เรียนรู้ประวัติศาสตร์และอนาคตของราชวงศ์ญี่ปุ่น

เรียนรู้ประวัติศาสตร์และอนาคตของราชวงศ์ญี่ปุ่น

ในภาพอย่างเป็นทางการของ ราชวงศ์ญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (กลางซ้าย) สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ (กลางขวา) พระองค์อื่นๆ จากด้านซ้าย – เจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ เจ้าหญิงมาโกะ ด้านหลังสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ – เจ้าหญิงไอโกะ เจ้าหญิงคาโกะ เจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าชายฮิซาฮิโตะ และเจ้าหญิงคิโกะ ภาพภ่ายโดย KURITA KAKU, GAMMA-RAPHO/GETTY


หลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้สละราชสมบัติของบัลลังก์ดอกเบญจมาศไปแล้ว อนาคตของตำแหน่ง จักรพรรดิญี่ปุ่น ก็ยังคงคลุมเครือ

เป็นระยะเวลากว่า 2,600 ปีมาแล้วที่มีราชวงศ์เพียงหนึ่งเดียวเป็นผู้ครองบัลลังก์จักรพรรดิของญี่ปุ่น ราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมายาวนานที่สุดในโลกนี้แสดงความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าในศาสนาชินโต ราชวงศ์ญี่ปุ่นเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ 660 ปีก่อนคริสตกาล และมีหลักฐานของราชวงศ์ที่ปรากฏชัดเจนเมื่อราวปีคริสต์ศตวรรษที่ 300 ปัจจุบัน ราชวงศ์ญี่ปุ่นมีบทบาทเชิงสัญลักษณ์ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองญี่ปุ่นแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีบทบาทที่สำคัญในเชิงประเพณีของประเทศก็ตาม

ราชวงศ์ของญี่ปุ่นเริ่มต้นจากจักรพรรดิจิมมุ สันนิษฐานว่าพระองค์ได้ครองบัลลังก์เมื่อ 660 ปีก่อนคริสตกาลหลังจากรบชนะเหนือหัวหน้าเผ่าท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิจิมมุถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ในตำนานของราชวงศ์ญี่ปุ่นเท่านั้น โดยนักวิชาการคาดเดากันว่าจักรพรรดิจิมมุ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทายาทของเทพเจ้าอามาเทราสึ ผู้เป็นสุริยะเทวีผู้ปกครองญี่ปุ่นนั้นเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมในยุคสมัยยาโยอิของญี่ปุ่น (300 ปีก่อนคริสต์กาล – คริสต์ศักราชที่ 300 ) ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นการเพาะปลูก โดยจักรพรรดิจิมมุขึ้นครองบัลลังก์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งชาวญี่ปุ่นถือวันนี้เป็นวันชาติ

ราชวงศ์ญี่ปุ่น
พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะกับจักรพรรดินีนะงะโกะ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาบังคับให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะสละสถานะของการเป็นสมมติเทพของพระองค์ ภาพถ่ายโดย BETTMANN, GETTY

บรรดาทายาทของจักรพรรดิจิมมุได้ครองราชย์สืบต่อมาในอาณาจักรที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษ ลักษณะและที่มาของอำนาจของจักรพรรดินั้นแตกต่างกันไป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่หก จักรพรรดิมีหน้าที่ในการติดต่อกับเทพเจ้า ซึ่งหน้าที่นี้ไม่ได้มีนัยยะในเชิงการเมือง ในบางยุคสมัยของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จักรพรรดิถูกมองว่าเป็นตัวแทนของเทพเจ้า แต่ไม่ได้ถูกนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแต่อย่างใด

ในช่วงที่การปกครองในระบบชนชั้นซามูไร (นักรบ) เติบโตในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบ เป็นต้นมา อิทธิพลของสถาบันพระจักรพรรดิก็เริ่มไม่ชัดเจน เนื่องจากพระจักรพรรดิถูกจำกัดอำนาจในการปกครองประชาชนจากพระราชวังหลวงในเมืองเกียวโต (เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น) โดยอำนาจในการปกครองตกอยู่ในมือของรัฐบาลโชกุน หรือรัฐบาลทหารที่เป็นผู้ปกครองเหล่าซามูไรทั่วญี่ปุ่น โดยระบบการปกครองของรัฐบาลโชกุนได้ปกครองประชาชนในนามของพระจักรพรรดิจนกระทั่งถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

ระบบโชกุนได้สิ้นสุดลงในปี 1868 และเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเมจิในยุคสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่น โดยในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงให้สมเด็จพระจักรพรรดิมาพำนักที่กรุงโตเกียว และเป็นผู้นำในการปกครองประชาชนชาวญี่ปุ่น จักรพรรดิญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนจากการเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติมาถืออำนาจในการปกครองโดยตรง

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด มีการเปลี่ยนบทบาทของพระจักรพรรดิอีกครั้ง โดยสหรัฐอเมริกา ผู้มีชัยเหนือญี่ปุ่นในสงครามได้บังคับให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ซึ่งถือว่าพระองค์เป็นผู้นำญี่ปุ่นในการทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้สละสถานะของการเป็นสมมติเทพของพระองค์เสีย และสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเป็นผู้ให้ความชอบธรรมในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ฉบับปี 1947 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำลายระบอบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy – การปกครองโดยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นชนชั้นนำของสังคม) ส่งผลให้จักรพรรดิกลายเป็น “สัญลักษณ์” ของประเทศญี่ปุ่นตามกฎหมาย มาจนถึงทุกวันนี้

ราชวงศ์ญี่ปุ่น
เจ้าหญิงมิชิโกะ (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินกับเจ้าชายฮิโระ (ปัจจุบันคือเจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่น) และเจ้าชายอายะ (พระยศในขณะนั้น) โดยเจ้าชายอายะในปัจจุบันคือเจ้าชายฟุมิฮิโตะ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1968 ภาพถ่ายโดย EVERETT COLLECTION HISTORICAL, ALAMY

ปัจจุบัน ราชวงศ์ญี่ปุ่นสมาชิกเพียงแค่ 18 พระองค์เท่านั้น และราชวงศ์กำลังถูกทุกคามโดยกฎการสืบสันตติวงศ์ที่ห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้นครองบัลลังก์ แม้ว่าตามประเพณีแล้วจักรพรรดิญี่ปุ่นจะต้องครองบัลลังก์จนสวรรคต จักรพรรดิอากิฮิโตะ ผู้เป็นพระโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้สละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายน 2019 เนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ บัลลังก์ขององค์มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะจะเหลือผู้สืบสันตติวงศ์เพียงแค่ 3 พระองค์เท่านั้น

นอกจากนี้ ได้มีจำนวนสมาชิกที่เป็นผู้หญิงของราชวงศ์ญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้สละฐานันดรศักดิ์เพื่อไปเสกสมรสกับสามัญชน แม้ว่าในอดีตประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจะเคยมีจักรพรรดินีปกครอง กฎผู้ที่ครองบัลลังก์จักรพรรดิต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นก็ยังคงอยู่ และนี่จะเป็นบททดสอบของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะต้องหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์นี้ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะยอมแหวกม่านประเพณีที่สืบทอดมานานหรือไม่

เรื่องโดย ERIN BLAKEMORE

แปลและเรียบเรียงโดยกองบรรณาธิการออนไลน์/ดิจิตอล นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ภูมิศาสตร์เมืองญี่ปุ่น 

Recommend