โรงเรียนที่ได้รับทุนจากรัฐบาลกลางใช้กลยุทธ์กดขี่ข่มเหงเพื่อลบล้างวัฒนธรรมดั้งเดิมของเด็กๆ ชาวอเมริกันพื้นเมือง อีกทั้งยังก่อให้เกิดโครงการที่คล้ายกันในแคนาดา นี่คือความคิดริเริ่มใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อคำนึงถึงอดีตอันโหดร้ายในครั้งนั้น
ซิตคาลา-ชาช (Zitkála-Šá) มีอายุได้เพียง 8 ปีเมื่อเหล่ามิชชันนารีมาถึง เธอถูกล่อลวงจากจากเขตสงวนชาวอินเดียนแดงแยงก์ตันที่เซาท์ดาโคตา (Yankton Indian Reservation) ด้วยคำสัญญาที่จะพาไปพบกับการผจญภัย ความสะดวกสบาย และการศึกษา ในปี ค.ศ. 1884 เด็กสาว ชาวอเมริกันพื้นเมือง คนนี้เต็มใจที่จะเดินทางไปสู่เมืองวอแบช รัฐอินดีแอนา เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนประจำที่ดูแลโดยกลุ่มเควกเกอร์ (Quakers) ซึ่งอุทิศให้กับการฝึกอบรมเด็กชาวอเมริกันพื้นเมือง
จากนั้น เธอได้รู้ว่าครูที่นำเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของเธอออกไปเมื่อมาถึงต้องการตัดผมของเธอด้วย ซิตคาลา-ชาช ภาคภูมิใจในผมยาวสีดำของเธอ นอกจากนั้น เธอถูกเลี้ยงดูมาโดยความคิดว่าผมสั้นคือความอับอายของนักรบที่ถูกจับ เธอหลบหนีจากเด็กคนอื่นๆ แต่พวกผู้ใหญ่ก็พบที่ซ่อนของเธอ พวกเขาลากเธอเข้าไปในอีกห้องหนึ่ง และจับเธอมัดกับเก้าอี้
“ฉันกรีดร้องดังลั่น และสะบัดหัวของฉันอยู่ครู่หนึ่ง จนกระทั่งฉันสัมผัสถึงคมกรรไกรที่เย็นเฉียบบนคอของฉัน และได้ยินมันกัดผมเปียหนาตัวหนึ่งของฉัน” เธอเขียนลงในไดอารี่ที่ชื่อว่า เรื่องราวของอเมริกันอินเดียน (American Indian Stories) ในปี 1921 “จากนั้นจิตวิญญาณของฉันได้สูญสิ้น” เธอถูกเปลี่ยนชื่อโดยเหล่ามิชชันนารีว่า Gertrude ต่อมา ซิตคาลา-ชาช ใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เหลืออยู่ที่โรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนชาวพื้นเมือง
เธอเป็นหนึ่งในนักเรียนหลายแสนคนที่เข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 โรงเรียนประจำของสหรัฐฯ ได้สร้างแรงบันดาลใจในโครงการที่คล้ายกันในแคนาดา ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดความปั่นป่วนจากการค้นพบหลุมศพไม่มีระบุชื่อหลายร้อยหลุมในโรงเรียนประจำที่เด็กชาวอเมริกันพื้นเมืองถูกบังคับให้เข้าเรียน
การค้นพบที่น่าสยดสยองนี้บีบให้สหรัฐฯ ต้องสะสางเกี่ยวกับโรงเรียนประจำที่อยู่อาศัยของเด็กชาวอเมริกันพื้นเมือง เด็กๆ ถูกลงโทษเพียงแค่พูดภาษาของพวกเขา บังคับให้พวกเขาใช้ชื่อใหม่ และบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ มิหนำซ้ำหลายคนยังได้รับทุนจากรัฐบาลกลางในความพยายามอย่างทะเยอทะยานที่จะบังคับให้ชนพื้นเมืองอเมริกันหลอมรวมเข้ากับสังคมคนอเมริกันผิวขาว
โรงเรียนประจำสำหรับชาวอเมริกันพื้นเมืองแห่งแรก
ชนพื้นเมืองอเมริกันได้อยู่อาศัย และดูแลดินแดนดั้งเดิมของพวกเขาเป็นเวลานับพันปีก่อนที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวผิวขาวจะมาถึงในช่วงปี 1600 อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเรียนรู้จากชนพื้นเมืองของดินแดนนี้ ผู้ตั้งถิ่นฐานเริ่มกดดันชาวอเมริกันพื้นเมืองให้ละทิ้งสังคมดั้งเดิมของตน และยอมรับวิถีของสาธารณรัฐใหม่
