เมืองไทยในอดีต : ศรัทธาและศาสนา

เมืองไทยในอดีต : ศรัทธาและศาสนา

เมืองไทยในอดีต
บทบาทของพระภิกษุและวัดในพระพุทธศาสนาหยั่งรากลึกไปถึงชีวิตประจำวันของศาสนิกชน เนื่องจากวัดเป็นทั้งศาสนมณฑลและโรงเรียนสำหรับชนทุกระดับ

ปฏิสัมพันธ์กับโลกตะวันตกชักนำหมอสอนศาสนาและบาทหลวงกลับมาอีกครั้งหลังจากหลบหนีไประหว่างสงครามเสียกรุงเก่า ทว่าแม้สนธิสัญญาเบอร์นีย์ระหว่างสยามกับอังกฤษจะเป็นเสมือนก้าวแรกแห่งการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ลึกลงไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงมองว่าชาติตะวันตกเป็นภัยคุกคาม เช่นเดียวกับศาสนาความเชื่อที่แพร่เข้ามาในกรุงเทพฯพร้อมกับวิทยาการตะวันตก ในระยะแรกจึงทรงห้ามสอนหมอศาสนาเผยแพร่คำสอนให้ชาวไทย ด้วยทรงเกรงว่าจะหันไปเข้ารีตเสียหมด แต่ทรงอนุญาตให้เผยแผ่ในหมู่ชาติพันธุ์อื่นๆได้

เมืองไทยในอดีต
พระราชพิธีตรียัมปวายหรือโล้ชิงช้าเป็นพระราชพิธีโบราณของศาสนาพราหมณ์และฮินดูสำหรับต้อนรับพระอิศวรจากสวรรค์ นับเป็นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์และฮินดูที่สอดแทรกอยู่ในสังคมพุทธ เสาชิงชาสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา แม้พระราชพิธีตรียัมปวายจะยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 ทว่าเสาชิงช้ายังคงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพฯ

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศให้การนับถือศาสนาอื่นๆเป็นไปอย่างเสรี ความอึดอัดคับข้องใจจึงค่อยๆผ่อนคลายลง กล่าวกันว่า นั่นเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้สยามรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดถือเป็นพระราชประเพณีที่ได้รับการสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง อิทธิพลตะวันตกเผยผ่านศิลปะและสถาปัตยกรรมในศาสนสถาน วัดกลายเป็นสิ่งที่แสดงออกถึง “ความอารยะ” กระทั่งล่วงเลยสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระมุงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว การสร้างวัดใหม่ๆจึงเริ่มชะลอตัวลง เพราะก่อนหน้านั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า วัดในกรุงเทพฯมีเพียงพอแล้ว และเนื่องจากจำนวนวัดเดิมมีอยู่มาก การบูรณปฏิสังขรณ์จึงต้องอาศัยจำนวนเม็ดเงินมหาศาล ซ้ำยังมีอุปสรรคจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพ.ศ. 2475 บรรยากาศการเรียกร้องความเสมอภาคกำลังคุกรุ่น ระบอบเจ้าถูกลดอนความสำคัญลงอย่างฮวบฮาบและถูกสร้างภาพว่าเป็นระบบที่ถ่วงความเจริญของประเทศ การก่อสร้างวัดพระศรีมหาธาตุเต็มไปด้วยนัยทางการเมือง วัดนี้เดิมชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระภิกษุรูปแรกที่อุปสมบทในวัดนี้คือพระยาพหลพยุหเสนา แกนนำคณะปฏิวัติปีพ.ศ. 2475 ฐานเจดีย์วัดนี้เป็นสถานที่บรรจุอัฐิของคณะปฏิวัติ อีกทั้งทำเลที่ตั้งในย่านบางเขนยังใกล้กับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (บ้างเรียกอนุสาวรีย์หลักสี่หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ) อนุสรณ์ที่ระลึกถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งมีพระองค์เจ้าบวรเดชทรงเป็นผู้นำเมื่อปีพ.ศ. 2476 อันเป็นการต่อสู้ระหว่างตัวแทนระบอบเจ้ากับประชาชน

อย่างไรก็ดี ความพยายามของคณะปฏิวัติและรัฐบาลก็ไม่ต่างอะไรกับชนชั้นปกครองในระบอบเจ้ายุคก่อนหน้า การก่อสร้างวัดพระศรีมหาธาตุถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนการสร้างวัดประจำรัชกาล รัฐบาลหรือผู้ปกครองยังคงใช้ศาสนาเป็น “เครื่องมือ” ปกครองและจัดระเบียบสังคมเช่นเคย ไม่ว่าการเมืองในประเทศและโลกจะหมุนเปลี่ยนไปในทิศทางใด

และไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

 

ชมภาพเมืองไทยในอดีตเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : สีสันย่านนิยม

Recommend