เปิดหน้าดินเมืองลำปาง ค้นหานักบินผู้หายสาบสูญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เปิดหน้าดินเมืองลำปาง ค้นหานักบินผู้หายสาบสูญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อ 77 ปีก่อน นักบินอเมริกันได้สูญหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภารกิจค้นหาเพื่อพาเขากลับมาตุภูมิจึงเกิดขึ้น

ผืนดินเก็บงำอดีตเอาไว้ราวกับความลับ มันถูกพลิกไถไปตามฤดูกาล พืชพันธุ์นานาชนิดงอกเงยขึ้นมาหล่อเลี้ยงผู้คน ใต้ผืนดินเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่แห่งสำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (DPAA) กำลังขุดหาชิ้นส่วนเครื่องบินล็อกฮีด พี-38 ไลท์นิง รวมถึงหลักฐานยืนยันอัตลักษณ์ของนักบินผู้สูญหายระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศเมืองทางตอนเหนือของประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

จากเมืองลำปางลงไปทางทิศใต้ด้วยระยะทาง 40 กิโลเมตร ทุ่งนาท้ายหมู่บ้านแม่กัวะ อำเภอสบปราบ ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี ธงสีขาวปักบนดินคล้ายฝูงนกกระยางนาหากินในทุ่ง สถานีคัดกรองวัตถุด้วยแรงดันน้ำถูกสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ห้องน้ำเคลื่อนที่ติดตั้งไว้ปลายนาด้านหนึ่ง เครื่องสูบน้ำและเครื่องปั่นไฟคือแหล่งพลังงานขับเคลื่อนภารกิจนี้ 

นาผืนนี้คือตำแหน่งที่เครื่องบิน พี-38 ประสบอุบัติเหตุตกลงเมื่อ 77 ปีก่อน นักบินยศร้อยโทเป็นความลับของประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังเพิ่งค้นพบ ภารกิจค้นหาเพื่อพาเขากลับบ้านจึงเริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 

นักบิน สงครามโลกครั้งที่ 2

ชาวบ้านแม่กัวะเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า ‘หลังเทิน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายพักอยู่บริเวณที่ชาวบ้านแม่กัวะเรียกว่า ‘หลังเทิน’ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังขนาดใหญ่ของชาวบ้านแม่กัวะ อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

การค้นหาทหารอเมริกันผู้สูญหายจากความขัดแย้งและสงครามในอดีตคือภารกิจหลักของสำนักงาน DPAA ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้ง 1, สงครามโลกครั้งที่ 2, สงครามเกาหลี, สงครามเวียดนาม, สงครามเย็น, สงครามอ่าว และทุกสงครามที่สหรัฐอเมริกาก้าวเท้าเข้าไปในความขัดแย้ง ไม่ว่ารอยเท้าคู่นั้นจะถูกมองว่าเป็นก้าวย่างของพระเอกหรือรอยเหยียบย่ำของผู้ร้าย แต่ข้อเท็จจริงก็คือทหารอเมริกันกว่า 82,000 คนยังคงสูญหาย 

“หนึ่งในนั้นอาจเป็นนักบินที่เครื่องบินตกที่นี่ เรากำลังติดตามครับ” ไมเคิล ฮีท อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางมายังหมู่บ้านแม่กัวะช่วงต้นเดือนมีนาคม 

“เรายังคงมุ่งมั่นหาข้อมูลของผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถเพื่อนำพวกเขากลับสู่มาตุภูมิและครอบครัว” 

ผืนธงสีดำเต้นรำในเพลงลม มันปักอยู่บนเสาไม้เหนือสถานีคัดกรอง มีข้อความบนธงระบุว่า You Are Not Forgotten ความหมายของคำนี้ย่อมปักลงในหัวใจของคนที่รอคอย นัยยะของวลีแสนเรียบง่ายนี้ยังบ่งว่า การจดจำคือภารกิจที่คนรุ่นปัจจุบันมีต่อประวัติศาสตร์

นักบินสูญหาย สงครามโลกครั้งที่ 2

นาผืนนี้คือตำแหน่งที่เครื่องบิน พี-38 ประสบอุบัติเหตุตกลงเมื่อ 77 ปีก่อน มันถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี สถานีคัดกรองวัตถุด้วยแรงดันน้ำถูกสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางทุ่งนา หลังเวลา 16.30 น. จะมีเวรยามมานอนเฝ้าไซต์ขุดคืนละ 3 คน ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

เจนาวี เอ็ม เวียร์เนส หัวหน้าทีมขุดค้นในภารกิจนี้ บอกว่า “ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหนของมุมโลก เราจะตามหาให้เจอค่ะ เพราะทุกความขัดแย้งในอดีตที่เราเคยมีส่วนร่วม มีคนอเมริกันสูญหาย เราต้องแจ้งข่าวให้ครอบครัวของเขาทราบชะตากรรม”

ในทุกภารกิจการค้นหา พวกเขาต้องพึ่งพานักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูล “ทีมสอบสวนจะเดินทางไปทั่วโลกค่ะ หลังจากนักประวัติศาสตร์ได้วิเคราะห์หลักฐานมาแล้ว เราจะส่งทีมสอบสวนไปพูดคุยกับพยานในพื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลจากพยานที่จะช่วยชี้ทางให้ทีมขุดค้นทำงานต่อค่ะ” เจนาวี เล่า

เจนาวี และลูกทีมอีก 8 คน ประกอบด้วยแพทย์สนาม, ผู้ช่วยการสืบหา, นักโบราณคดี, ช่างสรรพาวุธวัตถุระเบิด, ช่างภาพ และผู้ช่วยทีมงาน ทำงานร่วมกับแรงงานพื้นถิ่นชาวไทย 30 คนในการค้นหาเครื่องบินรุ่น พี-38 ที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อปี 1944 พวกเขาทำงานหนักท่ามกลางแสงแดดเดือนมีนาคม ไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษในการนั่งบัญชาการใต้ร่มผ้าใบสีฟ้าระหว่างชั่วโมงทำงาน นี่จึงเป็นวัฒนธรรมที่ดูแปลกไปจากความคุ้นเคยของแรงงานชาวไทยที่สมัครเข้าร่วมภารกิจ

