วิทยาศาสตร์จากกาแล็กซีอันไกลโพ้น

วิทยาศาสตร์จากกาแล็กซีอันไกลโพ้น

เรื่องโดย ไมเคิล เกรทโก

ในขณะที่ทุกคนกำลังออกผจญภัยไปยังกาแล็กซีอันไกลโพ้นอีกครั้งกับหนังภาคล่าสุดของมหากาพย์แห่งสงครามระหว่างดวงดาวอย่าง  สตาร์วอร์ส อุบัติการณ์แห่งพลัง (Star Wars: The Force Awakens) คงไม่มีใครตื่นเต้นไปกว่าเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากหนังเรื่องนี้

“หนังเรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่นักวิทยาศาสตร์หลายคน มันทำพวกเขาคิว่าบางทีสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จริง” เอลิซาเบ็ธ โฮล์ม นักวัสดุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าว “พวกมันทำให้ฉันคิดนอกกรอบ จากกระแสของสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต”

เหล่านักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจและวิเคราะห์เรื่องราวและสิ่งประกอบจากในหนัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้จากหลักและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เรื่องฟิสิกส์พลาสมาไปจนถึงจิตวิทยา การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่งานอดิเรกที่ใจรัก แต่มันเป็นสื่อการเรียนที่ดีที่สุดในจักรวาล

“ถ้าคุณสามารถเชื่อมโยงบางจุดของเรื่องเข้ากับหลักทางวิทยาศาสตร์ที่สมเหตุสมผล คุณจะร้อง อะ-ฮ้า!” จิม คาคาลีออสกล่าว เขาเป็นนักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop culture) “มันเป็นหนทางในการสร้างความเชื่อมโยง”

ในวันนี้เราได้รวบรวมการค้นพบที่ดีและใหม่ที่สุดจากเหตุการณ์ตลอดหนทางของการเป็นมหากาพย์แห่งนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องนี้เพื่อเป็นสื่อการเรียน แรงบันดาลใจ และคำแนะนำสำหรับตัวละครจากกาแล็คซี่อันไกลโพ้นทั้งหลาย

การล่มสลายของดาวมรณะ

ไม่เพียงได้มีเพียงแค่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์นโยบายเท่านั้นที่ถูกดาวมรณะขายฝันในหัวข้อของการใช้พื้นที่อันมหาศาลของกาแล็กซีอย่างไรให้เกิดประโยชน์ แต่อาวุธชิ้นเทพของจักวรรดิเอมไพร์ชิ้นนี้ยังได้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรอีกด้วย

กาย วอล์กเกอร์ ศาสตราจารย์วิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ สกอตแลนด์ ได้นำการระเบิดของดาวมรณะดวงแรกมาวิเคราะห์เป็นกรณีตัวอย่างของความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในงานวิศวกรรมขนานใหญ่ให้กับนักเรียนของเขา หลังได้รับหนังสือ คู่มือแบบละเอียดของดาวมรณะ (Death Star Owner’s Technical Manual: Star Wars: Imperial DS-1 Orbital Battle Station) วอล์กเกอร์และเพื่อนร่วมงานใช้เวลาสี่วันตามเวลาที่ฝ่ายกบฎวางแผนก่อนโจมตีในหนัง ตรวจสอบและวิเคราะห์ความบกพร่องของสถานีรบดวงนี้โดยวิธีที่ต่างกันสองวิธี

วิธีแรกเป็นเทคนิคการตรวจสอบความมั่นคงและปลอดภัยขององค์ประกอบจากปี 1970  วิธีนี้ส่วนประกอบทุกชิ้นจะถูกนำมาวิเคราะห์หาข้อบกพร่องอย่างละเอียด แม้กระทั่งด้ามยิงซูเปอร์เลเซอร์ ส่วนวิธีที่สองคือการจำลองภาพยานออกมาในรูปแบบของเครือข่าย ซึ่งส่วนที่เป็นศูนย์กลางหรือมีการเชื่อมต่อแบบพิเศษ นับเป็นส่วนที่มีความเสี่ยงสูง

ในด้านผลลัพธ์ เทคนิคแรกไม่ระบุว่าช่องระบายความร้อนจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในหนังมีความเสี่ยงใดๆ เป็นเพียงโพรงธรรมดาเท่านั้น แถมยังใช้เวลาในการตรวจสอบถึงสิบวัน ซึ่งหากใช้เทคนิคนี้ในหนังฐานยาวิน 4 คงกลายเป็นจุณไปแล้ว ส่วนเทคนิคที่สองนั้นใช้เวลาสี่วันตามที่กำหนดไว้และช่องระบายความร้อนก็ถูกนับเป็นจุดเสี่ยงจุดหนึ่งร่วมกับข้อบกพร่องอื่นๆ อีกมากมายของดาวมรณะ อาทิความเสถียรของระบบควบคุมแรงโน้มถ่วงของยานและการขาดระบบป้องกันอาวุธชีวภาพ

จากการวิเคราะห์ วอล์กเกอร์พบว่าแผนที่ดีที่สุดในการทำลายดาวมรณะคือ “ให้ R2D2 เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของดาวมรณะ แล้วปล่อยไวรัสเข้าไป แต่ถ้าทำแบบนั้นหนังเรื่องนี้จะกลายเป็น สงครามวันดับโลก (Independence Day) ซึ่งสนุกไม่ได้เสี้ยวของสตาร์วอร์ส”

“คุณคิดว่านักเรียนจะชอบสิ่งไหนมากกว่ากันระหว่างสูตรสมการกับเพลงประกอบอิมพีเรียลมาร์ช” วอล์กเกอร์กล่าว

Recommend