กลายร่างเป็นหิน

กลายร่างเป็นหิน

เรื่อง ไมเคิล เกรชโค

ภาพถ่าย โรเบิร์ต คลาร์ก

วันที่ 21 มีนาคม ปี 2011 ชอว์น ฟังก์ พนักงานควบคุมเครื่องจักรขนาดใหญ่ กำลังขุดดิน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า อีกไม่ช้าเขาจะได้พบกับมังกร

วันจันทร์นั้นเริ่มต้นเหมือนวันอื่นๆที่เหมืองมิลเลนเนียม เหมืองเปิดขนาดยักษ์ ห่างจากเมืองฟอร์ตแมกเมอร์เรย์ รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ไปทางเหนือราว 27 กิโลเมตร ดำเนินงานโดยบริษัทพลังงานชื่อซันคอร์ ในช่วง 12 ปีของ การทำงาน ฟังก์เคยพบไม้กลายเป็นฟอสซิล และบางครั้งก็ตอไม้กลายเป็นหิน แต่ไม่เคยพบซากสัตว์เลย ส่วนซากไดโนเสาร์นั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง

แต่ราวบ่ายโมงครึ่ง มือขุดของรถขุดดินตักอะไรได้บางอย่างที่แข็งกว่าหินในบริเวณนั้นมาก ก้อนสีแปลกๆหลุดออกจากดินที่ขุด กลิ้งหลุนๆลงไปยังคันดินเบื้องล่าง ภายในไม่กี่นาที ฟังก์กับหัวหน้าของเขาชื่อ ไมก์ แกรตตัน เริ่มสงสัยว่าก้อนหิน  สีน้ำตาลเข้มเหล่านั้นเป็นเศษไม้ที่กลายเป็นฟอสซิลหรือเป็นซี่โครงกันแน่

ราว 110 ล้านปีก่อน สัตว์กินพืชร่างหุ้มเกราะตัวนี้เดินงุ่มง่ามอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือพื้นที่แถบตะวันตกของแคนาดา จนกระทั่งแม่น้ำที่หลากท่วมพัดร่างมันออกสู่ทะเลเปิด การถูกฝังอยู่ใต้ทะเลช่วยรักษาสภาพเกราะของมันโดยคงรายละเอียดต่างๆ ไว้ได้อย่างดีเยี่ยม

“ทันใดนั้นไมก์พูดประมาณว่า ‘เราต้องเอานี่ไปตรวจดูซะหน่อยแล้ว’ ” ฟังก์เล่าไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2011 “เป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างแน่นอนครับ”

เกือบหกปีต่อมา ผมไปเยือนห้องปฏิบัติการเตรียมฟอสซิลที่พิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณภูมิประเทศแบดแลนด์ที่ลมพัดจัดของรัฐแอลเบอร์ตา ผมสนใจกองหินหนัก 1.1 ตันตรงมุมห้อง

เมื่อมองแวบแรก ก้อนหินสีเทาที่นำมาประกอบขึ้นใหม่ดูเหมือนประติมากรรมไดโนเสาร์ยาว 2.75 เมตร แผ่นเกราะคล้ายกระดูกเป็นชิ้นๆต่อกันปกคลุมช่วงคอและหลัง และมีวงกลมสีเทาเป็นเส้นขอบของเกล็ดแต่ละเกล็ด คอของมันโค้งไปทางซ้ายอย่างสวยงาม ราวกับกำลังชูคอขึ้นไปหาพืชบางชนิดที่น่าเอร็ดอร่อย แต่นี่ไม่ใช่ประติมากรรมเสมือนจริง มันคือไดโนเสาร์ตัวจริงซึ่งกลายเป็นหินตั้งแต่จมูกจนถึงสะโพก

