มุสตาง หนึ่งในอาณาจักรโบราณที่ลึกลับที่สุดในโลกซึ่งยังมีลมหายใจแห่ง เนปาล

มุสตาง หนึ่งในอาณาจักรโบราณที่ลึกลับที่สุดในโลกซึ่งยังมีลมหายใจแห่ง เนปาล

มุสตาง (Mustang) หรือ อัปเปอร์มุสตาง อยู่ในเขตการปกครองของ เนปาล ได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรที่ถูกชาวโลกหลงลืม แม้อดีตเคยเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่และมีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมมาก เพราะเคยเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม

แน่นอนว่าหลายคนเมื่อได้ยินชื่อ มุสตาง อาจมีคำถามในใจว่า คือชื่อของอะไร อยู่ส่วนไหนของโลก สำหรับ มุสตาง ตั้งอยู่ในเขตธวัลคิรีของประเทศเนปาล สภาพภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นผาสูงและเสาหินทรายที่ถูกกัดเซาะจนเกิดเป็นช่องเขาและถ้ำหลายแห่ง บางถ้ำมีอายุกว่า 1,000 ปี แต่ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด มุสตาง จึงเป็นอดีตราชอาณาจักรสุดลึกลับและเต็มไปด้วยปริศนามากมาย

เมืองศูนย์กลางศาสนาและจุดเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม

หลายศตวรรษก่อน มุสตาง ที่ตั้งอยู่ในที่ราบอันอุดมสมบูรณ์แถบเนปาลตอนเหนือและที่ราบสูงทิเบตเป็นดินแดนที่เคยเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทำเลที่อยู่ระหว่างทิเบต เนปาล จีน และ อินเดีย สมัยอดีต มุสตาง จึงได้ชื่อว่าเป็นประตูที่เชื่อมต่อเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าขายของจีนไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ โดยพวกเขาซึมซับวัฒนธรรมทิเบตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต รวมถึงใช้ภาษาทิเบตเป็นภาษาหลัก ส่วนอิทธิพลทางการค้าได้รับมาจากจีน

มุสตาง นอกจากจะเป็นชุมทางสำคัญของนักปราชญ์ในพุทธศาสนาและผู้จารึกแสวงบุญซึ่งเดินทางรอนแรมระหว่างจีนอินเดียมาเนิ่นนาน ภายหลังยังถูกพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการอันคึกคัก ในที่สุดพุทธธรรมก็หลอมรวมเข้ากับวิถีปฏิบัติทางความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีในภูมิภาคจนกลายเป็นพุทธศาสนาแบบทิเบต โดยมีวัดโลเกการ์ ทางตอนใต้ของโลมันทังเป็นศาสนสถานที่มีชื่อเสียง

ช่วงศตวรรษที่สิบแปด นครรัฐต่างๆที่เรื่องอำนาจขึ้นรอบแดนมุสตางทำให้กษัตริย์โลเสด็จไปเฝ้ากษัตริย์เนปลาที่เพิ่งรวมประเทศ พระองค์ถวายบรรณาการที่ประกอบไปด้วย นม เมล็ดมัสตาร์ด และดิน เพื่อแสดงว่ามุสตางมีที่ดินและความมั่งคั่งจะแบ่งปัน กษัตริย์เนปาลทรงพอพระทัยและยินดีปกป้องมุสตางเพื่อแลกกับการเก็บภาษีอันน้อยนิดและบรรณาการประจำปี สันถวไมตรีดังกล่าวช่วยปกป้องมุสตางจากการรุกรานของจีนที่เข้ายึดครองทเบตในปี 1950 ขุมทรัพย์ทั้งปวงของมุสตางจึงยังรอดปลอดภัย

ทว่าต่อมา มุสตาง เริ่มเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจเมื่อนักเดินทางหันมาใช้เส้นทางอื่นในการค้าขายสินค้า ผู้คนเลือนหายไปเรื่อยๆ ดินแดนแห่งนี้ค่อยๆลดขนาดลง ล่วงเข้าสู่ยุคสงครามเย็น กษัตริย์บิสตา เข้าร่วมในขบวนการกองโจรติดอาวุธต่อต้านจีนที่ CIA ของสหรัฐอเมริกาหนุนหลังเพื่อขับไล่จีนออกจากทิเบต หลังการลุกฮือต่อต้านของชาวทิเบตในปี 1959 แต่ประสบความล้มเหลว รัฐบาลเนปาลปลดอาวุธกองกำลังในพื้นที่เมื่อปี 1974 ผลกระทบในครั้งนั้นทำให้เนปาลปิดตายภูมิภาคนี้จากโลกภายนอกอย่างแน่นหนาและยาวนาน มุสตางถูกลดบทบาทลงจนกลายเป็นเพียงเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนจีน-เนปาล รวมถึงกลายสภาพเป็นดินแดนลึกลับบนแผนที่โลก

กระทั่งเข้าสู่ยุคแห่งการท่องเที่ยว ปลายยอดเอเวอเรสต์ บนเทือกเขาหิมาลัยกลายเป็นจุดหมายสำคัญของนักปีนเขาทั่วโลก ระหว่างนั้นทำให้หลายคนค้นพบว่า ในจุดสุดแดนของเขตอนุรักษ์อันนะปุรณะมี อาณาจักรมุสตาง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเขตอารยธรรมทิเบตซุกซ่อนอยู่

ต่อมาในปี 1990 นักโบราณคดีค้นพบโครงกระดูกมนุษย์อายุไม่ตํ่ากว่า 2,000 ปี จากการเข้าไปสำรวจถ้ำรอบๆอาณาจักรโบราณแห่งนี้ พบสิ่งของและเครื่องประดับเก่าแก่ และภาพวาดบนผนังถ้ำเป็นจำนวนมาก ปริศนาทางโบราณคดีมากมายทำให้นักสำรวจจำนวนหนึ่งหันมาสนใจ มุสตาง อีกครั้ง

ราชอาณาจักรมุสตาง แห่งเทือกเขาหิมาลัย ที่ไม่เคยต้อนรับคนภายนอกกำลังเปิดประตูให้โลกได้ยล

ลึกเข้าไปในเขตที่สูงแห้งแล้งทางเหนือของเนปาล สถูปในพระพุทธศาสนาเตือนให้เหล่านักเดินทางนึกถึงความเป็นไปได้ในการบรรลุธรรม ขณะที่ถนนสายใหม่พาโลกภายนอกเข้าสู่ มุสตาง ผู้นำอย่างไม่เป็นทาการของอดีตราชอาณาจักรแห่งนี้ทรงวิตกว่า พสกนิกรของระองค์อาจสูญเสียวิถีชีวิตอย่างที่เคยเป็นมา ทว่าวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์และขุมทรัพย์จากทิเบตจะรอดพ้นความเปลี่ยนแปลงได้ละหรือ

นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกได้รับการอนุญาตให้มาเยือนมุสตางเมื่อปี 1992 ดินแดงแห่งนี้ไม่เพียงมีภูมิทัศน์งดงาม แต่ยังเป็นหน้าต่างสู่วัฒนธรรามทิเบตซึ่งเลือนหายไปมากแล้วในที่อื่นๆ โลมันทังเมืองใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากมุสตางมีโรงแรมหลายสิบแห่ง แม้ว่าจะมีประชากรอยู่เพียง 1,300 คน

จิกเม ซิงกี ปัลบาร์ บิสตา คือพระนามเต็มของกษัตริย์แห่งมุสตาง โดยพระบิดาของพระองค์คือ จิกเม ดอร์เจ ปัลบาร์ บิสตา กษัตริย์องค์สุดท้ายของอดีตราชอาณาจักรโล ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2016 สิริพระชนมายุ 86 เดิมกษัตริย์บิสตาประทับที่เมืองหลวง โลมันทังเป็นส่วนใหญ่ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของดินแดนมุสตาง ก่อนที่จะย้ายมาประทับยังกรุงกาฐมาณฑุและเสด็จสวรรคต

กษัตริย์จิกเม ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 26 ของราชวงศ์จนถึงปัจจุบัน แม้พระราชวังของพระองค์ในหมู่บ้านซารังจะทรุดโทรม เพราะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวใหญ่ในปี 2015 แต่ก็ได้รับการปรับปรุงและดูแลรักษาอย่างดี ภายในเต็มไปด้วยปาติมากรรมและรูปหล่อโบราณ ถือเป็นสมบัติตกทอดทางศาสนาที่ลํ้าค่าซึ่งปลอดภัยจากมือของหัวขโมยและพ่อค้าวัตถุโบราณมานานหลายศตวรรษ แต่เมื่อโลกภายนอกแผ่อิทธิพลมาถึง ทั้งการท่องเที่ยวและถนนสายใหม่ที่ตัดผ่านเข้ามา โจรขโมยศิลปะก็กลายเป็นอีกหนึ่งในสารพัดสิ่งใหม่ที่พระองค์ทรงกังวล

