กรุงนิวเดลีของอินเดีย เป็นอีกเมืองหนึ่งที่เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง
ภาพถ่ายโดย Altaf Qadri, AP
ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยเงียบที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา
ข่าว ฝุ่นละออง PM 2.5 จางหายไปในสัปดาห์นี้หลังการมาของกรณีป้าทุบรถกระบะที่จอดขวางหน้าบ้าน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนที่คนไทยให้ความสนใจมากที่สุด ทุกพื้นที่สื่อพร้อมใจกันนำเสนอประเด็นทางสังคมนี้ราวกับว่าปัญหามลพิษทางอากาศได้ลาจากชาวกรุงเทพมหานครไปแล้วจริงๆ
ข่าวร้ายที่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะล่าสุดข้อมูลจากเวทีเสวนา “ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง” ที่ระดมบรรดานักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมมาร่วมพูดคุยหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ระบุว่าปัญหาฝุ่นละอองจะยังคงปกคลุมและคุกคามชาวกรุงเทพมหานครต่อไปจนถึงเดือนเมษายน แม้ประเด็นนี้จะถูกแย่งพื้นที่ไปด้วยข่าวกระแสหลักแล้วก็ตาม ราวกับเป็นเจ้ากรรมนายเวรตามติดตัว
ทำไมต้อง PM 2.5? คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วน 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตร นั่นหมายความว่าเจ้าฝุ่นอนุภาคเล็กจิ๋วเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปกติแล้วไส้ดินสอกดจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 ไมครอน เส้นผมของมนุษย์อยู่ที่ 100 ไมครอน ฝุ่นละอองเหล่านี้มีขนาดเล็กแค่ไหน? ลองจินตนาการเปรียบเทียบดู
และด้วยความที่ขนาดของมันนั้นเล็กมากๆ ฝุ่นละออง PM 2.5 เหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหา เนื่องจากพวกมันสามารถเล็ดรอดผ่านการดักของขนจมูกเข้าไปสู่ภายในร่างกายของเราได้และจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้ และที่น่ากลัวก็คืออนุภาคของฝุ่นละอองที่ถูกสุดเข้าไปในร่างกายมีลักษณะขรุขระ ดังนั้นมันจึงพาเอาสารอื่นติดมาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากขึ้น หากสูดเขาไปในปริมาณมากๆ จนสะสมในร่างกาย
ตรวจเช็คปริมาณค่าฝุ่นละอองกับกรมควบคุมมลพิษได้ ที่นี่