ค้นหานักบิน

บริเวณ ‘หลังเทิน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายพักอยู่บริเวณที่ชาวบ้านแม่กัวะเรียกว่า ‘หลังเทิน’ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังขนาดใหญ่ของชาวบ้านแม่กัวะ อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร แรงงานรับจ้างได้ค่าแรงวันละ 300 บาทในการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังตลอดทั้งวัน เขากำลังเก็บเกี่ยวมันลำปะหลังเพื่อนำไปให้เจ้าของไร่มันนำไปขายที่ลานรับซื้อในกิโลกรัมละ 2.30 บาท ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

“ผมชอบที่ประเทศของเขาไม่มีการแบ่งชนชั้นว่านี่คือนายใหญ่นี่คือผู้น้อย ทุกคนทำงานเต็มที่เท่ากัน” นี่คือข้อสังเกตของ เจ-อมรพัน คำภีระ หัวหน้าคนงานของภารกิจค้นหา เขารักที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ กล้าที่จะนำเสนอความคิดเห็น กระตือรือร้น โดดเด่น และฉลาด 

ก่อนหน้านี้ เจใช้เวลา 8 ปีในโรงงานอุตสาหกรรมที่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เมื่อกลับบ้านเกิดจึงช่วยครอบครัวขุดมันสำปะหลัง กระทั่งโครงการขุดหาเครื่องบิน พี-38 รับสมัครแรงงานชาวไทย เขาไม่ลังเลที่จะเข้าร่วม

หากพื้นที่ตรงไหนมีสัญญาณการค้นพบโลหะหลังจากสำรวจด้วยเครื่องตรวจโลหะ ธงสีขาวจะถูกปักลง เพื่อทำเครื่องหมายในการขุดในวันต่อไป  ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

“ของชิ้นแรกที่ผมเจอทำให้ทุกคนฮือฮาเลยครับ” เจขุดพบชิ้นส่วนพลาสติกซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายนักบิน มีข้อความว่า Made in USA “แต่คำว่า made in มันเลือนหายไปมากแล้ว เหลือคำว่า USA ที่ยังชัด เวลาที่เจอกระดูก เราก็ยังไม่รู้ว่ามันเป็นกระดูกคนหรือสัตว์ใช่ไหมครับ เพราะต้องรอไปตรวจดีเอ็นเอที่ฮาวาย แต่พอเจอพลาสติกหรือโลหะหรือซิปที่อาจจะเป็นเครื่องแต่งกายของนักบิน ก็ทำให้ทุกคนมีความหวัง”

ด้วยวัย 40 ปี เจต้องดูแลคนงานรุ่นพ่อแม่ของเขาอีก 30 ชีวิต “พวกคนงานชอบมาอยู่ใกล้ผม เพราะเขาอยากได้เลข มึงเห็นอะไรบ้าง มึงเจออะไรบ้าง ชาวบ้านลุ้นกับผมมาก เขาเอาเลขไปซื้อหวย มีงวดหนึ่งที่ชาวบ้านถูกหวยนะ” เจ เล่า  

Wet Screening Station คือสถานีคัดกรองหลักฐานก่อนจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา ขั้นตอนนี้เองที่จะทำให้แยกได้ว่ามันเป็นวัตถุประเภทไหนเป็นโลหะหรือกระดูก ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ทีมค้นหาทำงานเหมือนเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มากที่สุดเพื่อนำหลักฐานที่ค้นพบกลับไปยังสำนักงานใหญ่ที่ฮาวายในช่วงต้นเดือนเมษายน เพราะในเดือนพฤษภาคม บัญชา อุดใจ เจ้าของนาผืนนี้จะเริ่มต้นปลูกข้าวในฤดูกาลผลิตใหม่ 

ก่อนเริ่มงานในเวลา 8.30 น. คุณหมอฟิลิปส์จะตรวจอุณหภูมิร่างกายและแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้คนงานทั้ง 30 ชีวิต คนงานจะได้รับโจทย์ที่ทีมผู้เชี่ยวชาญต้องการเน้นย้ำในแต่ละวันจากล่ามชาวไทย งานถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน งานขุดในหลุมกับงานคัดกรองหลักฐานบน Wet Screening Station 

พวกเขาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ทำซ้ำๆ ในสิ่งที่ทำกันมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มภารกิจ เริ่มจากตรวจจับโลหะใต้พื้นดิน หากตรงไหนมีสัญญาณบ่งถึงหลักฐานที่กำลังตามหา ธงสีขาวจะถูกปักลง จากนั้นนักโบราณคดีของทีมจะช่วยนำทางว่าต้องขุดตรงไหนและขุดอย่างไร ดินที่ได้จากการขุดจะถูกทำให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วโกยใส่ถังสีดำ คนงานหญิงชายวัยกลางคนและชราต่อแถวเหมือนมดงานลำเลียงถังใส่ดินไปยัง Wet Screen Station คนงานที่รับถังมาจะนำดินแช่น้ำเพื่อให้ดินเปื่อยแล้วลำเลียงขึ้นสถานีคัดกรองที่ก่อสร้างหยาบๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Wet Screen ทุกอย่างที่ไม่ใช่หินหรือกิ่งไม้ก็จะถูกเก็บใส่ถังนำมาให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาหลักฐาน

“ขั้นตอนนี้เองที่จะทำให้เราแยกได้ว่ามันเป็นวัตถุประเภทไหน โลหะหรือกระดูก” เจนาวี บอกว่า หลักฐานที่ขุดพบจะถูกนำกลับไปที่ห้องแล็บในฮาวาย เพื่อตรวจหาความเชื่อมโยงกับตัวอย่าง DNA ที่เก็บจากสมาชิกครอบครัว 

การพบหลักฐานที่อาจจะเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะนำทางทีมค้นหาให้เข้าใกล้ตัวตนของนักบินยศร้อยโทผู้ขับเครื่องบิน พี-38 ตลอดสองเดือนของภารกิจ พวกเขาค้นพบชิ้นส่วนของเครื่องบินหลายชิ้น และชิ้นส่วนที่อาจจะเป็นกระดูก ซึ่งต้องรอผลการตรวจในห้องแลปที่ฮาวายต่อไป  ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

เฟรดดี้ สมิธ ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ซากเครื่องบิน บอกว่า ตอนนี้เขาพบชิ้นส่วนเคลือบผิวภายนอกเครื่องบิน (Aircraft Skin) และสกรู “แต่ยังไม่เจอส่วนสำคัญๆ ครับ นอกจากนี้เรายังเก็บชิ้นส่วนบนเครื่องแบบนักบินได้ด้วย” เฟรดดี้ เล่า

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการเก็บกู้เกือบสิ้นสุดภารกิจนี้แล้วค่ะ เรามีเวลาเหลือที่นี่ไม่มาก” เจนาวี บอก

ปวง กาปะละ เป็นมือขุดเปิดหน้าดินในหลุมขุด นี่คืองานที่ต้องออกแรงอย่างยิ่ง การเลี้ยงวัว 20 ตัว ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตองและมันสำปะหลังมาทั้งชีวิตช่วยบ่มเพาะกล้ามเนื้อและรูปร่างให้เหมาะกับงานขุด ผมถามปวงว่า ออกแรงขุดมาร่วมเดือนแล้ว คิดอย่างไรกับหลักฐานที่จะเชื่อมโยงไปยังตัวตนของร้อยโทหนุ่มที่กำลังค้นหา “มีแน่นอนครับ เพราะคนสมัยก่อนเขาบอกเล่ากันมา ร่างครึ่งหนึ่งของเขาถูกเผาอยู่ตรงนี้ แต่อีกครึ่งฝังไว้อีกแห่ง”

เหตุการณ์ในคราวนั้นถูกเล่าขานต่อกันมา ระหว่างคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่น เรื่องราวถูกเสริมเเต่งจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปรัมปรา ไม่มีใครในไซต์งานแห่งนี้เกิดทันเหตุการณ์ที่เวลาล่วงไป 77 ปี ชาวบ้านต่างบอกเล่าถึงสิ่งที่เคยได้ยินมาจากคนรุ่นก่อน บ้างว่าร่างของนักบินขาดเป็นสองท่อน / บ้างว่าวันนั้นเป็นวันที่มีฝนฟ้าคะนอง / บ้างว่าเครื่องบินระเบิดเป็นเสี่ยง / บ้างว่าเครื่องบินถูกข้าศึกยิงตกลงมา แต่ยืนยันตรงกันว่า ชาวบ้านช่วยกันจัดการร่างนักบินที่เหลือเพียงครึ่งตามพิธีทางศาสนาพุทธ 

ผืนดินเก็บงำอดีตเอาไว้ราวกับความลับ มันถูกพลิกไถไปตามฤดูกาล พืชพันธุ์นานาชนิดงอกเงยขึ้นมาหล่อเลี้ยงผู้คน กิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้หลักฐานกระจัดกระจายจนยากแก่การค้นหา แต่กระนั้น เจนาวีก็เชื่อมั่นและมีความหวังว่าจะได้พบชิ้นส่วนที่สามารถบ่งบอกตัวตนของนักบินหนุ่มรุ่นปู่ 

“เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำเขากลับคืนสู่ครอบครัวค่ะ” หัวหน้าทีมขุดค้น บอก

เรื่องราวการสืบหาเครื่องบิน พี-38 

ชวนให้นึกถึงประโยคจับใจที่เผยให้เห็นความเป็นไปได้ไม่รู้สิ้นของประวัติศาสตร์ “ประวัติศาสตร์ คือ ความแน่นอนที่ถูกผลิตขึ้น ณ จุดที่ความไม่สมบูรณ์แบบของความทรงจำมาพบกับความไม่เพียงพอของเอกสารหลักฐาน” นี่คือประโยคในนวนิยาย The Sense of an Ending ของ จูเลียน บาร์นส์

ร่องรอยของเครื่องบิน พี-38 และนักบินหนุ่มปรากฎขึ้นบนความขาดแคลนของเอกสารหลักฐานและความขาดพร่องของความทรงจำ ที่สำคัญไปกว่านั้น นักประวัติศาสตร์ค้นพบเบาะแสของพี-38 โดยบังเอิญในระหว่างการค้นหาเครื่องบินรบอีกลำซึ่งถูกทหารอากาศไทยยิงตกในการสู้รบทางอากาศเหนือเมืองลำปางเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1944 เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกเรียกขานว่า ยุทธเวหาลำปาง 

เครื่องบินรบสมรรถนะสูง พี51 มัสแตง ถูกทหารไทยยิงตกบริเวณดอยฝรั่ง เขตบ้านทรายใต้ อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต หลายปีมาแล้วที่สำนักงาน DPAA ได้เข้ามาวิเคราะห์ลักษณะการตกและการระเบิดของเครื่องบิน นักประวัติศาสตร์เดินทางมาสอบสวนข้อเท็จจริง พูดคุยกับพยานบุคคลในพื้นที่ กระทั่งมีการสำรวจค้นพบซากเครื่องบินลำนี้ ในอนาคตจะมีการขุดค้นหาหลักฐานเพื่อค้นหากระดูกของร้อยโทหนุ่มวัย 23 ผู้เป็นนักบินเครื่องบินรบ พี51 มัสแตง

การค้นหาเครื่องบิน พี-38 ดำเนินไปด้วยความแน่นอน แต่เป็นความแน่นอนในมุมมองของจูเลียน บาร์นส พวกเขาเริ่มจากความไม่เพียงพอของเอกสารหลักฐาน แดเนียล แจ็คสัน ผู้เขียนหนังสือ Fallen Tigers: The Fate of America’s Missing Airmen in China During World War II ร่วมกับ แฮค ฮาแคนสัน นักประวัติศาสตร์สมัครเล่นชาวอเมริกันผู้พำนักในเชียงใหม่ ทั้งสองได้รับการช่วยเหลืออย่างมากจากพลเอกศักดิ์พินิจ พร้อมเทพ อดีตทหารอากาศผู้ร่วมเดินทางไปค้นหาซากเครื่องบินบนดอยฝรั่ง จนพบชิ้นส่วนของ พี51 มัสแตง

แต่ระหว่างการสืบค้นร่องรอยของ พี51 มัสแตง พลเอกศักดิ์พินิจ พบเอกสารฉบับหนึ่งจากพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศไทย เป็นเอกสารที่บันทึกเหตุการณ์เครื่องบิน พี-38 ประสบอุบัติเหตุตกลงในหมู่บ้านแม่กัวะ เอกสารดังกล่าวลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 1944 ระบุถึงการส่งผู้บังคับฝูงบิน 16 ไปร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อตรวจเหตุเครื่องบินตกที่บ้านกัวะ กิ่งอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง 

เจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปตรวจการพบเครื่องบิน พี-38 ในสภาพชำรุดหาชิ้นดีไม่ได้ พบกะโหลกศีรษะคน 1 กะโหลก สาเหตุการตกของเครื่องบินลำนี้ถูกระบุว่า ฟ้าผ่าในอากาศ นายทหารบกผู้ไปถึงที่เกิดเหตุได้พบแผนที่เดินทาง รูปถ่ายลำปาง, เชียงใหม่, ลำพูน และห้างฉัตร รวมถึงสมุดคู่มือสนทนาภาษาต่างๆ 

เอกสารยังระบุว่า “เนื่องจากเครื่องบินชำรุดมาก จึงติดต่อให้ปลัดกิ่งอำเภอสบปราบทราบว่า กองทัพอากาศไม่ต้องการชิ้นส่วนใดๆ

ดินที่ได้จากการขุดจะถูกทำให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วโกยใส่ถังสีดำ คนงานหญิงชายวัยกลางคนและชราต่อแถวเหมือนมดงานลำเลียงถังใส่ดินไปยัง Wet Screening Station ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

หลักฐานที่ถูกระบุว่าพบในเครื่องบินลำนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่เดินทาง รูปถ่ายเมืองลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และห้างฉัตร ตรงกับภารกิจที่นักบินหนุ่มได้รับมอบหมาย เอกสารจากทั้งกองทัพสหรัฐและไทยต่างช่วยกันเรียบเรียงจุดเริ่มต้นและจุดจบที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน พี-38 

แฮค ฮาแคนสัน เรียบเรียงเหตุการณ์และสร้างแผนที่การบินในเช้าวันอาทิตย์ที่ร้อยโทหนุ่มคนนั้นออกไปทำภารกิจขึ้นมาได้ว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์ยุทธเวหาเมืองลำปาง 6 วัน ร้อยโทหนุ่มสังกัดหน่วย 35th Photo Reconnaissance Squadron ออกเดินทางด้วยเครื่องบิน พี-38 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบสมรรถนะสูง แต่ พี-38 ลำที่นักบินหนุ่มขับไปทำภารกิจได้ถูกถอดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อลดน้ำหนักและทำให้มีที่ว่างสำหรับอุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศ จากฐานทัพทางอากาศในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เขาออกเดินทางในเวลา 10.15 วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 1944 ภารกิจของเขาคือถ่ายภาพทางอากาศเหนือเมืองของศัตรู จุดหมายแรกคืออุตรดิตถ์ จากนั้นเขาต้องบินไปยังเชียงใหม่ วันนั้นเป็นวันที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ระหว่างการเดินทางฟ้าแลบฟาดเข้าใส่เครื่องบินลำนี้ เครื่องบินตกที่หมู่บ้านแม่กัวะ แผนการเดินทางในวันนั้นที่วางไว้มีระยะทาง 1,800 กิโลเมตร หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ภารกิจนี้จะใช้เวลา 5 ชั่วโมง แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดไปแล้ว 77 ปี ร้อยโทหนุ่มยังไม่ได้กลับบ้าน

หลังจากสงครามสิ้นสุด กองทัพสหรัฐได้ส่งทีมเข้ามาค้นหาเครื่องบิน พี-38 แต่ไม่พบ จึงระบุสถานะของนักบินว่าเป็นผู้สูญหายระหว่างสงคราม กระทั่ง 61 ปีต่อมา การสูญหายของเขาปรากฎในเอกสารกองทัพอากาศไทยและความทรงจำของคนในหมู่บ้านแม่กัวะ

ฟอง อินมา หญิงชราอายุ 99 ปี เธอเป็นพยานบุคคลที่ให้ข้อมูลกับนักประวัติศาสตร์ที่ลงพื้นที่มาสืบหาพื้นที่ที่เครื่องบิน พี-38 ตก เมื่อปี 2018 ทำให้สามารถระบุพิกัดที่เครื่องบินตกได้แม่นยำนำไปสู่ภารกิจการขุดค้นหาของ DPAA ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ฟอง อินมา มีอายุ 21 ในปี 1944 แต่มีอายุ 99 ปีในวันที่สำนักงาน DPAA เดินทางมาสร้างไซต์ขุดค้นในที่นาท้ายหมู่บ้าน ในปี 2018 แดเนียลเดินทางมาสัมภาษณ์เธอถึงเหตุการณ์ในวันนั้น แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วหลายปี แต่เธอยังจดจำอดีตได้อย่างแจ่มชัด จนทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถเชื่อมร้อยบันทึกในเอกสารเข้ากับความทรงจำของพยานบุคคล จนสามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่เครื่องบินตก นำไปสู่ภารกิจการขุดค้นหาที่กำลังดำเนินอยู่

ผมพบกับ ฟอง อินมา ในช่วงเวลาที่หญิงชรากำลังจะมีอายุครบ 100 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เธอระลึกถึงวันที่ตั้งครรภ์ลูกชายคนที่ 3 วันนั้นฝนฟ้าคะนอง “เสียงเครื่องบินดังแว้กๆ ไฟไหม้ทั้งลำ ฉันไปดูซากเรือบินที่ตกลงป่าท้ายหมู่บ้าน ก็เห็นซากศพเหลือครึ่งเดียว สองวันต่อมาผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศให้ชาวบ้านช่วยกันทำพิธีเผาศพ คนจากหมู่บ้านอื่นก็แห่แหนกันมาดู” ฟอง เล่า