ในปี ค.ศ. 1830 สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายการถอดถอนชาวอินเดียน ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐบาลกลางแลกเปลี่ยนที่ดินทางตะวันตกของสหรัฐฯ กับบ้านเกิดของบรรพบุรุษของชนเผ่าบางเผ่าทางตะวันออก แต่ถึงแม้จะเป็นนายหน้าซื้อขายสนธิสัญญากับชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 350 ฉบับ สหรัฐฯ ไม่ได้ทำตามสัญญา แทนที่จะอนุญาตให้คนพื้นเมืองสร้างบ้านถาวรทางทิศตะวันตก มันกลับผลักพวกเขาไปสู่เขตสงวนที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้
โรงเรียนประจำในสหรัฐอเมริกาสำหรับเด็กชาวอเมริกันพื้นเมือง
โรงเรียนอุตสาหกรรมอินเดียนคาร์ไลล์ (Carlisle Indian Industrial School) เปิดทำการในปี 1879 เป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกที่ให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ชาวอเมริกันพื้นเมือง ปรัชญาของโรงเรียนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางคือ “ฆ่าชาวอินเดียน ช่วยชายคนนั้น” โดยบังคับให้พวกเขาทำตัวกลมกลืนวัฒนธรรมของคนผิวขาว โดยห้ามการใช้ภาษาพื้นเมือง และการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ในปี 1891 สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายกำหนดให้เด็กพื้นเมืองต้องเข้าโรงเรียน โรงเรียนคาร์ไลล์กลายเป็นต้นแบบสำหรับโรงเรียนแบบเดียวกันกว่า 300 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา
การกดขี่ในนามของการดูดกลืนวัฒนธรรม
ที่โรงเรียนประจำของรัฐบาลกลางที่ตั้งอยู่ในชุมชนคนผิวขาว เด็กๆ จะได้รับชื่อแบบคนผิวขาวชาวแองโกล
(Anglo) ภาษาพื้นเมือง อีกทั้งมีการห้ามการปฏิบัติทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเด็กๆ การศึกษาที่เข้มงวดของพวกเขาประกอบไปด้วยการเรียนภาษา การเรียนในด้านของการใช้แรงงาน การดูแลบ้าน และการทำฟาร์ม มากไปกว่านั้น เด็กนักเรียนจะต้องช่วยให้โรงเรียนอยู่ได้อย่างพอเพียง โดยการใช้แรงงานของพวกเขาระหว่างที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน
สำหรับหลายๆ คนโรงเรียนเป็นแหล่งบ่มเพาะความอัปยศ การล่วงละเมิด และการตกเป็นเหยื่อ มิหนำซ้ำโรงเรียนยังเป็นสถานที่อันตรายอีกด้วย ความสกปรก และความแออัดทำให้เกิดโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ และไข้ทรพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักเรียนที่อ่อนแอจากการบาดเจ็บ และการปันส่วนที่น้อยนิด โรงเรียนมีสุสานของตัวเอง และนักเรียนมักจะสร้างโลงศพของเพื่อนร่วมชั้น
เด็กคนอื่นๆ เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย หรือหลบหนีออกไป การปฏิบัตินี้เป็นเรื่องธรรมดามากเสียจนบางโรงเรียนเสนอเงินรางวัลให้กับการจับเด็กที่หลบหนี “แรงดึงดูดที่หวนคืนให้กลับไปใช้ชีวิตในธรรมชาติ ด้วยอิทธิพลจากคนป่าเถื่อนรอบๆ ตัว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแรงดึงดูดนี้มันจะรุนแรงเพียงใด” นักข่าวหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเขียนบทความเกี่ยวกับชีวิตที่สถาบันแรงงานอินเดียนาของไวท์ (White’s Indiana Manual Labor Institute) ในเมืองวาแบช รัฐอินดีแอนา โรงเรียนซิตคาลา-ชาชเคยเข้าเรียน
ทว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าโรงเรียนเหล่านี้ประสบความสำเร็จมาก จนในปี ค.ศ. 1891 รัฐบาลสหรัฐได้ผ่านกฎหมายของรัฐบาลกลางที่บังคับให้เด็กพื้นเมืองต้องเข้าเรียน สำนักกิจการอินเดียน (The Bureau of Indian Affairs) หน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ถูกมอบหมายให้แจกจ่ายอาหาร ที่ดิน และข้อกำหนดอื่นๆ ที่รวมอยู่ในสนธิสัญญากับชนเผ่าพื้นเมือง จะระงับการส่งอาหาร และสินค้าอื่นๆ จากผู้ที่ปฏิเสธที่จะส่งลูกไปโรงเรียน หรือแม้แต่ส่งเจ้าหน้าที่ไปบังคับพาตัวเด็กออกจากเขตสวงน มันคือ “อารยธรรมโดยการลักพาตัว” กล่าวโดยผู้สนับสนุนชาวอเมริกันพื้นเมืองคนหนึ่งในการพิจารณาคดีในรัฐสภาปี ค.ศ. 1927