ปิดฉากยุคแห่งการโดดเดี่ยว อาณาจักรโบราณที่ยังมีลมหายใจ

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอาณาจักรหิมาลัยโบราณแห่งนี้ถูกแยกออกจากโลก แต่จวบจนปัจจุบันการเดินทางสู่ มุสตาง สะดวกขึ้นด้วยการปรับปรุงถนนสายใหม่ๆ จากระยะทาง 450 กิโลเมตรจาก กรุงกาฐมาณฑุ ที่เคยต้องใช้เวลาเดินเท้า ขี่ม้าหรือจามรีนานหลายสัปดาห์ มุสตาง จึงคล้ายกับเป็นดินแดนที่ถูกโดดเดี่ยวจากชาวโลกมานานหลายสิบปี

ตอนนี้นักเดินทางสามารถขับรถจากเมืองหลวงของเนปาลมาถึง มุสตาง โดยใช้เวลาสามวันด้วยถนนดินลูกรักที่สร้างขึ้น ตลอดจนผ่านการซ่อมแซมในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แม้เหตุนํ้าท่วมถนน ดินถล่ม และทางน่าหวดเสียว (ถนนขรุขระ แคบ หักศอก คดเคี้ยว เหมาะกับรถโฟร์วีล) มักทำให้เกิดความล่าช้าบ้างก็ตาม แต่ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่า มุสตาง จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณที่ยังมีลมหายใจของโลก แต่ก็อาจเป็นลมหายใจที่รวยริน บนถนนสายใหม่ที่นำพาชาวต่างชาติเข้ามา เป็นถนนเส้นเดียวกับที่พาผู้คนจากไป คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกเดินทางออกจากเมืองไปยังกาฐมาณฑุและต่างประเทศมากกว่าจะอยู่กับฝูงแกะหรือจามรี เศรษฐกิจในมุสตางถดถอยลงจน กษัตริย์จิกเม อาจต้องหวังพึ่งพาการท่องเที่ยวที่อาจชุบชีวิตดินแดงมุสตางให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ด้วยอากาศที่หนาวเย็นจัด ทำให้มุสตางจำกัดให้การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่ทำได้ปีละหกเดือนเท่านั้น ในส่วนของการท่องเที่ยว กษัตริย์จิกเม ทางมีโรงแรมส่วนตัวของพระองค์หนึ่งแห่งในมุสตาง ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงแรมมีสมบัติของราชวงศ์ที่พระองค์ทรงเก็บรักษาเอาไว้

ในอนาคต ไม่ช้าสินค้าและผู้คนจะไหลรินมาเป็นสายถึงดินแดนแห่งนี้ผ่านถนนสายใหม่สู่จีน โดยทางเหนือนั้นจีนกำลังสร้างเส้นทางการค้าที่คาดว่าจะกำไรงาม และรอให้ถนนลาดยางสายใหม่เชื่อมพรมแดนฝั่งนี้กับทางหลวงที่จะทอดยาวไปได้ถึงกรุงปักกิ่ง ส่วนที่เหลือก็คือการเชื่อมถนนต่างๆเข้าด้วยกัน เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว ยุคใหม่ทางการค้าอาจจะเริ่มขึ้นในซอกมุมที่เป็นตำนานของหลังคาโลกแห่งนี้

กว่าจะถึงช่วงเวลานั้น คำถามสำหรับกษัตริย์จิกเมและประชาชนในมุสตางก็คือ พวกเขาจะอนุรักษ์บางส่วนของราชอาณาจักรเล็กๆที่กาลเวลาหลายศตวรรษทำให้กลายเป็นดินแดนสุดพิเศษนี้ไว้ได้หรือไม่

อ่านเรื่องราวฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มกราคม 2566 “เปิดประตูสู่มุสตาง” วางแผงแล้ว

อัปเปอร์มุสตาง

สั่งซื้อนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ที่ร้านหนังชั้นนำ หรือสั่งซื้อทางเว็บไซต์ได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/567622

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

เรื่อง มาร์ค ซินนอตต์ ภาพ คอรี ริชาร์ดส์

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/magazine/article/nepal-mustang-kingdom-lo-road-china-feature

https://ngthai.com/history /39321/mustangcave/

บทความที่เกี่ยวข้อง

Recommend