สามีของเธอเป็นลูกชายของผู้ใหญ่บ้าน และเป็นเพียงไม่กี่คนในหมู่บ้านที่อ่านออกเขียนได้ จึงเขียนรายงานส่งทางการและจัดการนำเอาซากเครื่องบินที่ทางการไทยไม่ต้องการมาเก็บไว้ที่บ้าน “ทางอำเภอเอาเกวียนไปลากซากเครื่องมาฝากไว้ที่บ้าน ช่วงนั้นฝนตกเขาต้องเอาผ้าห่มไปนอนเฝ้าซากเครื่องบิน ไม่ให้ชาวบ้านมาขโมยไป”

หนึ่งสัปดาห์หลังเรือบินตกที่ท้ายหมู่บ้าน ฟองให้กำเนิดทารกเพศชาย ซากเครื่องบินที่กองอยู่ในบ้านเป็นแรงบันดาลใจให้เธอตั้งชื่อลูกว่า เด็กชายเครื่อง ลูกชายของเธอคือหลักฐานยืนยันตัวตนของร้อยโทหนุ่มที่เสียชีวิตในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลจากรัฐโรดไอเเลนด์บ้านเกิดของเขาในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่น ลูกชายของบ้านไม่เคยกลับมาอีกเลย เขาหายไปในสงคราม

เครื่องบิน พี-38 ต

บิล อินมา หญิงชราวัย 87 ปี เธอเกิดในวันเดียวกันกับที่เครื่องบิน พี-38 ตกที่ท้ายหมู่บ้าน แม่จึงตั้งชื่อว่า ทองบิน แต่ในการทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนชื่อของเธอจากทองบินเป็น บิล  ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

การตายของนักบินหนุ่มเป็นจุดอ้างอิงการเกิดของหญิงอีกคน ผมพบกับ บิล อินมา หญิงชราวัย 87 ปี จากการแนะนำของโสภี พรมทิ แรงงานรับจ้างในโครงการขุดหาเครื่องบินที่ตกในวันเดียวกับวันที่มารดาของเธอเกิด 

“ฉันเกิดวันที่เรือบินตก พ่อแม่เลยตั้งชื่อว่าทองบิน” ผมสารภาพกับบิลว่า ทองบินเป็นชื่อไพเราะชื่อหนึ่งเท่าที่เคยได้ยินมา บิลหัวเราะก่อนจะเล่าว่า “ตอนไปทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่เอาทองของฉันออก แล้วใส่ล.ลิงแทน น.หนู จาก บิน เลยกลายเป็น บิล”

หลายปีต่อมา เด็กหญิงทองบินและเด็กชายเครื่องเติบโตเป็นหนุ่มสาว หนุ่มสาวสองคนนี้มีจุดอ้างอิงเดียวกัน ทั้งสองราวกับจะประกอบชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายของเรือบินที่ตกในวันนั้นขึ้นมาใหม่เป็นความรัก

บิล มองออกไปไกลจวนถึงอดีต “เรานับถือกันเป็นแฟน สมัยนี้เรียกว่าแฟนเนาะ แต่สมัยนั้นเราไม่ได้แต่งงาน เอากันเลย บ่มีการแต่งงาน รักใครชอบใครก็เอากัน แล้วไปบอกพ่อแม่ทีหลัง” เธอหัวเราะให้ความทรงจำ แต่มนต์รักเครื่องบินมีอายุเพียง 1 ปี ทั้งสองเลิกราก่อนจะแยกทางไปมีครอบครัวใหม่ เหลือเพียงเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักของ ‘เครื่อง’ กับ ‘บิน’ ที่ถูกเผยเล่าอีกครั้งในวันที่นักบินหนุ่มคนนั้นกำลังถูกขุดรื้อขึ้นมาจากความเงียบแสนสงบของการลืม

“ฉันอยากไปดูจุดที่ฝรั่งมาขุดกระดูก เขาขุดเจออะไรบ้างไหม” บิล ถามก่อนจะบอกว่า “สมัยก่อนเคยฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ญี่ปุ่นเข้ามาในหมู่บ้าน เอาฟางข้าวมามัดตีนเดินแทนรองเท้า”

“ยายแน่ใจไหมว่าตัวเองเกิดวันนี้” ผมถาม หลังจากดูวันเดือนปีเกิดของเธอบนบัตรประชาชน ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากวันที่ร้อยโทหนุ่มเสียชีวิต เธอส่ายหน้าก่อนจะบอกว่า “รู้แต่ว่าเกิดวันที่เรือบินตก”

“ช่วงที่แม่เกิด ชาวบ้านยังไม่มีการไปแจ้งเกิด คนสมัยก่อนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแจ้งเกิดลูก แม่รู้แต่ปีเกิดค่ะ รู้แต่ว่าตัวเองเกิดในวันที่เครื่องบินตก” โสภี กล่าวเสริมผู้เป็นมารดา

นาผืนนี้คือตำแหน่งที่เครื่องบิน พี-38 ประสบอุบัติเหตุเมื่อ 77 ปีก่อน นักบินยศร้อยโทเป็นความลับของประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังเพิ่งค้นพบ ภารกิจค้นหาเพื่อพาเขากลับบ้านจึงเริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022  ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ในระหว่างที่ทีม DPAA เดินหน้าค้นหากระดูกของนักบินหนุ่มที่ท้ายหมู่บ้าน ผมเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อพูดคุยกับผู้คนที่มีความทรงจำร่วมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้นผมยังไม่รู้ตัวว่ากำลังค้นหาอะไร จนกระทั่งได้มาพบกับความทรงจำของคนพื้นถิ่นที่ถูกบันทึกในรูปแบบ ค่าว จ๊อย ซอ หรือวรรณกรรมพื้นบ้านที่ใช้ภาษาล้านนาในการขับร้องถ่ายทอดความรู้เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ แต่ ค่าว จ๊อย ซอ บทนี้ เล่าเรื่องราวที่เกิดกับเครื่องบิน พี-38 

วันที่ 16 เรือตกลำต้อน เดือนสิบสองดอนมาบ่ายเดือนเกี๋ยง ค่อยฟังเต๊อะน้อง บ้านใต้หล่ายเหมือง เปิ้นเล่าลับเรียง เฮือตกหัวบ้าน ทีจริงมันตกไปไก๋ ลานแม่กัวะจัย เด่นเห็ดหินกว้าง…

