ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายที่ชุมชนเมงตาสุและโมงติสุ เมืองมัณฑะเลย์ : ร่องรอยเชลย ไทยสมัยอยุธยา

ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายที่ชุมชนเมงตาสุและโมงติสุ เมืองมัณฑะเลย์ : ร่องรอยเชลย ไทยสมัยอยุธยา

เรื่องและภาพ นภัทร อุทัยฉาย (รางวัลชมเชยโครงการ 10 ภาพเล่าเรื่องปี 7)

ชุมนเมงตาสุและโมงติสุตั้งอยู่เลียบคลองชะเวตะชอง ทางทิศใต้ของตัวเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมียนมาระบุว่า บริเวณนี้เคยเป็นหนึ่งในถิ่นฐานของเชลยสงครามจากกรุงศรีอยุธยาและเชียงใหม่ซึ่งถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310  เชลยศึกที่เคยอาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นชนชั้นสูงฝ่ายชายและข้าราชบริพาร ได้จัดงานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายตามแบบวัฒนธรรมของตนเองมาตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า และสืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน  ทุกปีประเพณีก่อเจดีย์ทรายจะจัดขึ้นในช่วงวันขึ้นปีใหม่ (13 เมษายน)

ในวันแรกของเทศกาล ชาวบ้านจะรื้อพระเจดีย์ทรายองค์เดิมที่สร้างเมื่อปีก่อน  วันที่สองจะช่วยกันนำทรายมาสร้างเจดีย์ที่สูงราวสามเมตรขึ้นใหม่ให้เสร็จภายในหนึ่งวัน  แล้วพักหนึ่งวัน ก่อนนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี สวดมนต์ ถวายภัตตาหาร และจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างครื้นเครงในวันรุ่งขึ้น  ต่อมาเดือนพฤษภาคม ในช่วงวันวิสาขบูชา จะมีงานก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นอีกครั้งที่ชุมชนโมงติสุ ซึ่งห่างจากชุมชนเมงตาสุไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร  งานทั้งสองแม้จะคล้ายคลึง แต่ก็มีความแตกต่าง  แม้ทุกวันนี้แทบไม่มีชาวชุมชนคนใดที่มีเทือกเถาเหล่ากอชาวโยเดียอย่างชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้และเข้าใจดี คือ “เตโปงเซตี” และประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย อันไม่ใช่ธรรมเนียมของชาวเมียนมาทั่วไป และเป็นวิถีของบรรพชนที่ต้องดำรงรักษาให้คงอยู่สืบไป

 

อังวะ อดีตราชธานีของพม่าที่เคยพิชิตและกวาดต้อนชาวอยุธยามาเป็นเชลยกลายเป็นเมืองร้างหลังการย้ายราชธานีเมื่อหลายร้อยปีก่อน
หญิงชาวชุมชนเมงตาสุกำลังเดินข้ามคลองชะเวตะชอง สายน้ำสำคัญของเชลยโยเดียในสมัยโบราณ ปัจจุบันกลายเป็นเพียงที่ระบายน้ำเสีย
บรรยากาศคึกคักของยะแหงเซ หรือตลาดระแหง เชื่อกันว่าที่นี่เคยเป็นย่านการค้าสำคัญของเชลยไทย
กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ชุมชนเมงตาสุกำลังผสมท่ง ส่วนผู้ใหญ่กำลังเร่งก่อพระเจดีย์ทรายให้เสร็จทันภายในหนึ่งวัน
ชายหนุ่มชาวเมียนมาช่วยกันตบอัดฐานเจดีย์ทรายให้แน่นกันอย่างขะมักขะเม้นในชุมชนเมงตาสุ
ชาวชุมชนโมงติสุกำลังกำลังพระเจดีย์ทราย ในขณะที่มีการทรงเจ้าและจัดงานสังสรรค์กันอย่างครื้นเครง
ดอ เซน เซน หญิงวัย 68 ปี ที่ชุมชนโมงติสุ อ้างว่าตนมีเชื้อสายไทยจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษแต่ไม่แน่ใจว่ามาจากที่ใด
อู ทัน ทุน ผู้สูงอายุวัย 81 ปี แห่งชุมชนเมงตาสุกำลังยืนชมพระเจดีย์ทรายที่เพิ่งสร้างเสร็จและประดับประดาอย่างสวยงามด้วยไฟหลากสี
เด็กน้อยปั่นจักรยานกลับบ้านผ่านพระเจดีย์ทรายขนาดเล็กใกล้คลองชะเวตะชอง แต่ที่นี่จะไม่มีการจัดงานเทศกาลเหมือนที่อื่น

 

Recommend