จาก ตรุษจีน ถึง เช็งเม้ง : แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

จาก ตรุษจีน ถึง เช็งเม้ง : แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

จาก ตรุษจีน ถึง เช็งเม้ง : แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

ในหมู่บ้านฉุ่ยเฉวียนโกว ชาวบ้านแทบไม่ปริปากถึงคนตาย และไม่อาลัยอาวรณ์ เมื่อผมถามถึงวันคืนเก่าๆ ชาวบ้านจะบอกว่า “ที่นี่ลำบากยากแค้นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร” แล้วก็ปิดปากเงียบไปเสียเฉยๆ กำแพงเมืองจีนตั้งตระหง่านอยู่ไม่ห่างออกไป กระนั้น ซากปรักหักพังอันน่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้กลับไม่มีใครสนใจไยดี เมื่อปี 2001 ผมไปเช่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เหตุผลหนึ่งเพราะผมอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ในไม่ช้าผมก็ตระหนักว่าอดีตกำลังกลายเป็นเพียงภาพอันเลือนราง ชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ต่างจากชาวจีนรุ่นใหม่ที่สนใจอยู่แต่กับการแสวงหาโอกาสในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นราคาพืชผลท้องถิ่นที่ถีบตัวสูงขึ้น หรือการเติบโตของโครงการก่อสร้างที่สร้างงานใหม่ๆในปักกิ่ง

แต่ละปีมีเพียงวันเดียวที่ชาวจีนหวนรำลึกถึงอดีต นั่นคือเทศกาลเช็งเม้งในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งมีการเฉลิมฉลองในหลากหลายรูปแบบตามท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศจีนมากว่าพันปีแล้ว ทว่าประเพณีเซ่นสรวงบูชาบรรพบุรุษมีมาช้านานกว่านั้น เมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน หลายวัฒนธรรมในจีนตอนเหนือมีการสักการะผู้วายชนม์ด้วยพิธีกรรมที่มีระเบียบแบบแผนอันซับซ้อน ขนบธรรมเนียมเหล่านั้นยังคงเหลือเค้าลางให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบัน ช่วงปีแรกที่ผมพำนักในหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้ง ผมได้ติดตามเพื่อนบ้านไปทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของพวกเขาที่ฮวงซุ้ย

ชีวิตหลังความตาย
สมาชิกในครอบครัวของแม่บ้านชาวนาจางกุ้ยหลาน สวมชุดไว้ทุกข์สีขาวขณะประกอบพิธีฝังศพเธอในหมู่บ้านที่มณฑลฉ่านซี ด้านนอกฮวงซุ้ย ซุนหลินหู ลูกชายคนสุดท้อง เอื้อมมือหยิบกระดาษทองรูปเงินโบราณ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งสำหรับโลกหน้า

ประเพณีอนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถประกอบพิธีได้ ทุกคนอยู่ในสกุลเว่ย์ ลูกหลานของสกุลนี้ราวสิบกว่าคนออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง หิ้วตะกร้าสานแบนๆกับแบกพลั่วมุ่งหน้าขึ้นเขาสูงชันด้านหลังหมู่บ้าน พวกเขาแทบไม่พูดคุยกันและไม่หยุดพักเลย หลังจากผ่านไป 20 นาที เราก็มาถึงสุสานประจำหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา มีมูนดินเรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ แต่ละแถวบ่งบอกถึงคนแต่ละรุ่น พวกผู้ชายลงมือทำงานตรงแถวด้านหน้า โดยทำความสะอาดฮวงซุ้ยของญาติผู้ใหญ่ที่เพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลุงป้าน้าอา พวกเขาจัดแจงถางหญ้า โกยดินขึ้นมาพอกหลุม จัดวางเครื่องเซ่นไหว้อย่างเหล้าและบุหรี่ จากนั้นจึงเผาแบงก์กงเต๊กให้บรรพบุรุษเอาไปใช้ในปรโลก ธนบัตรพิมพ์ลายน้ำอ่านได้ความว่า “บริษัทธนาคารแห่งสวรรค์ จำกัด”

ชาวบ้านแต่ละคนจะให้ความสำคัญกับญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดของตนเป็นพิเศษ พวกเขาจะทำความสะอาดเป็นลำดับไปทีละแถวจากพ่อไปถึงปู่และปู่ทวด ความที่แทบทุกหลุมไม่มีป้ายบอกชื่อ ยิ่งพวกเขาทำงาน “ย้อนเวลา” ขึ้นไปทีละแถวๆมากเท่าใด ก็ยิ่งไม่แน่ใจว่าใครเป็นใคร ในที่สุดก็กลายเป็นว่าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือในแต่ละหลุม โดยไม่มีใครรู้ว่าร่างที่ฝังอยู่นั้นเป็นใคร หลุมศพสุดท้ายแยกไปอยู่ต่างหาก เป็นตัวแทนของคนรุ่นเทียด (พ่อหรือแม่ของทวด) “เหล่าจู่” หรือบรรพบุรุษ (ฝ่ายชาย) ชาวบ้านคนหนึ่งบอก ไม่มีชื่อเรียกอื่นสำหรับบรรพบุรุษต้นตระกูล เรื่องราวของพวกเขาล้วนถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ชีวิตหลังความตาย
ถ้วยโถโอชามดินเหนียวที่หญิงสี่คนนี้อาจเคยใช้ขณะมีชีวิตถูกบรรจุไว้ในการฝังศพหมู่ที่ไม่ค่อยพบมากนัก เมื่อราว 6,000-7,000 ปีล่วงมาแล้ว

กว่าพวกเขาจะเสร็จงาน แสงอาทิตย์ก็เรืองรองขึ้นเบื้องหลังยอดเขาทางทิศตะวันออก ชายคนหนึ่งอธิบายว่า มูนดินแต่ละมูนเป็นตัวแทนนิวาสสถานของผู้วายชนม์ และประเพณีท้องถิ่นกำหนดให้พวกเขาต้องประกอบพิธีเช็งเม้งให้เสร็จสิ้นก่อนฟ้าสาง เขาบอกว่า “ถ้าเราโกยดินกลบฮวงซุ้ยได้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ญาติในปรโลกจะมีบ้านหลังคามุงกระเบื้อง แต่ถ้าทำไม่ทัน พวกเขาคงได้แค่บ้านหลังคามุงจาก”

Recommend