นักปีนเขาเนปาลพิชิต เคทู (K2) ยอดเขาสูงอันดับสองของโลกในฤดูหนาว

นักปีนเขาเนปาลพิชิต เคทู (K2) ยอดเขาสูงอันดับสองของโลกในฤดูหนาว

ทีมนักปีนเขาชาวเนปาลล้วนที่มีความภาคภูมิใจในชาติเป็นแรงผลักดัน ทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ นั่นคือการพิชิต เคทู ยอดเขาสูงอันดับสองของโลกในฤดูหนาว

ท่ามกลางความมืดมิด ยามรัตติกาล มิงมา เกียลเจ เชอร์ปา พยายามส่องวงแสงสั่นพร่าของ ไฟฉายคาดศีรษะไปข้างหน้าสองสามก้าว แต่ความเย็นทำให้เขาสมองชา ชุดขนเป็ดหนาเตอะที่สวมทับแจ็กเก็ตขนเป็ดกับเสื้อผ้าชั้นในอีกสองชั้น รวมทั้งออกซิเจนบรรจุขวดที่ช่วยหายใจ ควรจะช่วยให้เขาไม่ย่ำแย่เกินไปนัก แต่ในบรรดายอดเขาทั้งหมดที่เคยพิชิต ในบรรดาพายุหิมะและลมแรงเย็นเยือกที่เคยฟันฝ่า เขาไม่เคยเจออุณหภูมิที่หนาวเข้าขั้นทะลุทะลวงเช่นนี้มาก่อน

เขารู้ว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณที่จะส่งกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ โดยสละส่วนปลายเพื่อรักษาแกนกลาง และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะเข้าสู่เขตมรณะ หรือพื้นที่สูงเกิน 8,000 เมตร ซึ่งการขาดออกซิเจนอาจทำให้นักปีนเขาเกิดภาพหลอน ภาวะมีน้ำในปอด และกระทั่งสูญเสียสัญชาตญาณการเอาตัวรอด

เคทู, ยอดเขา
ยอดเขาเคทูในปากีสถาน รู้จักกันในชื่อภูเขาป่าเถื่อน ถ้ามีนักปีนเขาสี่คนไปถึงยอดและกลับลงมาได้ จะมีอีกหนึ่งคนที่เสียชีวิตจากความพยายามดังกล่าว ไม่มีใครเคยพิชิตยอดเขานี้ในฤดูหนาว นีร์มัล “นิมส์” ปูร์จา บอกว่า “เราพยายามจะทำให้โลกเห็นว่าความเป็นไปไม่ได้นั้นเป็นไปได้ครับ” ภาพถ่ายโดย แซนโดร โกรเมน-เฮย์ส

มิงมา จี. ตามที่คนอื่นเรียกขาน กดวิทยุ แวบหนึ่งที่สมองสั่งให้เขาหันหลังกลับ “ดาวา เทนจิน ดาวา เทนจิน” เขาตะโกน แต่มีเพียงเสียงลมหวีดหวิวเป็นคำตอบ เขามองเห็นแสงไฟฉายสลัวรางของเพื่อนร่วมทีมหลายคนที่กำลังปีนขึ้นไปอย่างไม่เป็นแถวเป็นแนวบนลาดหิมะเหนือขึ้นไป เขาคิดว่า ทุกคนต้องมุ่งมั่นจดจ่อกับงานตรงหน้า หรือไม่ก็แค่ดำดิ่งในความทุกข์ทนของตนเอง มากเกินกว่าจะตอบ

กระทั่งในช่วงเดือนฤดูร้อนที่อากาศอุ่นสบายกว่า เคทู (K2) ยอดเขาสูงอันดับสองของโลก ที่ความสูง 8,611 เมตร ก็เป็นภูเขาอันตรายที่สุดลูกหนึ่งของโลกแล้ว แม้จะเตี้ยกว่าเมานต์ เอเวอเรสต์ แต่การพิชิตยอดเขานี้ต้องใช้ทักษะการปีนสูงกว่าและแทบไม่เปิดช่องให้เกิดข้อผิดพลาดใดๆเลย