ตอนมีชีวิตอยู่ สัตว์กินพืชขนาดมโหฬารที่ชื่อโนโดซอร์ตัวนี้มีความยาว 5.5 เมตรและหนัก 1,300 กิโลกรัม นักวิจัยสงสัยว่า เมื่อแรกเริ่มมันกลายเป็นฟอสซิลหมดทั้งตัว แต่ตอนที่พบเมื่อปี 2011 มีเพียงครึ่งท่อนหน้า คือตั้งแต่จมูกจนถึงสะโพก ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์พอที่จะต่อกลับขึ้นใหม่ได้ ตัวอย่างนี้เป็นฟอสซิลโนโดซอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยพบ

เศษซากของผิวหนังที่กลายเป็นฟอสซิลยังปกคลุมอยู่บนแผ่นเกราะตะปุ่มตะป่ำที่กระจายอยู่บนกะโหลกของมัน ขาหน้าข้างขวาอยู่ข้างลำตัว นิ้วทั้งห้ากางงอขึ้น ผมถึงกับนับเกล็ดที่ฝ่าเท้าของมันได้เลย

สำหรับนักบรรพชีวินวิทยาแล้ว ระดับของการกลายเป็นฟอสซิลอันน่าพิศวงของไดโนเสาร์ตัวนี้ ซึ่งเกิดจากการถูกฝังใต้ทะเลอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งหาได้ยากพอๆกับการถูกลอตเตอรี่เลยก็ว่าได้ ปกติแล้วมักมีแค่กระดูกและฟันที่เหลืออยู่ และยาก นักที่จะมีแร่ธาตุเข้าไปแทนที่เนื้อเยื่ออ่อนก่อนจะเน่าเปื่อย นอกจากนั้น ยังไม่มีอะไรรับประกันว่า ฟอสซิลจะยังคงรูปทรงเดิมเหมือนตอนมีชีวิตเอาไว้ได้

ยาคอบ วินเทอร์ นักโบราณชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีสันในสัตว์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอลในสหราชอาณาจักรเคยศึกษาฟอสซิลที่ดีที่สุดของโลกบางชิ้นเพื่อหาร่องรอยของสารสีเมลานินมาแล้ว แต่หลังจากสี่วันที่ศึกษาสัตว์ตัวนี้ แม้แต่เขาเองก็ยังประหลาดใจอย่างยิ่ง ไดโนเสาร์ตัวนี้ได้รับการรักษาสภาพไว้อย่างดีมากจนกระทั่ง “เหมือนเพิ่งเดินอยู่สองสามสัปดาห์ก่อนนี้เอง” วินเทอร์ว่า

สิ่งที่จับตัวกันเป็นก้อนคล้ายกรวดซึ่งจากตำแหน่งบ่งชี้ว่า อาจเป็นเศษที่หลงเหลือของอาหารมื้อสุดท้ายของโนโดซอร์ตัวนี้

ฟอสซิลน่าทึ่งนี้คือโนโดซอร์ (nodosaur) ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ (และสกุล) ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ เป็นพวกแองคิโลซอร์ (ankylosaur) หรือไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่มักถูกบดบังรัศมีจากญาติๆซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่าภายในกลุ่มย่อยแองคิโลซอริดี (Ankylosauridae) ขณะเดินงุ่มง่ามไปทั่วในระหว่าง 110 ถึง 112 ล้านปีก่อน หรือเกือบจะกลางๆยุคครีเทเชียส เจ้าสัตว์ยักษ์ ความยาว 5.5 เมตร หนักเกือบ 1.3 ตันตัวนี้คงเป็นแรดของยุคโน้น และหากมีอะไรมารบกวน เช่นอาจเป็น แอโครแคนโทซอรัส (Acrocanthosaurus) ที่น่ากลัว มันก็มีอุบายไว้รับมือ นั่นคือเดือยแหลมยาว 50 เซนติเมตรที่โผล่ขึ้นมาจากบ่า ดูราวกับเขาวัวซึ่งอยู่ผิดที่ผิดทาง

