ภาพเขียนผนังถ้ำ บันทึกประวัติศาสตร์แห่งรากกำเนิดมนุษยชาติ

ภาพเขียนผนังถ้ำ บันทึกประวัติศาสตร์แห่งรากกำเนิดมนุษยชาติ

สุนัข ที่มีความคล่องแคล่วว่องไวกำลังไล่ล่าแอนทิโลปซึ่งปรากฏใน ภาพเขียนผนังถ้ำ ในเทือกเขา Akakus ประเทศลิเบีย ซึ่งมีอายุราว 12,000 ปี


ภาพเขียนผนังถ้ำ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่าที่ช่วยให้มนุษย์ยุคปัจจุบันสามารถสัมผัสชีวิตในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ ใครเป็นผู้สร้าง และสร้างขึ้นด้วยเหตุผลอะไร และศิลปะพนังถ้ำบอกเล่าอะไรมายังมนุษย์รุ่นหลัง

การเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนปกป้องยะลาที่ออกมาประท้วงกรณีกรมศิลปากรประกาศเพิกถอนพื้นที่เขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลาในบางส่วน เพื่อการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันวันที่ 5 มีนาคม 2563 สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง

โดยกลุ่มผู้เรียกร้องให้เหตุผลว่า ศิลปะผนังถ้ำแห่งนี้คือพื้นที่อันมีความสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและในระดับชาติ เนื่องจากมีความเก่าแก่มากถึง 3,000 ปี และยังมีสภาพที่สมบูรณ์มาก การประกาศดังกล่าวไม่มีการรับฟังความเห็นชาวบ้านในพื้นที่มาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น การก่อสร้างเหมืองหินที่กำลังดำเนินอยู่ก็ทำให้ภาพเขียนสีบางส่วนเสียหายเนื่องจากการระเบิดหิน

นอกจากภาพเขียนผนังถ้ำ ในบริเวณนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชนิดอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และสัตว์ เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะ โกลนขวานหินขัด และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อยู่ตามถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง

ดังนั้น ถ้าการเพิกถอนนี้ยังดำเนินไป อาจสร้างความเสียหายให้กับการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาในไทยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ระดับโลก ประวัติศาสตร์ของภาพเขียนสีในผนังถ้ำเชื่อว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 65,000 ปีมาแล้วในยุคมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล และจากการกำหนดอายุโดยการหาไอโซโทปของคาร์บอน (Radiocarbon dating) และวิธีการอื่นๆ เผยให้เห็นว่างานศิลปะผนังถ้ำที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่บนโลกมีอายุราว 40,000 ปีมาแล้ว สร้างสรรค์ขึ้นโดยมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ หรือมนุษย์สายพันธุ์ยุคปัจจุบัน

ศิลปะผนังถ้ำส่วนใหญ่เป็นรูปสัตว์ที่มนุษย์พบเจอในยุคน้ำแข็ง เช่น ช้างแมมมอธ ม้า สิงโต กวาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบรูปมนุษย์และสัญลักษณ์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ศิลปะผนังถ้ำส่วนใหญ่มีการสร้างขึ้นโดยสีแดงหรือสีดำซึ่งทำจากหิน งานบางชิ้นสร้างสรรค์ขึ้นโดยการทาสีลงผนังถ้ำโดยตรง ในขณะที่บางส่วนจะมีการสละสลักผนังถ้ำด้วยเครื่องมือก่อนลงสี

โดยนับตั้งช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1800 เป็นต้นมา ยังคงมีการถกเถียงกันในเรื่องของความหมายและจุดสงประสงค์ของงานศิลป์ทางประวัติศาสตร์ประเภทนี้

นักวิชาการบางคนเชื่อว่าภาพวาดผนังถ้ำสร้างขึ้นโดยชามาน (Shaman) หรือหมอผี ที่เข้าไปในถ้ำลึกแล้วพบเจอกับบรรยากาศที่คล้ายตกอยู่ในภวังค์ (a trance-like state) และวาดภาพที่เขาได้พบเจอใน “โลกวิญญาณ” ขึ้นมา

สัญลักษณ์ภายในถ้ำที่มักปรากฏคล้ายกันอาจบ่งชี้ถึงสัญลักษณ์ในความคิดซึ่งสอดคล้องกันในบรรดาผู้สร้างภาพวาดยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้น เป็นไปได้ว่างานศิลป์ภายในถ้ำเหล่านี้คือภาพกราฟิกยุคแรกๆ ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเช่นกัน

ในความเป็นจริง ศิลปะผนังถ้ำอาจถูกสร้างขึ้นด้วยหลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน เพียงแต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในขณะนี้

ภาพเขียนผนังถ้ำ
สีแดงสดใสของภาพเขียนควายไบซันบนผนังถ้ำ Altamira ประเทศสเปน

แม้เราไม่มีทางรู้ได้อย่างแน่นอนว่าศิลปะผนังถ้ำสร้างขึ้นมาด้วยเหตุใดและมีความหมายใดอยู่เบื้องหลัง แต่งานศิลป์นี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจพัฒนาการความคิดของบรรพบุรุษในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และโลกในยุคที่พวกเขาอาศัยอยู่

ในอีกความคิดหนึ่ง เชื่อกันว่าศิลปินที่สร้างสรรค์งานชนิดนี้เป็นนักธรรมชาติวิทยาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ วาดภาพที่ให้รายละเอียดเหล่านี้อาจสอนเราเรื่องของรูปร่างลักษณะและพฤติกรรมของสัตว์บางชนิดที่สูญพันธุ์ไปเมื่อนานมาแล้ว

ดังนั้น การอนุรักษ์ภาพเขียนผนังถ้ำกลายเป็นแนวปฏิบัติที่พึงกระทำทั่วโลก เนื่องจากเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่า ถ้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์เช่นนี้หายไป บันทึกความเป็นมาของมนุษย์ที่ตกทอดมาเป็นเวลานับพันปีก็ไม่อาจหวนคืนมาได้อีก

สำหรับในประเทศไทย ศิลปะผนังถ้ำมีปรากฏอยู่ทั่วทุกภาค ที่มีชื่อเสียงเช่น ภาพเขียนผนังถ้ำในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี เป็นต้น (ดูข้อมูลรวบรวมเรื่องภาพเขียนสีและภาพแกะสลักศิลปะก่อนสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทยได้ที่นี่)

แปลและเรียบเรียงขึ้นจาก Cave Art 101 สามารถรับวิดีโอจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ที่นี่


อ่านเพิ่มเติม ยลศิลปะข้ามกาลเวลา จากผนังถ้ำในยุโรป

ภาพวาดจากยุคหินเก่า บนผนังถ้ำลัสโก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส

Recommend