มิสซิสซิปปี : สายน้ำอันคดเคี้ยวเลี้ยวลด
นักทำแผนที่หัวคิดสร้างสรรค์ใช้ไอเดียบรรเจิดสร้างสรรค์มุมมองแปลกใหม่และไฮเทคให้แม่น้ำมิสซิสซิปปี
สำหรับนักทำแผนที่และคนรักแผนที่ ชุดแผนที่แม่น้ำ มิสซิสซิปปี ตอนล่างของแฮโรลด์ ฟิสก์ ซึ่งจัดทำเมื่อปี 1944 คืองานต้นแบบ ในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ นักธรณีวิทยาผู้นี้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ท้องถิ่นทำแผนที่แม่น้ำมิสซิสซิปปีอย่างถูกต้องแม่นยำและให้รายละเอียดอย่างน่าทึ่ง
กว่าเจ็ดทศวรรษให้หลัง แดเนียล โคอ์ นักทำแผนที่จากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาวอชิงตัน ต้องการสร้างสรรค์แผนที่ของฟิสก์ขึ้นอีกครั้ง โดยปรับปรุงให้แม่นยำมากขึ้นและด้วยความงามแบบใหม่ โคอ์อาศัยข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือยูเอสจีเอส (U.S. Geological Survey: USGS) ที่รวบรวมจากการใช้ไลดาร์ (lidar) หรือระบบที่ยิงลำแสงเลเซอร์จากอากาศยานเพื่อตรวจวัดลักษณะภูมิประเทศ เลเซอร์ดังกล่าวตรวจจับรูปร่างของแม่น้ำพร้อมกับสิ่งอื่นๆ โดยรอบ เช่น บ้านทุกหลัง ต้นไม้ทุกต้น ถนนทุกสาย เมื่อแยกชั้นของพืชพรรณและสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ออกไป แผนที่ของโคอ์ก็แสดงถึงธรณีสัณฐานอันเปลือยเปล่า ตรงไหนที่เคยเป็นโค้งน้ำไหลเอื่อยก็ถูกตัดตรง ที่ราบน้ำท่วมถึงในอดีตถูกตัดขาดจากกันด้วยคันดินและทำนบ
นักวิทยาศาสตร์ของยูเอสจีเอสรวบรวมข้อมูลจากไลดาร์ (เกือบทั้งหมดเป็นข้อมูลเปิด) เพื่อดูว่า ผืนแผ่นดินเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างแม่น้ำที่ไหลเอื่อยกับน้ำท่วมระดับทำลายล้างได้ ดินที่ถูกชะล้างมากเกินไปจากการทำเกษตรอาจทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนไป และทำให้เส้นทางเดินเรือไกลขึ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นทำให้พฤติกรรมของแม่น้ำในอดีตเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดของปฏิกิริยาที่แม่น้ำจะมีต่อดินถล่ม น้ำท่วม หรือการกัดเซาะในอนาคต “สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ร่องรอยจากอดีตยังปรากฏอยู่บนแผ่นดิน เหมือนรอยนิ้วมือที่แม่น้ำทิ้งเอาไว้เลยครับ” โคอ์กล่าว
เรื่อง แดเนียล สโตน
ภาพถ่าย แดเนียล โคอ์
*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2562
สารคดีแนะนำ