น้ำท่วมกรุงเทพ พุทธศักราช 2485
สยามประเทศได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ นครหลวงอย่างกรุงเทพฯนั้นเล่าก็ได้ฉายาว่า “เวนิสแห่งโลกตะวันออก” เพราะมากด้วยลำคลองน้อยใหญ่ ทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำลำคลองเอ่อท้นล้นฝั่งเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนผู้คนจนต้องระดมความช่วยเหลือกันเป็นการใหญ่ แม้จะเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า แต่ชาวสยามก็ขึ้นชื่อว่าสามารถปรับตัวได้เป็นเลิศ ดังสะท้อนให้เห็นในภาพเก่าเล่าเรื่องชุด น้ำท่วมกรุงเทพ พุทธศักราช 2485
เรียบเรียง มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ
ภาพถ่าย หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สิบปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยในพุทธศักราช 2485 ถือเป็นยุคแห่งการปรับตัวของประชาชนในหลายๆ ด้าน บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะลำบากยากเข็ญจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ลุกลามไปทั่วโลก การถือกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปีเดียวกัน ทำให้ประเทศชาติเกิดความระส่ำระสาย เพราะผู้นิยมในลัทธิต้องการแบ่งแยกดินแดน รัฐบาลที่นำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม จึงต้องปราบปรามการก่อการร้ายเพื่อรักษาความมั่นคงและอธิปไตยภายในพระราชอาณาจักร นอกจากประกาศนำนโยบาย ”รัฐนิยม” มาใช้เพื่อปลุกใจคนไทยให้รักชาติแล้ว อนุสรณ์สถานการเมืองและการศึกสงครามที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ล้วนเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เช่นกัน
ขณะที่ความบอบช้ำของภัยสงครามยังไม่ทันจางหาย ปลายเดือนกันยายน ปีเดียวกันนั้นเอง ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แผ่ขยายไปทั่วทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี เมื่อน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องรองรับน้ำปริมาณมหาศาลจากทางเหนือในยุคที่ยังไม่มีเขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เอ่อท้นเข้าท่วมจนหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯกลายสภาพไปไม่ต่างจากทะเลสาบกลางเมือง ระดับน้ำบางแห่งสูงกว่าสองเมตรครึ่ง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการคมนาคมทางบก เช่น รถไฟ รถรางและรถเมล์
กระนั้น ท่ามกลางความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่กินเวลาประมาณเดือนเศษนี้ ผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวดูจะตื่นตาตื่นใจและเพลิดเพลินไปกับการสัญจรหลักทางเรือเป็นอย่างมาก นัยว่าเป็นวิธีผ่อนคลายจากนานาปัญหาของประชาชนอย่างหนึ่งในสมัยนั้น
อ่านเพิ่มเติม