เบสแคมป์
ลูกหาบรวมตัวกันที่เบสแคมป์ของเคทูซึ่งอยู่เหนือธารนํ้าแข็งก็อดวินออสเตน ใจกลางเทือกเขาการาโกรัม นี่คือศูนย์กลางของการลำเลียงสิ่งของและจุดพักระหว่างการพิชิตยอดเขา แต่สภาพอากาศที่โหดร้ายมักทำให้ชีวิตที่นี่ลำบากแสนสาหัส ภาพถ่ายโดย แซนโดร โกรเมน-เฮย์ส

แต่ตอนนี้ เกือบสี่สัปดาห์หลังเหมายัน หรือปรากฏการณ์ที่ซีกโลกเหนืออยู่ห่างจากแสงอบอุ่นที่เกื้อกูลต่อชีวิตของดวงอาทิตย์มากที่สุด สภาพการณ์ต่างๆบนภูเขาถือว่าทารุณที่สุดแห่งหนึ่ง ในโลก อุณหภูมิยามลมพัดบนยอดเขาอาจลดต่ำถึงติดลบ 60 องศาเซลเซียส หรือพอๆกับอุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวอังคาร

ทว่านี่กลับเป็นช่วงเวลาที่มิงมา จี. ใฝ่ฝันถึงมาตลอด กระทั่งตอนที่เขาพยายามยกขาขวา ที่ด้านชาเตะก้อนน้ำแข็งอย่างแรง อันเป็นความพยายามอย่างสิ้นหวังที่จะไล่อาการของโรค ความเย็นกัด เขารู้ว่าสมาชิกในทีมบางคนกำลังยึดบางส่วนของเชือกไว้กับภูเขาด้วยสกรูน้ำแข็ง หมุดนิรภัย และหลักตอกหิมะ เพื่อปูทางที่มั่นคงไปสู่ยอดเขา

นักปีนเขา, เคทู
สมาชิกทีมเนปาล ออกจากเบสแคมป์เพื่อปีนเขาสามวันสุดท้าย สภาพอากาศอันตรายทำให้พวกเขาต้องหยุดพักที่เบสแคมป์หลายสัปดาห์ แต่พยากรณ์อากาศว่า อากาศจะดีขึ้นทำให้ พวกเขามีความหวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายโดย แซนโดร โกรเมน-เฮย์ส

สำหรับนักปีนเขาผู้คร่ำหวอดส่วนใหญ่ การพิชิตเคทูในฤดูหนาวคือความคิดที่บ้าคลั่ง มีนักปีนเขาที่เตรียมตัวมาพร้อมหกทีมลองพยายามก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีทีมใดเข้าใกล้ยอดเขาเลย ความท้าทายที่ต้องเอาชนะดูจะมากเกินไป ทั้งลมกระโชกรุนแรงระดับเฮอร์ริเคนที่คาดเดาไม่ได้ และสามารถพัดเชือกที่นักปีนเขาห้อยโหนอยู่ร่วงหายไปทั้งเส้นได้ทันที หินและน้ำแข็งที่ร่วงพรู ลงมาเหมือนลูกปืนใหญ่ อากาศที่เบาบางจนหายใจไม่เต็มปอดและทำให้สติพร่ามัว และความเย็น ที่ล้ำลึกเกินทน

ในช่วงเดือนท้ายๆของปี 2020 นักปีนเขาราว 60 คนมาถึงเชิงเขาเคทูฝั่งธารน้ำแข็ง ก็อดวินออสเตนด้านไกลของเทือกเขาการาโกรัมในปากีสถาน เพื่อแสวงหารางวัลชิ้นสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในการปีนเขาสูง และอาจถือเป็นการปีนเขาที่ยากที่สุด แต่สำหรับมิงมา จี. และเพื่อนร่วมทีมชาวเนปาลเก้าคน การปีนเขานี้เป็นยิ่งกว่าความสำเร็จส่วนบุคคล นี่คือโอกาสในการพิสูจน์ว่า เนปาล ประเทศที่นิยามด้วยเทือกเขาสูงสุดหลายแห่งของโลก สามารถทำสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้

