(ภาพปก) หลุมฝังศพ Jirzankal ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีนมีภาชนะใส่ถ่านที่เผาต้นกัญชาที่มีสาร THC อันเป็นสารเคมีใน กัญชา ที่มีผลต่อระบบประสาทในระดับที่สูง ภาพถ่ายโดย BY XINHUA WU
หม้อไม้อายุราว 2,500 ปี ซึ่งถูกค้นพบในเส้นทางสายไหมสู่จีน ได้เปิดเผยเรื่องราวของการสูบ กัญชา ที่มีมาแต่โบราณ
เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกว่ามนุษย์ใช้กัญชาในฐานะยารักษาโรคในสุสานที่มีอายุราว 2,500 ปีในภูมิภาคเอเชียกลาง ตามข้อมูลของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Science Advances เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทีมนักวิจัยนานาชาติได้วิเคราะห์โครงสร้างและสิ่งของที่อยู่ภายในหม้อที่ทำจากไม้สิบใบซึ่งถูกขุดขึ้นมาจากสุสาน Jirzankal ที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงปามีร์ (Pamir Plateau) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณภูมิภาคตะวันตกของประเทศจีน หม้อเหล่านั้นบรรจุหินเล็กๆ ที่เคยถูกเผาไหม้ด้วยความร้อนสูง โดยนักโบราณคดีระบุว่าหม้อเหล่านี้คือภาชนะใส่ถ่านสำหรับเผาธูปหรือพืชชนิดต่างๆ
ผลการวิเคราะห์ทางเคมีของภาชนะใส่ถ่านเหล่านี้เปิดเผยว่า 9 ใน 10 ส่วนของมันประกอบไปด้วยกัญชา และนักวิจัยได้นำผลวิเคราะห์นี้ไปเปรียบเทียบกับลักษณะทางเคมีของตัวอย่างต้นกัญชาที่ถูกค้นพบที่สุสาน Jiayi อันเป็นสุสานในช่วงศตวรรษที่แปดถึงหกก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกราว 1,600 กิโลเมตร
ทีมนักวิจัยพบว่า กัญชาจากสุสาน Jirzankal นั้นมีสิ่งหนึ่งที่กัญชาจาก Jiayi นั้นไม่มี นั่นคือโมเลกุลของ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC อันเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่พบในพืชจำพวกกัญชา ซึ่งคราบกัญชาที่พบในสุสาน Jiayi ก่อนหน้านี้ ไม่ปรากฏโมเลกุลของสารประเภทนี้ โดยคราบกัญชาที่พบที่สุสาน Jiayi นั้น ในเบื้องต้นถูกใช้เป็นแหล่งของเส้นใย (fiber) ในเชือกและการผลิตเสื้อผ้า หรือใช้ทำเป็นน้ำมันจากเมล็ดพืช
ส่วนกัญชาจาก Jirzankal นั้นมีสารประกอบที่มีผลต่อจิตใจในระดับที่สูงมากกว่าที่เคยพบในสถานที่ทางโบราณคดีแห่งอื่นๆ ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ตั้งใจปลูกกัญชาเหล่านี้เพื่อใช้สูบตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา
ถึงแม้ว่าคณะนักวิจัยยังไม่สามารถตัดสินได้ว่ากัญชาที่ใช้ในสุสาน Jirzankal นั้นมาจากไหน แต่ก็คาดกันว่า ด้วยตำแหน่งสุสานที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงกว่า 3,000 เมตร ทำให้ผู้คนของที่นี่ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากกัญชาสายพันธุ์ที่ปริมาณสาร THC สูง
โรเบิร์ต สเปนเกลอร์ (Robert Spengler) ผู้อำนวยการห้องทดลองพฤกศาสตร์โบราณ สถาบันประวัติศาสตร์มนุษย์ Max Planck (Max Planck Institute for the science of Human History) ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมในงานวิจัย กล่าวว่า มีผู้คนจำนวนมากได้เดินทางผ่านที่ราบสูงปามีร์ ซึ่งเป็นทางแยกที่เชื่อมภูมิภาคเอเชียกลางและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน การเป็นพื้นที่ทางแยกนี้อาจส่งผลกัญชาในพื้นนี้ผสมกับกัญชาที่นำเข้ามาจากพื้นที่อื่น อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กัญชาในที่ราบสูงนี้มีสาร THC เพิ่มขึ้น แต่กัญชาลูกผสมนี้จะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือแค่ความบังเอิญที่โชคดี ก็ยังเป็นคำถามอยู่
สเปนเกลอร์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า งานศึกษาชิ้นใหม่ แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้ตั้งเป้าการใช้ประโยชน์ทางเคมีจากพืชมาตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว
นอกจากนี้ การค้นพบที่ Jirzankal ได้พบหลักฐานว่ามนุษย์สูบควันจากการเผาไหม้ของกัญชาเพื่อให้เกิดผลต่อจิตใจ มีการคาดกันว่า มนุษย์รู้จักการสูดควันจากกัญชาที่เผาไหม้มาตั้งช่วงศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล
ทางด้าน เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณก็ได้ตั้งทฤษฎีว่า ชาวไซเธียน (the Scythians) ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในที่ราบแคสเปียน (พื้นที่ที่ราบรอยต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย) ก็มีการประกอบพิธีกรรมชำระล้างตัวเองโดยใช้ควันจากกัญชาเช่นกัน
มาร์ค เมอลิน นักพฤกศาสตร์พื้นบ้าน (ethnobotanist) และนักประวัติศาสตร์กัญชาของมหาวิทยาลัยฮาวาย กล่าวว่า ความหลากหลายของสายพันธุ์กัญชารอบโลกในทุกวันนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับพืชและรู้จักการใช้ประโยชน์จากมันหลายวิธีด้วยกัน “และมันเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่ามนุษย์นั้นใช้ประโยชน์จากกัญชามานานแล้ว” เขากล่าวเสริม