ชนพื้นเมืองอเมริกันรุ่นก่อนต้องสูญเสียดินแดนเกือบทั้งหมด ตอนนี้ โรงเรียนประจำได้พรากครอบครัวของพวกเขา พร้อมๆ กับทำให้ภาษา และวัฒนธรรมของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย
ผู้ปกครองชาวอเมริกันพื้นเมืองหลายคนไม่ยอมถูกพรากเด็กๆ ของพวกเขาไปโดยไม่ได้ต่อสู้ เกิดการประท้วงที่น่าจดจำครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1894 เมื่อชายโฮปี (Hopi) กลุ่มหนึ่งในรัฐแอริโซนาปฏิเสธที่จะส่งลูกไปอยู่อาศัยที่โรงเรียนประจำ พวกเขาทั้ง 19 คนนั้นถูกคุมตัวไปที่เกาะอัลคาทราซในรัฐแคลิฟอร์เนีย ห่างจากครอบครัวของพวกเขาประมาณ 1,600 กิโลเมตร และถูกคุมขังอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งปี
การต่อสู้เพื่อปิดโรงเรียนประจำ
อย่างไรก็ตาม ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ความกระตือรือร้นที่มีต่อระบบลดน้อยลง และโรงเรียนต่างๆ ได้ทรุดโทรมลง ในปี ค.ศ. 1928 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบหมายสิ่งที่เรียกว่ารายงานเมริยาม (Meriam Report) ซึ่งเป็นข้อมูลอัปเดตที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสถานะของกิจการเกี่ยวกับชนพื้นเมืองอเมริกัน ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างตั้งแต่สภาพที่ทรุดโทรมของโรงเรียน ไปจนถึงการใช้แรงงานหนักที่เด็กๆ ถูกบังคับให้ทำ และชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนอาศัยเทคนิคการสอนที่ล้าสมัย เช่น การเรียนรู้แบบท่องจำ และการสวด เหล่านักเรียนต่างรู้สึกเครียด หิวโหย ป่วย และขวัญเสีย อีกทั้งพวกเขายังถูกลงโทษบนร่างกายอย่างรุนแรง
รายงานดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทันที หนึ่งในนั้นคือ การจัดสรรเงินทุนฉุกเฉินเพื่ออาหารและเสื้อผ้าที่ดีขึ้นในโรงเรียน แม้ว่ารายงานดังกล่าวจะแนะนำให้รื้อถอนระบบโรงเรียนประจำเพื่อเปลี่ยนเป็นแบบไปกลับ แต่โรงเรียนประจำก็ยังคงอยู่
ในขณะเดียวกัน รอยแยกที่พวกเขานำมาสู่วัฒนธรรมพื้นเมืองก็เปิดกว้างขึ้น ภาษาพื้นเมืองเริ่มเสื่อมลง ด้วยการพรากเด็กๆ ออกจากเขตสงวนชนพื้นเมือง และการบังคับใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะการเลี้ยงดูแบบชนพื้นเมืองไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน และช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการรายงานว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนถูกละเลย ทั้งยังถูกทารุณกรรมทางร่างกาย และทางเพศอย่างกว้างขวาง
“ข้อความที่น่าสลดมากที่สุด คือข้อความที่เกิดขึ้นจากการเกลียดชังตัวพวกเขาเอง” เขียนโดย Mending the Sacred Hoop องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสตรีชนพื้นเมือง ในรายงานเกี่ยวกับประสบการณ์ของโรงเรียนประจำ องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรนี้ได้ติดตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนของชาวอเมริกันพื้นเมือง ในการถูกทารุณกรรม และบาดแผลทั้งทางกาย และจิตใจ ที่เด็กจำนวนมากได้รับระหว่างการศึกษา