นักปีนเขา, เคทู
ในการพิชิตยอดเขาเคทูในฤดูหนาวครั้งประวัติศาสตร์ นิมส์พาร่างที่ขาดออกซิเจนขึ้นไป เขากับเพื่อนชาวเนปาลเก้าคนฝ่ากระแสลมที่ไม่อาจคาดเดาอุณหภูมิตํ่ากว่าศูนย์องศาและอันตรายถึงชีวิตสารพัดเพื่อพิชิตยอดเขาชื่อฉาวในฤดูที่สภาพอากาศทารุณที่สุด นิมส์เพิ่มความยากให้ภารกิจนี้ด้วยการปีนเขาโดยไม่ใช้ออกซิเจนบรรจุขวด ภาพถ่าย มิงมา เดวิด เชอร์ปา

วันที่ 21 ธันวาคม ปี 2020 วันแรกของฤดูหนาวในปฏิทิน มิงมา จี. กับเพื่อนร่วมทีมสองคนเริ่มต้นปีนขึ้นเคทู หลายวันต่อมา พวกเขาตั้งแคมป์ที่ความสูง 6,900 เมตร ใต้ส่วนที่รู้จักกันในชื่อแบล็กพีระมิด หรือกองหินร่วงที่ดิ่งเกือบเป็นเส้นตรง อันเป็นความท้าทายสำคัญด่านแรก ต้องใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆในการปีนอย่างแม่นยำพร้อมสัมภาระหนักเพื่อไปถึงแคมป์สาม หรือจุดปล่อยตัวสำหรับความพยายามขึ้นสู่ยอดเขา แต่พวกเขาประสบปัญหาเชือกไม่พอ

มิงมา จี. รู้ว่ามีหลายทีมกำลังปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศอยู่ที่แคมป์ด้านล่าง รวมถึงทีมเนปาลอีกทีมที่นำโดยอดีตนายทหารหน่วยรบพิเศษผู้ผันตัวมาเป็นนักปีนเขามากสีสันชื่อ นีร์มัล “นิมส์” ปูร์จา ซึ่งมิงมา จี. เคยพบครั้งหนึ่งชั่วระยะเวลาสั้นๆ นั่นเกิดขึ้นเมื่อปี 2019 ตอนที่นิมส์อยู่ระหว่างทำสถิติปีนยอดเขาสูง 8,000 เมตรทั้ง 14 ยอดของโลกด้วยเวลาหกเดือนหกวัน สื่อให้ความสนใจ และนิมส์ก็ก้าวจากคนที่แทบไม่มีใครรู้จักมาเป็นดาวเด่นในโซเชียลมีเดีย

เคทู
ในที่สุดก็พ้นจากบอตเทิลเน็ก หรืออุปสรรคสำคัญด่านสุดท้าย สมาชิกทีมเริ่มมุ่งหน้าสู่สันเขาเพื่อการปีนระยะสุดท้ายก่อนถึงยอดเขา หนุ่มเนปาลทั้งสิบคนจะคล้องแขนกันและปีนลาดเนินสุดท้ายเพื่อพิชิตเคทูด้วยกัน ภาพถ่ายโดย มิงมา เดวิด เชอร์ปา

อันที่จริง ชายสองคนอดรู้สึกเขม่นกันไม่ได้ ทั้งคู่เป็นผู้นำทีมที่มีความสามารถยิ่ง ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ เป็นผู้เชี่ยวชาญกิจกรรมอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งของโลก แต่พวกเขามีบุคลิกแตกต่างกันมาก มิงมา จี. เก็บตัวและจริงจัง ส่วนนิมส์เป็นคนตลกเฮฮาและบุ่มบ่าม และตามประสาของเขา นิมส์ประกาศให้ผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียรู้ว่า เขาอยากเป็นคนแรกที่พิชิตยอดเคทูในฤดูหนาว

