เมืองใต้ดินในปักกิ่ง

เมืองใต้ดินในปักกิ่ง

เมืองใต้ดินในปักกิ่ง

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 – 1970   ความพยายามเพื่อเตรียมรับมือกับการทำลายล้างของระเบิดนิวเคลียร์ เหมาเจ๋อตงสั่งให้เมืองใหญ่หลายเมืองของจีนสร้างอพาร์ตเมนต์ที่มีหลุมหลบภัยซึ่งสามารถต้านทานแรงระเบิดนิวเคลียร์ได้  ลำพังเฉพาะในปักกิ่ง มีบังเกอร์หรือหลุมหลบภัยใต้ดินดังกล่าวเกิดขึ้น มากกว่า 10,000 แห่ง

แต่เมื่อจีนเปิดประเทศในช่วงต้นทศวรรษ 1980 กระทรวงกลาโหมของจีนเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินเอกชนเช่าอพาร์ตเมนท์เหล่านั้น ด้วยมุ่งหวังจะทำกำไรจากการเปลี่ยนหลุมหลบภัยในอดีตให้กลายเป็นห้องพักขนาดเล็ก

ทุกวันนี้ เมื่อตกค่ำ ผู้คนมากกว่าล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพและนักศึกษาจากชนบท พากันหายไปจากท้องถนนอันวุ่นวายของปักกิ่งลงไปสู่จักรวาลใต้ดิน ซึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จักของโลกเบื้องบน

นักดนตรีคนหนึ่งเล่นทรอมโบนอยู่ที่ศูนย์กิจกรรมซึ่งรู้จักกันในชื่อ สหภาพวัฒนธรรมและศิลปะในเขตต้าหงเหมินของกรุงปักกิ่ง
เซียนวัย 23 ปี นั่งอยู่บนเตียงของเธอในหลุมหลบภัยนงหยิง ในเขตเวยกงชุน คนหนุ่มสาวมากมายจากบ้านเกิดในชนบท เพื่อมาหาชีวิตที่ดีกว่าในปักกิ่ง

ความสนใจใคร่รู้ในปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ ทำให้อันโตนิโอ ฟาซิลอนโก ช่างภาพชาวอิตาลี เดินทางมาปักกิ่งเพื่อบันทึกภาพในเดือนธันวาคม ปี 2015 แม้ว่าหลุมหลบภัยใต้ดินจะหาไม่ยากเพราะมีอยู่ทั่วไปในกรุงปักกิ่ง  แต่การจะเข้าไปให้ถึงที่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ดูเหมือนว่าทุกๆที่ที่ฟาซิลอนโกไปเยือน  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในย่านหรือชุมชนนั้นๆจะคอยกีดกันเขา โดยยกหรืออ้างกฎหมายห้ามคนต่างชาติเข้าไปในหลุมหลบภัยนิวเคลียร์เหล่านั้น  เขาเริ่มท้อใจหลังยื่นเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและถูกปฏิเสธ  แต่ท้ายที่สุด ฟาซิลอนโกก็แอบเข้าไปได้โดยฉวยโอกาสช่วงที่ยามพักทานอาหารกลางวัน แต่แม้จะเข้าไปได้แล้ว  เขากลับพบว่าผู้อยู่อาศัยหลายคนค่อนข้างระมัดระวังตัว  ในบางกรณี พวกเขาอายที่จะถูกถ่ายภาพ

เมืองใต้ดิน
นายหน้าอสังหาริมทรัพย์อาศัยอยู่ในที่หลบภัยนงหยิง ในเขตเวยกงชุน
เมืองใต้ดิน
จื่อจง ดูทีวีผ่านสมาร์ตโฟนขณะนอนอยู่บนเตียงในที่หลบภัยนงหยิง ในเขตเวยกงชุน แม้แต่คนที่ไม่มีเงินพอจะเช่าบ้าน ก็ยังซื้อหาของใช้ที่แสดงสถานะอย่างสมาร์ตโฟน แทบเล็ต หรือเสื้อผ้าแบรนด์เนม เพราะภาพลักษณ์ความสำเร็จถือเป็นเรื่องสำคัญในวัฒนธรรมจีน ฟาซิลอนโกกล่าว

