ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยเงียบที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา

ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยเงียบที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา

ผู้คนบนท้องถนนสวมหน้ากากอนามัยป้องกันสุขภาพของตนเองจากฝุ่นควัน
ภาพถ่ายโดย จิตรภณ ไข่คำ จากสารคดีเรื่อง “เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน” ตีพิพม์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย พฤษภาคม 2558

ผลสำรวจจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ 2561 ประชาชน 58.64% มองว่าปัญหามลพิษและฝุ่นละอองนี้คือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข และอีก 61.52% เชื่อว่าฝุ่นละอองเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ด้านกรมควบคุมมลพิษเองก็คอยออกมาอัพเดทสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในหลายเขตของกรุงเทพมหานครทุกวัน โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงวันที่ 13 – 15 กุมภาพันธ์ 2561 ค่าปริมาณฝุ่นละอองนั้นเกินมาตรฐาน (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนสหรัฐฯ กำหนดที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นค่าไม่เกินมาตรฐานใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 กุมภาพันธ์ 2561 สถานการณ์ดีขึ้นมาก แม้จะยังคงมีฝุ่นละอองอยู่แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ในขณะที่ทางกทม.เองนำรถออกฉีดพ่นน้ำบนท้องถนนและฟุตบาธหลายจุดในช่วงกลางคืน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นผักชีโรยหน้า

“การนำรถออกมาฉีดพ่นน้ำไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้นานค่ะ ตราบใดที่น้ำนั้นไม่ได้นำไปทิ้งหรือระบายลงท่อไป น้ำแค่ช่วยไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกไปในขณะที่ถนนยังเปียก แต่มื่อถนนแห้งฝุ่นก็จะกลับมาฟุ้งกระจายได้อีก” รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ หัวหน้าหน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้วยรถฉีดพ่นน้ำผ่านอีเมล์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดมลพิษทางอากาศด้วยไลเคน

เจ้าหน้าที่กทม.ระดมกำลังฉีดน้ำลดฝุ่นละอองบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ภาพถ่ายจากสำนักข่าวไทยรัฐ

“ในกรุงเทพมหานคร PM 2.5 มีปัจจัยการเกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) เป็นสำคัญ เพราะมีรถยนต์จำนวนมากและการจราจรติดขัด ในระยะยาวควรแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์เข้าถึงทุกพื้นที่ อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยลดมลพิษได้มากโดยเฉพาะกับ ฝุ่นละออง PM 2.5” นอกจากนั้น ดร. กัณฑรีย์ ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น รวมไปถึงดูแลรักษาต้นไม้ที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เนื่องจากต้นไม้เหล่านี้จะช่วยดูดซับสารพิษในอากาศได้ โดยเฉพาะกับเกาะกลางถนน แค่ลำพังหญ้าหรือพืชที่คลุมดินนั้นไม่เพียงพอ เมื่อมียานยนต์หนาแน่นจะเกิดฝุ่นขนาดใหญ่ (PM 10) ฟุ้งกระจาย ซึ่งเมื่อผสมผสานกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะยิ่งทำให้สภาวะมลพิษรุนแรงขึ้น

ในต่างประเทศการปลูกต้นไม้บนเกาะกลางถนนทำโดยให้วัสดุปลูกและดินอยู่ต่ำกว่าขอบเกาะ รวมทั้งจะปิดหน้าดินด้วยวัสดุคล้ายเปลือกไม้ ซึ่งจะช่วยให้ฝุ่นไม่ฟุ้งกระจายหรือไหลลงบนพื้นถนน ต่างจากในไทยที่นิยมพูนดินบนเกาะกลางถนนให้สูงไปกว่าขอบ เหล่านี้คือแนวทางที่บ้านเราสามารถนำมาปรับใช้ได้เพื่อลดปัญหามลพิษ

ปัญหาฝุ่นละอองกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามสุขภาพของผู้คนในหลากหลายประเทศ ก่อนหน้านี้กรุงปักกิ่ง ในจีนและกรุงนิวเดลี ในอินเดีย ก็เผชิญกับวิกฤติดังกล่าว ร้ายแรงที่สุดคือในวันที่ฝุ่นและหมอกควันเข้าปกคลุมมากๆ คนอินเดียได้รับผลกระทบถึงขนาดไม่สามารถมองเห็นได้ไกลกว่าในระยะ 300 เมตร จนทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์กันมาแล้ว รัฐบาลต้องออกมาตรการป้องกันและแก้ไขไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมากกว่าเดิม รถเก๋งที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่รวมไปถึงรถ SUV เครื่องยนต์มากกว่า 2,000CC ถูกแบน รวมไปถึงรถแท็กซี่อีกหลายหมื่นคันที่ใช้น้ำมันดีเซลด้วย

เดือนสิงหาคม ปี 2016 กรุงนิวเดลีเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี การสูดอากาศนอกที่พักอาศัยมีค่าเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปริมาณถึง 2 แพ็คในวันเดียว
ภาพถ่ายโดย AP

ข้ามฝั่งไปที่ยุโรป ในกรุงปารีส รัฐบาลมีมาตรการแบนรถยนต์เก่าเช่นกัน รวมไปถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาให้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยานกันมากขึ้น ด้วยการเปิดให้ใช้บริการฟรีในช่วงที่ต้องต่อสู้กับปัญหามลพิษที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ปลอดรถยนต์ เช่นบริเวณตามแนวแม่น้ำแซน ด้านประเทศเนเธอร์แลนด์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า รัฐบาลเตรียมแบนบริษัทขายรถยนต์ที่ยังคงใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันภายในปี 2025 นี้ นั่นหมายความว่าในอนาคตรถยนต์ที่วิ่งในประเทศนี้จะมีแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นปัญหาเท่าใด เพราะประเทศนี้มีผู้ใช้จักรยานมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์อยู่แล้ว

ในระหว่างที่ต้องรอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไปควรที่จะป้องกันสุขภาพของตนเองไว้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านหรือใช้บริการขนส่งสาธารณในวันที่ค่าปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ด้วยการหาหน้ากาก N95 หรือ P-100 respirators ที่ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยสามารถกรองอนุภาคขนาด 1 – 5 ไมครอนได้ร้อยละ 95 ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไปนั้นไม่สามารถกรอง ฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ใช้กรองได้เพียงฝุ่นขนาดใหญ่เท่านั้น

ตัวอย่างของหน้ากาก N95 จากเว็บไซต์ alibaba.com

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

รองศาสตราจารย์ ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ

https://www.posttoday.com/social/general/540993

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/792871

http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25/blog/61132/

http://www.newtv.co.th/news/11832

https://www.voicetv.co.th/read/S1WjswFPG

https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/posts/356323228184070

https://www.facebook.com/pg/PCD.go.th/photos/?ref=page_internal

https://news.thaiware.com/12547.html

http://www.csc-biz.com/thai/dust.html

https://www.theguardian.com/environment/2016/may/17/how-are-cities-around-the-world-tackling-air-pollution

 

อ่านเพิ่มเติม

วิทยาศาสตร์น่ารู้ : 10 ตัวการที่ก่อมลพิษทางอากาศสูงสุด

Recommend