อย่างไรก็ตาม มิงมา จี. ตัดสินใจวิทยุไปถามนิมส์ว่ามีเชือกเหลือหรือไม่ ถึงแม้ทีมของนิมส์เพิ่งขึ้นมาถึงและยังไม่ทันปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศ พวกเขาก็อาสาขนเชือกขึ้นไปให้ สองทีมคุยกันระหว่างดื่มชาตอนเช้าวันรุ่งขึ้นที่แคมป์พักใต้แบล็กพีระมิด และพบว่าทั้งสองทีมไม่ได้พาลูกค้าต่างชาติขึ้นมาด้วย พวกเขาทุกคนล้วนอยากพิชิตเคทูเพื่อตัวเอง

นักปีนเขา
หลังพิชิตยอดเขาเคทูในฤดูหนาว ทีมเนปาลล้วนทีมแรกที่ทำสถิติพิชิตยอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตรก็เฉลิมฉลองกันที่เบสแคมป์ “เราทำเพื่อเนปาลครับ” นิมส์บอก นักปีนเขาซึ่งจะได้รับการจารึกชื่อในบันทึกสถิติการปีนเขา ได้แก่ (แถวบนสุด จากซ้าย) เปม ชีรี เชอร์ปา, มิงมา เดวิด เชอร์ปา, เกลเจ เชอร์ปา, ดาวา เทมบา เชอร์ปา (แถวกลาง จากซ้าย) ดาวา เทนจิน เชอร์ปา, นีร์มัล “นิมส์” ปูร์จา, มิงมา เกียลเจ เชอร์ปา, โซนา เชอร์ปา, คีลู เปมบา เชอร์ปา และ (ด้านหน้า) มิงมา เทนจี เชอร์ปา ภาพถ่ายโดย แซนโดร โกรเมน-เฮย์ส

วันรุ่งขึ้น ทุกคนกลับลงไปยังเบสแคมป์เพื่อพักฟื้น นั่นคือวันที่ 31 ธันวาคม และพยากรณ์อากาศเลวร้ายตามที่คาดไว้ก็กำลังมา ได้เวลาพักผ่อนเอาแรง ถ้าจะพอทำได้ในที่ที่แสนจะไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้

ค่ำวันนั้น นิมส์แวะมาหามิงมา จี. ที่เต็นท์รกๆ เพื่อชวนทีมคู่แข่งฉลองปีใหม่ เมื่อทีมของ มิงมา จี. มาถึง นิมส์ก็เปิดขวดวิสกี้รับแขกทันที ไม่ช้าทุกคนก็เต้นรำและคุยกันเรื่องสภาพอากาศและแผนการปีนเขา

ในงานเลี้ยงคืนนั้น แนวคิดหนึ่งก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างระหว่างทีมทั้งสอง ทำไมไม่รวมทีมกันเล่า ข้อดีนั้นชัดเจน “มันทำให้งานเร็วขึ้น และเราก็เริ่มทำงานด้วยกัน มันง่ายขึ้นมากเพราะทุกคนล้วนเป็นชาวเนปาล” การพิชิตเคทูในฤดูหนาวเป็นทีมแรกจะเป็นการประกาศว่า ชาวเนปาลกำลังยึด ที่ ทางโดยชอบธรรมของตนกลับคืนมา ไม่ใช่แค่เพียงผู้มีส่วนร่วม แต่ยังในฐานะผู้นำในโลกของ การปีนเขาด้วย “เราอยากมีชื่อของตัวเองสักชื่อในประวัติศาสตร์ครับ” นิมส์จะอธิบายในภายหลัง “การรวมทีมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิด”

เรื่อง เฟรดดี วิลคินสัน

ติดตามสารคดี ปีนเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/540164


อ่านเพิ่มเติม เรื่องเล่าจากยอดเขายะเยือก

Recommend