ความตึงเครียดยาวนานระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ จากการขยายอาณาเขตของญี่ปุ่น ปะทุกลายเป็นความขัดแย้ง และ การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941
“มี การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ นี่ไม่ไช่การฝึกซ้อม” เมื่อข้อความเร่งด่วนจากโฮโนลูลูถูกส่งไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 แม้แต่ผู้ที่คาดคะเนถึงความขัดแย้งระหว่างกับญี่ปุ่นยังตกใจต่อการโจมตีกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไปเกือบ 6,437 กิโลเมตร
“พระเจ้า นี่มันเป็นไปไม่ได้” แฟรงก์ น็อกซ์ เลขาธิการทบวงกองทัพเรือ กล่าว
ก่อนหน้า การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ หลายเดือน เหล่าผู้นำของฝ่ายญี่ปุ่นวางแผนการโจมตีฉับพลันอันบ้าบิ่นครั้งนี้เพื่อบอกสหรัฐฯ ว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้ครอบครองแปซิฟิก
ความตึงเครียดคุกรุ่น
ญี่ปุ่นเริ่มขยายอาณาจักรของตนเมื่อปลายทศวรรษที่ 19 โดยมีจุดประสงค์ทั้งการสรรหาทรัพยากรธรรมชาติและสร้างรัฐกันชนเพื่อปกป้องตนเอง ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้แย่งชิงเกาหลีจากจีนเมื่อทศวรรษที่ 1890 คาบสมุทรเหลียวตง และบางส่วนของแมนจูเรียจากรัสเซียเมื่อทศวรรษที่ 1900
เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นขยายอาณาเขตอย่างไม่หยุดยั้งและแย่งชิงดินแดนจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงกลางทศวรรษที่ 1930 ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ก็ย่ำแย่ลง เพราะ สหรัฐฯ พยายามป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจจากการล่าอาณานิคมผ่านวิธีการทางการทูตและการคว่ำบาตร ญี่ปุ่นเห็นว่าตนเองไม่จำเป็นต้องหยุดยั้งการขยายดินแดนของตนตามคำขอของประเทศตะวันตกซึ่งยึดฮาวายมาเป็นอาณานิคมของตนเอง และเลือกต่อสู้แทนที่จะยอมจำนน
จู่โจมก่อนได้เปรียบ
พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเรือญี่ปุ่นและผู้บังคับบัญชากองเรือผสม เคยอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และทราบว่าประเทศแห่งนี้มีทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพทางอุตสาหกรรมมากมายเพียงใด และเข้าใจอีกว่าการยั่วยุยักษ์หลับตนนี้ด้วยการโจมตีอาจทำให้เกิดผลลัพธ์อันตรายร้ายแรง เขาเตือนว่า “การต่อสู้กับสหรัฐฯ เปรียบได้กับการต่อสู้กับโลกทั้งใบ”
ยามาโมโตะสันนิษฐานว่าความหวังเดียวของชัยชนะเหนือสหรัฐฯ คือการบดขยี้กองเรือแปซิฟิกที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ก่อนที่ทัพเรือสหรัฐฯ จะมีโอกาสระดมกำลังอย่างเต็มที่ หากญี่ปุ่นไม่ทำลายกองเรือดังกล่าวและป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ ใช้กำลังได้อย่างเต็มที่ ญี่ปุ่นจะต้องพบกับปัญหามากมาย มีแต่การโจมตีอย่างฉับพลัน รุนแรง และไม่ทันให้ตั้งตัวเท่านั้นที่จะทำให้กองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิกให้ซวนเซได้ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1941 การเตรียมพร้อมทำสงครามก็ได้รับการอนุมัติ การวางแผนการจู่โจมเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้เริ่มต้นขึ้น
การตัดสินใจที่ไม่อาจหวนกลับ
26 พฤศจิกายน 1941 เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่หกลำพร้อมเครื่องบินกว่า 400 ลำของกองบินกองทัพเรือที่หนึ่งที่อยู่บนดาดฟ้า และขบวนคุ้มกันซึ่งประกอบด้วยเรือประจัญบาน เรือลาดตระเวณ เรือพิฆาต และเรือดำน้ำเริ่มออกเดินทางจากญี่ปุ่น และใช้เส้นทางมุ่งหน้าขึ้นทิศเหนือซึ่งไม่ค่อยมีการใช้งานเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับ
วันที่ 7 ธันวาคม เวลา 6 นาฬิกา เรือบรรทุกเครื่องบินทั้งหกลำเข้าหากระแสลมเพื่อปล่อยเครื่องบินขับไล่ ทิ้งระเบิด และตอร์ปิโดระลอกแรกจำนวน 183 ลำ แม้คลื่นทะเลที่รุนแรงจะทำให้การนำเครื่องบินขึ้นเป็นเรื่องที่อันตรายก็ตาม “เรือมันโคลงเคลงและขยับตัวขึ้นลงพอควรเลยครับ” นักบินคนหนึ่งซึ่งออกตัวกับการจู่โจมระลอกที่สองกล่าวย้อนความ
นาวาโทมิตซึโอะ ฟูชิดะ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำการโจมตี เกรงว่าเมฆจะบดบังเป้าหมายเบื้องล่าง ทว่าเขามีมั่นใจขึ้นอีกครั้งเมื่อได้ฟังพยากรณ์อากาศของโฮโนลูลูจากวิทยุซึ่งกล่าวว่าท้องฟ้าแจ่มใส ส่วนผู้อยู่อาศัยบนเกาะซึ่งตื่นขึ้นมาพบกับสรวงสวรรค์ในเช้าวันอาทิตย์ กลับต้องจากลากับความสงบสุขภายในไม่ถึงสองชั่วโมงข้างหน้า
นี่ไม่ไช่การซ้อม!
เมื่อเวลา 8 นาฬิกาตรง ขณะวงโยธวาธิตบนดาดฟ้าเรือยู.เอส.เอส. เนวาดา กำลังเริ่มบรรเลงเพลงชาติเพื่อเชิญธงขึ้นเสา ฝูงเครื่องบินตอร์ปิโด 40 ลำมุ่งหน้าดิ่งลงสู่อ่าวเบื้องล่าง เครื่องบินลำหนึ่งโจมตีเรือ ยู.เอส.เอส โอคลาโฮมา ซึ่งเทียบท่าใกล้กับเนวาดา เพียงครู่ต่อมา เนวาดาก็ถูกตอร์ปิโดเข้าลูกหนึ่งเช่นกัน
ความเสียหายจากตอร์ปิโดยิ่งรุนแรงขึ้นด้วยระเบิดที่เจาะดาดฟ้าของบรรดาเรือรบก่อนที่จะระเบิดขึ้น ราว 8:20 นาฬิกา ระเบิดลูกหนึ่งเจาะทะลวงคลังแสงดินระเบิดบริเวณส่วนหน้าของยู.เอส.เอส. แอริโซนา ทำให้เกิดการระเบิดครั้งมโหฬารที่คร่าชีวิตลูกเรือนับร้อยโดยทันที จากกะลาสี 1,400 นายบนเรือลำนี้ มีไม่ถึง 300 นายที่รอดชีวิต
วันอาทิตย์นองเลือด
ราว 9 นาฬิกา เครื่องบินระลอกที่สองเริ่มทำการจู่โจมและสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้น เมื่อการโจมตีเสร็จสิ้น ราว 9:45 นาฬิกา เรือประจันบานทั้งแปดลำและเรือรบอื่นๆ อีก 11 ลำล้วนถูกจมหรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก แม้ส่วนใหญ่จะถูกซ่อมแซมในภายหลัง แต่เรือแอริโซนาและโอคลาโฮมานั้นพังพินาศ ความสูญเสียของเรือทั้งสองลำคิดเป็นจำนวนเกือบสามในสี่ของความสูญเสียทั้งหมดในวันอาทิตย์นองเลือดครั้งนี้
มีชีวิตที่ต้องดับสูญไป กว่า 2,400 ชีวิต ซึ่งมีที่มากจากทหารเหล่าทัพต่างๆ รวมไปถึงพลเรือน นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเกือบ 1,200 ราย
ศัตรูตื่นขึ้นแล้ว
เมื่อฟูชิดะและนักบินกลับถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน ความยินดีจากการจู่โจมศัตรูได้อย่างไม่ทันตั้งตัวกลับเหือดหายลงไป เพราะแม้พวกเขาจะสร้างความเสียหายได้มาก แต่กองเรือแปซิฟิกก็มิได้ถูกทำลายจนไม่สามารถฟื้นตัว คลังน้ำมันและอู่ซ่อมแซมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกองเรือในเพิร์ลฮาร์เบอร์กลับได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย
พลเรือเอกยามาโมโตะ ซึ่งทราบผลการโจมตีในภายหลัง กล่าวว่าการโจมตีศัตรูที่กำลังหลับใหล ซึ่งต่อมาได้ลืมตาตื่นขึ้นและพร้อมโจมตีกลับนั้นเป็นเรื่องที่ไร้เกียรติ เขารู้ดีว่ากระแสย่อมตีกลับหากพวกเขาไม่สามารถทำภารกิจที่ตั้งเป้าไว้ให้สำเร็จลุล่วง
‘วันอัปยศ’
ในไม่กี่ชั่วโมงหลังการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ กองกำลังญี่ปุ่นโจมตีเป้าหมายอื่นๆ ภายในระยะ 9,656 กิโลเมตร เพื่อเปิดทางให้การรุกรานที่จะมาถึง ซึ่งเป็นปฏิบัติการรุกครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยทำโดยประเทศเดียว พวกเขารุกรานฐานที่มั่นของสหราชอาณาจักรที่สิงคโปร์ และทิ้งระเบิดฐานทัพสหรัฐฯ ที่กวม เกาะเวค และฟิลิปปินส์ สถานที่ซึ่งเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวนมากถูกทำลายบนลานบินที่ฐานทัพคลาร์ก ดังเช่นที่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ กล่าวเมื่อเขาขอให้สภาคอนเกรสประกาศสงครามกับญี่ปุ่นว่า วันที่เจ็ดธันวาคมจะ “ถูกจดจำในฐานะวันอัปยศ”
การสำแดงพลังของญี่ปุ่นทำให้สหรัฐฯ ต้องเจ็บปวด และเป็นช่วงเวลาที่แสนยากลำบากกว่ากองกำลังของพวกเขาและฝ่ายสัมพันธมิตรจะเริ่มยึดอาณาเขตที่สูญเสียในไปในสมรภูมิแปซิฟิกกลับคืนมาได้
เรื่อง กองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน