พ่อของชารอน เอสตีล เทย์เลอร์ ถูกยิงเสียชีวิตในเยอรมนีขณะที่เธอมีอายุได้เพียงสามสัปดาห์ เธออุทิศตัวกว่าทศวรรษเพื่อตามหาพ่อบังเกิดเกล้า
เอสตีล เทย์เลอร์ พ่อของชารอนเป็นนักบินรบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เขาได้แลกเปลี่ยนจดหมายกับแมรี่ ภรรยาของเขา ตั้งแต่ทั้งสองเป็นคู่รักมัธยมปลายด้วยกัน ก่อนถูกยิงในเดือนเมษายน 1945 ขณะนั้นภรรยาของเขาเพิ่งให้กำเนิดลูกสาวได้เพียง 3 สัปดาห์ เด็กหญิงตัวน้อยคนนี้จึงไม่มีความทรงจำใดร่วมกับพ่อของเธอเลย
สงครามในยุโรปสิ้นสุดลงยังไม่ครบหนึ่งเดือนดี ณ เมืองซีดาร์แรพิดส์ รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดพิธีเล็ก ๆ ประกาศว่าตระกูลเอสตีลได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง แชนนอนถูกตัดสินว่าเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ทว่า ไม่มีใครพบศพและนำกลับมาฝัง ไม่มีแม้แต่การอธิบายความจริงว่า เรืออากาศโทแชนนอน เอสตีลได้กระโดดร่มหนีจากเครื่องบินขับไล่ P38J Lightning ก่อนที่ปืนต่อสู้ยานอากาศของศัตรูจะยิงทำลายหรือไม่
ชารอนในวัยเจ็ดขวบนั่งจิบช็อกโกแลตมอลต์อยู่ที่เคาน์เตอร์โซดา ขณะที่ย่าของเธอพูดถึงพ่อที่ตายในสนามรบ ความคิดถึงลูกชายที่จากไปไม่มีวันกลับทำให้นัยน์ตาของย่าเต็มไปด้วยน้ำตา ในวันนั้นชารอนให้สัญญากับย่าของเธอว่า “ไม่เป็นไรนะย่า หนูจะตามหาและพาพ่อกลับบ้านเอง”
หกสิบปีต่อมา เธอยังคงรักษาสัญญาที่ให้ไว้ เธอรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ จากจดหมายของพ่อแม่ รวมถึงได้รับการช่วยเหลือจากนักประวัติศาสตร์ทางการทหาร พยานผู้เห็นเหตุการณ์ และทีมขุดค้น และในที่สุด เมื่อปี 2006 เธอนำพ่อกลับบ้านได้สำเร็จ
ตอนนี้ พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 แห่งชาติ ในเมืองนิวออร์ลีนส์ ได้จัดการแสดงแสง สี เสียงเสมือนจริงขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องในวันทหารผ่านศึก ชารอน เอสตีล เทย์เลอร์ได้นำประสบการณ์จริงจากพ่อและแม่ของเธอ และเรื่องราวของเหล่าผู้เสียชีวิตในสงคราม รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตมาบอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ภายในงานนี้ด้วย
โตมากับคำว่า “ลูกไม่มีพ่อ”
“ฉันโตมากับแม่ที่เศร้าโศกเสียใจ และปู่ย่าที่ตรมตรอม” ชารอนกล่าว ชารอนไม่ยอมให้ใครทิ้งชุดโต๊ะขนาดพิเศษของพ่อ แม้แม่เธอจะแต่งงานใหม่ หรือหากคนเก็บขยะมาเก็บ เธอก็จะบอกว่าเป็นโต๊ะของพ่อผู้สละชีวิตในสงคราม
วันหนึ่ง คุณย่ามอบกล่องสีเงินกล่องหนึ่งให้แก่ชารอน ข้างในพบจดหมายกว่า 450 ฉบับ เมื่อเปิดดูก็รู้ว่าเป็นจดหมายของพ่อกับแม่ที่เขียนจีบกันตั้งแต่ทั้งคู่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย พ่อเข้าฝึกการบิน จนปฏิบัติหน้าที่ในฤดูใบไม้ร่วง ปี 1944 รวมถึงจดหมายที่ยังไม่ได้เปิดอ่านจากแม่ชารอนที่เขียนหลังจากสามีหายตัวไป
ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่ลูกๆของชารอนโตแล้ว เธอจึงใช้เวลาช่วงฤดูร้อนหนึ่ง ถอดความในกระดาษจดหมายกว่า 3,000 หน้า เพื่อทำความรู้จักพ่อ แชนนอนชอบเล่นมุก วาดรูปสเก็ต และชอบบอกรักภรรยา เขาเขียนถ้อยคำเหล่านี้ในเดือนมีนาคม 1944 ว่า “ผมชอบมากเวลาได้จดหมายจากคุณ มันน่ารักมาก น่ารักเหมือนคุณไงที่รัก คุณอยู่ในใจผมตลอดแหละ จดหมายพวกนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าคุณอยู่ข้าง ๆ ”
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเขากล่าวถึงความโหดร้ายของสงครามว่า “รู้สึกขอบคุณเหลือเกินที่คุณอยู่ในอเมริกา ไม่ต้องมาอยู่ในยุโรปที่เต็มไปด้วยอันตราย ทุกอย่างขาดแคลนไปหมด” บางครั้งเขาก็มองเห็นความสำคัญของสงครามว่า “สิ่งที่ผมกำลังต่อสู้อยู่ถูกและดีที่สุด”
แชนนอนกังวลว่าแมรี่อาจคลอดลูกโดยที่ไม่มีเขาอยู่เคียงข้าง เขาจึงไปถามหาความรู้บางอย่างจากหมอทหารเพื่อความแน่ใจ และเขียนบอกเธอผ่านจดหมายวันที่ 2 มีนาคม 1945 เขาวาดขั้นตอนการเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วยแผนภาพในจดหมาย และยังบอกอีกว่า “ทุกคนในหน่วย 428 กังวลเรื่องลูกของเราที่กำลังจะเกิด”