“ผมพบคนประมาณ 150 คน และมีเพียง 50 คนที่อนุญาต [ให้ผมถ่ายรูปพวกเขา] ” ฟาซิลอนโกเล่า “บางคนกลัวเพราะบอกครอบครัว [ทางบ้าน] ว่า  พวกเขามีงานดีๆทำและอยู่ในอพาร์ตเมนต์ดีๆ”

ความเป็นอยู่ในหลุมหลบภัยเรียกได้ว่ายากลำบาก  แม้จะมีสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า น้ำประปา และระบบระบายน้ำเสียเพื่อให้สามารถอยู่ใต้ดินได้เป็นแรมเป็นเดือนในช่วงสงครามหรือผลกระทบจากกัมมันตรังสี  แต่การขาดระบบอากาศที่เหมาะสมทำให้อากาศไม่ถ่ายเทและอับชื้น  ผู้อยู่อาศัยใช้ครัวและห้องน้ำร่วมกันซึ่งมักคับแคบและไม่ถูกสุขลักษณะ

กฎหมายท้องถิ่นกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยขั้นต่ำไว้ที่ 4 ตารางเมตรต่อผู้เช่าหนึ่งราย  ซึ่งในหลายๆครั้งข้อกำหนดนี้กลับถูกละเลย ภาพถ่ายภาพหนึ่งของฟาซิลอนโกเป็นภาพของจิงจิง เด็กหญิงวัยสี่ขวบ อาศัยอยู่กับย่า พ่อและน้องชายของเธอในห้องที่เล็กพอดีพอดีกับเตียง  “บ้าน” ของพวกเขาอยู่ติดกับพื้นที่ที่กว้างกว่าซึ่งใช้เป็นที่จอดรถจักรยานยนต์  “เป็นที่ที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งที่ผมเคยไปเยือนครับ” ฟาซิลอนโกกล่าว

เมื่อปี 2010 ทางการกรุงปักกิ่งสั่งห้ามการใช้หลุมหลบภัยนิวเคลียร์และและพื้นที่ว่างอื่นๆ เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อแก้ปัญหาการปล่อยปละละเลยของเจ้าของที่ดินและความปลอดภัย  แต่ที่ผ่านมา  ความพยายามเหล่านี้มักประสบความยากลำบากและไม่เป็นผล  เหตุผลหลักคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่หลบภัยไม่มีที่ไป

เมืองใต้ดิน
จือ หลิว วัยสามขวบ อาศัยอยู่ที่นี่กับพ่อ ซึ่งเปลี่ยนส่วนหนึ่งของที่พักให้เป็นร้านหนังสืออนไลน์ชื่อ เกาไช่เซิง
เมืองใต้ดิน
จื่อวัย 39 และหมิงวัย 41 กำลังดื่มเบียร์ระหว่างกินอาหารเย็นที่สหภาพวัฒนธรรมและศิลปะ

อีกทั้งการเข้าถึงที่พักอาศัยของรัฐซึ่งมีราคาพอจ่ายได้เป็นไปอย่างจำกัด  หลุมหลบภัยเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับแรงงานอพยพ ฟาซิลอนโกกล่าวว่า ห้องเล็กๆห้องหนึ่งอาจมีค่าเช่าเพียงเดือนละ 40 ดอลลาร์สหรัฐ (1,400 บาท)  ขณะที่ห้องใหญ่กว่าในแบบหอพักซึ่งสามารถรองรับคนได้มากถึง 10 คน  อาจหาเช่าได้ในราคาเพียงเดือนละ 20 ดอลลาร์ (700 บาท)

ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่มีความฝันและเชื่อว่า  การอาศัยอยู่ที่นี่เป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต  จนกว่าพวกเขาจะมีรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งหมายถึงห้องที่มีหน้าต่างและแสงแดดส่องถึง

ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  คือองค์กรทางสังคมต่างๆ พยายามเปลี่ยนหลุมหลบภัยว่างเปล่าหลายแห่งให้กลายเป็นศูนย์ชุมชน ฟาซิลอนโกพบเห็นพื้นที่ว่างหลายแห่งได้รับการปรับปรุงเป็นห้องทานอาหาร ห้องเล่นบิลเลียดห้องคาราโอเกะ และห้องสอนการคัดลายมือ

เรื่อง เยว่ หมิง
ภาพถ่าย อันโตนิโอ ฟาซิลอนโก

 

อ่านเพิ่มเติม

จากตรุษจีนถึงเช็งเม้ง: แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

Recommend