ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลกำลังเปลี่ยนไป จากการบุกรุกแหล่งกำเนิดสัตว์ทะเล

ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลกำลังเปลี่ยนไป จากการบุกรุกแหล่งกำเนิดสัตว์ทะเล

เพราะเหตุใดเราจึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมากขึ้น มากยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อมูลอ้างอิงจากกลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564 ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2563 ค่าประมาณการการทำประมงทะเลฝั่งอันดามัน ทั้งการทำการประมงพาณิชย์ และการประมงพื้นบ้าน ได้ผลผลิตกว่า 524,498 ตัน และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้กว่า 19,092 ล้านบาท ทว่าภัยเงียบที่น่ากังวลสวนทางกับรายได้มหาศาลจากท้องทะเลในแต่ละปีคือ ปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำที่กำลังถูกคุกคามโดยมนุษย์อย่างไม่มีขอบเขต ทั้งการจับปลาเกินจำนวน หรือ Overfishing การรุกล้ำพื้นที่หวงห้าม การจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ เรื่อยไปจนการใช้เครื่องมือทำลายล้าง

ภาพ: ณภัทร เวชชศาสตร์

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศอย่างไร

รายงานผลกระทบด้านจำนวนสัตว์น้ำ อ้างอิงสถิติจาก World Development Indicators (WDI) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงมีปริมาณสูงกว่าการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก 60% คือสัดส่วนของการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติ และ 94% คือสัดส่วนการจับสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง หรือคิดเป็น 78% ของปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยคือผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ขณะเดียวกันข่าวการทำประมงผิดกฎหมายทั้งโดยรุกล้ำเขตพื้นที่อุทยานฯ และการใช้เครื่องมือทำลายล้างอย่างเช่น เรืออวนลากทิ้งซากคลุมปะการังจนได้รับความเสียหายก็ยังคงมีให้อ่านดาษดื่น

ภาพ: ณภัทร เวชชศาสตร์

ความเสียหายของแนวปะการังส่งผลต่อจำนวนสัตว์ทะเลอย่างไร

แนวปะการังคือแหล่งอาหาร แหล่งกำเนิดและอนุบาลของสัตว์ทะเลนับล้าน ทว่าเศษซากอวนที่ขาดระหว่างการทำประมง หรือโดนกระแสน้ำพัดพามาติดค้างบนแนวปะการัง คือหนึ่งในภัยคุกคามและเป็นต้นตอของสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ ขยะทะเลชนิดนี้เป็นปัญหาใหญ่ต่อแนวปะการังอย่างมาก เมื่อมันไปปกคลุมอยู่บนปะการัง ยิ่งมีขนาดใหญ่มากเท่าไร ยิ่งส่งผลให้ปะการังได้รับความเสียหายและตายลงไปมากเท่านั้น เนื่องจากปะการังจะไม่สามารถรับแสงแดดได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อมันมีสาหร่ายขึ้นปกคลุมอวนอีกชั้น ไม่เพียงแต่แนวปะการังเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ สัตว์ทะเลหลากชนิดที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยตามซอกแนวปะการังก็อาจเข้าไปติดอยู่ในเศษอวนนั้นด้วยโดยปริยาย

หากปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในองค์รวมทั้งหมดนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม แนวโน้มการลดจำนวนลงของสัตว์น้ำจากธรรมชาติก็อาจลดลงอย่างต่อเนื่อง ลำพังมาตรการปิดทะเลในฤดูสัตว์น้ำวางไข่ที่ กรมประมง ประกาศใช้อาจไม่เพียงพอที่จะปกป้อง รักษา หรือฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว หากมนุษย์บางกลุ่มยังขาดซึ่ง “จิตสำนึก” มิหนำซ้ำ เมื่อรวมกับภัยที่เกิดจากธรรมชาติ (ซึ่งมนุษย์เองก็มีส่วนร่วมในการสร้างก๊าซเรือนกระจก) อย่างวิกฤตโลกร้อนยิ่งทำให้ห่วงโซ่อาหารในทะเลได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจเลี่ยง

กลุ่มนักดำน้ำจิตอาสาจากกลุ่ม ‘Sea You Strong’ (ภาพ: เอกรัตน์ ปัญญะธารา)

แม้ระยะเวลาในการร่วมกันแก้ไขปัญหาในทุกภาคส่วนอาจยังไม่เห็นผลในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ เพราะธรรมชาติย่อมใช้เวลาในการฟื้นฟูตัวเอง (รวมถึงการแก้ปัญหาของภาครัฐอย่างจริงจัง) แต่อย่างน้อยเราเองก็ยังได้เห็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมปล่อยให้ทะเลป่วยตายอย่างเดียวดาย เพราะสัปดาห์ก่อน National Geographic Thailand ล่องใต้มายังจังหวัดกระบี่ เพื่อตามติดอีกหนึ่งภารกิจการเก็บกู้ซากอวนปกคลุมแนวปะการังของทีมนักดำน้ำอาสาสมัครจากกลุ่ม “Sea You Strong” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักดำน้ำจิตอาสา ได้แก่ นักดำน้ำอนุรักษ์ในพื้นที่จ.กระบี่ที่เป็นครูสอนดำน้ำ ทหารเรือ และนักชีววิทยาทางทะเล (marine biologist) ทั้งชาวไทยที่ทำการศึกษาเรื่องปะการังในพื้นที่มาหลายปี ชาวฝรั่งเศสที่ทำวิจัยการขยายพันธุ์ปะการังจากประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงดร.สาขานิเวศวิทยาจากประเทศอังกฤษบริเวณเกาะฮันตู และเกาะจาบัง ใกล้กับเกาะเหลาบิเละ หรือ เกาะห้อง ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ซึ่งถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 มีพื้นที่ทั้งหมด 65,000 ไร่ ครอบคลุมท้องน้ำทะเลประมาณ 64.3 ตารางกิโลเมตร สายพันธุ์ของสัตว์น้ำที่พบได้บ่อยในเขตพื้นที่มีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา เช่น ปลากะพงแดง ปลาผีเสื้อ ปลานกแก้ว เรื่อยไปจนปะการังอ่อน ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง และปะการังเห็ด

ทำไมภารกิจนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก

พันธ์พงศ์ คงแก้ว เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี กล่าวว่า

“ปัญหาการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายเกิดขึ้นมานาน และพบเห็นอยู่เรื่อย ๆ เพราะตั้งแต่การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ประกาศเป็นเขตหวงห้าม หรือเป็นเขตอนุรักษ์ มันก็จะไปกระทบกับการประมงพื้นบ้านของพี่น้องเราที่อยู่ใกล้เคียงอุทยานฯ ซึ่งจะเข้ามาหาปลาหากุ้งหาหอยเพื่อดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตของชาวเลมาอย่างยาวนาน”

“เราเข้าใจในวิถีชีวิตของชุมชนในการทำประมงเพื่อยังชีพ แต่ในบางครั้งเราจะเจอชนิดของอุปกรณ์การทำประมงในลักษณะเหมือนการทำลายล้าง เราจึงได้ดำเนินการขอความร่วมมือ และมองเรื่องของการมีส่วนร่วม อย่างเช่นที่เราได้กลุ่ม “Sea You Strong” ที่มีจิตสำนึกอาสามาดำเนินงานในอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี มาช่วยเหลือเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ทำความสะอาด และการเก็บรายละเอียดที่ทำให้เราได้รอบรู้ในบริบท หรือในบางพื้นที่ของเราที่กำลังของเราไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ หรือเราทำเองก็อาจจะไม่ครอบคลุมถึงขั้นนี้ ทำให้เราทราบถึงสถานภาพของทรัพยากรที่เราอาจจะยังไม่เคยรู้ในบางจุด ตรงไหนวิกฤติ ตรงไหนล่อแหลม เราจะได้มาวางแผนในการจัดการป้องกันและดูแลให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

“ที่สำคัญโครงการในลักษณะนี้นอกจากจะช่วยเราในทางตรง คือเราได้ข้อมูลและรายละเอียด ในทางอ้อมยังทำให้จิตสำนึกของคนอื่น ๆ ที่จะได้เข้ามาดูแล หวงแหน และใช้ประโยชน์ให้ตรงตามกรอบแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ เราเองก็พยายามปลูกฝังบุคลากรให้มีความรู้ความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกที่จะดำเงินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันเราก็ส่งทีมงานไปประสานกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่อุทยานฯ เพื่อขอความร่วมมือ ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กับงานภาคสนาม”

“ปัญหานี้อาจจะไม่สามารถแก้ได้ภายในพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ แต่ทุกเรื่องที่เราดูแลในเรื่องการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติมันได้อย่างเสียอย่าง หมายถึงว่า ถ้าเราได้เรื่องอนุรักษ์ มันก็จะไปกระทบกับพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีอาชีพอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องดำเนินหลักเกณฑ์ ในร่องในรอยของเรา โดยที่จะให้เกิดผลกระทบกับเขาให้น้อย เราจะต้องมีขั้นตอน มีวิธีการในการดำเนินการ ขั้นแรกก็ต้องขอความร่วมมือกันก่อน”

พันธ์พงศ์ คงแก้ว เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี
(ภาพ: เอกรัตน์ ปัญญะธารา)

“ปะการังเขาต้องอยู่อาศัยในที่ที่ไม่มีอะไรรบกวน ก็จะเอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ดี หากว่าตัวเขาหักหรือพังไปหมดแล้ว สัตว์อื่นจะมาอาศัย มาซ่อนตัวไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นผลกระทบที่จะมองว่ามันเล็ก ก็เล็กในลักษณะภาพที่เรามองเห็น แต่ถ้าคิดให้มันลึกๆ มันเป็นเรื่องใหญ่”

– พันธ์พงศ์ คงแก้ว –

 

สิรณัฐ สก็อต ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Sea You Strong กล่าวถึงภารกิจการเก็บกู้ซากอวนปกคลุมแนวปะการังของทีมนักดำน้ำอาสาสมัครการลงพื้นที่ว่า

“การที่เราดำลงไปรอบเกาะฮันตู แล้วเจออวนซึ่งบางชิ้นยาวมากและต้องการนักดำน้ำถึง 10 คน เพื่อช่วยกันตัดอวนออกจากแนวปะการัง ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับกระบี่นะที่มีกลุ่มอาสาสมัครที่มีประสบการณ์ผ่านการอบรมดำน้ำแบบถูกวิธีมาช่วยดูแลปะการังแบบนี้

กลุ่มของเราอาจจะเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่เป็นส่วนเล็กๆ ที่มีความสำคัญ เพราะขยะต่างๆ ที่อันตราย อย่างเช่น อวนผีเครื่องมือประมงต่างๆ ที่ออกแบบเพื่อการดักแล้วจับสัตว์ในทะเลถ้าหากไม่กำจัดแบบถูกวิธี แล้วทิ้งลงในทะเลบริเวณอุทยานมันก็จะมาติดมากับแนวปะการัง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และการเสื่อมสภาพของปะการังส่งผลระยะยาวอย่างมากกับทรัพยากรทางทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของประเทศ”

เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากจ.กระบี่ ช่วยกันดึงเศษอ้วนและแยกเศษปะการังที่ได้รับความเสียหาย หลังจากนักดำน้ำจิตอาสากว่า 10 คน จากกลุ่ม “Sea You Strong” ดำดิ่งลงไปเก็บกู้จากใต้น้ำบริเวณเกาะฮันตู ใกล้กับเกาะห้อง (ภาพ: เอกรัตน์ ปัญญะธารา)

“ตอนแรกเราตั้งใจจะเก็บขยะอย่างเดียว ไม่ได้คิดว่าจะเจออวนผีตามแนวปะการัง ทุก ๆ ครั้งที่เราดำน้ำ มันกลายเป็นว่าเราต้องแก้ปัญหาที่ถูกสร้างมาจากขยะทะเลอย่างเช่น แก้อวนที่พันแล้วขูดปะการังหลายๆ ชิ้น วันแรกเราเจออวนรอบเกาะ วันนี้เราเจออวนความยาวกว่า 100 เมตร บางทีก็เจอไซเก่าที่หลุดออกมา หรือไซขนาดใหญ่ ก็ต้องกลับมาคุยกันในทีมและปรึกษาอุทยานฯ ว่าควรทำอย่างไรต่อ เรามาช่วยทะเลแต่เราก็ต้องยึดตามกฎระเบียบเดิมของอุทยานด้วย ตอนนี้เรามีกระบวนการพื้นฐานแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อเจอสถานการณ์นี้อีก”

“ผมมองว่าคนที่มีวิถีชีวิตกับทะเล เขาได้เห็นความเสื่อมของทรัพยากรทางทะเล เขาจับปลาได้น้อยลง ปะการังคือบ้านและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำต่างๆ ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนจนเติบโต ปลาแถวแนวปะการังเยอะอยู่แล้ว ไม่แปลกใจว่าจะเจอการทำประมงแถวปะการัง แต่ถ้าหากเราทำประมงแบบไม่ระวังหรือจัดการขยะบนบกแบบไม่รอบคอบ ปะการังก็จะเสียหาย อย่างเช่น การวางไซบนปะการังมันสร้างผลเสียกับบ้านของสัตว์น้ำ ถ้าปะการังถูกทำลาย ปลาก็จะไม่มีที่อยู่และหากิน ซึ่งทำให้ปลานั้นหายไปในที่สุด ในปัจจุบันเราต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องปะการังและสัตว์ทะเลที่อาศัยในแนวปะการังให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นในอนาคตจุดต่างๆ ที่เขาทำประมงก็จะไม่มีปลาอีกต่อไป

“จริงๆ เราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่มาช่วยอุทยานฯ เก็บข้อมูลและรายละเอียดทางสภาพแวดล้อมทางทะเลและภัยคุกคามต่างๆ ที่เสี่ยงกับปะการัง ทางอุทยานฯ มีงานที่ยากกว่าเรามาก เขาต้องดูแลรักษาทรัพยากรทะเลของโลกเรา ควบคู่ไปกับบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ของคนดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบ ต้องขอขอบคุณทางอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีอีกครั้งที่ให้โอกาสเรามาทำงานนี้ เพราะมันคือการให้โอกาสผมและทีมได้เรียนรู้ ถึงวิธีการปกป้องปะการังในหลายสถานการณ์และให้เราเห็นว่าทรัพยากรทะเลในจังหวัดกระบี่สวยมากกว่าที่ทุกคนรู้

“ผมรู้สึกว่าเป็นโชคดีที่เราได้รับการสนับสนุนจากอุทยานฯ ทีมนักดำน้ำจากพื้นที่กระบี่ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย ทุกคนที่มาตั้งใจมาก ทำให้งานเราสำเร็จเพราะแต่ละฝ่ายร่วมกันแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทำให้งานมีประสิทธิภาพ ขอขอบคุณทางอุทยานธารโบกขรณีที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทะเลและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยิ่งทำให้เราอยากจะปกป้องทรัพยากรทางทะเลมากขึ้นไปด้วย รวมถึงความร่วมมือของสถาบันการศึกษาภาคใต้และภาคตะวันออก ที่ร่วมกันสร้างกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลในด้านอื่น ๆ อย่างยั่งยืนอีกด้วย”

“งานของเราคือการปกป้องทะเลให้แข็งแรงขึ้น ส่งเสียงจากมุมของการอนุรักษ์ให้มันดังขึ้น ให้ทุกคนเข้าใจความสมบูรณ์ของปะการังว่าเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมมือกันดูแลเเละปกป้อง เพื่อชีวิตในทะเลและเพื่อทุกคน เราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับธรรมชาติและบ้านของเรา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีควรได้รับการปกป้องดูแลไม่ให้มีการทำลายทรัพยากร และเราพร้อมที่จะร่วมกันทำในสิ่งที่เราเชื่อ เพื่อให้สิ่งที่เราทำมันแข็งแกร่งมากกว่าเดิม”

– สิรณัฐ สก็อต –

 

มุมมองจากคนพื้นเพถึงปัญหาทางทะเลในกระบี่

National Geographic Thailand ยังมีโอกาสพูดคุยกับ ปรัญญา พันธ์ตาจิต PADI open water instructor และครูสอนดำน้ำแห่ง SCUBA Expert/Krabi ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักดำน้ำอาสาที่มาช่วยในภารกิจกู้ซากอวนกับกลุ่ม Sea You Strong

เขาบอกว่า “ตลอด 12 ปีที่ออกไปดำน้ำมักจะพบเศษซากอวนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่รอบหมู่เกาะโลคอล จ.กระบี่ ที่อาจขาดการดูแลได้อย่างทั่วถึง”

“ร้านดำน้ำของเราเป็นร้านเล็ก ๆ บางทีเราออกไปดำน้ำแล้วเจอเศษอวน เราไม่สามารถที่จะแวะเก็บขึ้นมาได้เพราะเราต้องดูแลลูกค้า และไม่อยากให้ลูกค้าไปเสี่ยงในการตัดอวน เพราะมันไม่ได้ง่ายเลย แต่พอมีจิตอาสาเข้ามาช่วยกัน เวลาเราออกไปดำแล้วเราเจออวน เราก็สามารถแจ้งและระบุจุดที่พบเพื่อให้ทีมงานลงไปเก็บกู้ในวันต่อมาได้ทันที”

“จริง ๆ เราได้แจ้งกับอุทยานฯ ทุกครั้งว่าเราเจออวนที่จุดไหน แต่บางทีระยะเวลาการเก็บกู้อาจต้องใช้เวลา 2-3 วัน เพราะเจ้าหน้าที่ที่เป็นนักดำน้ำของอุทยานฯมีไม่เพียงพอในการดูแลทรัพยากร เคยมีกรณีหนึ่งที่เราเจออวนใหญ่ จากที่ไม่มีอะไรติดอยู่เลย กว่าจะได้เอาออกต้องใช้เวลา 4-5 วัน ซึ่งมันไม่ทันการเพราะว่าระหว่างรอเอกสารจากราชการ สิ่งที่เราเห็นคือทั้งเต่า ทั้งฉลาม เข้ามาติดตายอยู่ในอวนไปแล้ว”

“ส่วนที่หมู่เกาะห้องก็เป็นจุดที่มีเกือบร้อยเกาะ แต่ละเกาะไม่มีนักดำน้ำไป เพราะยังไม่เปิดให้เป็นแหล่งดำน้ำ จึงไม่มีใครสามารถเห็นใต้น้ำได้ แต่ทุกครั้งที่เราไปจะเก็บขยะหรือเก็บอวนขึ้นมาได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 ถุงต่อวัน ในตอนนี้เราจึงใช้วิธีการให้เครือข่ายของเราเข้าไปนั่งคุยกับคนในพื้นที่มากขึ้นเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน”

ผลลัพธ์ของความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ตั้งแต่หาดไร่เลย์ อ่าวนาง มาจนถึงเกาะฮันตู เกาะจาบัง และพื้นที่โดยรอบหมู่เกาะห้อง น่าติดตามอย่างยิ่งว่าภารกิจการนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลในจังหวัดกระบี่ของกลุ่ม “Sea You Strong” ที่ยังคงเดินหน้าอย่างแข็งขัน จะช่วยให้ทะเลแข็งแรงขึ้นได้อย่างที่หวังมากน้อยเพียงใด

เรื่อง: นวภัทร ดัสดุลย์
ภาพ: เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ภาพถ่ายใต้ทะเล: ณภัทร เวชชศาสตร์


ข้อมูลอ้างอิง:
สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1085
ผลผลิตของการประมงไทย ปี 2563 กลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมงhttps://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20210128092830_new.pdf
แนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรม ปี 2562-2564: อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป
https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Food-Beverage/Processed-Seafood/IO/io-frocessed-seafood-20-th
ภาวะคุกคามต่อแนวปะการัง จากระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
https://km.dmcr.go.th/th/c_3/d_1740

Recommend