หลังจากชารอนเกิดมาไม่กี่อาทิตย์ แชนนอนเขียนจดหมายส่งถึง “นางฟ้าตัวน้อย” เขาบอกว่าเหลือภารกิจบินอีกหนึ่งภารกิจก่อนลางานกลับบ้าน และได้แขวนรองเท้าเด็กอ่อนคู่หนึ่งไว้กับหมวกนักบิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี
เกิดอะไรขึ้นกับพ่อของชารอน
ชารอนใช้ข้อความในจดหมายผ่านบทกวี มุมมอง และความฉลาดรอบรู้ของพ่อ ปะติดปะต่อเรื่องจนสามารถไขความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างภารกิจสุดท้ายของแชนนอนได้
การไปหาข้อมูลต่อที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) และหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Archives) ทำให้ชารอนรู้ว่าวันที่ 13 เมษายน 1945 พ่อของเธอขับเครื่องบินขึ้นไปพร้อมกับนักบินรบอีก 10 นาย มุ่งโจมตีสถานีรถไฟแห่งหนึ่งและทำลายเส้นทางขนส่งเสบียง นาซี นอกจากนี้เธอยังพบหลักฐานยืนยันว่าเครื่องบินของพ่ออาจตกใกล้กับเมืองเอลส์นิช ในเยอรมนีตะวันออก
การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ในปี 1989 ทำให้ชารอนมีโอกาสไปเยือนสถานที่ที่เครื่องบินของพ่อตก ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นเขตแดนฝั่งสหภาพโซเวียต ชารอนได้พบกับ ฮันส์ กืนเทอร์ โพลเอ็ส นักประวัติศาสตร์การบินทางทหารชาวเยอรมัน ฮันส์ยินดีให้ความช่วยเหลือชารอนตามหาอากาศยานและร่างของผู้เสียชีวิตในสงคราม
ฮันส์ได้ลองทุกวิธีการในการค้นหา จนกระทั่งในปี 2003 เขาพบแผ่นข้อมูลเครื่องบินของแชนนอนพร้อมกับเศษกระดูกในละแวกใกล้เคียง อดีตผู้บริหารสำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Department of Defense POW/MIA Accounting Agency –DPAA) ส่งทีมขุดค้นหามาช่วยเหลือ
ในปี 2005 มีการขุดค้นหาตลอดสามสัปดาห์ ชารอนกล่าวว่า ตั้งแต่ที่เธอก้าวเท้าเข้ามา ณ สถานที่แห่งนี้ เธอรู้สึกได้ว่าพ่อของเธออยู่ที่นี่ และภายหลังนำเศษกระดูกไปตรวจสอบพบว่ามีดีเอ็นเอตรงกับเรืออากาศโทแชนนอน เอสตีล
วันที่อากาศดีวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ปี 2006 ชารอนและครอบครัวของเธอได้นำเศษซากร่างของพ่อมาฝังไว้ที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน เธอได้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับย่าแล้ว โดยภารกิจนี้ทำให้ชารอนรู้จักพ่อของเธอมากขึ้น
“ฉันอยากรู้ความจริง” ชารอนกล่าว “ฉันไม่อยากให้ใครลืมเรื่องราวและสิ่งที่พ่อได้ทำไว้ ”
ชารอนยังเก็บสำเนาจดหมายของพ่อและแม่ไว้ในบ้านที่สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา และให้ลูกทั้ง 4 และหลานอีก 10 คนได้เห็นประจักษ์ และในวันเกิดพ่อของเธอทุกปี เธอจะเขียนจดหมายฉบับหนึ่งให้เขา
เธอตระหนักได้ว่าเธอไม่ได้ตามหาความจริงเรื่องพ่อเพียงลำพัง เพราะประชาชนอเมริกันทุกครัวเรือนล้วนสูญเสียพ่อแม่หรือคนรักในสงครามต่างแดน และหวังว่าจะได้รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ความเป็นจริงเราไม่เคยได้พูดว่า ‘เย้! วู้ฮู้! สงครามจบแล้ว พ่อเราจะได้กลับบ้าน’” ชารอนกล่าวเสริมว่า “เราถูกลิดรอนสิทธิ์ ฉันตระหนักว่านี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง”
เรื่องราวของชารอนโด่งดังไปทั่ว สร้างความตระหนักและให้ความสำคัญกับความพยายามในการกู้ร่างทหารอเมริกันเกือบแสนรายกลับบ้าน ชารอนอยากให้คนได้รับรู้ว่ายังมีความพยายามในการดำเนินการกู้ร่างผู้เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และนำส่งคืนครอบครัวผู้เสียชีวิต ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรอย่าง DPAA
ชารอนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าช่วงชีวิตสุดท้ายของพ่อของเธอเป็นเช่นไร แต่เพราะเธอได้ชมตัวอย่างงานนิทรรศการ “Expressions of America” ในเมืองนิวออร์ลีนส์ และได้เห็นถ้อยคำแสดงความรักของพ่อ ฉายสะท้อนออกมาจากเครื่องโปรเจ็คเตอร์ลงบนผ้าใบขนาดยาว 90 ฟุต จดหมายที่จั่วหัวส่งถึง “นางฟ้าตัวน้อย” ทำให้ชารอนรู้สึกในระดับหนึ่งว่าพ่อได้กลับบ้านแล้วจริง ๆ
แปล สุดาภัทร ฉัตรกวีกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย