พบฟรุตเค้กอายุ 100 ปี ในแอนตาร์กติกา ยังรับประทานได้

พบฟรุตเค้กอายุ 100 ปี ในแอนตาร์กติกา ยังรับประทานได้

เรื่องโดย คริสตินา เดล อมอร์

ฟรุตเค้กของอังกฤษการันตีแล้วว่าดีจริง เพราะล่าสุดทีมนักสำรวจค้นพบฟรุตเค้กที่ยังคงสภาพดีอยู่ ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นที่สุด ในสถานที่ขึ้นชื่อว่ามีสภาพอากาศสุดขั้วและแห้งแล้งที่สุดในโลก

องค์กรอนุรักษ์มรดกโลกแอนตาร์กติกา จากนิวซีแลนด์ เป็นผู้ค้นพบฟรุตเค้กอายุ 100 ปีดังกล่าว ภายในกระท่อมหลังเก่าบน Cape Adare ในทวีปแอนตาร์กติกา

ฟรุตเค้กถูกห่ออยู่ในกระดาษและบรรจุอยู่ในกระป๋อง รายงานจากทีมนักสำรวจที่ค้นพบระบุว่าฟรุตเค้ก “อยู่ในสภาพเยี่ยม” ทั้งหน้าตาและกลิ่นของมันที่บ่งชี้ว่ายังสามารถรับประทานได้

ฟรุตเค้กถูกผลิตโดยบริษัท Huntley & Palmers ซึ่งจัดส่งเค้กไปทั่วโลกในช่วงต้นปี 1900

ทีมนักสำรวจชาวอังกฤษของ โรเบิร์ท ฟัลคอน สก็อต เป็นผู้ซื้อฟรุตเค้กชิ้นนี้และนำติดตัวมาด้วยยังแอนตาร์กติกาในระหว่างการเดินทางสำรวจ Terra Nova ในช่วงปี 1910 – 1913 ฟรุตเค้กถูกผลิตโดยบริษัท Huntley & Palmers บริษัทบิสกิตของอังกฤษ

ทีมนักสำรวจในอดีตได้เข้าพักยังกระท่อมดังกล่าว ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยชาวนอร์เวย์ เมื่อปี 1899 ก่อนที่พวกเขาจะออกไปสำรวจและไม่มีโอกาสได้กลับมาอีกเลย จนกระทั่งปี 2016 องค์กรอนุรักษ์มรดกโลกแอนตาร์กติกาค้นพบกระท่อมนี้เข้าและทยอยนำสิ่งของภายในกระท่อมออกมา

“ในช่วงเวลานั้นฟรุตเค้กเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมอังกฤษ และยังคงความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน” ลิซซี่ มีค ผู้จัดการฝ่ายอนุรักษ์กล่าว ผ่านอีเมล์

“การใช้ชีวิตและทำงานในแอนตาร์กติกาจำเป็นต้องได้รับอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ซึ่งฟรุตเค้กตอบโจทย์และจะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าได้ทานพร้อมชาสักถ้วย”

สก็อตและนักสำรวจอีก 4 คนในทีมของเขาเดินทางถึงขั้วโลกใต้ในปี 1912 แต่น่าเศร้าที่ทั้ง 5 คนเสียชีวิตในระหว่างการเดินทางกลับฐาน ตัวกระท่อมทำจากไม้ มีความยาว 15 เมตร และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างในแอนตาร์กติกาที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ทั้งนี้หลังการตรวจสอบแล้วทางคณะสำรวจจะนำสิ่งของทุกชิ้นไปวางคืนยังที่เดิม รวมถึงฟรุตเค้กที่ยังคงรับประทานได้นี้ด้วย

ในฐานะอาหารที่มีทนทาน ฟรุคเค้กถูกนำใส่ถุงผ้าและส่งไปยังทหารที่ออกรบในสงครามโลก รายงานจากมีค

“ฟรุตเค้กเป็นอะไรที่เรามักไม่ตื่นเต้นกับมัน แต่การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมของแอนตาร์กติกายังคงรักษาประวัติศาสตร์ไว้อย่างงดงาม” สเตฟานี บาสซิวสกี นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคลมสันกล่าวผ่านอีเมล์

นอกจากนั้นสิ่งนี้ยังสะท้อนถึง “ความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอันบอบบางนี้ เพราะเรายังไม่อาจรู้ได้ว่าภายใต้น้ำแข็งที่หยุดเวลาเอาไว้ จะมีสิ่งใดรอคอยให้เราค้นพบใหม่อีกครั้ง”

 

อ่านเพิ่มเติม : ภาพถ่ายอันทรงพลังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์พบเทวรูปโบราณอายุ 800 ปี ใกล้นครวัด

Recommend