อเคนาเตน ฟาโรห์ผู้พลิกฟ้าคว่ำดิน

อเคนาเตน ฟาโรห์ผู้พลิกฟ้าคว่ำดิน

ไม้เป็นของหายากในอียิปต์ และมีกฎหมายจำกัดการใช้ดินตะกอนน้ำพาอันมีค่ามาทำอิฐ ดังนั้นหินปูนจึงยังคงเป็นวัสดุสำคัญ ในการก่อสร้าง วิหารและพระราชวังของอเคนาเตนสร้างด้วยหินก้อนซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ตะละตัต (talatat – ภาษาอาหรับแปลว่า “สาม”) ซึ่งคนงานคนเดียวก็ยกขึ้นและช่วยให้ก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว

หลังการค้นพบดังกล่าว  นักโบราณคดีและนักชีวโบราณคดีใช้เวลาเกือบสิบปีในการขุดค้นและวิเคราะห์สุสานแห่งใหญ่ที่สุดในจำนวนสี่แห่ง  พวกเขาเก็บตัวอย่างโครงกระดูกได้อย่างน้อยจาก 432 ร่าง   จากหลุมศพที่สามารถระบุอายุเจ้าของขณะเสียชีวิตได้  ร้อยละ 70 เสียชีวิตก่อนวัย 35 ปี  และมีเพียง 9 คนเท่านั้นที่ดูเหมือนมีอายุเกิน 50 ปี  มากกว่าหนึ่งในสามเสียชีวิตก่อนอายุ 15 ปี รูปแบบการเจริญเติบโตของเด็กถูกชะลอออกไปให้ช้ากว่าปกติราวสองปี  ผู้ใหญ่หลายคนมีความผิดปกติของกระดูกสันหลัง  นักชีวโบราณคดีเชื่อว่านี่เป็นหลักฐานถึงการที่คนเหล่านี้ถูกใช้งานหนักเกินตัว อาจเพื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ก็เป็นได้

“นี่ไม่ใช่กราฟเส้นโค้งตามปกติของการตายอย่างแน่นอนค่ะ” แอนนา สตีเวนส์ นักโบราณคดีชาวออสเตรเลียผู้นำการขุดค้นสุสานเหล่านี้ บอก “และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่แถวนั้นมีเหมืองหินปูนของฟาโรห์อยู่ด้วย หรือว่านี่คือคนงานที่ถูกเกณฑ์มาเพราะอายุยังน้อย และอาจถูกบังคับให้ทำงานจนตาย” ในความเห็นของเธอ สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ “น่าจะเลิกคิดไปได้เลยว่า อมาร์นาเคยเป็นเมืองที่น่าอยู่ค่ะ”

พ่อค้าเร่ในกรุงไคโรขายหน้ากากรูปอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีอียิปต์เมื่อปี 2014 อดีตนายพลผู้เป็นที่นิยมรายนี้ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งร้อยละ 97 หลังเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ประกาศว่า จะสร้างเมืองหลวง แห่งใหม่ขึ้นในทะเลทรายทางตะวันออกของกรุงไคโรที่ทำให้นึกถึงเมืองหลวงในทะเลทรายของอเคนาเตนที่อมาร์นา “สมัยโน้นเป็นเช่นไร สมัยนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น” แอนนา สตีเวนส์ นักโบราณคดี บอก “ทุกคนสนับสนุนซิซีเพราะเขาเป็นผู้นำ ที่เข้มแข็งค่ะ”

สำหรับอเคนาเตน อมาร์นาคือตัวแทนของวิสัยทัศน์อันล้ำลึก “ไม่มีข้าราชบริพารคนใดชี้แนะข้าในเรื่องนี้” พระองค์ทรงบันทึกไว้อย่างภาคภูมิว่าด้วยการสร้างเมืองหลวงใหม่แกะกล่องของพระองค์  ทรงเลือกทะเลทรายกว้างใหญ่ผืนหนึ่งซึ่งยังไม่ เคยมีใครรุกล้ำบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์เป็นที่ตั้ง  เพราะยังไม่แปดเปื้อนจากการสักการะเทพองค์ใดมาก่อน

พระองค์ยังอาจได้แรงจูงใจจากตัวอย่างของพระบิดาด้วย  นั่นคืออเมนโฮเทปที่สามผู้ทรงเป็นนักสร้างอนุสาวรีย์ วิหาร และพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์อียิปต์  ทั้งสองพระองค์เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ที่สิบแปดซึ่งครองอำนาจหลังปราบพวกฮิกซอส (Hyksos) ที่เข้ามารุกรานอิยิปต์ตอนเหนือ ในการขับไล่ชาวฮิกซอส บรรพบุรุษของราชวงศ์ที่สิบแปดซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางใต้ของอียิปต์  ได้นำนวัตกรรมสำคัญๆ จากศัตรูเหล่านี้มาใช้ด้วย  ซึ่งรวมถึงรถม้า และคันธนู  ชาวอียิปต์สร้างทหารอาชีพขึ้นมา และราชวงศ์ที่สิบแปดก็มีกองทัพประจำการตลอดเวลา  แตกต่างจากราชวงศ์ส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้

ในที่สุดจักรวรรดิก็แผ่ขยายจากดินแดนที่ปัจจุบันคือซูดานไปจรดซีเรีย  ชาวต่างชาตินำความมั่งคั่งและทักษะมาสู่ราชสำนักอียิปต์  ในรัชสมัยของอเมนโฮเทปที่สาม ผู้ครองราชย์ตั้งแต่ราว 1390 ถึง 1353 ปีก่อนคริสตกาล และตลอดรัชสมัยของอเคนาเตน ศิลปะของราชวงศ์เปลี่ยนไปในแนวทางที่ปัจจุบันอาจเรียกว่า  มีลักษณะเป็นธรรมชาติมากขึ้น

เรื่อง ปีเตอร์ เฮสส์เลอร์

ภาพถ่าย เรนา เอฟเฟนดี

 

อ่านเพิ่มเติม: ตุตันคามุน : ย้อนรอยการค้นพบสุสานฟาโรห์ผู้โด่งดัง

Recommend