ภารกิจสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวของยาน Voyager
ย้อนหลังไปเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1977 ยานอวกาศฝาแฝด Voyager 1 และ Voyager 2 ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศโดยมีภารกิจคือ สำรวจระบบสุริยะ “จากดาวพฤหัสบดีถึงดาวเนปจูน” ก่อนจะออกจากระบบสุริยะมุ่งหน้าสู่อวกาศระหว่างดาว (interstellar space) และดินแดนที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน สิ่งที่ยานทั้งสองนำติดไปด้วยคือแถบบันทึกฉาบทองคำบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตบนโลก ทำนองเดียวกับเป็นสารในขวดแก้วที่รอให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกหรือมนุษย์ต่างดาวมาพบเข้า
สิ่งที่บรรจุอยู่ในแถบบันทึกข้อมูลดังกล่าวมีอาทิ ไฟล์เสียงชื่อว่า “สรรพเสียงจากโลก” หรือ “Sounds of Earth” (ฟังได้ที่ http://voyager.jpl.nasa.gov/spacecraft/sounds.html) บทเพลง Cavatina ของบีโทเฟ่น คำพูดทักทายใน 54 ภาษา และที่สำคัญที่สุด (อย่างน้อยสำหรับเรา) ก็คือ ภาพถ่ายที่สามารถสื่อสารข้อเท็จจริงให้แก่มนุษย์ต่างดาวเกี่ยวกับฟิสิกส์ ชีววิทยา สังคมวิทยา และความงดงามของดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่เราเรียกว่า “บ้าน”
ภาพที่ได้รับการคัดเลือกจากทีมงานมาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แต่ที่เราภาคภูมิใจคือ 10 ภาพประวัติศาสตร์ต่อไปนี้จาก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่จนถึงวินาทีนี้ยังคงมุ่งหน้าสู่ห้วงอวกาศอันไกลโพ้น แต่ละภาพมีเหตุผลอธิบายว่า เพราะเหตุใดจึงได้รับการคัดเลือก
ภาพที่ 1 “ฝูงปลา” (School of Fish) โดย เดวิด ดูบิเลต์
ลำพังภาพถ่ายแนวปะการังและฝูงปลาอาจไม่มีทางบอกได้อย่างสิ้นข้อสงสัยว่า เป็นภาพใต้น้ำ วิธีที่ดีและชัดเจนที่สุดในการแสดงให้เห็นโลกใต้น้ำก็คือ ต้องมีนักดำน้ำรวมอยู่ด้วย เพราะฟองอากาศที่พวยพุ่งขึ้นจากเรกูเลเตอร์น่าจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของสื่อกลางที่เป็นน้ำ ยิ่งไปกว่านั้น การปรากฏตัวของนักดำน้ำยังบ่งบอกว่า มนุษย์สนใจในการสำรวจและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ… ภาพนี้ถ่ายที่แนวปะการังในทะเลแดงนอกชายฝั่งอ่าวนามาบนคาบสมุทรไซนาย
ภาพที่ 2 “นักวิทยาศาสตร์กับชิมแปนซี” (Scientists and Chimpanzees) โดย แวนน์ มอร์ริส-กูดอลล์
ภาพนี้แสดงญาติใกล้ชิดที่สุดของเราระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์สองคนกำลังเฝ้าสังเกตและศึกษา หนึ่งในนั้นคือ เจน กูดอลล์ ผู้โด่งดัง ในสายตาของสิ่งมีชีวิตนอกโลกหรือมนุษย์ต่างดาว ชิมแปนซีและมนุษย์อาจดูเหมือนกันจนแยกไม่ออก ข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์ในภาพกำลังศึกษาชิมแปนซีอาจเป็นเบาะแสที่ไม่แข็งแรงพอจะชี้ชัดลงไปว่า ชิมแปนซีหาใช่เผ่าพันธุ์ผู้สร้างยาน Voyager ในทางกลับกัน ยังอาจเข้าใจไปได้ด้วยว่า ชิมแปนซีเป็นเจ้านาย เพราะมนุษย์เป็นฝ่ายที่ยุ่งกับเครื่องไม้เครื่องมือ กระนั้น เราก็ไม่สามารถตัดไพรเมตเหล่านี้ออกไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ฉากหลังในภาพยังแสดงพืชพรรณที่ไม่พบเห็นในที่อื่น นั่นคือ ป่าดงรกชัฏ
ภาพที่ 3 “ใบไม้ร่วงโรย” (Fallen Leaves) โดย โจดี คอบบ์
ความงอกงามร่วงโรยจากต้นไม้ และมนุษย์คนหนึ่งกำลังเก็บกวาด ข้อเท็จจริงที่ว่าใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาเปลี่ยนสีจากสีเขียวที่เห็นบนต้นไม้อื่นๆที่อยู่รอบข้าง อาจบ่งบอกแก่ผู้พบว่า ต้นไม้ต้นนี้อยู่ในช่วงผลัดใบ และอาจรวมไปถึงสีสันต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แสง
ชมความงดงามของเนบิวลาในแบบสามมิติ
ภาพที่ 4 “กำแพงเมืองจีน” (Great Wall of China) โดย เอช. เอดเวิร์ด คิม
กำแพงเมืองจีนเป็นหนึ่งในความสำเร็จทางวิศวกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ และยังเป็นผลงานของวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดและสำคัญที่สุดวัฒนธรรมหนึ่งของมนุษย์ ภาพถ่ายจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ช่วยให้เห็นมิติทั้งในแง่ขนาด สัดส่วน และภาพระยะใกล้ของกำแพงเมืองจีน
ภาพที่ 5 “นางรำจากบาหลี” (Dancer from Bali) โดย ดอนนา โกรฟเนอร์
ภาพถ่ายภาพนี้แสดงให้เห็นลักษณะต่างๆ บนใบหน้าและมือของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน และยังอาจบ่งบอกถึงความซับซ้อนของเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่พบในวัฒนธรรมต่างๆของมนุษย์