ชนพื้นเมืองอเมริกันยังคงต่อสู้เพื่อปิดโรงเรียนประจำ การศึกษาแบบกำหนดได้ด้วยตนเองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับขบวนการชาวอินเดียนแดงที่กำลังขยายตัวในทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ในปี ค.ศ. 1975 สภาคองเกรสผ่านบัญญัติการช่วยเหลือตนเอง และการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาของชาวอินเดียน (Indian Self-Determination and Education Assistance Act) ที่จะมอบอำนาจให้ชนเผ่ารับผิดชอบโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลสหพันธรัฐบริหารจัดการ
มันเป็นจุดจบของโรงเรียนประจำแบบที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ แต่ยังมีส่วนน้อยที่ยังคงอยู่ ปัจจุบันนี้สำนักงานการศึกษาของอินเดียนยังคงดำเนินการโรงเรียนประจำ 4 แห่งโดยตรงในรัฐโอคลาโฮมา แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และเซาท์ดาโคตา ตามการรายงานของ สหพันธ์การเยียวยาชนพื้นเมืองอเมริกันในโรงเรียนประจำแห่งชาติ (National Native American Boarding School Healing Coalition) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้ระบุว่าในปี ค.ศ. 2021 นี้ยังมีโรงเรียนประจำ 15 แห่ง และเมื่อรวมกับโรงเรียนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจะมีทั้งหมด 73 แห่ง
คำนึงถึงอดีตที่เกิดขึ้น
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 รัฐบาลกลางเริ่มรับรู้ถึงมรดกอันน่าสยดสยองของโรงเรียนประจำ ในปี ค.ศ. 2009 สภาคองเกรสได้มีมติร่วมกันในการขอโทษต่อชนพื้นเมืองอเมริกันซึ่งรวมถึงการอ้างอิงถึง “การบังคับขับไล่เด็กพื้นเมืองออกจากครอบครัวของพวกเขาไปยังโรงเรียนประจำที่อยู่ห่างไกล สถานที่ที่ภาษาพื้นเมือง และการปฏิบัติของพวกเขาเป็นสิ่งต้องห้าม และถูกลดคุณค่า” ในปี ค.ศ. 2016 กองทัพสหรัฐฯ ได้เริ่มส่งศพบางส่วนที่ถูกฝังไว้ที่โรงเรียนคาร์ไลล์อินเดียนกลับไปยังชนเผ่า และกลุ่มของพวกเขา มันเป็นความพยายามหนึ่งเดียวที่มีการทำในสหรัฐ โดยการส่งศพกลับกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ
ตัวเลขทั้งหมดของเด็กที่ถูกส่งตัวไปโรงเรียนประจำซึ่งเกิดขึ้นยาวนานนับศตวรรษของพวกเขานั้นยังไม่ชัดเจน แต่รอยแผลเป็นยังคงปรากฎชัด และบาดแผลนี้ได้ถูกเปิดขึ้นอีกครั้งพร้อมกับรายงานล่าสุดเกี่ยวกับหลุมศพที่ไม่ระบุชื่อในแคนาดา เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งนี้ Deb Haaland รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอเมริกันคนแรกที่ได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศโครงการริเริ่มโรงเรียนประจำของรัฐบาลกลางอินเดียน (Federal Indian Boarding School Initiative) ซึ่งเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อทบทวนประวัติศาสตร์ และมรดกอันโหดร้ายของโรงเรียนประจำเหล่านี้ โดยโครงการนี้จะสืบสวนเกี่ยวกับสถานที่ฝังศพที่ทราบ และถูกต้องสงสัย
พันธมิตรโรงเรียนประจำของชนพื้นเมืองอเมริกัน (The Native American boarding school coalition) ชื่นชมต่อความคิดริเริ่มนี้ “พวกเรามีสิทธิ์ที่จะรับรู้ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ที่ไม่เคยได้กลับบ้านจากโรงเรียนประจำสำหรับชาวอเมริกันพื้นเมือง” องค์กร NABS ได้กล่าวเพิ่ม “มันถึงเวลาแล้วสำหรับความจริง และการเยียวยา”
แปล ปรมินทร์ แสงไกรรุ่งโรจน์
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย