทำให้ A23a กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะแทนที่มันจะลอยออกสู่ทะเลเปิดแบบเหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนใหญ่ มันกลับเกยตื้นอยู่กับพื้นมหาสมุทรในทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) และไม่ขยับเขยื้อนเลยตลอด 34 ปีเต็ม

ออกเดินทางอีกครั้ง
ในปี 2020 นักวิทยาศาสตร์สังเกตว่า A23a หลุดออกจากจุดที่ติดอยู่และเริ่มเคลื่อนตัวอีกครั้ง โดยมีทิศทางมุ่งหน้าออกจากทะเลเวดเดล ตามกระแสน้ำไปทางทิศเหนือของมหาสมุทรใต้ (Southern Ocean) ผ่านไปเพียง 4 ปี ภูเขาน้ำแข็งยักษ์นี้ ก็ต้องหยุดนิ่งอีกครั้ง ใกล้กับหมู่เกาะเซาท์ออร์กนีย์ (South Orkney Islands) หลังเผชิญกับแรงต้านประหลาด ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ปรากฏการณ์เสาเทย์เลอร์ (Taylor Column) ซึ่งเกิดจากน้ำในมหาสมุทรไหลผ่านสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่(ภูเขาน้ำแข็ง) แล้วแตกกลายเป็นกระแสน้ำสองสายพานที่ไหลทวนกัน เป็นกระแสน้ำวนที่แกนบนและล่าง จน A23a หมุนวนเป็นลูกข่าง

มุ่งหน้าสู่เกาะเซาท์จอร์เจีย
ปลายปี 2024 ในที่สุด A23a ก็หลุดพ้นจากกับดักเสาเทย์เลอร์ และเคลื่อนตัวมุ่งหน้าต่อไปทางเหนืออีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยสำรวจแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey : BAS) คาดการณ์ว่า A23a จะถูกกระแสน้ำในมหาสมุทรแอนตาร์กติก พาไปยังเขตละติจูดต่ำ และอาจพุ่งชนเกาะเซาท์จอร์เจีย (South Geogia) ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ทางทิศตะวันออกของมหาสมุทรใต้
ท่ามกลางความกังวลนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็สังเกตว่า A23a ได้หยุดนิ่งอีกครั้ง ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2025 โดยไปเกยตื้นอยู่บนสันใต้น้ำ ห่างจากเกาะเซาท์จอร์เจียประมาณ 80 กิโลเมตร แทนที่จะแล่นเข้าชนฝั่งโดยตรง ทำให้ความกังวลเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศบนเกาะเซาท์จอร์เจียลดลงไปได้ระดับหนึ่ง แม้ภูเขาน้ำแข็งจะกีดขวางเส้นทางน้ำบางส่วน แต่ก็ยังมีช่องทางกว้างพอที่แมวน้ำและเพนกวินจะว่ายอ้อมออกไปหาอาหารได้ตามปกติ

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่ภูเขาน้ำแข็งยักษือย่าง A23a มาเกยตื้นเช่นนี้ อาจก่อประโยชน์ต่อระบบนิเวศท้องถิ่นด้วยซ้ำไป จากธาตุอาหารที่ถูกกวนขึ้นมาจากพื้นทะเล เมื่อภูเขาน้ำแข็งครูดผ่าน และการละลายของน้ำจืดที่จะไปกระตุ้นการเติบโตของแพลงก์ตอนและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารบริเวณนี้
ซึ่งนักสมุทรศาสตร์ของ NASA ชี้ว่า การที่ A23a สามารถเดินทางมาได้ถึงละติจูดขนาดนี้ อีกไม่นานมันจะเผชิญกับทั้งน้ำทะเลอุ่นและกระแสน้ำที่เชี่ยวกราด และท้ายที่สุด ‘เมกะเบิร์ก’ ลูกนี้ ก็คงไม่พ้นชะตากรรมที่จะถูกย่อยสลายไปตามธรมชาติ เหลือทิ้งไว้เพียงน้ำจืดปริมาณมหาศาลที่เติมลงสู่มหาสมุทรเปิด

สืบค้นและเรียบเรียง
อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com
https://www.smithsonianmag.com