ปฏิบัติการช่วย “13 หมูป่า” สามสัปดาห์ในโลกที่เคยเป็นไปไม่ได้

ปฏิบัติการช่วย “13 หมูป่า” สามสัปดาห์ในโลกที่เคยเป็นไปไม่ได้

ปฏิบัติการช่วย 13 หมูป่า สามสัปดาห์ในโลกที่เคยเป็นไปไม่ได้

25 กรกฎาคม 2561 เป็นวันครบหนึ่งเดือนสามวันนับจากวันที่ทีมหมูป่าอะแคเดมีติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และเป็นวันที่ทีมหมูป่า 12 คนปลงผมบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้นาวาตรีสมาน กุนันท์ ที่วัดพระธาตุดอยตุงบนเทือกเขานางนอน

การบวชถือเป็นการบำเพ็ญกุศลขั้นสูงสุดเท่าที่พุทธศาสนิกชนไทยพึงกระทำเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ ในกรณีนี้คือบุคคลผู้สละชีวิตของตนเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น ซึ่งย่อมถือเป็นการให้อย่างสูงสุดเช่นกัน สาธารณชนที่ได้เห็นภาพดังกล่าวย่อมปีติยินดีและร่วมอนุโมทนา หลังจากนั้นเก้าวัน ชีวิตใน ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นดังขั้นตอนเปลี่ยนผ่านจากเหตุการณ์ขวัญหาย ช่วยเตรียมกายเตรียมใจทีมหมูป่า ให้หวนคืนสู่ชีวิตธรรมดาที่ต้องไปโรงเรียน ทำการบ้าน และซ้อมบอล

หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น โลกออนไลน์แน่นขนัดไปด้วยการส่งและรับข้อมูล ทั้งข้อความและภาพเกือบ 900,000 โพสต์บนทุกแพลตฟอร์ม รายการข่าวทีวีหลายช่องมีเรตติ้งพุ่งสูง โดยเฉพาะวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 มี 12 สำนักข่าวระดับโลกเสนอข่าวปฏิบัติการพาหมูป่ากลับบ้านบนหน้าแรกของเว็บไซต์ รวมทั้ง รอยเตอร์ บีบีซี เดอะการ์เดียน อัลจาซีรา และ ซีเอ็นเอ็น

13 หมูป่า
วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ที่วัดพระธาตุดอยเวา ทีมหมูป่าเข้าร่วมพิธีสืบชะตาซึ่งมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับนาวาตรีสมาน กุนัน หรือ “จ่าแซม” และขอขมากับนาค 9 คน ซึ่งเป็นทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ผู้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการและตั้งใจบวชอุทิศส่วนกุศลให้กับจ่าแซมเช่นกัน

ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนกลายเป็นพื้นที่ที่ “เป็นสัญญะของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่น่าสนใจ” รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กล่าวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 หรือ 10 วันหลังจากที่ทีมหมูป่าอะแคเดมีออกจากถ้ำครบทุกคนแล้ว เหตุการณ์ช่วยเหลือหมูป่าติดถ้ำหลวงยืนยันว่าที่จริงแล้ว “เราต้องการแค่ความสุขที่ได้มีชีวิตรอด ได้หยิบยื่นชีวิตและโอกาสให้กับคนอื่น ความสุขที่ได้ ‘บำเพ็ญ’ เป็นความสุขที่ลืมตัวตน” และในฐานะนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ อาจารย์ตรีศิลป์ยังบอกว่า “เรื่องนี้เป็นวิกฤต ลุ้นระหว่างความเป็นความตาย…เป็นเรื่องเล่ามหากาพย์ของทุก ภาคส่วน ทุกคนอยากมีส่วนร่วม และกลับบ้านไป ไม่ต้องการเป็นพระเอก ทุกคนคิดว่าจะช่วยได้อย่างไร” จริงดังนั้น ปฏิบัติการที่มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 10,000คน กินนอนอยู่ด้วยกันเกือบสามอาทิตย์ราวกับเป็นอำเภอขนาดเล็กของประเทศไทย ทำงานอย่างร่วมมือร่วมใจกัน จู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นก่อนจะสลายไป ภายในชั่วเวลาเกือบสามอาทิตย์เมื่อปลายเดือนมิถุนายนต่อกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

“เราเห็นความดีแสดงออกมาในชีวิตจริง เห็นความงามของความเป็นมนุษย์ และเห็นความจริง ว่า สังคมไทยยังไม่หมดหวัง” อาจารย์ตรีศิลป์กล่าวและชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ เป็นพื้นที่ชายขอบที่มีความหลากหลายของผู้คนมาตั้งแต่โบราณกาล เหตุการณ์ที่แม่สายจึงเป็นภาพแทนของสังคมไทย “ที่มีความหลากหลาย มีหลายชาติพันธุ์ มีเขยฝรั่ง [ที่เข้ามาช่วยเหลือ] และเด็กไทยที่เราอยากให้เป็นคือทีมหมูป่า”

นั่นคือเป็นเด็กที่เอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติได้ มีอัธยาศัย รู้จักขอบคุณและไถ่ถาม สื่อสารกับคนชาติอื่นได้ (ความจริงส่วนหนึ่งคือเป็นเด็กไร้สัญชาติ และเรียนภาษาอังกฤษจากสาธุคุณชาวพม่าจากโบสถ์แบปติสต์ขนาดเล็กที่แม่สาย) รู้สึกสำนึกผิด ขอโทษ อยากแก้ไข ซาบซึ้งและทดแทนบุญคุณ คุ้มค่ากับความช่วยเหลือ ซึ่งอาจารย์ตรีศิลป์กล่าวว่า เป็นคุณภาพอันเป็นโมเดลของการศึกษาไทย “อุดมคติที่เราอยากให้เป็น”

13 หมูป่า
ทีมดำนํ้าทั้งชาวไทยและต่างชาติจับมือทักทายและให้กำลังใจแก่กัน พร้อมนำเสบียงอาหารดำนํ้าเข้าไปภายในถํ้าหลวง เพื่อส่งให้กับทีมหมูป่าอะคาเดมีในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่นักดำถํ้าชาวอังกฤษพบตัวทั้ง 13 คน

เราอาจเรียกปฏิบัติการช่วยเหลือที่ถ้ำหลวงหรือปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะแคเดมีว่าเป็นนาฏกรรม เป็นเรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย เป็นปรากฏการณ์ เป็นต้นแบบของสังคมที่ทุกคนอยากมีก็ได้ และเรื่องเล่าที่ครบองค์ประกอบเช่นนี้พัฒนาจากเรื่องราวในท้องถิ่นห่างไกลที่น้อยคนจะรู้จัก สู่การเป็นข่าวระดับโลกที่มีผู้ติดตามซึ่งเป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี สมเด็จพระสันตะปาปา เจ้าของบริษัทวิศวกรรมอวกาศ หรือโค้ชฟุตบอลระดับโลกที่ยังต้องเอ่ยถึงในทวิตเตอร์ ในการสวดขอพรพระเจ้า และในการให้สัมภาษณ์สื่อ

ความเป็นสากลเกิดขึ้นเมื่อเป้าประสงค์ของการช่วยเหลือเป็น “เด็ก” ซึ่งเป็นทั้งนักฟุตบอลท่ามกลางบรรยากาศฟุตบอลโลกปี 2018 กำลังแผ่ไปทั่ว / มีพาหนะเป็นจักรยาน ที่ตรงข้ามกับการแว๊นมอเตอร์ไซค์ / มีภาพของความรักสิ่งแวดล้อม / และเป็นภาพแทนของความหลากหลายทางเชื้อชาติ (และไร้สัญชาติ) จากภาพถ่ายทีมหมูป่าและโค้ชบนดอยผาหมีที่ระบุพรมแดนไทย พม่า ลาว ซึ่งถ้าเลยขึ้นไปอีกก็เป็นจีน

ที่สำคัญ ปฏิบัติการช่วยหมูป่าทำให้เกิดสิ่งที่คนไทยอยากเห็นเป็นครั้งแรก หรือไม่เคยคาดคิดว่าจะได้พบเจอหลายประการ อาจารย์ตรีศิลป์กล่าวว่า เป็นปฏิบัติการที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อน คือ “มีแผนการ มีการซ้อมทุกอย่าง แม้กระทั่งการขนย้าย มีการให้ข่าวที่เหมาะสม เป็นการจัดการที่เราไม่ค่อยเห็นในสังคมไทย และการรับฟังประชาชนของภาครัฐ” ซึ่งอาจรวมถึงการใช้ยาสลบและการลำเลียงเด็กจากการตัดสินใจในภาวะคับขันอาจถือเป็นโนว์ฮาวใหม่ สิ่งประดิษฐ์อย่างเรือดำน้ำน้อยหมูป่าของอีลอน มัสก์ คุณสมบัติอันมหัศจรรย์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพึงมี วิชาชีพทหารที่ทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ ในขณะเดียวกันเมื่อมองจากภายนอก ก็เกิดสภาวะ “งานบุญ” หรือการร่วมแรงร่วมใจที่ชาวต่างชาติไม่เคยเห็น

13 หมูป่า
ไปรษณียบัตรกว่า 1,000 ใบจากทั่วประเทศส่งมายัง อบต. โป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อให้กำลังใจทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถํ้าหลวงและอาสาสมัครผู้ปฏิบัติงาน

คนในสังคมเกิดการเรียนรู้และรู้จักเรื่องใหม่ๆ ที่ตนไม่เคยได้ยินมาก่อน ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ อย่างการจัดการน้ำที่ไหลเข้าถ้ำบนภูเขาหินปูน (สูบน้ำ ทำฝายเบี่ยงทางน้ำ ทำไซฟ่อนหรือกาลักน้ำไปยังจุดอื่น) การดำน้ำในถ้ำ และนักดำน้ำถ้ำ ชื่อสมาคมน้ำบาดาลไทย ไปกระทั่งเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรู้ เช่น หน่วยซีลบูมว่า “ฮูย่า” ที่สำคัญผู้ชมยังสนใจวิธีการนำเสนอข่าวของสื่อ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถาม และตรวจสอบจากนักวิชาการวงการเดียวกันจนเกิดการเรียกร้องให้มีแนวทางการทำงานของสื่อที่พึงประสงค์ ในขณะเดียวกันสื่อก็ทำให้ผู้ชมทั้งหมดได้เห็นว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปอย่างร่วมมือร่วมใจ (collective) และจิตอาสาที่ทำหน้าที่สามัญที่สุด ก็ไม่ได้สำคัญน้อยกว่านักดำน้ำถ้ำชั้นยอด วิศวกรหัวกะทิ หรือหัวหน้าหน่วยซีลเลย

วรรคทองจากเพลงอมตะอย่าง Imagine ที่ว่า “Imagine there’s no countries” [ลองนึกภาพถว่าไม่มีประเทศแบ่งแยกเรา] กับ “The world will live as one” [โลกทั้งผองเป็นหนึ่งเดียว] ที่ “พี่สุธี” หรือ สุธี สมมาตร ครูสอนปีนหน้าผาจากกระบี่วัย 45 ปี ร้องตอบนักข่าวสาวจากออสเตรเลียที่ถามว่า ทำไมเหตุการณ์นี้ทั้งหมดจึงจับใจคน จึงเป็นสองวรรคคำตอบที่จับประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิด ณ ถ้ำหลวงอย่างถึงแก่น

เรียบเรียง นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร / Thai News Pix

13 หมูป่า
ตำรวจจากกองร้อยกู้ชีพค่ายนเรศวร ซ้อมโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเตรียมความพร้อม ในกรณีที่ต้องมีการโรยตัวลงโพรงหรือปล่องในจุดที่ไม่สามารถเดินเท้าเข้าถึงได้
13 หมูป่า
ดอยนางนอนซึ่งเป็นที่ตั้งของถํ้าหลวง-ขุนนํ้านางนอน เมื่อมองจากจุดชมวิวอำ เภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย กลับคืนสู่ความเงียบสงบหลังเหตุการณ์เกือบสามสัปดาห์ที่คนทั่วโลกจับตามองปิดฉากลง

 

อ่านเพิ่มเติม

ศึกษาภาพสามมิติของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดยจิสด้า

Recommend