แถบตะวันตกของแคนาดาซึ่งไดโนเสาร์ตัวนี้เคยท่องไป เป็นโลกที่แตกต่างจากที่ราบลมพัดกระหน่ำและหนาวอย่างทารุณที่ผมเผชิญมาเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วอย่างมาก ในสมัยของโนโดซอร์ บริเวณนี้คล้ายกับรัฐฟลอริดาตอนใต้ในปัจจุบัน ซึ่งลมอุ่นชื้นพัดผ่านป่าสนโคนิเฟอร์และทุ่งหญ้าอันดารดาษไปด้วยดงเฟิร์น ในช่วงต้นของยุคครีเทเชียส ระดับน้ำที่สูงขึ้นทำให้เกิดทะเลภายในแผ่นดินปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันคือรัฐแอลเบอร์ตา

มาร์ก มิตเชลล์ เจ้าหน้าที่เทคนิคจากพิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์ ค่อยๆสกัดเท้าและอุ้งเท้าที่มีเกล็ดของโนโดซอร์ออกมาจากหินที่หุ้มอยู่โดยรอบ งานที่ต้องทำอย่างระมัดระวังนี้จะช่วยอนุรักษ์คุณลักษณะที่เรายังไม่เข้าใจของสัตว์ตัวนี้ต่อไปได้อีกนาน

วันเคราะห์ร้ายวันหนึ่งเจ้าสัตว์งุ่มง่ามตัวนี้จบชีวิตในแม่น้ำ ซากที่หงายท้องขึ้นนี้ไหลไปตามแม่น้ำ โดยลอยตุ๊บป่องอยู่ได้เพราะแก๊สซึ่งแบคทีเรียปล่อยออกมาภายในโพรงร่าง นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า สุดท้ายมันคงถูกซัดออกสู่ทะเล ลมพา มันลอยไปทางตะวันออก และหลังจากลอยไปได้ราวหนึ่งสัปดาห์ ซากที่ขึ้นอืดก็แตกโพละและจมลงสู่ก้นสมุทรโดยเอาหลังลง แร่ธาตุแทรกซึมเข้าไปในผิวหนังและเกราะ แล้วห่อหุ้มหลังของมันไว้ ทำให้ซากโนโดซอร์ตัวนี้คงรูปเหมือนตอนยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่ถูกหินอายุหลายล้านปีทับถมอยู่ข้างบน

ความเป็นอมตะของเจ้าสัตว์ตัวนี้แขวนอยู่บนห่วงโซ่แต่ละห่วงของเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ กล่าวคือถ้ามันลอยห่างออกไปอีกสัก 100 เมตรในทะเลโบราณแห่งนั้น มันคงกลายเป็นฟอสซิลนอกเขตที่ดินของซันคอร์ และคงจะฝังอยู่ต่อไปแต่การณ์กลับเป็นว่าฟังก์ไปสะดุดเข้ากับไดโนเสาร์ของแอลเบอร์ตาที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา

แผ่นเกราะอันเป็นเครื่องหมายการค้าของไดโนเสาร์หุ้มเกราะมักหลุดออกและกระจัดกระจายไปเมื่อเริ่มเน่าเปื่อย แต่ชะตากรรมเช่นนั้นไม่เกิดกับโนโดซอร์ตัวนี้ เกราะซึ่งได้รับการรักษาสภาพไว้อย่างดีเยี่ยมที่เห็นนี้มีขนาดเกือบเท่าตอน มีชีวิตอยู่ และจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจได้ดีขึ้นว่า โนโดซอร์หน้าตาเป็นอย่างไรและเคลื่อนไหวอย่างไร

“เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นจริงๆค่ะ” วิกตอเรีย อาร์เบอร์ นักบรรพชีวินวิทยาด้านไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่พิพิธภัณฑ์รอยัลออนแทรีโอของแคนาดา กล่าว “ฟอสซิลนี้แสดงให้เห็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากปัจจุบันมาก รวมทั้งห้วงเวลาที่แตกต่างกันมาก และมันก็ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยมค่ะ”

สามารถติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2560

Recommend