“ฉันจำได้เท่านี้” จันทา วงศ์นันไชย หญิงวัย 87 หยุดท่องบทประพันธ์ของหนานแก้ว ทิตย์ตา ครูภาษาไทยในหมู่บ้านผู้ล่วงลับไว้เพียงเท่านี้ “สมัยก่อนไปเก็บของป่า ก็ยังร้องจ๊อยกันอยู่ แต่ตอนนี้ฉันจำได้เท่านี้” 

โสภี พรมทิ กระตือรือร้นในการถอดความจากภาษาพื้นเมืองมาเป็นภาษาไทยกลาง ได้ความว่า เครื่องบิน พี-38 ตกในวันที่ 16 เดือนกันยายน พื้นที่ที่เครื่องบินตกเป็นป่าเห็ดท้ายหมู่บ้าน ไม่ใช่หัวบ้านอย่างที่คนเข้าใจกัน

แม้จะจดจำได้เพียงวรรคตอนแรกเริ่ม และมีความคลาดเคลื่อนของวันเกิดเหตุ ผู้ประพันธ์ระบุว่าวันที่ 16 เดือนกันยายนเป็นวันเครื่องบินตก (ซึ่งตรงกับวันเกิดบนบัตรประชาชนของบิล อินมา) แต่ในเอกสารของสหรัฐระบุว่า เครื่องบิน พี-38 เดินทางออกมาลาดตระเวนทางอากาศในวันที่ 5 พฤศจิกายน นี่คือความทรงจำชายขอบ นี่คือความทรงจำส่วนตัว แต่ความทรงจำชุดนี้ช่วยยืนยันถึงการมีอยู่ของอีกมุมมองในความหลากหลายของมุมมองที่สานถักจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ สิ่งที่ต้องปฏิบัติกับความทรงจำส่วนตัวนี้คือการปกปักรักษาด้วยการจดจำ เพราะในแง่หนึ่งความทรงจำชายขอบคือพลังอำนาจของปัจเจกบุคคลในการสร้างความเป็นไปได้ไม่รู้สิ้นของประวัติศาสตร์

ตอนที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองลำปาง จันทามีอายุ 9 ขวบ หลังจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลงนามในสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่ ‘ความตกลงไทยกับญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกันทั้งการรุกและการป้องกัน’ และ ‘หลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น’ ส่งผลให้กองทัพทหารญี่ปุ่นสามารถเดินทางเข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยเพื่อไปยังรัฐฉานประเทศพม่า ในตอนนั้นมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมทรัพย์สินของฝ่ายศัตรูที่อาศัยอยู่ในดินแดนไทย ลำปางเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชาวตะวันตกที่เข้ามาทำธุรกิจป่าไม้ กฎหมายนี้กระทบโดยตรงต่อคนบริติช อเมริกัน เนเธอแลนด์ ที่อาศัยในเมืองลำปาง พวกเขาถูกยึดกิจการที่ทำในเมืองลำปาง และต้องหนีออกจากเมือง 

ในช่วงสงครามโลก ชาวเมืองต้องขุดหลุมหลบภัย ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านแม่กัวะ “เวลาที่เครื่องบินบินมาเสียงดังงั๊ดๆ พวกเราวิ่งเข้าหลุมหลบภัยทันที ยายยังเป็นละอ่อนอยู่เลย จี่ข้าวเอาไว้กินกันในหลุม” จันทา เล่า

การตั้งฐานทัพญี่ปุ่นในลำปางสร้างปัญหาให้ชาวเมือง มีเรื่องร้องเรียนมากมายที่ปรากฎในบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่ตำบลบ้านหวดทหารญี่ปุ่นลักลอบตัดต้นกล้วยและต้นอ้อยของชาวบ้าน ในตำบลปงเตา อำเภองาว ทหารนำม้าเข้าไปย่ำในทุ่งนาจนข้าวเสียหาย ที่วัดปงสนุก ทหารตัดต้นลำไยของชาวบ้าน 

แต่ในความทรงจำของจันทา ทหารญี่ปุ่นแสดงความรักต่อเธอ “ทหารญี่ปุ่นขออุ้มฉัน เขาบอกว่าคิดถึงลูก แล้วก็เอาตังค์ให้ฉัน เป็นเงินญี่ปุ่นนะ ตอนที่ญี่ปุ่นอยู่เราสามารถเอาเงินนี้ไปซื้ออาหารซื้อของได้ แต่พอญี่ปุ่นกลับไปแล้ว เงินเหล่านี้ไม่มีค่าเลย”

ในตอนนั้นทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายพักอยู่บริเวณที่ชาวบ้านแม่กัวะเรียกว่า ‘หลังเทิน’ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังขนาดใหญ่ของชาวบ้านแม่กัวะ มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมื่อต้นปี โครงการค้นหาร้อยโทหนุ่มกำลังจะเริ่มต้นขึ้น เกษตรกรอายุตั้งแต่วัยยี่สิบต้นๆ ไปจนถึงวัยเจ็ดสิบ ต่างมองเห็นโอกาสในการหารายได้รายวัน พวกเขาสมัครเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างเพื่อขุดหาอดีต

“มาขุดหาทหารดีกว่า” บัวเขียว ปันยอย แรงงานรับจ้างวัย 70 ผู้อาวุโสที่สุดในไซต์งานแห่งนี้ให้เหตุผลว่า “ฉันปลูกอะไรราคาก็ตก ปลูกชะเอมราคาก็ตก มันสำปะหลังราคาตันละไม่กี่บาท”

จันริน พิพัฒนาเดชกุล เพิ่งเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังไปเมื่อเดือนก่อน ระหว่างที่รอการผลิตรอบใหม่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า เธอสมัครเข้ามาขุดหาเครื่องบิน พี-38 “ปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังตั้งแต่เด็กว่า เครื่องบินฝรั่งมาตกที่นี่ ฉันก็อยากจะรู้ว่า ขุดแล้วจะเจออะไร” 

อนาคตอยู่ร่วมกับอดีตใต้ดินผืนนี้ เพราะในระหว่างที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังขุดหาอดีต เกษตรกรผู้สมัครมาเป็นแรงงานรับจ้างในภารกิจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐกำลังขุดลึกลงไปในชั้นดินเพื่อมองหาอนาคต

การพบหลักฐานที่อาจจะเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะนำทางให้ทีมค้นหาเข้าใกล้ตัวตนของนักบินยศร้อยโทผู้ขับเครื่องบิน พี-38 ซึ่งพวกเขาค้นพบชิ้นส่วนของเครื่องบินหลายชิ้น และชิ้นส่วนที่อาจจะเป็นกระดูก ซึ่งต้องรอผลการตรวจในห้องแลปที่ฮาวายต่อไป  ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

“เมื่อวานนี้เราเจอสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกระดูกค่ะ” มินดี้ อาร์ ไซร์มอนสัน บอกให้รู้ว่าผมได้พลาดวินาทีของการค้นพบอีกแล้ว “นอกจากนี้เรายังเจอชิ้นส่วนของเครื่องบินด้วยค่ะ” ผมรู้สึกพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า รอคอยที่จะพบแต่จวนจะพบกับปลีกตัวไปที่อื่น หวนกลับมาก็พบแต่ความว่างเปล่า เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าประหนึ่งความซ้ำซากที่เกิดแก่ซิซีฟัสในระหว่างเข็นก้อนหินขึ้นภูเขา

มินดี้ เป็นนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญการเก็บกู้ซากที่หลงเหลือของบุคคลผู้สูญหาย เธอเดินทางไปยังพื้นที่ที่เคยเกิดสงครามหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และโอเชียเนีย 

“ฉันเคยไปขุดหาผู้สูญหายที่เวียดนามจากเหตุการณ์สงครามเวียดนาม ประเทศลาว ปาปัวนิวกินี ส่วนเยอรมนีและฝรั่งเศสทั้งสองแห่งเป็นภารกิจเครื่องบินตกในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ที่ลำปางยากที่สุดค่ะ” มินดี้หัวเราะ 

“อากาศร้อนมาก แล้วดินก็แข็งมาก ฉันคิดว่าที่นี่ยากคนละแบบกับปาปัวนิวกินี เพราะที่นั่นเป็นพื้นที่สูงบนภูเขา มีเมฆตลอดเวลา และเราต้องขุดลงไปลึกถึง 3 เมตร ซึ่งไม่ใช่งานง่ายนัก” นักโบราณคดีหญิง บอก

เธอใช้เวลาในช่วงพักเบรกเดินใช้ความคิดอยู่ในหลุมขุด หรือไม่ก็เปิดสมุดออกมาจดบันทึก มินดี้มีหน้าที่กำกับและควบคุมการขุดในโปรเจ็กต์นี้ เธอเป็นเหมือนดวงตาของทุกคนในการขุดลึกลงไปในอดีต

“เรามีความคืบหน้าในไซต์นี้ค่อนข้างมากแล้ว เราขุดพบสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกับเครื่องบินและนักบินอเมริกัน” มินดี้ เล่า 

ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ซากเครื่องบิน ให้ข้อมูลว่า เขาพบชิ้นส่วนเคลือบผิวภายนอกเครื่องบิน (Aircraft Skin) และสกรู นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนบนเครื่องแบบนักบินได้ด้วย ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

วันก่อนผมใช้เวลาในการเฝ้ามองการทำงานของมินดี้ตลอดทั้งบ่าย เธอใช้เครื่องมือเซาะและปัดดินออกจากสิ่งที่พยายามแงะมันออกมาจากผนึกกาวของเวลา “ใช่ค่ะ มันคือชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องบินที่เราเจอ มันมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ฉันอยากจะได้หลักฐานที่สมบูรณ์ที่สุด จึงค่อยๆ ทำอย่างใจเย็น จนเราพบว่ามันคือชิ้นส่วนของเครื่องบิน หลังจากนั้นเจก็เป็นคนขุดเจอชิ้นส่วนของกระดูก”

หากมองชั้นดินด้วยระนาบแนวดิ่ง สีของดินแต่ละชั้นไล่โทนจากเข้มไปอ่อน นี่คือร่องรอยของเวลาที่ถมทับกันเป็นช่วงชั้นของเหตุการณ์และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ “สงครามเกิดขึ้นบริเวณชั้นดินนี้ใช่มั้ยครับ” ผมถามมินดี้ 

“ไม่ค่ะ ชั้นดินที่คุณชี้เก่าแก่กว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปมากเลยทีเดียว” เธอตอบ ก่อนจะชี้ให้ดูสีของชั้นดินเมื่อ 77 ปีก่อนซึ่งอยู่ห่างจากพื้นผิวดินชั้นบนสุดประมาณ 30 เซ็นติเมตร 

“เหตุการณ์ที่เราค้นหาอยู่ในชั้นดินบริเวณนี้ค่ะ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราไม่ขุดลึกลงไปกว่านี้ จริงๆ ถ้ามาดูตรงนี้จะเห็นชัดกว่า” เธอเดินนำทางผมไปยังด้านหนึ่งของชั้นดินที่ถูกขุด “ตรงนี้มีเศษหินน้อยกว่า มีสีที่แตกต่าง และคุณสามารถมองเห็นชั้นดินได้ชัดเจนกว่า เพราะแต่ละสีของชั้นดินสามารถบอกช่วงเวลาได้เหมือนกัน” 

มินดี้ อาร์ ไซร์มอนสัน ใช้เวลาในช่วงพักเบรกเดินใช้ความคิดอยู่ในหลุมขุด หรือไม่ก็เปิดสมุดออกมาจดบันทึก มินดี้มีหน้าที่กำกับและควบคุมการขุดในโปรเจ็กต์นี้ เธอเดินทางไปยังพื้นที่ที่เคยเกิดสงครามหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และโอเชียเนีย แต่ลำปางเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับเธอ เพราะอากาศร้อนและดินที่แข็ง ภาพโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ดินทุกก้อนที่ถูกขุดขึ้นมาจะถูกถมคืนกลับในสภาพเดิม ก่อนที่ทีมผู้เชี่ยวชาญแห่ง DPAA จะเดินทางกลับบ้าน พวกเขาจะต้องจัดการทำให้ที่นาผืนนี้กลับคืนสภาพเดิมเพื่อส่งมอบให้เจ้าของที่ดิน การพิสูจน์หลักฐานด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เป็นขั้นตอนต่อไปที่เราต้องใช้เวลาในการรอคอย แต่สิ่งที่พวกเขาลงแรงทำไปนั้นน่าจะทำให้ประโยค ‘You Are Not Forgotten’ มีความหมายสมบูรณ์เหมือนตัวอักษรที่เรียบเรียงจนกลายเป็นประโยคที่บอกเล่าเจตนารมย์

“น่าพอใจมากค่ะ” เจนาวี แสดงความรู้สึกในวันที่เธอกับลำปางมีเวลาร่วมกันเหลือน้อยลงทุกที “เป็นเรื่องที่ฉันดีใจมาก เพราะยิ่งได้เจอหลักฐานมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าเรามาถูกทางมากยิ่งขึ้นในการที่จะค้นหานักบิน มันยิ่งใกล้ความจริงมากขึ้น หลังจากนี้ เราจะเอาชิ้นส่วนกระดูกเหล่านี้ไปแล็บที่ฮาวายเพื่อตรวจดีเอ็นเอ ระยะเวลา 2 เดือนกว่าที่เราทำงานที่นี่ กับสิ่งที่เราได้มาก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว”

ใครบางคนในหมู่คนงานไทยฝากล่ามถามเจนาวีว่า เธอฝันบ้างไหม “ฝัน?” เธอทวนคำถามก่อนหัวเราะ “ฉันเป็นคนหลับง่ายมากเลยค่ะ และก็เป็นคนไม่ค่อยฝัน แต่หรือฉันฝันแต่จำไม่ได้กันแน่นะ”

ในระหว่างที่ภารกิจค้นหานายทหารผู้ถูกพรากชีวิตจากสงครามโลกในเมืองลำปางกำลังจะสิ้นสุดลง สงครามบทใหม่ก็กำลังรุกล้ำเข้าไปกัดกินชีวิตผู้คนในประเทศยูเครน เป็นความเคยชินเสียแล้วที่จะได้ยินเสียงปืนหลากชนิดและระเบิดไม่มีเหตุผลดังมาจากสมาร์ทโฟนของเจ “ทหารรัสเซียบุกโรงเรียนสอนศิลปะอีกแล้ว” เจ ถอนหายใจกับข่าวสารที่ติดตามทุกเช้า  

ที่นั่นสงครามกำลังทำให้ชีวิตผู้คนสูญหาย แต่ที่นี่มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังขุดหาทหารที่สูญหายจากสงครามในอดีต

เช่นทุกเช้า เจสวมเครื่องแต่งกายที่มิดชิดต่อแสงแดด อุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างสนับเข่า ถุงมือ เป้น้ำ รองเท้าเซฟตี้ สิ่งเหล่านี้ถูกเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเข้านอน ระหว่างเปิดรับข่าวสารสงครามจากอีกซีกโลก เจเฝ้ารอข่าวสารที่จะส่งสัญญาณว่าประตูของโอกาสจะเปิดอีกครั้งหลังจากสถานการณ์โรคระบาดสร่างซาลง 

“อยู่บ้านมันก็เท่านั้นแหละ บางคนก็อยู่ตัว แต่ผมยังอยากแสวงหา ผมก็ยังอยากจะไปต่างประเทศอีกครั้ง ขาอ่อนหมดแรงเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากันอีกที” เจ เล่า

ดูก็รู้ว่ารักงานนี้ แววตาของเจมีทั้งความสนุกและตื่นเต้นเวลาที่เอ่ยถึงการขุดค้น “ผมได้ทำงานกับทีมงานต่างชาติ นักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญ งานแบบนี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้วครับ มันตื่นเต้นและหาที่ไหนไม่ได้ ปีหน้าถ้าเขามาขุดหาเครื่องบินอีกลำที่ดอยฝรั่ง ผมจะสมัครแน่นอน” เจ หมายถึงภารกิจการค้นหาเครื่องบิน พี51 มัสแตง วัตถุทางประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังพยายามจะจดจำและบันทึกด้วยการค้นหาเพื่อทำในสิ่งที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง แจ้งข่าวสารนี้แก่ครอบครัวและสดุดีในฐานะพลเมืองของรัฐ

“พอทำงานนี้นานเข้า ผมมีความผูกพันกับนายทหารคนนี้ ผมอยากจะค้นหาเขาให้เจอ ทุกครั้งที่ผมออกแรงขุด ในหัวผมจะคิดอยู่อย่างเดียวว่า กลับบ้านเถอะนะ” เจ บอก

เรื่องและภาพ วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

 

* สำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DPAA) ได้จัดพิธีส่งร่างกลับมาตุภูมิ โดยเป็นชิ้นส่วนกระดูกของนักบินที่ยังไม่สามารถระบุตัวตนได้จากเหตุการณ์เครื่องบินลาดตระเวนของสหรัฐฯ ตกในประเทศไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พิธีนี้จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของภารกิจระยะเวลา 3 ปีที่สำนักงาน DPAA ทำร่วมกับรัฐบาลไทยและชาวบ้านแม่กั๊วในจ.ลำปาง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565

เชิงอรรถ

1 สัญญาจากสงคราม เสืออากาศกลับบ้าน รายการ ความจริงไม่ตาย, 30 มี.ค. 65, program.thaipbs.or.th/TruthNeverDies/episodes/81708

2 Northwest Thailand during World War II, https://www.lanna-ww2.com, lanna-ww2.com/pages/z02500_Tango/z02500_441105_McKinney/441105_McKinney.html#fn06

3 The Fate of America’s Missing Airmen in Thailand in WW2, chinaww2.com, chinaww2.com/2019/01/16/the-fate-of-americas-missing-airmen-in-thailand-in-ww2/

4 ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์: ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่, 2561, หน้า 189-190

 

อ่านเพิ่มเติม เหตุใดเยอรมนีจึงต้องยอมจำนนสองครั้งในสงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามโลกครั้งที่ 2

Recommend